ธงทอง จันทรางศุ | ชีวิต “คนไม่ค่อยมีสิทธิ์หรือมีเสียง”

ธงทอง จันทรางศุ

สถานการณ์โรคระบาดที่เป็นไปทั่วโลกอยู่ในเวลานี้ ขณะที่ผมเขียนหนังสือคราวนี้อยู่ยังไม่มีท่าทีว่าจะสงบลง ทางราชการเรียกร้องแนะนำให้ผู้คนทั้งหลายอยู่ในบ้านของตัวเอง จะออกนอกบ้านก็ต้องมีเหตุจำเป็นจริงๆ

มีคำอธิบายจากท่านผู้รู้ทั้งหลายว่า สาเหตุที่ต้องทำอย่างนี้เพื่อให้การแพร่ระบาดและขยายตัวของผู้ที่ติดเชื้อโรคนี้เพิ่มปริมาณขึ้นในอัตราที่น้อยที่สุด

ด้วยความหวังว่า ในอนาคตอันใกล้ จะมีผู้สามารถคิดวัคซีนหรือยารักษาโรคที่มีประสิทธิภาพขึ้นได้

ระหว่างนี้เราทุกคนก็มีหน้าที่ช่วยกันหน่วงเวลา และหน่วงเหตุการณ์ที่จะมีผู้ป่วยมากขึ้น จนเหลือกำลังรับของโรงพยาบาลและคุณหมอทั้งหลายไว้ให้นานที่สุด

การที่ทุกคนต้องอยู่บ้านคราวนี้ มีข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหลายอย่างที่ทำให้เรามองเห็นสังคมไทยของเราถนัดชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ลองเหลียวมาดูกันในเวลาว่างช่วงนี้ไหมครับ

ข้อแรกที่ผมมองเห็นคือ ความพร้อมในการที่จะหยุดอยู่กับบ้านของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

ประเด็นหลักเริ่มตั้งแต่รายได้ครับ

สำหรับคนที่มีรายได้เป็นเงินเดือนประจำ มีฐานะเป็นข้าราชการหรือลูกจ้างของบริษัทที่มีขนาดใหญ่โต มีความมั่นคง รวมถึงคนที่เป็นข้าราชการบำนาญเช่นผม ด้วยคนหมู่นี้น่าจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่มากเท่าไรนัก

เพราะอย่างไรเสียก็ยังมีรายได้เป็นน้ำบ่อทรายซึมเข้ามาในครอบครัว

ภาระค่าใช้จ่ายถ้าจะมีมาแต่เดิมก่อนเหตุการณ์โรคระบาดเป็นอย่างไร แม้อาจจะมีเพิ่มขึ้นบ้าง เช่น ค่าใช้จ่ายในการซื้อหาหน้ากากอนามัยที่หายากราวเพชรเม็ดงามแต่ก็น่าจะชดเชยกันได้กับการที่จะต้องอยู่กินข้าวบ้านโดยไม่ต้องออกไปสมาคมข้างนอก

แต่คนอีกหมู่หนึ่ง ที่ได้รับผลกระทบในทางเศรษฐกิจจากเหตุการณ์ครั้งนี้ยังมีอีกเป็นจำนวนมาก

ใช่ครับ ผมหมายถึงเจ้าของกิจการที่ต้องปิดกิจการลงชั่วคราว และยังมองไม่เห็นอนาคตชัดเจนว่าจะเปิดทำการได้อีกเมื่อไหร่

รวมไปจนถึงลูกจ้างที่เคยได้รับค่าจ้างรายวัน รายสัปดาห์หรือแม้แต่รายเดือน

แต่มาถึงวันนี้งานที่เคยทำอยู่เป็นประจำได้กลายเป็นอากาศธาตุไปแล้ว

พูดง่ายๆ ว่าตกงานแบบไม่เห็นอนาคต

จนถึงวันที่ผมกำลังเขียนหนังสืออยู่นี้ได้ยินว่า ระบบประกันสังคมกำลังคิดอ่านจะช่วยเหลือดูแลให้มีเงินพอยังชีพไปได้ก่อน จะเป็นร้อยละ 50 หรือร้อยละ 70 ของรายได้ที่เคยได้มาแต่ก่อน

หวังว่าข่าวนี้จะเป็นจริงและรีบดำเนินการให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ในโอกาสแรก

เพื่อนของผมคนหนึ่งซึ่งเป็นข้าราชการบำนาญเหมือนกันกับผม ออกปากว่า เหตุการณ์ครั้งนี้สอนให้รู้ตัวว่า เวลาที่เรายังมีรายได้สม่ำเสมออยู่นั้น จงอย่าได้ประมาท จับจ่ายใช้สอยในสิ่งที่ไม่จำเป็น

เพราะวันหนึ่งเมื่อเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น ของที่ซื้อมารกบ้านนั้นช่วยชีวิตเราไม่ได้เลย

