ผ่าปมบุกแทง ด.ญ.ดับ “จิตรลดา” ก่อเหตุซ้ำ หมอชี้อาการป่วยจิต ย้อนคดีโหด 15 ปีก่อน

ตกเป็นข่าวฮือฮาอีกครั้ง สำหรับ “จิตรลดา” สาวป่วยจิตที่เคยก่อเหตุสยองด้วยการบุกเข้าไปในโรงเรียนแล้วใช้มีดแทงเด็กนักเรียน 4 คนบาดเจ็บ

พร้อมกับอ้างว่ามีเสียงสวรรค์สั่งให้ทำ!??

สร้างความหวาดผวาให้กับครอบครัวและผู้ปกครอง จนเกิดการเรียกร้องยกระดับความปลอดภัยในโรงเรียน

ขณะที่สาวคนดังกล่าวถูกจับกุมขึ้นศาลถูกพิพากษาจำคุก 8 ปี แต่ด้วยเหตุรับสารภาพ ได้รับการลดหย่อนเหลือโทษจำคุก 4 ปี

ก่อนออกมารักษาอาการป่วยที่สถานพยาบาล และกลับมาก่อเหตุอีกครั้งด้วยการใช้มีดแทงสังหาร ด.ญ.วัยเพียง 4 ขวบ

ยืนยันจากแพทย์ว่าเป็นอาการทางจิต

กลายเป็นคำถามจากสังคมถึงเรื่องการคัดกรองผู้ป่วยที่เป็นอันตราย โดยเฉพาะผู้ที่เคยก่อเหตุความรุนแรง

ควรมีมาตรการควบคุมดูแลอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดเหตุสลดเช่นนี้อีก

ช็อก “จิตรลดา” แทง ด.ญ.ดับ

เหตุสลดครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อช่วงเย็นวันที่ 29 มีนาคม โดย ร.ต.อ.สมคิด โพธิ์ขาว รอง สว.สอบสวน สภ.นครชัยศรี จ.นครปฐม รับแจ้งเหตุจากโรงพยาบาลห้วยพลูว่ามีเด็กถูกคนร้ายใช้มีดแทงได้รับบาดเจ็บสาหัส เจ้าหน้าที่เดินทางไปตรวจสอบพบผู้บาดเจ็บคือน้องแอมป์-ด.ญ.ทิพรดา หอมสุวรรณ อายุ 4 ปี เด็กนักเรียนชั้นอนุบาล 2 วัดกลางคูเวียง อยู่บ้านเลขที่ 29/8 หมู่ 4 ต.วัดแค อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม อาการสาหัสไม่รู้สึกตัว

ที่ท้องมีบาดแผลถูกแทง 1 แผล แพทย์ช่วยเหลือพร้อมส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาลศูนย์นครปฐม แต่ทนพิษบาดแผลไม่ไหว เสียชีวิตในเวลาต่อมา

จากนั้นเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบจุดเกิดเหตุอยู่ที่ร้านขายอาหารตามสั่ง หมู่ 4 ต.วัดแค ภายในร้านที่แคร่ไม้สำหรับพักนอน พบรอยเลือดหยดเป็นทาง ใกล้กันพบมีดปอกผลไม้เปื้อนเลือดตกอยู่ 1 เล่ม ผู้ก่อเหตุเป็นหญิงวัย 50 ปีที่มีบ้านพักอยู่บริเวณดังกล่าว หลังก่อเหตุเดินหลบหนีหายไป

ระหว่างตรวจสอบที่เกิดเหตุและสอบพยานที่เห็นเหตุการณ์ ระบุว่า ก่อนเกิดเหตุ ด.ญ.ทิพรดานอนเล่นอยู่ที่แคร่ไม้ โดยที่ป้าและพ่อ-แม่ขายข้าวอยู่หน้าร้าน เนื่องจากไม่ได้เปิดให้ลูกค้าเข้ามานั่งในร้าน ตามมาตรการควบคุมป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19

ต่อมาขณะที่ผู้ปกครองของ ด.ญ.ทิพรดาเดินเข้ามาในร้านเห็นเด็กน้อยนอนดิ้นทุรนอยู่บนแคร่ ที่ท้องมีเลือดไหลนอง จึงพยายามสอดส่ายหาคนร้ายก็เห็นหลังหญิงวัย 50 ปีเดินผ่านไปเร็วๆ แต่ด้วยเรื่องสำคัญกว่าคือพาเด็กน้อยส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาล จึงยังไม่ได้ติดตามจับหญิงต้องสงสัย

