คนมองหนัง : “เมืองไทย” ในสายตาผู้กำกับภาพยนตร์ต่างชาติร่วมสมัย

คนมองหนัง
ภาพจาก www.pardolive.ch

สัปดาห์ก่อน เขียนถึงหนังไทยเรื่อง “ดาวคะนอง” ของ “อโนชา สุวิชากรพงศ์” ซึ่งถูกคัดเลือกให้เข้าฉายในสายการประกวดภาพยนตร์นานาชาติ ณ เทศกาลภาพยนตร์โลคาร์โน 2016 ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ในสายการประกวดดังกล่าว ยังมีภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งถ่ายทำที่เมืองไทย เล่าประเด็นอันคาบเกี่ยวกับสังคมไทยและประวัติศาสตร์การเมืองไทย ทว่า กลับเป็นหนังของ “คัตสึยะ โทมิตะ” ผู้กำกับฯ ชาวญี่ปุ่น

หนังเรื่องนี้มีชื่อว่า “Bangkok Nites”

เรื่องราวของภาพยนตร์จะเริ่มต้นขึ้นที่ถนนธนิยะ ย่านบันเทิงเริงรมย์ยอดนิยมของชายชาวญี่ปุ่น ซึ่งเข้ามาอาศัย-ทำงานอยู่ในเมืองไทย

ตัวละครหลักคนแรก คือ “ลักษณ์” (Luck) สาวไทยที่เป็นหนึ่งในดาวเด่นของสถานบริการย่านนั้น เธออาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์หรูหราเพียงคนเดียว แล้วส่งเงินที่หาได้กลับไปจุนเจือครอบครัวที่หมู่บ้านในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ติดพรมแดนไทย-ลาว

วันหนึ่ง ลักษณ์ได้พบกับ “โอซาวะ” อดีตลูกค้า ซึ่งเธอเคยตกหลุมรักเมื่อห้าปีก่อน เขาเป็นอดีตนายทหารประจำกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น ซึ่งไม่ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ร่ำรวยนัก

ทั้งสองเริ่มสานสัมพันธ์กันอีกครั้ง และเมื่อโอซาวะต้องเดินทางไปยังประเทศลาว ลักษณ์ได้ตัดสินใจติดตามเขาไปด้วย รวมทั้งยังพาชายชาวญี่ปุ่นไปทำความรู้จักกับครอบครัวและเพื่อนๆ ในวัยเด็กของเธอที่ภาคอีสาน

ระหว่างดำเนินชีวิตช่วงสั้นๆ ที่ชนบท หลังจากเบื่อหน่ายกับวิถีความเป็นอยู่ในเมืองใหญ่ โอซาวะเริ่มมีความฝันที่จะหันมาใช้ชีวิตแบบสงบเงียบในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้

ขณะเดียวกัน เขาก็เริ่มได้ตระหนักรู้ถึง “บาดแผล” บางอย่าง ที่ถูกทิ้งค้างไว้จาก “ยุคอาณานิคม”

มีเสียงเล่าลือว่า นอกจากเรื่องย่อและเส้นเรื่องหลักที่น่าสนใจแล้ว องค์ประกอบรายทางของหนังญี่ปุ่นเรื่องนี้ยังเข้าขั้น “เฮี้ยน” จนสุดแสนพิลึกพิลั่น เพราะจะมีทั้งผี จิตร ภูมิศักดิ์, พญานาค และซากประวัติศาสตร์สงครามลับในลาว ปรากฏขึ้นในภาพยนตร์

Bangkok Nites

 

ข้ามมายังเกาหลีใต้ เมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคม เทศกาลภาพยนตร์ “แฟนตาสติก” นานาชาติบูชอน ซึ่งมุ่งเน้นความสนใจไปที่หนังแนวสยองขวัญ, ระทึกขวัญ, ลึกลับ และแฟนตาซี เพิ่งประกาศรายชื่อภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลจากเทศกาลประจำปีนี้

The Forestโดย “ป่า” หรือ “The Forest” หนังของ “พอล สเปอร์เรียร์” ผู้กำกับฯ ชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่ในเมืองไทย และมีนักแสดงไทย อาทิ “วิทยา ปานศรีงาม” และ “อัสนี สุวรรณ” ร่วมนำแสดง ก็ได้รับรางวัล NETPAC (Network for the Promotion of Asian Cinema – เครือข่ายสนับสนุนส่งเสริมภาพยนตร์เอเชีย) Award ไปครอง

หนังเล่าเรื่องของครูหนุ่มหน้าใหม่ ผู้ออกเดินทางไปรับราชการในพื้นที่ชนบท เขาค้นพบว่ามีนักเรียนหญิงคนหนึ่งถูกเพื่อนๆ รังแกกลั่นแกล้ง เด็กหญิงจึงเยียวยาตัวเองด้วยการล่าถอยเข้าสู่โลกจินตนาการ โดยใช้ “เด็กชายชาวป่า” และ “พื้นที่ป่า” เป็นแหล่งปลอบประโลมจิตใจอันบอบช้ำ

อย่างไรก็ตาม ครูหนุ่มได้พยายามดึงลูกศิษย์กลับคืนสู่ “โลกความจริง” กระทั่งสุดท้าย โลกแห่ง “จินตนาการ” และ “ความจริง” ก็ปะทะกัน จนก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมตามมา

ก่อนหน้านี้ สเปอร์เรียร์เคยสร้างผลงานภาพยนตร์ที่มีเนื้อหา-แนวทางคล้ายคลึงกับ “ป่า” มาแล้วหนึ่งเรื่อง นั่นคือ “ผี” ซึ่งออกฉายเมื่อปี 2547

 

 

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา คอลัมน์นี้ได้นำเสนอเรื่องราวของภาพยนตร์มาเลเซียชื่อ “River of Exploding Durians” ผลงานการกำกับและเขียนบทโดย “เอ็ดมันด์ โหย่ว” ที่ออกฉายตั้งแต่ปี 2014

หนังเล่าเรื่องราวของเมืองชายฝั่งทะเลแห่งหนึ่ง ซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาที่ทางภาครัฐกำหนดขึ้น

ตัวละครหลักมีทั้งชายหนุ่ม ผู้ไม่สนใจไยดีกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังรุกคืบเข้ามา และครูสาว ผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์ ที่พยายามชักจูงนักเรียนให้เข้าร่วมกิจกรรมการประท้วงโครงการพัฒนาดังกล่าว

 

ที่น่าสนใจเป็นพิเศษสำหรับคนไทย ก็คือ ในช่วงหนึ่งของหนังเรื่องนี้ ตัวละครครูสาวได้มอบหมายให้นักเรียนไปทำงานกลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มต้องแสดงละครจำลองเหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศอาเซียน ที่ยังไม่ถูกเปิดเผยข้อเท็จจริง-ข้อมูลเบื้องลึกต่อสาธารณชน

นักเรียนกลุ่มหนึ่งได้รับมอบหมายให้จำลองเหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย และพวกเขาเลือกที่จะแสดงละครจำลอง “เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519”

ล่าสุด “The River of Exploding Durians” จะถูกนำมาจัดฉายในเทศกาลหนังสั้นครั้งที่ 20 ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 20-28 สิงหาคม ณ หอภาพยนตร์ ศาลายา และ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน เนื่องจาก “เอ็ดมันด์ โหย่ว” ผู้กำกับฯ จะเดินทางมาเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินรางวัลหนังสั้นประจำปีนี้

สำหรับความคืบหน้าของโปรแกรมการฉายอย่างเป็นทางการ สามารถตรวจสอบได้ที่เพจเฟซบุ๊ก Thai Short Film & Video Festival