E-DUANG : วิกฤต ไวรัส วิกฤต การเมือง หนทาง อยู่รอด “สังคมไทย”

สภาพการณ์ขัดแย้งและแตกแยกในทางความคิดนับแต่ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ซึ่งต่อเนื่องมายังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ก็ถือว่า รุนแรง กว้างขวาง ลึกซึ้ง กลายเป็นปัญหายาวนานนับทศวรรษโดยไม่สามารถหาหนทางออกที่เหมาะสมอยู่แล้ว

ไม่ว่าในทางเศรษฐกิจ ในทางการเมืองและในทางวัฒนธรรม

เมื่อมาประสบกับสถานการณ์ความเลวร้ายของธรรมชาติ ทั้งในเรื่องของไวรัส ทั้งในเรื่องของฝุ่นผง พีเอ็ม 2.5 ก็ยิ่งทำให้สถาน  การณ์เลวร้ายมากยิ่งขึ้นเป็นทบเท่าทวีคูณ

เพราะผลสะเทือนในทางเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรมก็จะยิ่งกว้างขวาง รุนแรงอย่างเด่นชัดเป็นลำดับ

      สภาพ”โกลาหล”เหมือนกับเป็น”ฝันร้าย”จึงเกิดขึ้นแล้วขึ้นอีก

 

คำถามที่เสนอเข้ามา ณ เบื้องหน้าปวงชนชาวไทยอย่างรวดเร็วเป็นอย่างยิ่งจึงมิได้อยู่ที่ว่า จะหาทางออกอย่างไรและมีความมั่นใจมากเพียงใดว่าจะเป็นทางออกที่ถูกต้อง

จึงเกิดการเปรียบเทียบสถานการณ์ของไทยกับสถานการณ์ ของโลกขึ้นโดยอัตโนมัติ

ไม่ว่าจะเป็นบทเรียนในแบบของจีน ไม่ว่าจะเป็นบทเรียนในแบบของสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นบทเรียนในแบบของอิตาลี สเปน

ไม่ว่าจะเป็นบทเรียนในแบบของไต้หวัน ไม่ว่าจะเป็นบทเรียน ในแบบของเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะเป็นบทเรียนในแบบของสิงคโปร์ ไม่ว่าจะเป็นบทเรียนในแบบของเยอรมนี

บทเรียนในต่างประเทศเหล่านี้จะปรับอย่างไรจึงจะเหมาะกับ สภาพความเป็นจริงของสังคมประเทศไทย

 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในสังคมประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางการเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องในทางธรรมชาติ จึงท้าทาย ต่อภูมิปัญญาและความสามารถเป็นอย่างสูง

เพราะในความเป็นจริง สังคมไทยมิได้แก้ปัญหาในเรื่องของภัยธรรมชาติอย่างด้านเดียว

หากแต่ยังแบกปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองอยู่ด้วย

เป็นการเมืองตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 เป็นการเมืองตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 กับปัญหาของภัยธรรมชาติที่คุกคามตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา

คำถามก็คือ สังคมประเทศไทยจะก้าวพ้นวิกฤตอันใหญ่หลวงนี้ได้อย่างไร