คุยกับทูต ‘อัลลัน แมคคินนอน’ ไทย-ออสเตรเลีย สัมพันธ์อันใกล้ชิดและราบรื่น

คุยกับทูต อัลลัน แมคคินนอน ไทย-ออสเตรเลีย สัมพันธ์อันใกล้ชิดและราบรื่น (1)

เมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา นายสกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านความปลอดภัยทางชีวภาพของมนุษย์ โดยแนะพลเมืองของออสเตรเลียว่า ควรยกเลิกการเดินทางไปต่างประเทศทั้งหมด เนื่องจากการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โควิด-19

การประกาศภาวะฉุกเฉิน เป็นการให้อำนาจรัฐบาลในการสั่งปิดเมืองหรือภูมิภาค กำหนดมาตรการเคอร์ฟิว และให้ประชาชนกักตัว หากพิจารณาแล้วว่าจำเป็นเพื่อควบคุมการแพร่ของโรคระบาดนี้

การประกาศอย่างเป็นทางการนี้ได้ยกขึ้นสู่ “ระดับ 4 ห้ามเดินทาง” ไปต่างประเทศ และห้ามการรวมตัวกันเกิน 100 คนภายในอาคารสถานที่ต่างๆ โดยไม่จำเป็น

นายสกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย

ออสเตรเลียมีผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 3,180 ราย และเสียชีวิต 13 ราย (วันที่ 27 มีนาคม 2020) ส่วนมากในรัฐนิวเซาธ์เวลส์, รัฐควีนส์แลนด์ และรัฐวิกตอเรีย

“ชีวิตในออสเตรเลียได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ดังเช่นที่เกิดการเปลี่ยนแปลงไปทั่วโลก”

นายมอร์ริสันกล่าวระหว่างการแถลงข่าวทางโทรทัศน์

“ชีวิตจะเปลี่ยนแปลงต่อไป ในขณะที่เราทั่วโลกกำลังจัดการกับไวรัสโคโรนา ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในรอบร้อยปี”

“โดยที่อาจจะต้องใช้ชีวิตอยู่กับไวรัสนี้เป็นเวลาอย่างน้อยหกเดือน ดังนั้น การมีมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมจะช่วยชะลอไวรัสนี้ให้ลดลงอย่างยั่งยืน เพื่อปกป้องชีวิตชาวออสเตรเลีย ช่วยให้ดำเนินชีวิตต่อไปอย่างปกติโดยรักษาสถานะการทำงานของชาวออสเตรเลียไว้ได้”

สำหรับนายอัลลัน แมคคินนอน (H.E. Mr Allan McKinnon PSM) เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ได้เสริมถึงมาตรการของรัฐบาลออสเตรเลียที่ใช้กับไวรัสโคโรนาขณะนี้

“รัฐบาลออสเตรเลียมีมาตรการหลายอย่างในการรับมือกับโรคระบาดนี้อย่างดีที่สุด เรามีหน่วยงานบริหารในภาวะวิกฤตซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐบาล เช่น ศูนย์ปฏิบัติการและตอบสนองภาวะวิกฤตแห่งชาติ ภายใต้การบริหารงานของกระทรวงต่างประเทศและการค้า รวมทั้งการจำกัดการเดินทาง ซึ่งเราพยายามดำเนินการอย่างสุดความสามารถเพื่อประโยชน์ทางด้านสุขภาพของประชาชน”

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ท่านทูตเล่าว่า

“ผมเดินทางมาถึงเมืองไทยในเดือนมกราคม ปี 2019 ตื่นเต้นมาก เพราะประเทศไทยมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อออสเตรเลีย และโดยเฉพาะผมซึ่งมีความสนใจในประเทศไทยมานานแล้ว”

“แต่ก็ไม่เคยทราบมาก่อนว่าจะได้มาประจำการที่ประเทศไทย จึงค่อนข้างประหลาดใจ ได้มีเวลาเตรียมตัวอยู่หลายเดือน และเรียนภาษาไทยอย่างจริงจังถึง 6 เดือนก่อนจะเดินทางมา”

“เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว ผมเรียนปริญญาตรีและปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University -ANU) ด้านเศรษฐศาสตร์และเอเชียศึกษา โดยเน้นเรียนประวัติศาสตร์ไทย แต่ไม่เคยมาประเทศไทย ต่อมาไปประจำการที่ญี่ปุ่นถึง 2 ครั้ง จึงไม่มีโอกาสได้เรียนภาษาไทย”

“ผมเคยเรียนภาษาไทยตอนที่เป็นนักศึกษา ANU กรุงแคนเบอร์รา และมีความสนใจด้านภูมิภาคเอเชีย อาจจะเป็นเพราะได้รับแรงบันดาลใจมาจากคุณพ่อซึ่งเป็นผู้เจรจาด้านการค้าและสามารถพูดภาษาญี่ปุ่นได้คล่องแคล่ว ผมยังจำได้ดี ตอนที่เราพี่น้องทั้ง 6 คนยืนเรียงแถวต้อนรับผู้เจรจาทางการค้าจากประเทศญี่ปุ่นซึ่งคุณพ่อเชิญมารับประทานอาหารที่บ้าน”

“ทำให้ผมต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับเอเชียมากขึ้นในเวลาต่อมา และช่วงนั้น ANU มีนักวิชาการด้านภาษาไทยที่เก่งที่สุดในโลกสอนอยู่ ซึ่งก็คือ อดีตหัวหน้าโครงการศึกษาภาษาไทย ดร.แอนโทนี่ ดิลเลอร์ (Dr.Anthony Diller) ซึ่งจบจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (University of California, Berkeley) ผมจึงเลือกเรียนภาษาไทย”

