คนมองหนัง : “ห้าแสนปี” และ “ดาวคะนอง” สองหนังไทยในเวทีโลก

คนมองหนัง

ช่วงครึ่งหลังของปี 2559 หนัง “อิสระ” ไทย ยังคงได้รับ “ที่ทาง” และ “โอกาส” จากเทศกาลภาพยนตร์ในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด มีหนังไทยอีกสองเรื่อง ซึ่งถูกคัดเลือกเข้าไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์ชื่อเสียงโด่งดังของทวีปยุโรป

เริ่มจากเทศกาลระดับ “เมเจอร์” อย่างเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ “เวนิส” ประเทศอิตาลี ที่มีภาพยนตร์สั้นไทยเรื่องหนึ่งถูกคัดเลือกเข้าไปฉายในสาย “Orizzonti” สายการประกวดของหนังนานาชาติ ซึ่งมุ่งความสนใจไปยังภาพยนตร์ที่เป็นตัวแทนของสุนทรียะรูปแบบใหม่ๆ หรือผลงานที่เปิดเผยให้เห็นถึงกระแสร่วมสมัยต่างๆ ในโลกภาพยนตร์

หนังไทยเรื่องนั้น คือ “ห้าแสนปี” ภาพยนตร์สั้นความยาว 15 นาที

ผลงานการกำกับฯ ของ “ชัยศิริ จิวะรังสรรค์” และโปรดิวซ์โดยบริษัท “คิก เดอะ แมชีน ฟิล์มส์” ของ “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” ผู้กำกับฯ ชื่อดัง

หนังถ่ายทอดเรื่องราวของพื้นที่ขุดสำรวจทางโบราณคดีในอำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ซึ่งเมื่อ 17 ปีที่แล้ว มีการค้นพบซากฟอสซิลของมนุษย์โฮโม อีเรคตัส ณ พื้นที่แห่งนี้

แต่ปัจจุบัน กลับไม่มีใครใส่ใจกับการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ดังกล่าวอีกต่อไป มีเพียงแค่ชาวบ้านท้องถิ่น ซึ่งเดินทางมาประกอบพิธีกรรมทางจิตวิญญาณที่นี่บ้างเป็นครั้งคราว

กระทั่งเย็นวันหนึ่ง มีรถฉายหนังขับเข้ามายังพื้นที่ตรงจุดนี้ เพื่อทำการฉายภาพยนตร์ให้ผีบรรพบุรุษ ที่รู้จักกันในนาม “มนุษย์เกาะคา” ได้รับชม แล้วระหว่างการฉาย ก็มีบางสิ่งบางอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดไว้ บังเกิดขึ้น!

ห้าแสนปี

ชัยศิริ ระบุว่า หนังเรื่องนี้พยายามตรวจสอบภาวะ “การตาย” และ “การเกิดใหม่” ของวัฒนธรรมภาพยนตร์ในประเทศไทย ซึ่งมีความเกี่ยวพันลึกซึ้งกับความเป็นสังคมนับถือผีของประเทศแห่งนี้

เพราะสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในหลายๆ พื้นที่ทั่วประเทศ ก็คือ กิจกรรมการฉายหนังกลางแปลงได้ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนภาระหน้าที่ของตัวเอง จากการเป็นสื่อสำหรับ “มนุษย์” มาเป็นสื่อสำหรับ “ภูตผี” และ “วิญญาณ” ต่างๆ

โดยเขาต้องการที่จะมุ่งสำรวจวิธีการเปลี่ยนรูปแปลงร่างเพื่อยืดอายุตัวเองของสื่อภาพยนตร์ ไปพร้อมๆ กับการตั้งคำถามว่าการค้นพบทางวิทยาศาสตร์สามารถถูกดัดแปลงให้กลายสภาพมาเป็นกิจกรรมทางจิตวิญญาณได้อย่างไร?

