วิรัตน์ แสงทองคำ : ท่ามกลางวิกฤตการณ์

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ปกคลุมทั่วโลก ท่ามกลางสถานการณ์ไวรัสระบาดครั้งใหญ่ที่สุดแห่งยุคโลกาภิวัตน์ กำลังก่อให้เกิดเปลี่ยนแปลงมิติต่างๆ อย่างกว้างขวาง

สังคมโลกเดินหน้าเข้าสู่ยุคใหม่อันพรั่นพรึงอย่างรวดเร็ว เมื่อ World Health Organization หรือ WHO ประกาศ COVID-19 ได้เข้าสู่ภาวะแพร่ระบาดทั่วโลก (11 มีนาคม) ตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตพุ่งขึ้นตลอดเวลา เป็นไปอย่างรวดเร็วกว่าที่คาด

ขณะที่ได้บั่นทอน ทำลายภาวะเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง ท่ามกลางความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นและปกคลุมอย่างกว้างขวางอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาในยุคโลกาภิวัตน์

ในยุคระบบเศรษฐกิจโลกเชื่อมโยงกันอย่างเข้มข้น (hyper-connectivity) ยุคเมืองใหญ่ๆ ของโลก พัฒนาการขึ้นไปอีกขั้น ด้วยมีประชากรหนาแน่นกว่าที่เคย

 

วิกฤตการณ์

จากจุดศูนย์กลางแพร่ระบาดครั้งแรกๆ ณ อู่ฮั่น (Wuhan) เมืองเอก เมืองใหญ่ที่สุดของมณฑลหูเป่ย (Hubei) ตั้งอยู่ตอนกลางของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มีประชากรในเขตใจกลางเมืองราว 5 ล้านคน มณฑลหูเป่ยได้ชื่อเป็นดินแดน “ข้าวในนา ปลาในน้ำ” (Land of Fish and Rice) นอกจากข้าว ยังมีฝ้าย ข้าวสาลี และชา ขณะมีอุตสาหกรรมสำคัญขยายตัวขึ้น โดยเฉพาะยานยนต์ แร่ธาตุ และพลังงานไฟฟ้าซึ่งมาจากเขื่อนสามผา (Three Gorges Dam)

มณฑลหูเป่ยมีระบบเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 7 ของจีนในฐานะเขตเศรษฐกิจใหม่เติบโตอย่างรวดเร็ว พิจารณารายได้ประชากร (GDP per capita) เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าในช่วงเวลาเพียง 8 ปี (2553-2561)

ในประเทศจีน ภาวะผู้ติดเชื้อ COVID-19 เป็นไปอย่างโฟกัส เหมือนจะไม่แพร่ระบาดขยายวง หากเริ่มนับจากจำนวนระดับพันคนในเดือนมกราคม (วันที่ 24) ด้วยปรากฏการณ์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และถึงจุดพีกในระดับ 75,000 คนในช่วงเวลาไม่ถึงเดือน (ราวๆ 20 กุมภาพันธ์) เหมือนทุกอย่างจะคลี่คลายไป

แต่แล้วมาปะทุในยุโรป ทวีปซึ่งเป็นจุดหมายปลายหลักการเดินทางท่องเที่ยวโลก ทวีปที่มีเมืองสมัยใหม่ เมืองสำคัญของโลก อยู่กันอย่างหนาแน่น ภายใต้ความเป็นประชาคมเศรษฐกิจเดียวกัน กิจกรรมทางเศรษฐกิจและผู้คนเคลื่อนไหวไปมา เชื่อมโยงกันมากที่สุดในย่านหนึ่งของโลก

COVID-19 เปิดฉากขึ้นอย่างน่าวิตก ณ แคว้นลอมบาร์เดีย (Lombardia) พื้นที่ทางเศรษฐกิจสำคัญที่สุดของประเทศอิตาลี มีสัดส่วน GDP ถึงหนึ่งในห้าของประเทศ ทั้งมีความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม ด้วยมีสถานที่เป็นมรดกโลก (UNESCO World Heritage Sites) มากที่สุดในโลก พอๆ กับประเทศจีนทั้งประเทศ มีเมืองมิลาน (Milan) เป็นเมืองเอก เมืองเก่าแก่ของโลกซึ่งมีประชากรหนาแน่นที่สุดในอิตาลี

ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศอิตาลีทะลุ 1,000 รายแรก (29 กุมภาพันธ์) ในเวลาเดียวกันกับสถานการณ์ในประเทศจีนซึ่งดูคลี่คลายไปมากแล้ว จากนั้นจำนวนได้เพิ่มขึ้นถึงระดับ 75,000 คน ภายในเวลาไม่ถึงเดือน (25-26 มีนาคม) ถือเป็นจังหวะกับระยะใกล้เคียงกับกรณีประเทศจีน แต่แล้วตัวเลขกลับพุ่งทะยานขึ้นไม่หยุดไปทะลุแสนราย และยังไม่มีท่าว่าจะถึงจุดพีก จนเวลาล่วงเลยกว่าหนึ่งเดือน (ข้อมูล ณ เวลาเขียน 30 มีนาคม)

ในเวลาเดียวกัน COVID-19 แพร่ระบาดไปทั่วยุโรปอย่างรุนแรง รวดเร็วอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในโลกยุคใหม่ อาจจะเรียกได้ว่าตั้งแต่กรณีที่เรียกกันว่า Spanish flu เมื่อศตวรรษที่แล้ว ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง Spanish flu แผ่ระบาดยาวนานถึง 2 ปีเต็ม (มกราคม 2461-ธันวาคม 2463) คาดกันว่ามีผู้ติดเชื้อทั่วโลกอาจมากถึง 500 ล้านคน และเสียชีวิตจำนวนมากระหว่าง 17-50 ล้านคนเลยทีเดียว

กรณี COVID-19 ซึ่งปะทุทั่วยุโรป เป็นศูนย์กลางใหม่ เคลื่อนย้ายมาจากประเทศจีน ได้ส่งผลให้ภูมิภาคอื่นอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในโลกตะวันออก ซึ่งแพร่ระบาดมาแล้วระดับหนึ่งในรอบแรกๆ มาจากกรณีประเทศจีน ได้ขยายตัวมากขึ้นๆ เป็นลำดับ

ในที่สุดได้มาถึงสหรัฐอเมริกาอย่างรวดเร็ว จุดโฟกัสอยู่ที่ New York เมืองใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา ถือเป็นมหานครเอกของโลก ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจการเงินที่สำคัญที่สุดของโลกตลอดระยะเวลา 150 ปีที่ผ่านมาก็ว่าได้

จากผู้ติดเชื้อในสหรัฐอเมริกา จากระดับพันคน (11 มีนาคม) เกิดขึ้นหลังจากกรณีอิตาลีเพียงไม่ถึง 2 สัปดาห์ และแพร่ระบาดทะลุ 100,000 คน (27 มีนาคม) เป็นสถิติใหม่ในเวลาเพียง 2 สัปดาห์เศษ ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตสะสม ซึ่งสัดส่วนน้อยกว่ากรณีประเทศจีนค่อนข้างมาก จากระดับ 100 คน (17 มีนาคม) ทว่าทะลุพันคน (25 มีนาคม) เพียงสัปดาห์เดียว

นับจาก WHO ประกาศ COVID-19 ได้เข้าสู่ภาวะแพร่ระบาดทั่วโลกผ่านมาแค่เพียง 20 วัน (11-30 มีนาคม) ดัชนีสำคัญเพิ่มขึ้นไม่หยุด เป็นไปอย่างรวดเร็ว อย่างน่าตกใจ จากผู้ติดเชื้อราว 120,000 คน พุ่งไปสู่ระดับกว่า 530,000 ราย เพียงช่วงเวลาที่ว่า จากผู้เสียชีวิตเพียงระดับกว่า 4,000 ราย พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วถึงระดับ 34,000 รายแล้ว

 

โครงสร้างพื้นฐานความมั่นคงทางสังคม

น่าจะเป็นนิยามสำคัญ ท่ามกลางวิกฤตการณ์ กำลังมีการสำรวจ ตรวจสอบ และประเมินกันอย่างจริงจังอย่างทันท่วงที ในแต่ละประเทศ แต่ละระบบเศรษฐกิจ ว่าด้วยความสามารถในการรับมือ การปรับตัว และการบริหารภายใต้วิกฤตการณ์อย่างมีประสิทธิภาพ