“และนี่เป็นครั้งแรกที่ผมมารับตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย ผมจึงรู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นผู้แทนประเทศออสเตรเลีย ณ ประเทศที่ผมสนใจมาเป็นเวลาช้านาน”

“ปัจจุบันผมพยายามพัฒนาภาษาไทยทุกวัน เพิ่งจะเริ่มเรียนกับอาจารย์ภาษาไทยสองท่านเมื่อสามเดือนที่แล้วนี่เอง เพื่อให้ได้ฝึกฝนการสนทนาภาษาไทยสองชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งในบางครั้งผมก็พูดไทยกับแม่บ้านด้วย”

“เนื่องจากผมมีพาร์ตเนอร์เป็นคนญี่ปุ่น ทำให้ได้ใช้ภาษาญี่ปุ่นมากขึ้น เพราะเคยทำหน้าที่เป็นอัครราชทูตและที่ปรึกษาเอกอัครราชทูต ณ สถานทูตออสเตรเลียในกรุงโตเกียวเป็นเวลา 7 ปีครึ่ง แต่ก่อนหน้านั้นผมพูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้เลย จึงได้เริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่น”

COVID-19 ออสเตรเลียหยุดการแข่งขันฟุตบอลลีกชั้นนำ

“ส่วนการเข้าทำงานที่กระทรวงต่างประเทศและการค้า ก็ไม่ได้เป็นการวางแผนมาก่อน เพราะผมไม่เก่งเรื่องวางแผน ทุกอย่างเกิดขึ้นเองทั้งนั้น”

“ย้อนหลังไป 15 ปีที่แล้ว ผมทำงานให้กับนายกรัฐมนตรี อาทิ นางจูเลีย กิลลาร์ด (Julia Gillard), นายเควิน รัดด์ (Kevin Rudd), นายโทนี่ แอ็บบอตต์ (Tony Abbott), นายแมลคัม เทิร์นบุลล์ (Malcolm Turnbull) และนายสกอตต์ มอร์ริสัน (Scott Morrison) นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน”

“ผมไม่ได้ทำงานที่สำนักงานนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีมีสำนักงานของตนเองและเป็นผู้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ที่จะทำงานที่นั่น แค่ผมอยู่ในกรมนายกรัฐมนตรี เป็นกรมที่ประสานงานกับกรมอื่นๆ ในกระทรวง”

“รวมแล้ว 6 ปีที่ผมได้ทำงานด้านนโยบายความมั่นคงและหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ โดยให้คำแนะนำแก่นายกรัฐมนตรี และประสานงานกับหน่วยข่าวกรองเป็นส่วนมาก”

“ก่อนจะมาที่นี่ ผมได้เปลี่ยนโครงสร้างความมั่นคง ความปลอดภัยระดับชาติ ได้จัดตั้งหน่วยข่าวกรองซึ่งประสานงานกับหน่วยข่าวกรองอื่น โดยเป็นการประสานงานกันระหว่างเจ้าหน้าที่อาวุโส พวกเราให้คำปรึกษาแก่นายกรัฐมนตรีในเรื่องข่าวกรองและความมั่นคงปลอดภัย โดยรัฐมนตรีจะมาร่วมประชุมกับคณะรัฐมนตรีทั้งหมด และเราจะให้คำแนะนำแก่นายกรัฐมนตรี และนั่นคือทั้งหมดที่ทำงานให้กับนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี”

“ก่อนหน้านั้นประมาณ 20-25 ปี ผมทำงานให้กับรัฐสภาเกี่ยวกับการเจรจาการค้า ก่อนที่จะมาร่วมงานที่กระทรวงต่างประเทศและการค้า”

และเมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา ได้มีแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรีของ 7 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี เมียนมา นิวซีแลนด์ และสิงคโปร์

ซึ่งมีความเห็นร่วมกันในการคงไว้ซึ่งการเปิดสายการผลิตระหว่างทั้ง 7 ประเทศ ให้สามารถขนส่งสินค้าและอุปกรณ์สำคัญท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019

โดยทุกฝ่ายจะร่วมมือทำงานอย่างใกล้ชิดและร่วมกันแก้ปัญหาที่อาจมาขัดขวางการขนส่งสินค้าต่างๆ ซึ่งต่างมองเห็นถึงความสำคัญในเรื่องมาตรการภาษีในการส่งออกและกำแพงภาษีต่างๆ และได้มองถึงการแก้ไขบังคับเหล่านั้นไว้แล้ว

สะพาน Pyrmont ที่ว่างเปล่าเหนือท่าดาร์ลิ่งฮาร์เบอร์ เมื่อผู้ติดเชื้อโรค Covid19 เพิ่มขึ้น ภาพ -REUTERS

อีกทั้งได้เน้นย้ำความสำคัญของการงดเว้นการบังคับใช้มาตรการควบคุมการส่งออก หรือกำแพงภาษีและอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี การขจัดมาตรการกีดกันทางการค้าใดๆ ที่ดำรงอยู่สำหรับสินค้าจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ในเวลานี้ออกไปก่อน

โดยต่างยืนหยัดที่จะทำงานร่วมกับทุกประเทศที่มีมุมมองคล้ายกัน เพื่อที่จะทำให้มั่นใจได้ว่า การค้าจะไม่หยุดชะงักลง และว่าโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ เช่น ท่าอากาศยานและท่าเรือ ยังคงเปิดทำการเพื่อสนับสนุนให้ห่วงโซ่อุปทานระดับโลกยังคงอยู่และมีความสมบูรณ์

นี่เป็นการตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยการร่วมมือกันเพื่อรักษาสายการผลิตโลกไม่ให้หยุดชะงัก