ศัลยา ประชาชาติ : ค่ายรถยกธงขาว ปิดโรงงานหนีโควิด-19 กำลังซื้อทรุด ลูกค้าทิ้งจอง

นับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งในอุตสาหกรรมรถยนต์เมืองไทย ในปี พ.ศ.2563 ที่ผู้ผลิตรถยนต์ ตลอดจนธุรกิจต่อเนื่องทั้งระบบได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ตั้งแต่โรงงานผลิต สำนักงานใหญ่ ตัวแทนจำหน่าย และกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

เรียกว่าหนักหน่วงไม่ต่างจากนักมวยที่ถูกคู่ต่อสู้ปล่อยหมัดตรงเข้าปลายคาง

จริงๆ แล้วอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยเริ่มออกอาการมาพักใหญ่ตั้งแต่ปลายปี 2562 โดยถูกถล่มจากผลพวงทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้า ราคาน้ำมัน ค่าเงินบาทแข็ง ฯลฯ

รวมถึงความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ จนบรรยากาศของการขาย การทำตลาดรถยนต์ฝืดเคืองมากขึ้นเรื่อยๆ

 

เปิดศักราชปี 2563 ผู้นำในอุตฯ รถยนต์ เรียงแถวกันออกมาประเมินยอดขายรถยนต์ปี 2563 ยืนยันว่าตลาดน่าจะทรงๆ ไม่น่าจะเพิ่มหรือลดแบบหวือหวา ตัวเลขยอดขายทั้งปีน่าจะราว 9.5 แสนคัน ลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย

ก่อนที่จะออกสตาร์ตเดือนแรก ฝืด และเงียบเหงามากกว่าหลายๆ ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองตรงกันว่าน่าจะเป็นไปตามวงจรปกติของตลาด ซึ่งเพิ่งผ่านพ้นช่วงปีใหม่มาหมาดๆ บรรยากาศการซื้อขายจึงดร็อปลงบ้าง ซึ่งก็เป็นอย่างนี้มาทุกปี

และต่างก็พากันคาดหวังว่าสถานการณ์คงจะกลับมาคึกคักในช่วงเดือนมีนาคม ซึ่งจะมีอีเวนต์ใหญ่งาน “มอเตอร์โชว์” ค่ายรถยนต์ต่างเชื่อว่าจะสามารถเรียกยอดขายกลับคืนได้ไม่ยาก

แต่สถานการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นเมื่อปรากฏการณ์ไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ปะทุรุนแรงทั้งในประเทศจีน มีผู้ติดเชื้อในประเทศไทยรวมถึงอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก ทั้งมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

ผลกระทบในภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว การบิน การค้า ฯลฯ เริ่มสร้างปัญหาลามเป็นโดมิโนออกไปทุกขณะ เช่นเดียวกับภาวะการขายรถยนต์ยิ่งชะงักงันมากขึ้น อีเวนต์เปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆ เกือบทุกแบรนด์เลื่อนออกไปไม่มีกำหนด

 

ในเวลาต่อมาสภาอุตสาหกรรมยานยนต์ตั้งโต๊ะแถลงตัวเลขยอดขายรถยนต์ 2 เดือนแรกของปี 2563 (มกราคม-กุมภาพันธ์) ลดลงเกือบ 20% ขายได้แค่ 139,959 คัน

พร้อมประเมินต่อว่า มีการหารือระหว่างผู้ผลิตรถยนต์ด้วยกัน เห็นพ้องต้องกันว่าจะลดปริมาณการผลิตปีนี้ลงราว 1 แสนคัน

จากปริมาณการผลิตเดิมทั้งตลาดในประเทศและส่งออก 2 ล้านคันจะเหลือเพียง 1.9 ล้านคัน

โดยมีผลกระทบทางเศรษฐกิจ สถานการณ์ไวรัสโควิด และตลาดส่งออกซึ่งมีคำสั่งซื้อน้อยลง เป็นแรงกดดัน