โครงสร้างพื้นฐานความมั่นคงที่ว่า มีความเชื่อมโยง มีอิทธิพลและส่งผลกระทบทางสังคมอย่างลึกและกว้างขวาง สัมผัสได้อย่างเป็นจริงเป็นจังมากกว่าวิกฤตการณ์ครั้งใดๆ อย่างน้อยในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา จากมิติ ความมั่นคงทางชีวิตและทรัพย์สิน ในฐานะปัจเจก ไปจนถึงเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม

ท่ามกลางสถานกาณ์อันตึงเครียด โลกาภิวัตน์ เผชิญความท้าทาย ระบบห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) สำคัญๆ ซึ่งเชื่อมโยงกันทั้งโลกมากกว่ายุคใดๆ ถูกบั่นทอนลงอย่างทันท่วงที อันเนื่องมาด้วย แต่ละประเทศ แต่ละระบบเศรษฐกิจ เผชิญปัญหาเดียวกันอย่างพร้อมเพรียง จึงเดินหน้าเข้าสู่โหมด “ปกป้องตนเอง” อย่างเต็มกำลัง

เป็นปรากฏการณ์ครั้งแรก ครั้งสำคัญที่สุดของโลกาภิวัตน์ก็ว่าได้ โดยเฉพาะภาวะการขาดแคลนผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เกิดขึ้นในระดับโลก พร้อมๆ กับปรากฏการณ์การกักตุนสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นไปอย่างโกลาหล

ภาพที่สำคัญภาพหนึ่ง แต่ละประเทศ แต่ละระบบเศรษฐกิจพยายามปรับตัว พยายามรับมือกับวิกฤตการณ์ โดยเฉพาะจากแผนการใหญ่ สู่ความเคลื่อนไหวทางธุรกิจสำคัญ

ดังตัวอย่างประชาคมยุโรป European Union (EU) ประกาศ (20 มีนาคม) ให้ประเทศสมาชิกเข้าถึงอย่างเต็มที่มาตรฐานสินค้าประเภทป้องกันตัว (personal protective equipment หรือ PPE) และอุปกรณ์การแพทย์ ฯลฯ ไม่จำเป็นต้องซื้อหรือจ่ายค่าสิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้ประเทศสมาชิกสามารถผลิตได้อย่างเต็มที่ สามารถปรับกระบวนการผลิตสู่สินค้าจำเป็นได้อย่างรวดเร็ว

ความเคลื่อนไหวธุรกิจใหญ่ระดับโลก ในการปรับตัว ในความพยายามร่วมมือ รับมือวิกฤตการณ์ เป็นปรากฏการณ์ที่เป็นไป

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งมีฐานในประเทศสำคัญ ตั้งแต่ในประเทศจีนจนถึงสหรัฐอเมริกา อย่างกรณี BYD และ GAC Motor และ SAIC Motor ในประเทศจีนปรับกระบวนการผลิต เปิดโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย

Toyota Motor แห่งญี่ปุ่นบรรลุข้อตกลงกับหุ้นส่วนอย่างน้อยอีกสองรายในแผนการใช้เครื่องถ่ายเอกสารสามมิติ เพื่อการผลิต face shields

ขณะ Volkswagen Group แห่งเยอรมนี กำลังทดสอบใช้เครื่องถ่ายเอกสารสามมิติเช่นกัน เพื่อผลิตชิ้นส่วนระบายอากาศ

ไปจนถึงยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกาอย่าง General Motors และ Ford Motor ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเดิมสู่เครื่องมือทางการแพทย์ โดยเฉพาะเครื่องช่วยหายใจและหน้ากากอนามัย

ส่วน Tesla จะเปิดโรงงานทั้งในสหรัฐอเมริกาและจีน ในแผนการปรับสู่การผลิตอุปกรณ์เกี่ยวเนื่องทางการแพทย์เช่นกัน

