ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | อีกนานแค่ไหน สงครามไวรัสและการปิดเมือง จะถึงจุดจบ

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

วิกฤตไวรัสโควิดจะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยไปอีกนาน

และถ้าสัปดาห์หน้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พุ่งขึ้นเฉลี่ยวันละหนึ่งร้อยคือสัญญาณว่าประเทศไทยจะมีผู้ติดเชื้อถึงหลักสามพันเหมือนมาเลเซีย

ส่วนผู้เสียชีวิตก็มีโอกาสเป็นตัวเลขสองหลักและสูงสองเท่าจากที่ผ่านมา

ไม่มีใครในประเทศนี้รู้ว่าวิกฤตไวรัสจะยืดยาวแค่ไหนและยุติลงเมื่อใด

แต่ที่แน่ๆ ตัวเลขที่หมอบางคนประเมินว่าผู้ติดเชื้อจะสูงถึง 350,000 และเสียชีวิตถึง 7,000 เป็นตัวเลขที่กรมควบคุมโรคโต้อ้อมๆ ว่าไม่ได้วางอยู่บนความรู้ด้านระบาดวิทยาและชีวสถิติซึ่งเราจะมีผู้ติดเชื้ออยู่ระหว่าง 7,700 ถึง 25,000 คน

ไวรัสระบาดผ่านบุคคล และในเวลาที่ทั้งโลกยังไม่มีวัคซีน มาตรการลดการติดต่อระหว่างบุคคลเพื่อลดการแพร่เชื้อคือยุทธวิธีที่ทุกรัฐบาลใช้เพื่อชะลอการระบาดของไวรัสทั้งหมด

เพราะเมื่อลดการแพร่เชื้อได้มาก ไวรัสก็ระบาดน้อย และผู้ป่วยที่อาการรุนแรงก็จะไม่มากจนเกินกำลังที่ระบบสาธารณสุขจะรับมือ

แม้กรมควบคุมโรคจะไม่เคยบอกว่ามาตรการ “สร้างระยะห่างระหว่างบุคคล” ควรใช้ไปอีกนานเท่าใด

แต่รายงานของกรมควบคุมโรคในกรณีที่ดีที่สุดจะมีผู้ติดเชื้อสี่แสนคนภายในปี 2564 มีนัยยะว่ามาตรการ “สร้างระยะห่างระหว่างบุคคล” คงต้องใช้ไปนานกว่าที่คนจำนวนมากคิดเองเออเองว่าจะจบกลางเดือนเมษายน

รัฐบาลไทยเริ่มพูดถึงมาตรการ “สร้างระยะห่างระหว่างบุคคล” จนนำไปสู่คำสั่งปิดห้าง-ปิดตลาด-ปิดเมืองอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 21-30 มีนาคม และถ้ายอมรับว่าไทยดำเนินมาตรการนี้หลังจากประเทศอื่นประกาศไปตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม

กรอบเวลาที่คนไทยต้องอยู่กับมาตรการนี้ก็คงคล้ายประเทศอื่นที่ลากยาวถึงสิ้นเมษายน

ควรระบุว่าหลายประเทศประกาศ “สร้างระยะห่างระหว่างบุคคล” โดยปิดเมือง, ล็อกดาวน์, ห้ามรวมตัวเกิน 2 คน ฯลฯ ในช่วงที่ไวรัสยังไม่ระบาดหนักอย่างปัจจุบัน

แต่หลังจากดำเนินนโยบายเหล่านั้นหนึ่งหรือสองสัปดาห์ ตัวเลขคนตายและติดเชื้อกลับพุ่งสูงสุดกันหมดทั้งในอเมริกา, อิตาลี, สเปน และฝรั่งเศส

ในกรณีอิตาลี การล็อกดาวน์ที่เริ่มต้นวันที่ 9 จบด้วยคนตายสูงสุด 889 ในวันที่ 29 ส่วนสเปนซึ่งล็อกดาวน์ประเทศตั้งแต่วันที่ 15 กลับมีคนตายสูงสุดถึง 838 ในวันที่ 30 การล็อกดาวน์จึงเป็นจุดตั้งต้นของสงครามไวรัสที่ยืดเยื้อซึ่งประเทศเหล่านี้ต้องฝ่าฟันราวสองสามสัปดาห์กว่าการแพร่ระบาดจะถึงจุดสูงสุดของมัน