เท่านั้นยังไม่พอ ข่าวร้ายซ้ำเติมเข้ามาอีก เมื่องานมอเตอร์โชว์ ซึ่งทั้งค่ายรถยนต์ คนซื้อ ตั้งตารอคอย งานหลักที่คาดกันว่าจะช่วยประคองยอดขายไตรมาสแรกของแต่ละแบรนด์ไม่ให้เลวร้ายกว่าที่เป็นอยู่ต้องเลื่อนยาวออกไป ยิ่งเท่ากับเป็นการซ้ำเติมตลาดให้ย่ำแย่ลงอีก

ระหว่างที่ตัวเลขยอดขายรถยนต์ปักหัวลง แต่กราฟการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กลับดีดตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง สูงจนกระทั่งรัฐบาลจำเป็นต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปิดพื้นที่เสี่ยง ห้างสรรพสินค้า สถานบริการ ฯลฯ และขอร้องให้ประชาชนหยุดการเดินทาง แนะให้ทุกหน่วยงาน Work From Home

มีการประเมินกันว่าผลกระทบครั้งนี้น่าจะมีคนตกงานหลายล้านคน ดังนั้น กำลังซื้อที่พอมีอยู่ประปราย ถึงตอนนี้ต้องบอกว่า “นิ่งสนิท”

และที่เลวร้ายหนักขึ้นไปอีก ผลกระทบไวรัสโควิดยังทำให้ลูกค้าชะลอออกรถ และมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจทิ้งจอง บางรายหมื่นบาท บางราย 2 หมื่นบาท เพื่อตัดภาระที่จะตามมาหลังครอบครองรถ ในช่วงที่ทุกอย่างยังไม่มีความชัดเจน

เมื่อกำลังซื้อไม่เป็นไปตามคาด ข้อกำหนดภาครัฐให้ทุกภาคส่วนเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) แนะให้ Work From Home

นั่นทำให้ค่ายรถยนต์เกือบทุกยี่ห้อตัดสินใจใช้โอกาสนี้ประกาศ “ปิดโรงงานชั่วคราว”

เป้าหมายแรกเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่อีกหนึ่งเป้าหมายที่ชัดเจนนั้น ต้องการปรับสมดุลปริมาณรถยนต์ที่ผลิตกับความต้องการในตลาดให้ใกล้เคียงกัน

โดยล่าสุด บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้ประกาศหยุดไลน์ผลิตชั่วคราวระหว่างวันที่ 7-17 เมษายนนี้

โดยมีหลักเกณฑ์การจ่ายค่าจ้าง วันที่ 7-10 เมษายน รับเท่ากับวันทำงานปกติ วันที่ 11-12 เมษายน รับ 2 เท่าของวันทำงานปกติ และวันที่ 13-17 เมษายน รับเท่าวันทำงานปกติ

ทั้งยังกำชับให้พนักงานติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เตรียมความพร้อมในการกลับมาปฏิบัติงานทันทีที่ได้รับแจ้ง

เช่นเดียวกับค่ายฮอนด้า ออโตโมบิล ประกาศหยุดไลน์ประกอบรถยนต์ชั่วคราวในประเทศไทย ทั้ง 2 โรงงาน ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.ปราจีนบุรี ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม-30 เมษายนนี้ หรือจนกว่าจะมีประกาศเพิ่มเติม

โดยให้พนักงานที่เกี่ยวข้องบางส่วนทำงานจากบ้าน รวมทั้งคงมาตรการเข้มงวดให้พนักงานอยู่ในที่พักอาศัย งดเว้นการเดินทาง รวมถึงไม่เดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงเวลาดังกล่าวอย่างเคร่งครัด

ขณะที่ผู้นำปิกอัพค่ายอีซูซุ ยืนยันชัดเจนว่าพร้อมระงับการผลิตรถอีซูซุที่โรงงาน 2 แห่งชั่วคราวคือที่ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ และที่นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ จ.ฉะเชิงเทรา ตั้งแต่วันที่ 13-30 เมษายนนี้

เหตุผลหลักยังมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่เพิ่มเติมว่าไวรัสโควิดยังส่งผลให้ชิ้นส่วนประกอบต่างๆ ขาดแคลนทั่วโลก รวมทั้งความต้องการของตลาดในประเทศและส่งออกหดตัวลง