ถ้ารอดชีวิตจากวันนี้ไปได้ การใช้จ่ายในวันข้างหน้าเธอจะได้มีสติมากขึ้น

ผมฟังแล้วก็เห็นด้วย แต่ขอยกเว้นหนังสือรายการหนึ่งได้ไหมครับ

ถือว่าเป็นของจำเป็นสำหรับชีวิตผมก็แล้วกัน แหะ แหะ

ทีนี้พอเราเห็นแล้วว่าความพร้อมของแต่ละคนไม่เท่ากัน คนที่ยังพอมีรายได้หรือมีเงินออมเก็บเอาไว้แต่เก่าก่อน มีบ้านช่องเป็นของตัวเอง จะต้องหยุดงานหรือไม่ออกจากบ้านชั่วระยะเวลาหนึ่งก็พอสู้กันไหว

แต่ได้เห็นหรือได้ข่าวกันแล้วใช่ไหมครับว่า ทันทีที่มีการประกาศปิดสถานที่ประกอบการและที่ทำงานหลายแห่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รุ่งขึ้นเราก็ได้เห็นผู้คนจำนวนมากเดินทางออกจากกรุงเทพฯ ด้วยยานพาหนะสาธารณะทั้งหลาย โดยหลักก็คือรถโดยสารประจำทางจากท่ารถต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานีรถโดยสารหมอชิต

ผู้คนจำนวนมากเหล่านั้นมีทั้งผู้ใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่ประสงค์จะเดินทางข้ามพรมแดนกลับบ้านของเขา

และอีกจำนวนหนึ่งคือคนไทยของเรานี่เอง ที่เป็นพี่น้องในชนบท เมื่อตกงานแล้วจะอยู่ในกรุงเทพฯ ต่อไปอย่างไรได้

สำนวนที่ว่า “บ้านก็ต้องเช่า ข้าวก็ต้องซื้อ” มารุมเร้าอยู่ตรงหน้า ทางรอดทางเดียวคือกลับบ้านต่างจังหวัดไปอยู่กับครอบครัว

จริงอยู่ครับว่า การเดินทางของคนจำนวนมากจากพระนครออกไปหัวเมืองคราวนี้ อาจทำให้การระบาดของโรคไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศมีเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

ผมมีความเห็นว่า โจทย์สำคัญข้อนี้เป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนและมีมาตรการที่รองรับเพื่อแก้ปัญหา

แต่ถ้าหากเรายังไม่มีมาตรการช่วยเหลือประคับประคองอะไร แล้วเราจะสั่งห้ามไม่ให้คนจำนวนนี้เดินทางกลับบ้านของเขา

ผมว่าก็ไม่เป็นธรรมเหมือนกันนะครับ

ผู้คุ้นเคยของผมคนหนึ่งเล่าว่า เขาได้คุยกับคนเดินทางกลับต่างจังหวัด พร้อมกับอธิบายเหตุผลว่า

“คนจนเขาไม่กลัวติดเชื้อหรอก เขากลัวอดตาย กลับบ้านยังพอมีกิน ป่วยก็ไปรักษา แต่ถ้าอยู่กรุงเทพฯ ต่อ ไม่มีกินไม่มีเงิน แล้วจะอยู่ได้อย่างไร”

ประโยคนี้เขาพูดด้วยน้ำตา

ในค่ำคืนที่ผู้คนจำนวนมากไปรอขึ้นรถเมล์โดยสารประจำทางเพื่อกลับภูมิลำเนาที่สถานีหมอชิต ผมได้เขียนกลอนไว้ใน Facebook ของผมว่า

นี่คือภาพมุมหนึ่งของชีวิต

ของคนไม่ค่อยมีสิทธิ์หรือมีเสียง

เมื่อตกงานการกินอยู่ดูเอนเอียง

ไปข้างเสี่ยงใกล้อับจนหมดหนทาง

ต้องลาเมืองบางกอกออกบ้านนอก

ที่นั่นดอกทุ่งนาฟ้ายังกว้าง

พ่อแม่ยังรอรับกลับคืนบาง

ยังดีกว่าถูกทิ้งขว้างอยู่กลางกรุง

รู้ว่าเสี่ยงนำไข้กลับไปบ้าน

มาตรการกักตัวไว้ที่ในทุ่ง

ขอสัญญาว่าจะให้ไม่นังนุง

รอวันพรุ่งสิบสี่เช้า…เฝ้านับเอย

หลังจากเหตุการณ์นี้ผ่านพ้นไปแล้ว เราคงต้องมานั่งตั้งสติแล้วทบทวนบทเรียนว่า ตัวเราเองและเมืองไทยของเรา จะต้องปรับตัวและตั้งอยู่ในความไม่ประมาทอย่างไรบ้าง

ขอให้ “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…” สักทีเถิดนะ