อภินิหาร ยังไม่จบ รัฐบาล-สตง.ไล่บี้ต่อ ภาษี 60 นักการเมือง

ต่อเนื่องอภินิหารทางกฎหมาย

กรณีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สั่งให้กรมสรรพากร ไล่เก็บภาษีหุ้นชินคอร์ป 1.6 หมื่นล้านบาทจาก นายทักษิณ ชินวัตร ให้ทันเส้นตายอายุความ 31 มีนาคมนี้

นั่นเท่ากับกรมสรรพากรต้องรับ “เผือกร้อน” ไปเต็มๆ สังคมจับตามองจะหาวิธีตอบสนองรัฐบาลอย่างไร หลังเป็นฝ่ายยืนยันมาตลอดว่าไม่สามารถเก็บภาษีย้อนหลัง รวมทั้งยืดอายุความคดีหุ้นชินคอร์ปได้

แต่เมื่อรัฐบาลมีบัญชาลงมา ทำให้เหลือทางเลือกเดียว คือต้องทำให้ได้

นอกจากคำสั่งรัฐบาลค้ำคอ กรมสรรพากรยังถูกกดดันหนักทั้งจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ผู้ริเริ่มชงเรื่องไปยังรัฐบาล และจากผู้ถูกไล่บี้เก็บภาษี

2 ฝ่ายยิบยกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ขึ้นมาเป็นเครื่องต่อรองข่มขู่

หากไม่ทำ อาจมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือหากทำตามคำสั่งอภินิหาร ก็อาจมีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม หลายคนเชื่อว่าสุดท้ายกรมสรรพากรต้องกัดฟัน โอนอ่อนตามความต้องการของผู้มีอำนาจปัจจุบัน แล้วเลือกไปตายเอาดาบหน้า หลังส่งเรื่องทั้งหมดขึ้นสู่ศาลเป็นผู้ตัดสิน

และแล้ว “มิราเคิล ออฟ ลอว์” กรณีหุ้นชินคอร์ป จากความคิดริเริ่มของ สตง. ก็ได้กลายเป็น “โมเดล” ในการเรียกเก็บภาษีจากนักการเมือง 60 คนในรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

“กรณี สตง. ออกมาเร่งรัดกรมสรรพากรให้ดำเนินการจัดเก็บภาษีนักการเมือง 60 คน เป็นการแสดงให้เห็นว่า สตง. ไม่ได้เลือกปฏิบัติเร่งรัดให้กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีเฉพาะคดีซื้อขายหุ้นชินคอร์ปเท่านั้น” นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการ สตง. ระบุ

 

ย้อนกลับไปในเดือนกันยายน 2558

นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการ สตง. ทำหนังสือถึง นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ให้เรียกเก็บภาษีย้อนหลังนักการเมือง 60 คนในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์

หลังตรวจสอบบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน 3 ช่วงเวลา ได้แก่ ก่อนเข้ารับตำแหน่ง พ้นตำแหน่ง และพ้นตำแหน่งไปแล้ว 1 ปี พบว่า

ทั้ง 60 คนมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นและหนี้สินลดลง คิดเป็นเงินจำนวนมาก แต่ยื่นภาษีต่ำกว่าความเป็นจริง อาจเข้าข่ายหลีกเลี่ยงภาษี ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 โทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี

“บางคนเพิ่มจาก 50 ล้านเป็น 500 ล้าน บางรายเพิ่มเป็นพันล้านบาท ที่ผ่านมาก็มีข่าวว่าเป็นถึงอดีตนายกฯ และรัฐมนตรี” นายพิศิษฐ์ระบุ

สำหรับบทบาทกรมสรรพากรในตอนนั้น

หลังได้รับหนังสือจากผู้ว่าการ สตง. ก็ได้ทำหนังสือไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบถามว่านักการเมืองทั้ง 60 คนร่ำรวยผิดปกติ และอยู่ระหว่างถูก ป.ป.ช. ตรวจสอบกรณีปกปิดทรัพย์สินหรือไม่

ซึ่ง ป.ป.ช. ตอบกลับมาว่า ตรวจสอบแล้วนักการเมืองทั้ง 60 คน ร่ำรวยเป็นปกติ และไม่ได้ปกปิดทรัพย์สิน กรมสรรพากรจึงแจ้งคำตอบกลับมายัง สตง.

