มุกดา สุวรรณชาติ : Covid และเศรษฐกิจ ต้องแก้พร้อมกัน…ไม่งั้นจะตายหมด

มุกดา สุวรรณชาติ

หลังจาก Covid-19 ระบาดในระดับ Pandemic โจมตีมนุษย์มา 3 เดือนก็พอสรุปได้ว่ามนุษย์ยังมีวิธีการป้องกันตัวเอง แก้ไขปรับปรุงวิถีชีวิตและเยียวยารักษา (ดูบทเรียนของจีน) ทั้งหมดนี้จะทำให้สามารถผ่านปัญหานี้ไปได้

แต่ว่าจะได้รับบาดเจ็บกันทุกประเทศ การเสียชีวิต อาจมีไม่มากถ้าเทียบกับจำนวนประชากร

แต่ผลกระทบที่ตามมาต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ คงสั่นคลอนไปทั่วโลก

เพราะเศรษฐกิจ 3 ยักษ์ใหญ่ของโลกโดนเข้าไปเต็มๆ เริ่มที่จีน ตามมาด้วยยุโรป ซึ่งหนักกว่าและยังไม่จบ และต่อด้วยสหรัฐอเมริกาก็ยังไม่จบเช่นกัน

ถ้า 3 ยักษ์ได้รับบาดเจ็บ กำลังซื้อและกำลังการผลิตก็จะลดตาม

นั่นหมายถึงเศรษฐกิจโลกซึ่งคาดว่าจะตกต่ำอยู่แล้ว จะร่วงลงไปกว่าเดิม ซึ่งไม่รู้ว่านานเท่าใด

วิกฤตการณ์นี้จะวัดความสามารถ ความซื่อสัตย์ ความจริงใจของรัฐบาล ที่มีต่อประชาชน ซึ่งจะสามารถเปรียบเทียบกันได้ในทุกด้าน เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นเกือบทั่วทั้งโลก

จะช่วยคนจนอย่างไร คนชั้นกลางอย่างไร จะช่วยประคองธุรกิจต่างๆ ให้เดินต่ออย่างไร เพื่อให้คนมีงานทำ จะพักหนี้ ลดหนี้กับธนาคารได้กี่เดือน เพราะธุรกิจจำนวนมากหยุดหรือเกือบหยุดเดิน

งบประมาณที่มีอยู่จะใช้ช่วยประชาชนอย่างไร จะซื้อเครื่องช่วยหายใจ ยา หรือซื้ออาวุธ

ทำอย่างไรข้าวที่มีอยู่จึงจะถึงมือประชาชนที่จนที่สุด

 

คนเสียชีวิตจาก Covid-19 เยอะแค่ไหน?

ทีมงานเราเองประเมินเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า จะมีคนติดเชื้อเป็นล้านราย ตายหลายหมื่น แต่ก็ไม่คิดว่าจะเร็วขนาดนี้

ตัวเลขที่รายงานทุกวันบอกว่าขณะนี้มีคนติดเชื้อถึง 1,000,000 คน และจำนวนผู้เสียชีวิตจาก Covid-19 ประมาณ 50,000 คน

จีน…ภาพสรุปจากจีนพบคนติดเชื้อ 8 หมื่นกว่า (ที่ติดเชื้อแต่อาจไม่ได้รับการตรวจไม่รู้เท่าไร) ผลสรุปคือมีคนรักษาหาย 7 หมื่นกว่าคนและมีคนเสียชีวิตประมาณ 3,300 คน เมื่อวัดจากคนจีน 1,438 ล้านจะพบว่าเป็นเพียง 0.00023% ถือว่าสกัดทัน

การที่มีคนเสียชีวิตมีน้อยมาก เมื่อเทียบกับประชากรของประเทศ จึงต้องมีการนับว่าคนล้านคนในประเทศนั้นมีเสียชีวิตสักกี่คน ถือเป็นการวัดมาตรฐานของประเทศและรัฐบาลไปด้วยก็ได้

ตอนนี้ที่จีนอัตราผู้เสียชีวิตจาก Covid-19 คือ 2 คนต่อประชากร 1 ล้าน

อิตาลีซึ่งถือว่าร้ายแรงที่สุดขณะนี้คือ มีคนติดเชื้อเกินแสน เสียชีวิตหมื่นกว่า คิดเป็น 0.015% ของประชากร 60 ล้าน เพราะทั้งสกัดไม่ทัน และไม่มีกำลังจะรักษาได้ทั่วถึง ขาดอุปกรณ์แพทย์ อัตราเสียชีวิตประมาณ 230 ต่อ 1 ล้านคน