ถ้าเอาประสบการณ์ประเทศอื่นเป็นแนวทางประเมินสถานการณ์ประเทศไทย เราคงต้องยอมรับความจริงว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในไทยจะไม่จบในกลางเดือนเมษายน

เร็วที่สุดที่เราอาจพูดได้คือไทยอาจเจอสถานการณ์ติดเชื้อขั้นสูงสุดช่วงปลายเดือนเมษายน หลังจากนั้นมีแต่พระเจ้าที่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป

น่าสังเกตว่าสิ่งที่หลายประเทศเร่งทำในช่วงปิดเมืองคือเร่งตรวจหาผู้ติดเชื้อให้มากที่สุด สเปนในช่วงล็อกดาวน์ระดมทรัพยากรการแพทย์และบุคคลตรวจประชาชนอย่างมหาศาล

ส่วนสหรัฐก็เพิ่งจะอนุมัติให้ใช้ชุดตรวจเร็วในวันที่ 1 เมษายน

ซึ่งแปลว่าการปิดเมืองจะนำไปสู่การนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่รักษาอย่างชัดเจน

ในกรณีของไทย การปิดเมืองไม่ได้เชื่อมโยงกับการตรวจผู้ติดเชื้อ

ไทยเป็นไม่กี่ประเทศที่ยืนยันว่าการตรวจโควิดด้วยชุดตรวจนั้นใช้ไม่ได้

ยุทธศาสตร์ของเราคือให้หมอรอที่โรงพยาบาล จากนั้นก็ลุ้นว่าผู้ป่วยจะอาการหนักจนไปหาหมอแล้วตรวจพบไวรัสในที่สุด

การปิดประเทศจึงมีผลแค่ลดการระบาดเท่านั้นเอง

ไม่เคยมีคำอธิบายอย่างเป็นทางการว่าทำไมรัฐบาลไทยไม่ใช้วิธีเร่งตรวจไวรัสประชาชน แต่ผลที่เกิดขึ้นก็คือเราเป็นสังคมที่น่าจะมีผู้ติดเชื้อจริงๆ มากกว่าจำนวนผู้ป่วยที่ไปหาหมอจนตรวจพบเชื้อในที่สุด ไม่ต้องพูดว่าผู้ป่วยหลายกรณีถูกหมอเจ้าของไข้วินิจฉัยว่าไม่ได้ติดเชื้อไวรัส แต่ภายหลังกลับพบว่าติดจริงๆ

ถ้าสังคมที่มีการตรวจหาผู้ติดเชื้ออย่างกว้างขวางต้องใช้เวลาราวสามสัปดาห์กว่าที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตจะลดลง สังคมที่ไม่มีการตรวจหาผู้ติดเชื้อคงยากที่จะเห็นการลดลงของผู้เสียชีวิตในช่วงเวลาเท่ากันนั้น

และเป็นไปได้มากว่าเราอาจจะต้องรอมากกว่าสามสัปดาห์เพื่อจะเห็นการลดลงของผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อจริงๆ

คุณหมอยงพูดได้เห็นภาพว่า สงครามไวรัสเปรียบได้กับการวิ่งมาราธอน และถ้าเอาบทเรียนจากประเทศอื่นซึ่งเริ่มลงสนามวิ่งก่อนไทย เราก็เพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการออกวิ่งเท่านั้น แต่ข่าวร้ายคือเราอาจต้องวิ่งในระยะทางที่ยาวนานกว่าหลายประเทศ เมื่อคำนึงถึงวิธีที่ประเทศเราใช้ในการต่อสู้กับไวรัสในปัจจุบัน

วิธีต่อสู้กับสงครามไวรัสแบบไทยๆ แยกไม่ออกจากการ “สร้างระยะห่างระหว่างบุคคล” ซึ่งกลายเป็นนโยบายปิดเมืองเพื่อห้ามคนเข้าออกในหลายจังหวัด แต่ “ปิดเมือง” แค่มิติทางกายภาพประเภทตั้งด่านเข้าออกนั้นไม่สามารถสกัดการแพร่ระบาดของไวรัส หากไม่คิดถึงมิติทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชน

ในกรณีของสังคมไทยเอง การตัดสินใจปิดเมืองที่รัฐบาลทำตามข้อเสนอของหมอสายวิชาการบางกลุ่มทำให้คนจำนวนมากเดินทางจากกรุงเทพฯ กลับสู่ชนบท จากนั้นการระบาดของไวรัสก็ปรากฏในชุมชนต่างๆ อย่างกว้างขวาง

จนกล่าวได้ว่า กรุงเทพฯ และภูเก็ตกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อแถวหน้าของประเทศไทย

การปิดเมืองในทุกประเทศล้วนทำให้คนมหาศาลตกงาน – ถูกลดชั่วโมงทำงาน – ถูกลดรายได้ – ไม่ได้ไปทำงาน ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาในชีวิตประจำวันประเภทไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน, จะเอาอะไรกิน, ไม่มีเงินจ่ายค่าเรียนลูก, เงินออมหมด ฯลฯ จนในที่สุดจะเป็นเงื่อนไขของความตึงเครียดและการต่อต้านทางสังคม

หมอบางคนอาจบอกนายกฯ ว่าต้องยอมเจ็บเพื่อจบศึกไวรัสในสังคม

แต่เรากำลังพูดถึงหมอนวดป่าตองที่ไม่มีงานทำหลายเดือน, เด็กเสิร์ฟขาดรายได้, นักดนตรีตกงาน, ยามถูกนายจ้างเลิกจ้างเพราะห้างปิด, คนขับแท็กซี่ไม่มีค่าส่งรถ, ช่างเสริมสวยหมดทางหากิน รวมทั้งคนจำนวนมากที่ไม่มีต้นทุนอะไรเลย

คำถามสำหรับผู้กำหนดนโยบายก็คือคนเหล่านี้จะยอมอยู่แบบ “ปิดเมือง” ในสภาพไม่มีรายได้ได้นานแค่ไหน หรือถึงจุดหนึ่งคนเหล่านี้ก็ต้องดิ้นรนหาทางเอาตัวรอดตามปกติของมนุษย์ทุกคน

การรักษาโรคที่เกิดจากไวรัสเป็นเรื่องทางการแพทย์ แต่การออกแบบนโยบายเพื่อสู้ศึกไวรัสเป็นการบริหารรัฐกิจที่ต้องคำนึงมิติทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างกว้างขวาง

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช่นายกฯ ที่มีทักษะทำอะไรแบบนี้ และทั้งหมดนี้ยิ่งมีปัญหาเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์มีอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในปัจจุบัน

ขณะที่รัฐบาลประเทศอื่นซึ่ง “ปิดเมือง” มีวิธีเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชนช่วงที่เมืองถูกปิดอย่างดี รัฐบาลไทยไม่มีมาตรการเยียวยามากพอจะให้คนอยู่ได้ในช่วงปิดเมืองมากนัก เงินเดือนละห้าพันนั้นดีกว่าไม่ให้ แต่ห้าพันไม่พอสำหรับการดำรงชีวิต ทุกคนจึงต้องกลับบ้านและมีศักยภาพจะนำไวรัสไปสู่ชุมชน

เพื่อที่จะคืนความเป็นธรรมให้ประชาชน สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือบีบระยะเวลาปิดเมืองให้สั้นโดยเร่งตรวจเชื้ออย่างกว้างขวางเพื่อรักษาอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เลิกนโยบายว่าชุดตรวจเชื้อที่ทั้งโลกใช้นั้นใช้ไม่ได้ เพิ่มระดับการเยียวยา เยียวยาให้ตรงความต้องการคนแต่ละกลุ่มมากขึ้น และรีบคืนชีวิตให้คนไทยทุกคน

วิกฤตไวรัสเป็นเรื่องระดับประเทศที่ทับซ้อนกับเรื่องระดับโลก ผู้นำที่จะพาประเทศฝ่าวิกฤตจึงต้องเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ ไม่ใช่ผู้นำที่หันรีหันขวางตามกระแสโซเชียล ฟังหมอฝ่ายนั้นทีฝ่ายนี้ทีจนนโยบายมั่วไปหมด

และที่สำคัญที่สุดคือต้องไม่เล่นการเมืองเรื่องอำนาจในเวลาที่ประเทศกำลังจะไม่เหลืออะไร