วงการแม่พิมพ์ระอุ… ศธ.เปิดทางคนเก่ง ไร้ตั๋วสอบครูได้

หลังคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่มี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีมติเห็นชอบปรับปรุงมาตรฐานตำแหน่งครูผู้ช่วย และแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งจะใช้สำหรับสอบแข่งขัน เพื่อบรรจุแต่งตั้งครูผู้ช่วย ทั่วไป ครั้งที่ 1/2560

เพื่อเปิดทางให้ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือใบอนุญาตปฏิบัติการสอน ที่คุรุสภาออกให้ สามารถสมัครสอบแข่งขันจากเดิมที่ต้องมีใบอนุญาต จึงจะสามารถสมัครได้

เท่ากับว่า ต่อไปเด็กที่จบจากสาขาอื่น เรียน 4 ปี สามารถสมัครเข้าชิงตำแหน่งครูผู้ช่วยได้ ไม่จำกัดเฉพาะเด็กที่จบครู 5 ปีเท่านั้น…

ไม่ทันข้ามคืน ก็เจอเสียงต้านอย่างหนักจากคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ที่ระดมออกโรงใส่ไม่ยั้ง!

 

เริ่มจาก นางประพันธ์ศิริ สุเสารัจ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ในฐานะประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) ที่ออกแรงต้านสุดตัว ให้เหตุผลว่า กระทบต่อศักดิ์ศรีวิชาชีพครูอย่างมาก การเรียนครูประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ส่วนหลัก คือ เนื้อหาความรู้ วิธีการสอน เทคนิคการถ่ายทอด จิตวิทยาการถ่ายทอดองค์ความรู้ การประเมินผล และส่วนสำคัญที่สุดคือ จิตวิญญาณความเป็นครู

ดังนั้น การที่ ก.ค.ศ. ออกมติมาเช่นนี้ เท่ากับว่า ศธ. เลือกคนมาเป็นครูจากเนื้อหาที่เรียนอย่างเดียว ทำให้เด็กที่เรียนครู 5 ปีเสียสิทธิ์ โดนเด็กที่เรียน 4 ปี จากคณะ/สาขาวิชาอื่นมาปาดหน้าสอบเป็นครู ทั้งที่พวกเขามีความตั้งใจ และเรียนถึง 5 ปี ฝึกปฏิบัติการสอนอีก 1 ปี ก่อนจะได้ใบอนุญาต และมาสอบเป็นครูผู้ช่วย

“มติดังกล่าวทำให้นิสิต นักศึกษาที่เรียนครู เกิดคำถามว่า แล้วแบบนี้พวกเขาจะเรียนครู 5 ปีไปเพื่ออะไร ในเมื่อเปิดโอกาสให้เด็กสาขาอื่นที่เรียน 4 ปี มาปาดหน้าเค้กสอบครูผู้ช่วยได้ ถือว่าไม่เป็นธรรมต่อพวกเขาอย่างมาก ซึ่งหากจะบอกว่า เด็กที่เรียนจบวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ โดยตรง เก่งกว่าเด็กที่เรียนครูก็ไม่จริง โดย 5 ปีที่ผ่านมาพบว่า เด็กเก่งเลือกเรียนครูเพิ่มขึ้น คะแนนการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือแอดมิสชั่นส์ ก็สูงกว่าเด็กที่เรียนวิทย์ คณิต ดังนั้น จะบอกว่า เด็กสาขาอื่นเก่งกว่าเด็กที่เรียนครูก็คงไม่ใช่ เรื่องนี้ ส.ค.ศ.ท. คัดค้านมาตั้งแต่ปี 2559 แต่ ก.ค.ศ. ก็ยังออกมตินี้มาอีก ทำให้เด็กที่เรียนครูเริ่มไม่พอใจ และกำลังจะก่อหวอด เพราะเขารู้สึกว่าเสียเปรียบ อีกทั้งยังกระทบกับศักดิ์ศรีวิชาชีพอย่างมาก อยากถามว่า ศธ. จะทำแบบนี้กับวิชาชีพอื่นหรือไม่ อาทิ ต่อไปใครไม่จบแพทย์ก็มาสอบเป็นแพทย์ได้ เป็นต้น”

ประธาน ส.ค.ศ.ท. กล่าว

 