สหรัฐอเมริกาซึ่งขณะนี้มีคนติดเชื้อประมาณ 2 แสนคน สกัดไม่อยู่แต่การรักษาดี อัตราเสียชีวิตคือ 9 คนต่อ 1 ล้าน มีประชากร 330 ล้าน

สเปนซึ่งถือว่าร้ายแรงมาก ขณะนี้มีคนติดเชื้อประมาณ 1 แสน การเสียชีวิตอัตรา 220 คนจากล้านคน ประชากรสเปน 46.7 ล้าน

เยอรมนีซึ่งมีการรักษาดีมากแม้มีติดเชื้อถึง 70,000 กว่า แต่อัตราการเสียชีวิต 10 คนจากล้านคน (ประชากร 83.7 ล้าน)

ฝรั่งเศสเสียชีวิต 65 คนจากล้านคน (ประชากรฝรั่งเศส 65.2 ล้าน)

กรณีเกาหลีใต้ที่พลาดในช่วงแรกแต่ก็แก้ไขได้ อัตราการเสียชีวิตคือ 3 คนต่อล้านคน (ประชากร 51.2 ล้านคน ส่วนญี่ปุ่น 0.4 คนต่อล้านคน (ประชากร 126.5 ล้าน)

มาเลเซียที่มีข่าวว่ามีการระบาดมาติดชายแดนภาคใต้ไทย อัตราการเสียชีวิต 1 คนต่อล้านคน (ประชากร 32.2 ล้าน)

ทั้งโลกมีคนเสียชีวิตเพราะ Covid-19 ณ เวลานี้ ในอัตรา 5 คนต่อประชากรโลก 1,000,000 คน ตัวเลขนี้จะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้ายังคุมระบาดไม่ได้

ตอนนี้ทั้งโลกกำลังจับตาดูอินเดียที่มีประชากร 1,376.5 ล้าน มีทั้งเขตร้อนเขตหนาวว่าล็อกดาวน์แบบใช้หวายตีคนจะสู้กับ Covid-19 ได้หรือไม่ ตอนนี้คนติดเชื้อน้อยกว่าไทย แต่ผู้เสียชีวิต 32 คน ใน 2 สัปดาห์นี้ ถ้าต้านไม่อยู่จะวุ่นทั้งภูมิภาคนั้น

ประเทศไทยจะแก้ปัญหาอย่างไร?

สําหรับประเทศไทยดูจากสถานการณ์วันนี้ยังเบามาก ต้องรออีก 2 สัปดาห์จึงจะรู้หมู่หรือจ่า เรื่องอัตราผู้เสียชีวิตไม่อาจนับได้เป็นเปอร์เซ็นต์หรือเป็นจำนวนคนต่อล้านคน เพราะยังมีผู้เสียชีวิตน้อยมาก คือ 0.09 คนจากล้านคน ประชากรไทยวันนี้ 69.75 ล้าน ต้องมีผู้เสียชีวิตถึง 70 คนจึงจะมีสัดส่วน 1 ต่อล้านคน

ดังนั้น เมื่อมองจากสภาพภูมิอากาศ การตื่นตัวต่อโรค Covid-19 ของประชาชน มาตรการป้องกันที่ประกาศใช้ไปแล้ว แม้จะทำช้าไปบ้าง บวกกับความสามารถในการรักษาพยาบาลของเครือข่ายสาธารณสุขทั้งประเทศ คงไม่มีผู้เสียชีวิตแบบยุโรป

ยิ่งถ้าย้อนดูข้อสรุปจากคนป่วยเสียชีวิตที่ผ่านมาทุกประเทศ จะพบว่าส่วนใหญ่เป็นคนสูงอายุ 70 กว่าหรือ 80 กว่า บางส่วนก็เป็นผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้วเกี่ยวกับทางเดินหายใจ หัวใจ เบาหวาน มะเร็ง เป็นต้น

อาจมีคนถามว่า ถ้างั้นเราสนใจ Covid-19 ให้น้อยลงได้หรือไม่

คำตอบคือไม่ได้ เพราะนี่เป็นโรคที่จะสามารถขยายตัวไปทำลายวิถีชีวิตปกติในสังคม และที่คนเสียชีวิตน้อย เพราะเราตั้งใจสกัดมันด้วยวิธีต่างๆ