มองอย่างเฉพาะเจาะจงในบางกรณีได้ก่อเกิดกระบวนการค้นคว้าทางวิทยาการใหม่ ๆ อย่างกรณีชุดตรวจเชื้อ COVID-19 ซึ่งเกิดขึ้นทั้งประเทศจีน ด้วยบริษัทจีนซึ่งยังไม่ค่อยมีใครรู้จัก หรือกรณีอังกฤษ Mologic บริษัทซึ่งผลิตเครื่องตรวจตั้งครรภ์เมื่อปี 2531 ปรับตัวเข้าสู่กระบวนการการผลิตชุดตรวจเชื้อแบบรวดเร็ว ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลอังกฤษ ด้วยความร่วมมือกับ Liverpool School of Tropical Medicine และ St George”s, University of London ไปจนถึงกรณี Abbott Laboratories แห่งสหรัฐอเมริกา บริษัทเก่าแก่ ซึ่งก่อตั้งมา 132 ปี ในฐานะผลิตยา สินค้าทางการแพทย์และสุขภาพมาช้านาน สามารถปรับตัวอย่างรวดเร็ว พัฒนาชุดตรวจ ว่ากันว่ารู้ผลภายใน 5 นาที ซึ่งได้ผ่านการอนุมัติของหน่วยงานอาหารและยาของสหรัฐแล้ว

อีกกรณีหนึ่ง หลายคนเพิ่งจะรู้ว่ายารักษา COVID-19 ในนาม Favipiravir หรือชื่อทางการค้า Agivan ซึ่งได้ผลดี ตามบทสรุปในกรณีประเทศจีนนั้น ที่จริงพัฒนาโดยบริษัทญี่ปุ่น มีความเชื่อมกับธุรกิจจำต้องปรับตัวอย่างรุนแรง คือกิจการในกลุ่ม Fujifilm ซึ่งก่อตั้งมากว่า 80 ปี จากธุรกิจผลิตฟิล์มถ่ายรูปรายแรกของญี่ปุ่น ต่อยอดสู่ธุรกิจอื่น เมื่อฟิล์มถ่ายรูปเป็นสินค้าถูก disrupt จากธุรกิจถ่ายเอกสาร สู่ธุรกิจ Document Solutions ในนาม Fuji Xerox ก่อนจะขยายตัวมาสู่การแพทย์อย่างเงียบๆ

เมื่อสำรวจอย่างคร่าวๆ ไทยอยู่ในตำแหน่งที่ดีพอสมควร แม้ไม่ว่าสิ่งสำคัญและเทคโนโลยีที่กล่าวมาข้างต้น ทว่าเป็นประเทศผู้ผลิตอาหาร ท่ามกลางห่วงโซ่อุปทานอาหารโลกกำลังเปลี่ยนแปลง เชื่อกันว่าจากนี้คุณค่าและราคาอาหารจะเพิ่มสูงขึ้นๆ ขณะเดียวกันเราเป็นฐานการผลิตในห่วงโซ่อุปทาน สินค้าการแพทย์สำคัญๆ บางชนิดด้วย

ก่อนอื่น เราควรผ่านการทดสอบอันเข้มข้น ว่าด้วยบริหารท่ามกลางวิกฤตการณ์เสียก่อน อย่างที่เห็นและเป็นไปอย่างไม่ควรเป็น อย่างกรณีไข่ไก่ขาดตลาด ทั้งๆ สามารถผลิตล้นเกินบริโภคภายในประเทศ จนถึงขั้นส่งออกในระดับภูมิภาค หรือกรณีขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันตัวทางการแพทย์ (personal protective equipment หรือ PPE) ทั้งๆ ที่มีความสามารถในการผลิต

บทสรุปสำคัญ ท่ามกลางการบริหารวิกฤต ภายใต้ยุทธศาสตร์ว่าด้วยโครงสร้างพื้นฐานความมั่นคงทางสังคม แต่ละประเทศ แต่ละระบบเศรษฐกิจ สามารถปรับตัว มีความเชื่อมโยงร่วมมือโดยเฉพาะกับภาคเศรษฐกิจ ดูแล้วเป็นไปอย่างไม่เป็นระบบแบบแผน ที่สำคัญต่อจากนั้นมีความสามารถค้นพบ สามารถสร้างผู้นำใหม่ๆ เพื่อนำทางข้ามพ้นวิกฤตการณ์ หากจำเป็น สามารถ “เปลี่ยนม้ากลางลำธาร” อันเชี่ยวกราก ไปยังม้าตัวใหม่ที่แข็งแรงกว่า

แน่ละ ความเป็นไปเช่นนั้น จะเป็นไปไม่ได้ หากอยู่ในสังคมผูกขาดอำนาจ