ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 เมษายน 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | ชกคาดเชือก |
เผยแพร่ |
กรณีเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ มูลค่ากว่า 6 พันล้านบาท โผล่ขึ้นมาในเอกสารการประชุม ครม.เมื่อวันอังคารที่ 31 มีนาคม ก่อนจะรีบถอยกลับลงทะเลไป ต้องถอนเรื่องออกไปอย่างกะทันหัน เนื่องจากเมื่อมีข่าวเล็ดลอดออกมาจากทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุม ทำให้เกิดกระแสคัดค้านกระหึ่มไปทั่วโซเชียล
ในเมื่อทั่วทั้งสังคมไทยกำลังเรียกร้องให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนแวดวงสาธารณสุข ที่กำลังรับบทหนักกับโรคระบาดร้ายแรง
ในขณะที่แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขกำลังทำงานหนัก เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนเพียงพอ
แค่อุปกรณ์ป้องกันตัวเอง ชุดสวมใส่ป้องกันเชื้อ หน้ากากอนามัยก็ยังไม่พอ
“มาเจอภาพเอกสารวาระประชุม ครม. ปรากฏข้อเสนอจัดหาเรือยกพลขึ้นบก มูลค่า 6 พันล้านบาท ช่างขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง!”
แถมก่อนหน้านี้มีข่าวให้ทุกกระทรวงตัดงบประมาณ 10% เพื่อเกลี่ยมาใช้แก้โควิด จนเป็นที่กล่าวขวัญกันมาก โดยจับตาไปที่งบฯ กระทรวงกลาโหม ทั้งมีข้อเรียกร้องให้ตัดงบฯ สำหรับซื้ออาวุธ เกลี่ยมาใช้ในภารกิจเร่งด่วน หยุดโรคภัยรุนแรงที่ทำลายล้างประชาชนก่อนดีกว่า
ไปๆ มาๆ เอกสารจากห้องประชุม ครม. ทำให้ทั้งสังคมต้องตะลึง กำลังอลหม่านกับโรคระบาดอยู่แท้ๆ แต่นี่กำลังจะดำเนินการซื้อเรือยกพลขึ้นบก
“จึงทำให้เกิดความไม่พอใจกว้างขวาง แสดงออกผ่านเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อย่างร้อนระอุ เรียกร้องให้หยุดซื้ออาวุธเดี๋ยวนี้ ทำให้ต้องถอนวาระนี้ออกไปในที่สุด”
แล้ววาระนี้เสนอโดยใคร ก็โดยกระทรวงกลาโหม มี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม เป็นผู้นำเสนอ
แล้วกระทรวงนี้มีใครเป็นรัฐมนตรีว่าการ
ก็ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนั่นเอง!
เป็นไปตามวงจรอำนาจ ที่ปรากฏให้เห็นมายาวนานแล้วว่า เมื่อใดที่เกิดการรัฐประหาร เข้าสู่ยุครัฐบาลทหาร หรือยุครัฐบาลที่ทหารกำกับอยู่เบื้องหลัง ยุคนั้นจะมีการอนุมัติจัดซื้ออาวุธตามข้อเสนอของกระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพอย่างคึกคักเป็นพิเศษ
บางครั้งก็เร่งดำเนินการอย่างรอช้าไม่ได้ เพราะถ้าเข้าสู่ยุครัฐบาลเลือกตั้ง รัฐบาลจากนักการเมือง ก็จะเป็นช่วงที่การขออนุมัติจัดซื้ออาวุธผ่านการอนุมัติของ ครม.ไม่เต็มที่นัก
“ถ้ามองด้วยสายตาด้านบวก ก็ต้องบอกว่า ในยุครัฐบาลทหาร ก็จะให้ความสำคัญกับการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ เสริมความแข็งแกร่งให้กองทัพอย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มศักยภาพให้สามารถปกป้องเอกราชอธิปไตยของประเทศชาติอย่างมากประสิทธิภาพ เพราะเป็นรัฐบาลทหาร ก็ต้องเข้าใจในความจำเป็นของกองทัพ มากกว่ารัฐบาลพลเรือน”
แต่ถ้ามองด้วยสายตาอีกแบบก็ต้องบอกว่า ในยุครัฐบาลรัฐประหาร ยุครัฐบาลทหาร ถือเป็นยุคทองของการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของกองทัพ
“เป็นยุคทองของการช้อปอาวุธ!”