แต่โรคนี้ทำให้คนกลัวและความกลัวบวกกับมาตรการที่เราใช้สกัดมัน เช่น ล็อกดาวน์เมือง ก็ส่งผลต่อชีวิตของผู้คนในโลก เราต้องเสียทรัพยากรและบุคลากรเพื่อทำการรักษาและโอกาสทำมาหากิน โอกาสในการใช้ชีวิตในด้านต่างๆ ความสุขความสบาย

ถ้าไม่สกัดมันเราก็เสียหายหนัก และแม้ออกแรงสกัดมัน เราก็ยังแย่อยู่ดี

แต่ไวรัสไม่ทำให้โลกหยุดหมุน คนยังต้องกิน ต้องทำงาน

สภาพความเป็นจริงของการดำรงชีวิต ทำให้เราจะต้องทำทั้ง 2 อย่างคือ ทั้งสกัดโรคติดต่อนี้และแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและปรับวิถีชีวิตของผู้คนไปพร้อมกัน

เรายังไม่รู้ว่าการต่อสู้กับ Covid-19 จะใช้เวลานานเท่าไหร่ อาจจะถึง 2 ปีก็ได้ แต่เราไม่สามารถล็อกดาวน์เมืองต่างๆ หรือหยุดการทำมาหากินได้เกิน 3 เดือน เพราะมีคนจำนวนมากไม่ได้สะสมทรัพยากรที่จะดำรงชีวิตอยู่ต่อได้นานขนาดนั้น

คงต้องสรุปว่า ต้องแก้ปัญหา Covid-19 ให้ได้ เศรษฐกิจจึงจะฟื้น แม้ไม่หายไปหมดสิ้นแต่ก็ต้องอยู่ในระดับควบคุม และคนไม่กลัว แต่จะไปรอจนแก้ปัญหาโรคระบาดให้จบแล้วค่อยแก้เศรษฐกิจคงไม่ได้ เพราะถ้ายืดเยื้อปีกว่า หรือ 2 ปี ก็พังกันทั้งหมด เชื่อว่าการทำมาหากินคงกลับมาในไม่นานนี้ แต่จะอยู่บนระเบียบใหม่

 

รัฐบาลต้องทำอะไร?

1.การป้องกันและตั้งรับ Covid-19 ในขั้นระบาดทั่วประเทศ

1.1 สกัดการแพร่เชื้อโดยใช้เครือข่าย อสม. กระทรวงสาธารณสุข กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มหาดไทย การปกครองท้องถิ่น อบต. และเทศบาล

จุดอ่อนอีกอันหนึ่งคือคนที่ทำงานในระบบขนส่ง ทั้งส่งคนและส่งของ ส่งอาหาร

จะต้องได้รับการดูแลและตรวจสอบเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นของบริษัท หรือแบบอิสระ พวกเขาจะเป็นตัวช่วย และก็อาจจะเป็นตัวแพร่เชื้อ มีคนใดคนหนึ่งหรือหลายคนติดเชื้อขึ้นมาจะวุ่นทั้งระบบ เพราะคนส่งของจะแวะเวียนไปตามบ้าน ตามบริษัทและสำนักงานต่างๆ

ดังนั้น บริษัทที่เป็นผู้ดูแลพนักงานส่งของเหล่านี้จะต้องรับผิดชอบ มีมาตรการป้องกันต่างๆ มีอุปกรณ์ที่จะช่วยป้องกันการติดเชื้อ มีระบบตรวจสอบ บริษัทได้ผลประโยชน์จากธุรกิจนี้ไม่น้อย สมควรต้องดูแล

1.2 การรักษาผู้ป่วย เราจะวัดความมั่นคงทางสาธารณสุขว่า เราเตรียมพร้อมแค่ไหน เมื่อมีคนติดเชื้อถึง 10,000 คน คาดกันว่าจะเห็นใน 15 วันนี้

เรามีโรงพยาบาล เตียง และโรงพยาบาลชั่วคราว พอหรือไม่

การขาดแคลนสิ่งของ แก้ไขมาเป็นเดือนแล้ว เช่น เครื่องมือแพทย์ หน้ากากป้องกัน ชุดป้องกันของแพทย์ เครื่องช่วยหายใจ ส่วนใหญ่ไม่ใช่ของที่เป็นเทคโนโลยีที่ซับซ้อนราคาก็ไม่สูง ทำไมไม่มีทั้งที่เราเป็นผู้ผลิตหรือสามารถผลิตได้ หรือซื้อได้