ต่อมา สตง. ทำรายงานแย้งกลับว่า ถึงจะร่ำรวยเป็นปกติ แต่เมื่อพบว่ามีบัญชีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น ก็เป็นหน้าที่กรมสรรพากรต้องจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นด้วย

เมื่อไร้สัญญาณตอบรับจากกรมสรรพากร เรื่องจึงเงียบหายไป

กระทั่งเข้าสู่ยุคมิราเคิล ออฟ ลอว์ หลังชงเรื่องให้รัฐบาลรื้อฟื้นการเก็บภาษีหุ้นชินคอร์ปเป็นผลสำเร็จ ผู้ว่าการ สตง. จึงหยิบยกเรื่องภาษี 60 นักการเมือง ขึ้นมาขยายผล “ต่อยอด” อีกครั้ง

พร้อมเตือนแกมขู่ว่า ครั้งนี้หากกรมสรรพากรยังเพิกเฉยเหมือน 2 ปีที่ผ่านมา อาจมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอาญา มาตรา 157

จากคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย เหมือนเป็นสัญญาณไฟเขียว บ่งชี้ให้เห็นว่ากรณีภาษี 60 นักการเมือง น่าจะดำเนินรอยตามกรณีภาษีหุ้นชินคอร์ป

รัฐบาลพร้อมเป็น “หลังพิง” ให้กับ สตง.

ขณะเดียวกันก็น่าสงสัยในชะตากรรมของอธิบดีกรมสรรพากรเป็นอย่างยิ่ง

 

เนื่องจากการเปิดประเด็นเรียกเก็บย้อนหลังภาษี 60 นักการเมือง เกี่ยวพันไปถึงบุคลากรใน 2 พรรคการเมืองใหญ่ จึงทำให้เกิดแรงกระเพื่อมตามมาค่อนข้างรุนแรง

แกนนำและอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ มีปฏิกิริยาต่อเรื่องดังกล่าวในท่วงทำนองคล้ายคลึงกัน

ทางหนึ่ง แสดงความพร้อมให้ตรวจสอบ ทางหนึ่งก็เรียกร้องให้ตรวจสอบอย่างเสมอภาคเท่าเทียม หมายถึงว่า สตง. ควรตรวจสอบภาษีนักการเมืองในรัฐบาล คสช. ด้วยเช่นกัน

ถึงขนาดบางคนเรียกร้องให้ตรวจสอบภาษีคนในเครือข่ายแม่น้ำ 5 สาย ข้าราชการระดับสูง ไปจนถึงกรรมการองค์กรอิสระ ไม่เว้นแม้แต่ สตง. ก็ควรได้รับการตรวจสอบ

พร้อมตั้งข้อสังเกต นายพิศิษฐ์ ต้องการเร่งสร้างผลงาน เพื่อแลกกับ “อภินิหาร” บางอย่าง ในช่วงโค้งสุดท้ายของการทำงาน ก่อนหมดวาระตำแหน่งผู้ว่าการ สตง. เดือนเมษายนนี้หรือไม่

“ไม่มีปัญหาและเห็นด้วยกับการตรวจสอบเรื่องภาษีนักการเมือง—แต่หาก สตง. จะใช้แนวทางนี้ตรวจสอบเรื่องภาษี ควรต้องใช้กับทุกรัฐบาล รวมถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันด้วย เพื่อให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน” นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกฯ ระบุ

อย่างไรก็ตาม การที่นายพิศิษฐ์ ผู้ว่าการ สตง. อ้างว่า ไม่สามารถยื่นมือเข้าไปตรวจสอบรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดปัจจุบันได้ เนื่องจากยังไม่พ้นจากตำแหน่ง

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความไม่เห็นด้วย ด้วยเหตุผลว่าถึงไม่สามารถตรวจสอบทรัพย์สินหลังพ้นตำแหน่งได้ แต่ สตง. สามารถตรวจสอบการเสียภาษีโดยเปรียบเทียบเป็นรายปีของแต่ละคนได้

แต่นี่เป็นปฏิบัติการ “ย้อนศร” กันตรงๆ

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ยื่นหนังสือขอให้กรมสรรพากรตรวจสอบการเสียภาษีของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม

กรณียื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. เป็นเช็ค 1 ล้านบาท ช่วงดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม ในยุครัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2551

ยังไม่รวมก่อนหน้านี้ ที่ได้ไปยื่นหนังสือถึง นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ให้ตรวจสอบการขายที่ดินของญาติใกล้ชิดบุคคลสำคัญในรัฐบาล ว่าเสียภาษีถูกต้องหรือไม่

สถานการณ์สะท้อนการขับเคี่ยวกันระหว่างฝ่ายหนึ่ง รัฐบาล-สตง. กับอีกฝ่ายหนึ่ง นักการเมือง 2 พรรคใหญ่ ซึ่งถูกอภินิหารทางกฎหมายกวาดต้อนมาอยู่มุมเดียวกัน

ส่งผลให้การสร้างปรองดอง เลี้ยวกลับมายังเส้นทางขรุขระอีกครั้ง