จากนั้นไม่นานก็ได้รับแจ้งจาก สภ.นครชัยศรี ว่ามีหญิงต้องสงสัยเดินเข้ามาที่ สภ.ในลักษณะเหม่อลอย ไร้ความรู้สึก ล้มตัวลงนอนกับพื้นของโรงพักแล้วกล่าวอ้างว่าได้ลงมือแทงเด็กหญิงไปก่อนหน้านี้

เจ้าหน้าที่จึงควบคุมตัวสอบสวน ก่อนจะพบว่าหญิงคนดังกล่าวเป็นคนร้ายที่แทง ด.ญ.จนถึงแก่ความตายจริง!??

และเมื่อสอบสวนไปก็พบกับความจริงที่น่าตระหนก เนื่องจากหญิงคนดังกล่าวก็คือ “จิตรลดา” หญิงสาวที่เคยบุกโรงเรียนดังกลางกรุงแล้วใช้มีดแทงเด็กนักเรียนบาดเจ็บถึง 4 ราย

ขณะที่ครอบครัวเหยื่อร่ำไห้น้ำตาเป็นสายเลือด เข้ารับศพมาบำเพ็ญกุศลที่วัดกลางคูเวียง อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ร่วมกับจุดเทียนวันเกิดให้กับน้องแอมป์ที่อายุจะครบ 5 ปีในวันที่ 30 มีนาคม ด้วยบรรยากาศที่เศร้าสลด

เป็นความสูญเสียที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น

ชี้ป่วยจิต-ส่งรักษาต่อ

ขณะที่ น.ส.จิตรลดา (ขอสวนนามสกุล) ถูกควบคุมตัวส่งรักษาที่โรงพยาบาลนครปฐม ด้วยอาการชักเกร็ง หายใจแรงผิดปกติ ระหว่างอยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.นครชัยศรี ก่อนจะส่งตัวไปรักษาอาการทางจิตที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ พุทธมณฑลสาย 4 ตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 30 มีนาคม โดยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ได้สอบปากคำ และยังไม่ได้ตั้งข้อหาใดๆ

เนื่องจากระบุว่า เป็นขั้นตอนตามกฎหมายที่ต้องเข้ารับการรักษาจนกว่าจะหาย แล้วจึงจะนำตัวเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม

ด้าน นพ.ศรุตพันธ์ จักรพันธุ์ ณ อยุธยา ผอ.สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กล่าวว่า น.ส.จิตรลดาเป็นคนไข้ที่รักษากับสถาบันกัลยาณ์ฯ มาตลอด ตั้งแต่เมื่อครั้งก่อคดีปี 2548 ช่วง 10 ปีหลังสุดก็เข้าโรงพยาบาล 6 ครั้ง พออาการกำเริบก็กลับมารักษาอีก โดยครั้งสุดท้ายที่ออกจากโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 17 มีนาคม และนัดติดตามอาการวันที่ 31 มีนาคม แต่มาเกิดเหตุเสียก่อน ขอแสดงความเสียใจกับผู้สูญเสียด้วย

นพ.ศรุตพันธ์กล่าวว่า หากส่งตัว น.ส.จิตรลดามาที่สถาบันกัลยาณ์ฯ ก็จะประเมินอีกครั้งว่าเกิดอะไรขึ้นที่ทำให้เกิดอาการกำเริบ ซึ่งตอนนี้ยังไม่สามารถตอบได้ เท่าที่ดูประวัติคร่าวๆ น.ส.จิตรลดามีอาการขึ้นๆ ลงๆ มีก้าวร้าว มีอาการสับสนก็มารักษา พออาการดีก็กลับมาอยู่บ้าน

โดยสาเหตุนั้น ถ้าเป็นคนไข้ทั่วๆ ไป โรคกำเริบมีหลอน มีแว่ว ระแวง กลัว อาจจะเป็นเรื่องของขาดยาก็ได้ หรือมีตัวกระตุ้นอื่น มีการใช้สารเสพติด หรือถูกหลอก หรือเป็นเรื่องที่เขาคิดของเขาเอง ถึงบอกว่าแต่ละกรณีเมื่อมีอาการกำเริบต้องมาประเมิน เพราะแต่ละครั้งอาจมีปัจจัยสาเหตุแตกต่างกันด้วย เช่น คนไข้คนเดียวกัน มาด้วยอาการเดียวกัน แต่สาเหตุอาจแตกต่างกันในแต่ละครั้งได้