ถ้ามีผู้ป่วยมากขึ้นจะเป็นการวัดฝีมือผู้รับผิดชอบ

2. แก้ปัญหาเฉพาะหน้าของคนไม่มีจะกิน

มันเกิดขึ้นกับคนจำนวนมากหลังจากที่ตกงานหรือต้องหยุดงาน หยุดการทำมาค้าขาย บางคนอาจจะมีเงินเหลืออยู่บ้างแต่ใช้ไม่กี่วันก็หมด โดยเฉพาะครอบครัวที่อยู่กัน 5-6 คน

จะมีคนจำนวนมากที่ไปเข้าโปรแกรมขอรับเงินเดือนละ 5,000 บาทไม่ได้ พวกเขาเป็นชนชั้น 2G ถ้าเขาจะอยู่บ้านได้ จะต้องมีอาหาร อย่างน้อยต้องมีข้าว มีน้ำมัน

คนเหล่านี้แม้มีจำนวนมากแต่ไม่ได้อยู่รวมกัน กระจายไปทุกหมู่บ้านชุมชน ยากจน ในหมู่คนจนยังมีคนที่จนที่สุด ที่ไม่มีอะไรจะกิน

ความจนกระจายออก กดดันจากชนชั้นกลาง ชนชั้นล่างลงไปสู่คนจนธรรมดา คนจนและจนมากจะลำบากที่สุด

ในหลายประเทศจึงมีการส่งเสบียงถึงบ้าน สภาพแบบนี้อาจพึ่งเครือข่ายสื่อสารไม่ได้ แต่กำลังของ อสม. กระทรวงสาธารณสุข กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มหาดไทย การปกครองท้องถิ่น อบต. และเทศบาล รวมทั้งวัดต่างๆ ให้เพื่อนบ้านช่วยกันดูแลว่ามีใครที่ยากลำบากที่สุดและต้องส่งเสบียงสนับสนุนช่วงระยะเวลาหนึ่ง

นอกจากนี้ พวกเด็กๆ ที่เคยได้กินอาหารกลางวันที่โรงเรียน เมื่อหยุดเรียนก็จะไม่มีกิน การอยู่บ้านโดยไม่มีรายได้ เด็กและผู้ใหญ่ 5 คน ทนได้ไม่เกิน 3 วัน

คนพวกนี้ไม่เคยมาแย่งซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตไปกักตุน เพราะไม่มีเงินที่จะเหลือไปตุนอะไรทั้งสิ้น คนหิว คนอด จะแหกกฎเพื่ออยู่รอด ทำให้เกิดปัญหาได้เสมอ

3. จัดสรรการใช้งบประมาณให้ถูกต้องตามสถานการณ์

เมื่อพายุถล่มบ้านพัง คนเจ็บ ไม่ใช่เวลาที่จะเอาเงินไปซื้อรถสปอร์ตมาขับ

ตอนนี้ถึงเวลาที่จะต้องใช้งบฯ กลางหรือจะตัดเงินจากงบประมาณอื่นๆ ที่ไม่จำเป็น ซึ่งขณะนี้มีผู้เสนอหลายรูปแบบ แต่ที่สำคัญต้องเร่งด่วนเพื่อนำเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน

รัฐบาลชอบแจกมาก คราวนี้จะได้แจกสมใจ แต่ควรทำให้ตรงเป้า เป้าหมายอันดับแรกที่เดือดร้อนที่สุดจนที่สุดไม่มีอะไรกินนั่นแหละ ต้องทบทวนเรื่องงบประมาณให้ดี ถ้าสถานการณ์หนัก แล้วยังอยากจะใช้เงินตามใจชอบ อาจมีเรื่องได้

ที่กล่าวมานี้ยังไม่ได้เกี่ยวกับภัยแล้งที่กำลังคืบคลานเข้ามาจนถึงหน้าประตูบ้านแล้ว ซึ่งถ้าไม่เตรียมตัวรับให้ดี จะกลายเป็นพายุลูกที่ 2 ที่กระหน่ำซ้ำเติมเข้ามา

ลองคิดดูก็แล้วกันว่า ถ้าคนไม่มีงาน ไม่มีอาหาร แถมแล้งน้ำ ตามด้วยอากาศเป็นพิษ โควิดก็ยังระบาดไม่จบ รัฐบาลจะพบกับอะไร