ไม่ว่าจะมองแบบไหน แต่ความจริงก็คือ ตัวเลขของงบประมาณการจัดซื้ออาวุธจะเพิ่มสูงในช่วงที่ไม่ใช่รัฐบาลจากนักการเมือง ไม่ใช่รัฐบาลจากการเลือกตั้ง
กรณี คสช.เข้ายึดอำนาจการปกครองเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 แล้วสร้างปรากฏการณ์เป็นรัฐบาลทหารที่อยู่ในอำนาจยาวนานกว่าทุกยุครัฐประหาร
โดยรัฐบาล คสช.อยู่ยาวนานถึง 5 ปี แถมเมื่อมีการเลือกตั้ง ก็มีรัฐธรรมนูญฉบับดีไซน์เพื่อพวกเรา มี 250 ส.ว.รอโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ จากรัฐบาล คสช. ได้เป็นนายกฯ ต่อไปอีก
“ย้อนไปดู 5 ปียุครัฐบาลทหาร คสช. มีตัวเลขงบประมาณการจัดซื้ออาวุธพุ่งสูงอย่างชัดเจน
สูงกว่ารัฐบาลก่อนหน้านั้นคือรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรอย่างมาก ย้อนไปยังรัฐบาลพลเรือนอื่นๆ ถัดไป ก็ต่างกันมากกับยุครัฐบาลทหาร คสช.
“ที่ลือลั่นอย่างยิ่งในยุค คสช.ก็คือ การจัดซื้อเรือดำน้ำมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท ไม่ใช่แค่ซื้อรถถัง รถหุ้มเกราะ ซื้อจรวด!!”
ท่ามกลางข้อถกเถียงอย่างหนักว่า ประเทศไทยต้องเผชิญภัยสงครามในลักษณะที่ต้องใช้เรือดำน้ำจริงหรือ ไปจนถึงสภาพท้องทะเลไทยลึกพอสำหรับเรือดำน้ำหรือไม่ ขณะที่ผู้นำรัฐบาลและกองทัพก็ยืนยันด้วยเหตุผลประเภท ต้องมีเพื่อให้เพื่อนบ้านต้องเกรงใจ
ขณะเดียวกันเรือยกพลขึ้นบก 6 พันล้านบาทที่เพิ่งเป็นข่าวเกรียวกราวล่าสุด ในยุคที่ขาดแคลนงบประมาณสู้รบกับสงครามเชื้อไวรัสระบาดหนัก
ก็มีการระบุว่า เป็นเรือสนับสนุนการปฏิบัติการของเรือดำน้ำนั่นเอง เป็นเรื่องต่อเนื่องกัน
เหล่านี้คือรูปธรรมยืนยันว่า ในยุครัฐบาลทหาร คือยุคทองของนักช้อปอาวุธนั่นเอง!
