ศรัทธาต่อ “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง” เต็มไปด้วยความลังเล

ชะตากรรมบนขอบเหว

หายนะของโลกอันเนื่องมาจาก “โควิด-19” ครั้งนี้ ชัดเจนอย่างยิ่งว่าประเทศที่จัดการได้ดีคือประเทศที่ผู้นำเข้มแข็ง

เข้มแข็งจากการได้รับความเชื่อถือศรัทธา พูดอะไร ขอความร่วมมืออะไรไปแล้วประชาชนเชื่อ ให้ความร่วมมือ

เชื่อถือศรัทธาในความรู้ความสามารถ มั่นใจว่ามีจิตใจคิดถึงผลประโยชน์ของประชาชน ผ่านการพิสูจน์ด้วยผลงานมาแล้ว

ไม่ใช่เข้มแข็งด้วยการใช้อำนาจเข้าบังคับ ยิ่งไม่ใช่ผู้นำที่ใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม เอื้อประโยชน์ให้คนกลุ่มหนึ่ง ขณะที่เข้มงวดกับคนส่วนใหญ่ ใช้ท่าทีข่มขู่ การทำงานที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงการขาดความรู้ ความเฉลียวฉลาดในการจัดการปัญหา

และยิ่งมีเรื่องราวที่แสดงถึงการฉกฉวยโอกาสแสวงประโยชน์จากขั้นตอนต่างๆ ในการแก้ปัญหาให้ประชาชน

ผู้นำเหล่านี้แม้จะมีอำนาจ แต่จะล้มเหลวในการแก้ปัญหาระดับ “หายนะ” อย่างโควิด-19 เพราะประชาชนขาดความเชื่อถือ จึงไม่รับฟังไปปฏิบัติตาม เกิดอาการต่างคนต่างทำ ซึ่งยิ่งทำให้ปัญหาโกลาหลไปใหญ่

ชะตากรรมจากโรคระบาดครั้งใหญ่ของแต่ละประเทศจึงเป็นไปตามศรัทธาที่มีต่อผู้นำ

ประเทศไหนผู้นำศรัทธาเข้มแข็งในใจประชาชน ประเทศนั้นก็ควบคุมสถานการณ์ของโรคได้ดี ประเทศไหนผู้นำง่อนแง่นในศรัทธาของประชาชน ไม่มีใครฟัง ประเทศนั้นก็รับมือได้อย่างทุลักทุเล

แล้วไทยเราเป็นอย่างไร

สับสน วุ่นวาย เจ้าอารมณ์ โทษไปทั่ว คือท่าทีต่อปัญหาระดับหายนะของชาติ ที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบแต่ละคนแสดงออก ไม่รวมไปถึงเรื่องราวการใช้อำนาจอย่างมีเงื่อนงำ ฉกฉวยผลประโยชน์การควบคุมการผลิตและการจำหน่ายสินค้าที่อ่อนไหวต่อชะตากรรมของประชาชน

ภาพลักษณ์ในความรู้สึกของประชาชนเช่นนี้ การพูดถึงศรัทธาประชาชนจึงดูเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น

อย่างไรก็ตาม “นักการเมือง” และ “พรรคการเมือง” ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แม้จะไม่ใช่ผู้นำแถวหน้าของประเทศ แต่อย่างน้อยก็ถูกดึงเข้าไปสร้างความชอบธรรมให้กับผู้นำที่ไม่ให้ราคาของการเลือกตั้ง

ดังนั้นเมื่อ “นิด้าโพล” สำรวจเรื่อง “1 ปีหลังการเลือกตั้งทั่วไป” ที่ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของความหวังที่มีต่อนักการเมือง จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ

ในคำถาม “คิดอย่างไรต่อบทบาท ส.ส.ในช่วงที่ผ่านมา 1 ปีหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562” ร้อยละ 36.99 บอกยังแสดงบทบาทเดิมๆ ด่ากันไปมา, ร้อยละ 33.33 บอกว่าหายหน้าไปเลย, ร้อยละ 28.80 บอกเอาแต่ต่อสู้แย่งชิงอำนาจ, ร้อยละ 13.21 เห็นว่า ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเอาแต่จับกลุ่มต่อรองอำนาจทางการเมือง, ร้อยละ 11.22 เห็นว่าขยันลงพื้นที่พบประชาชน, ร้อยละ 7.24 มองว่ากระตือรือร้น ทำงานเพื่อประชาชน, ร้อยละ 6.92 เห็นว่าที่เป็นฝ่ายค้าน ให้แต่วาทกรรมเพื่อล้มรัฐบาล, ร้อยละ 2.78 เห็นว่าส่วนใหญ่เป็นมืออาชีพทำงานเพื่อประชาชน

ในคำถาม ถ้าวันนี้มีการเลือกตั้งจะไปลงคะแนนให้คนเดิมหรือพรรคเดิมกลุ่มเดิม หรือที่ลงเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 หรือไม่ ร้อยละ 34.13 ไม่, ร้อยละ 33.10 ลง, ร้อยละ 11.93 ขอดูก่อน, ร้อยละ 10.42 ไปเลือกไม่ลงให้ใคร, ร้อยละ 4.06 ไม่ไปลง

ผลของโพลย่อมหมายถึง ประชาชนยังกระอักกระอ่วนต่อบทบาทของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ไม่น้อย

และนี่ย่อมเป็นความยุ่งยากยิ่ง เนื่องจากขณะที่ไม่มีศรัทธาต่อ “นักการเมืองที่มาจากการยึดอำนาจ”

แต่ศรัทธาต่อ “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง” ก็เต็มไปด้วยความลังเล

การเผชิญหน้ากับ “หายนะของประเทศ” จำเป็นต้องมีผู้นำที่เข้มแข็ง

เป็นความเข้มแข็งจากศรัทธาประชาชนที่ยกอำนาจให้

เมื่อแนวโน้มการเมืองไทยดูจะยากในการหาผู้นำที่มีคุณสมบัติเช่นนั้น

ย่อมกังวลยิ่งว่า ชะตากรรมของชาติจะเป็นอย่างไร