อย่างไรก็ตาม กรณี น.ส.จิตรลดาไม่ได้เพิ่งออกจากโรงพยาบาล เขาออกมาอย่างนี้ 10 ปี และใช้ชีวิตอย่างปกติ เมื่อมีอาการก็เข้ามา

จริงๆ ประเทศไทยมีคนไข้ผู้ป่วยจิตเภทอยู่ 1 เปอร์เซ็นต์ หรือ 500,000-600,000 คน เขาก็อยู่อย่างนี้ กรณีนี้คือก่อความรุนแรงจริงและมีประวัติอยู่ แต่ครั้งนี้เป็นอะไรก็ต้องมาดูสาเหตุกัน ต้องฝากว่า จริงๆ เราอยู่ร่วมกันได้ เขาอยู่ในสังคมได้มาเป็น 10 ปี แต่เพิ่งมาเกิดเหตุการณ์นี้

ต้องไปดูระบบติดตามว่าเกิดอะไรขึ้น

ย้อนรอย 15 ปี-บุกทำร้ายนักเรียน

สําหรับ น.ส.จิตรลดาเคยตกเป็นข่าวโด่งดังเมื่อปี 2548 โดยเมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 9 กันยายน 2548 น.ส.จิตรลดาที่ถูกระบุเป็นผู้ป่วยจิตเวช บุกเข้าไปในโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ แขวงสีลม เขตบางรัก กทม.

ก่อนเดินขึ้นไปบนอาคารเรียนชั้น 3 ตึกเซนต์ปอล ใช้มีดไล่แทงนักเรียนได้รับบาดเจ็บ 4 คน ในจำนวนนี้สาหัส 3 คน มีนักเรียนชั้น ป.6 อายุ 12 ปี จำนวน 1 คน และอีก 3 คนเป็นนักเรียนชั้น ม.2 อายุ 14 ปี เจ้าหน้าที่นำส่งโรงพยาบาล เบื้องต้นทราบว่าหญิงคนดังกล่าวแต่งตัวคล้ายผู้ปกครองก่อนเข้ามาในโรงเรียน หลังก่อเหตุได้นั่งวินจักรยานยนต์หลบหนีไปลงย่านสะพานเหลือง

จากนั้นวันที่ 10 กันยายน ตำรวจได้รับแจ้งจากพลเมืองดีว่าพบคนร้ายรูปร่างคล้ายผู้ก่อเหตุดังกล่าวอยู่ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในสวนรถไฟย่านจตุจักร เมื่อเจ้าหน้าที่ไปถึงพบว่าคนร้ายหลบอยู่ในห้องน้ำ ทราบชื่อคือ น.ส.จิตรลดา หรือเป็ด อายุ 36 ปี (อายุในขณะนั้น) จึงนำตัวไปสอบปากคำ และทำแผนประกอบคำรับสารภาพ

จากนั้น น.ส.จิตรลดาก็ถูกส่งตัวให้จิตแพทย์ทดสอบสภาพจิตใจ พบว่ามีอาการทางประสาท จึงถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาบำบัดที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ย่านถนนพุทธมณฑลสาย 4 จนเริ่มกลับมาเป็นปกติ

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2551 ศาลอาญากรุงเทพใต้ พิพากษา น.ส.จิตรลดามีความผิดฐานพยายามฆ่า ให้จำคุก 4 กระทง กระทงละ 2 ปี รวม 8 ปี แต่ลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 4 ปี เนื่องจากรับสารภาพ ซึ่งเมื่อพ้นโทษแล้วก็ถูกส่งไปคุมตัวรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ จนกว่าจะอยู่ร่วมในสังคมได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อสังคม

เนื่องจากพบว่ามีประวัติป่วยเป็นจิตเวช ถึงขั้นใช้มีดฟันหัวพ่อเลี้ยงบาดเจ็บเมื่อตอนอายุประมาณ 20 ปีมาแล้ว

จนมาถึงครั้งนี้กลับมาก่อเหตุอีกครั้ง และส่งผลให้เด็กหญิงวัยเพียง 4 ขวบเสียชีวิต

กลายเป็นประเด็นคำถามถึงการบริหารจัดการผู้ป่วยที่สุ่มเสี่ยงจะก่ออันตรายว่ามีการประเมินที่รอบด้านเพียงใด

และมีมาตรการใดที่จะป้องกัน ไม่ใช่มาตรการล้อมคอก

หลีกเลี่ยงการสูญเสียที่น่าสลดเช่นนี้อีก