ในวงจรการรัฐประหารของบ้านเรานั้น แทบทุกครั้งจะต้องเริ่มจากโหมสร้างกระแสรัฐบาลนักการเมืองโกงกินคอร์รัปชั่น ใช้อำนาจทางการเมืองไปในทางมิชอบเพื่อประโยชน์ของพวกพ้อง เป็นที่ถูกอกถูกใจประชาชนส่วนหนึ่ง จนเงื่อนไขที่จะล้มรัฐบาลสุกงอม ก็จะมีข้ออ้างครบชุดออกมา เพื่อให้เห็นความจำเป็นต้องยึดอำนาจการปกครอง
แต่คนที่ไม่นิยมชมชอบการรัฐประหาร จะมีเหตุผลของการไม่เห็นด้วยว่า ถ้าหากนักการเมืองโกงกินสร้างความเสียหายมากจริง ย่อมมีพรรคฝ่ายค้านทำหน้าที่ตรวจสอบ เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งหลายครั้งก็ทำให้รัฐบาลต้องยอมปรับ ครม. ปลดรัฐมนตรี หรือบางครั้งก็ต้องยอมยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจกันใหม่
“อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองผ่านหนทางรัฐสภานั้น จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยไม่ล้มคว่ำ ไม่ต้องเสียเวลามาเริ่มนับหนึ่งใหม่ สามารถพัฒนาก้าวหน้าต่อไปได้เรื่อยๆ โดยประชาชนมีส่วนร่วม และช่วยกันยกระดับคุณภาพทางการเมืองให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ”
ขณะที่การรัฐประหาร เป็นการล้มประชาธิปไตย สูญเสียจังหวะเวลาการพัฒนาตัวเองของการเมือง ทำให้อำนาจที่เคยอยู่ในมือประชาชนต้องสูญเสียไป เท่ากับเราปล่อยให้คณะบุคคลกลุ่มหนึ่งเข้ามากุมอำนาจ และตัดสินใจกันเอาเองในกลุ่มคนดังกล่าว โดยประชาชนไม่สามารถมีส่วนร่วมใดๆ ได้เลย การตรวจสอบใดๆ ก็ทำไม่ได้
การรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 เริ่มต้นจากการชุมนุมประท้วงของ กปปส.ในกรณี พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้ทักษิณ จนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยอมจำนน ยอมยุติ พ.ร.บ.ต้นเหตุ และยอมยุบสภา อันเป็นทางออกที่รักษาประชาธิปไตย และคืนอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน
“แต่แกนนำ กปปส.กลับไม่เลือกหนทางนี้”
ยังชัตดาวน์จนบ้านเมืองเข้าสู่ทางตัน เหลือทางเดียวคือการรัฐประหาร
“แทนที่จะเลือกหนทางคืนอำนาจให้ประชาชน ผ่านการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ กลับเลือกหนทางเอาอำนาจมอบให้คณะทหารกลุ่มหนึ่ง!”
จากนั้นเราก็ได้รัฐบาลรัฐประหารมา 5 ปี ต่อด้วยการเลือกตั้งที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแท้จริง เพราะเสียงประชาชนส่วนใหญ่ยังมีค่าน้อยกว่า 250 ส.ว.
5 ปีที่ผ่านมา ต่อด้วย 1 ปีของรัฐบาลที่มีนายกฯ คนเดิม เราได้รัฐบาลที่มีผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพด้านต่างๆ เข้ามาบริหารบ้านเมือง แก้ปัญหาต่างๆ ให้ประชาชนได้หรือไม่
มีการจัดซื้ออาวุธสูงกว่าทุกรัฐบาลพลเรือนหรือไม่ เป็นยุคทองของนักช้อปอาวุธใช่หรือไม่
“รูปธรรมล่าสุดในวิกฤตด้านโรคระบาดครั้งนี้”
เรามีรัฐบาลที่เต็มไปด้วยผู้มากวิสัยทัศน์ สายตากว้างไกล มีผู้ชำนาญการเข้ามาบริหารแก้ปัญหา และมีผู้นำที่สามารถเผชิญภาวะวิกฤตได้อย่างน่าชื่นชม สามารถรวมใจประชาชนร่วมกันฝ่าสถานการณ์อันยากลำบากนี้ได้หรือไม่
แถมขณะอลหม่านเรื่องเงินงบประมาณด้านลมหายใจประชาชน แต่การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ก็ยังนำเสนอเข้าสู่วาระ ครม.ต่อไป!!