ด้าน น.ท.สุมิตร สุวรรณ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เห็นคล้ายกันว่า มติดังกล่าวสวนทางกับการปฏิรูปการศึกษา ปี 2542 ที่ต้องการยกระดับวิชาชีพครู ให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง โดยให้เรียนหลักสูตรครู 5 ปี เพื่อบ่มเพาะและอบรมให้เด็กที่เรียนมีจิตวิญญาณความเป็นครูอย่างแท้จริง ถ้าเราคัดเลือกเด็กที่เรียนสาขาอื่น 4 ปีมาเป็นครู ก็จะได้แต่เด็กที่เก่งวิชาการ ไม่ได้ตั้งใจและไม่ได้มีจิตวิญญาณความเป็นครูตั้งแต่ต้น

ซึ่งแนวทางดังกล่าว เริ่มประสบความสำเร็จ เห็นได้ว่า คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ติดอันดับ 1 ใน 5 ที่เด็กเลือกเรียนมากที่สุด ดังนั้น ถ้าเปิดโอกาสให้สาขาอื่นซึ่งเรียน 4 ปี มาเป็นครูได้ ยอมรับว่า นิสิต นักศึกษา ก็เสียความรู้สึก และพูดกันถึงขนาดว่า ต่อไปก็คงจะยุบคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ เพราะเรียนอะไรก็เป็นครูได้หมด

ส่วนตัวเห็นว่า เรายังไม่ได้ขาดแคลนครูขนาดนั้น ปัจจุบันมีเด็กที่จบสาขาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ และกลุ่มที่ค้างท่ออยู่ประมาณ 2 แสนคนต่อปี หากเปิดกว้างให้สาขาอื่นมาสอบครูได้อีก ทำให้อัตราการตกงานเพิ่มขึ้น ขณะที่ต่อไปอัตราการเกิดของประชากรจะลดลง ทำให้จำนวนนักเรียนลดลง ดังนั้น มตินี้อาจทำให้เกิดปัญหาตามมาอีก!

“สิ่งที่ ศธ. ควรทำคือ หาวิธีการคัดเลือกคนเก่งให้สนใจมาเป็นครูเพิ่มขึ้น และเมื่อเรียนจบแล้ว ก็เร่งบรรจุกลับไปเป็นครูในท้องถิ่นของตนเอง อย่างโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ถือเป็นโครงการที่ดี รวมถึงให้มีการรับเด็กเข้าเรียนในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ในจำนวนจำกัดเพื่อควบคุมการผลิตให้มีคุณภาพอย่างแท้จริง แต่ละวิชาชีพควรเรียนตามสายของตัวเอง เพื่อให้มีจิตวิญญาณในวิชาชีพ อย่างตนเองเป็นทหาร เป็นอาจารย์สอนมหาวิทยาลัย ซึ่งใช้วิธีบรรยายและให้เด็กค้นคว้า แต่จะให้ไปสอนเด็กประถม ตนก็ทำไม่ได้ เพราะการสอนเด็กแต่ละระดับก็มีความแตกต่างกัน ดังนั้น จึงต้องการผู้ที่เรียนมาทางสายนั้นๆ โดยตรง ซึ่งถ้าเด็กที่จบสาขาอื่นอยากเป็นครู ก็มีช่องทางอีกคือ ไปเรียนประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู หรือ ป.บัณฑิต อีก 1 ปี ตามหลักสูตร 4+1 ก็สามารถมาเป็นครูได้ ไม่ได้ปิดช่องทาง และเรียนเท่ากันคือ 5 ปี ไม่เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ”

น.ท.สุมิตรกล่าว

 

ถือเป็นเสียงค้านที่ค่อนข้างดัง ฟังชัด จากคนในแวดวงสถาบันผู้ผลิตแม่พิมพ์

ซึ่งแม้จะเป็นนโยบายประสงค์ดี ที่หวังดึงคนเก่งมาช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนครูในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ

แต่ ศธ. อาจต้องมองในมุมอื่นๆ หาข้อดี ข้อเสีย รวมถึงวิธีแก้ปัญหาที่เป็นจุดร่วม ที่สามารถดึงคนเก่งมาเป็นครูได้ โดยไม่กระทบกับสิทธิ์ของเด็กที่เรียนสายครูโดยตรง

เพราะอย่างน้อยเด็กเหล่านี้ก็ทุ่มเทเวลาเรียนถึง 5 ปี เพื่อตั้งใจเป็นครูจริงๆ!!