ชัยศิริเคยมีผลงานภาพยนตร์ วิดีโอ และภาพถ่าย ที่ได้รับคัดเลือกให้ไปจัดแสดงในเทศกาล/นิทรรศการระดับนานาชาติ ประเด็นหลักที่มักถูกนำเสนอในงานเหล่านั้น คือ การประกอบสร้างเรื่องเล่าส่วนบุคคลและเรื่องเล่าทางสังคมของสมาชิกชุมชนท้องถิ่นต่างๆ (อาทิ กลุ่มผู้ใช้แรงงาน, ผู้อพยพ, ชาวบ้าน และสมาชิกของครัวเรือน) ขึ้นมาใหม่

งานของเขาจึงมีความก้ำกึ่งระหว่างการเป็นสารคดีกับเรื่องแต่ง ที่เล่าถึงสัมพันธภาพระหว่างความใกล้และความไกล ตลอดจนเรื่องราวความสัมพันธ์ส่วนตัวของผู้คนกับกระบวนการประกอบสร้างประวัติศาสตร์ในภาพใหญ่

ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2553 หนังสั้นเรื่อง “นกขมิ้น” ของชัยศิริ เคยได้เข้าประกวดในสาย Orizzonti ของเทศกาลภาพยนตร์เวนิส มาแล้วหนหนึ่ง

 

 

ข้ามไปที่เทศกาลภาพยนตร์ “โลคาร์โน” ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งในสายการประกวดนานาชาติ มีภาพยนตร์ไทยเรื่อง “ดาวคะนอง” โดย “อโนชา สุวิชากรพงศ์” เข้าร่วมชิงชัยด้วย

ทั้งนี้ อโนชาเคยมีผลงานหนังยาวมาแล้วเมื่อปี 2552 คือ “เจ้านกกระจอก” ซึ่งเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ไทยร่วมสมัยเพียงไม่กี่เรื่องที่ “อาจารย์เบน แอนเดอร์สัน” ผู้ล่วงลับ ได้เขียนบทความวิเคราะห์-ตีความเอาไว้อย่างจริงจัง (ดูบทความ “เจ้านกกระจอก / Mundane History” โดย เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน ในวารสารอ่าน ปีที่ 4 ฉบับที่ 4 เมษายน-มิถุนายน 2556)

“ดาวคะนอง” จะเล่าเรื่องราวว่าด้วยภาวะที่ข้องเกี่ยวกันอย่างหลวมๆ ซึ่งเชื่อมร้อยผ่านสายใยที่แทบจะมองไม่เห็น ระหว่างตัวละครหลากหลายกลุ่ม ได้แก่ ผู้กำกับภาพยนตร์หญิงและผู้เป็นแรงบันดาลใจของเธอ ซึ่งเคยเป็นอดีตนักศึกษา-นักกิจกรรมในทศวรรษ 2510, บริกรสาวผู้เปลี่ยนงานอยู่เป็นประจำ และนักแสดงชาย-หญิงคู่หนึ่ง

โดยเรื่องเล่าหลายเฉดสีภายในหนัง จะค่อยๆ ปอกเปลือกตัวเองลงไปทีละชั้น เพื่อเปิดเผยให้เห็นถึงความสลับซับซ้อน ที่มีส่วนต่อการก่อรูปวิถีชีวิตของตัวละครแต่ละราย

เท่าที่ดูจากทีเซอร์แรกของ “ดาวคะนอง” ภาพยนตร์เรื่องนี้อาจเป็นหนังไทยซึ่งพูดถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองเดือน “ตุลาคม” อย่างเข้มข้นมากๆ เรื่องหนึ่ง

 

 

สําหรับอโนชา ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้กำกับฯ หญิง เพียงไม่กี่คนของแวดวงอุตสาหกรรมหนังไทยยุคปัจจุบัน จบการศึกษาระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา โดย “เกรซแลนด์” งานจบการศึกษาของเธอ คือ หนังสั้นไทยเรื่องแรก ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์

นอกจากนั้น ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกอย่าง “เจ้านกกระจอก” ยังส่งผลให้อโนชาได้รับรางวัล “ไทเกอร์ อวอร์ด” จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ “ร็อตเตอร์ดัม” ประเทศเนเธอร์แลนด์

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2555 หนังสั้นเรื่อง “โพ้นทะเล” ที่อโนชากำกับฯ ร่วมกับ “วิชชานนท์ สมอุ่มจารย์” ก็เคยได้รับคัดเลือกให้มาฉายในเทศกาลโลคาร์โนครั้งหนึ่งแล้ว

ต้องจับตาดูว่าหนังไทยสองเรื่องนี้จะก้าวไปได้ไกลแค่ไหนในระดับนานาชาติ? และจะมีโอกาสเดินทางกลับมาสื่อสารกับผู้ชมชาวไทยหรือไม่? เมื่อไหร่?