พร้อมทั้งแจ้งลูกค้าว่า การระงับการผลิตชั่วคราวนี้อาจส่งผลต่อการส่งมอบรถให้กับลูกค้าที่จองรถอีซูซุไว้บ้าง แต่จะพยายามจัดการอย่างดีที่สุด

ไม่ต่างจาก “มิตซูบิชิ” ที่ประกาศปิดไลน์ผลิตชั่วคราวสำหรับโรงงานผลิตรถยนต์ที่นิคมแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี

โดยยืนยันจ่ายค่าจ้างให้กับพนักงาน 85% ของค่าจ้าง อาทิ โรงงานที่ 1 หยุดกิจการบางส่วนระหว่างวันที่ 1-26 เมษายน

โรงงานที่ 2 หยุดกิจการบางส่วนระหว่างวันที่ 1-19 เมษายน, โรงงานที่ 3 หยุดกิจการบางส่วนระหว่างวันที่ 1-22 เมษายน, โรงงาน MCC-Engine4N/4D/4M/4G หยุดกิจการบางส่วนระหว่างวันที่ 1-19 เมษายน, โรงงาน MCC -Engine 3Ag หยุดกิจการบางส่วนระหว่างวันที่ 1-22 เมษายน, โรงงาน MCC-Press/Plastic หยุดกิจการบางส่วนระหว่างวันที่ 1-19 เมษายน และโรงงาน MEC-KD หยุดกิจการบางส่วนระหว่างวันที่ 6-19 เมษายน

สำหรับค่ายฟอร์ด บริษัทแม่สั่งปิดโรงงานในภูมิภาคเอเชีย ทั้งเวียดนาม อินเดีย และเซาธ์แอฟริกา โดยประเทศไทยสั่งปิดไลน์ผลิตชั่วคราว 2 แห่งได้แก่ ฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอร์ริ่ง (FTM) และออโต้ อัลลายแอนซ์ (AAT) ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม-20 เมษายน 2563

เบื้องต้นยินดีจ่ายค่าจ้างให้กับพนักงานทุกคนเต็ม 100% เท่ากับที่ได้ปกติสำหรับการหยุดในสัปดาห์แรก

ส่วนสัปดาห์ที่ 2 วันที่ 6-10 เมษายน พนักงานบางส่วนที่ทำงานที่บ้านยังได้ค่าจ้าง 100% แต่พนักงานที่หยุดงานและไม่ได้ทำงานที่บ้านจะได้ค่าจ้าง 90%

ทั้งนี้ หากพนักงานส่วนนี้ต้องการรับค่าจ้างเต็ม 100% สามารถใช้สิทธิ์วันลาได้ และสัปดาห์ที่ 3 วันที่ 13-17 เมษายน ซึ่งรัฐบาลประกาศให้เป็นวันทำงาน ก็ได้รับเต็ม 100% เช่นกัน

รวมถึงค่ายมาสด้าที่ตัดสินใจหยุดสายการผลิตชั่วคราวที่โรงงานออโต้อัลลายแอนซ์ (AAT) ในจังหวัดระยอง เป็นเวลา 10 วัน เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคมเป็นต้นไป

 

จริงอยู่ที่คนในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ อาจจะมองว่าการหยุดผลิตของค่ายรถยนต์ในช่วงเดือนเมษายนนั้นมีเป็นประจำทุกปี เพราะตรงกับช่วงเทศกาลวันหยุดยาวสงกรานต์ และส่วนใหญ่จะเป็นข้อตกลงระหว่างผู้ผลิตกับเหล่าบรรดาซัพพลายเออร์ชิ้นส่วน ที่จะยุติออเดอร์กันชั่วคราว ให้ลูกจ้างกลับบ้าน

แต่ทว่าการหยุดครั้งนี้ไม่เหมือนทุกครั้งเพราะมีสถาณการณ์โควิด-19 เข้ามาเกี่ยวข้อง และต้องประเมินสถานการณ์กันใหม่ว่า การปิดโรงงานหยุดผลิตในปีนี้น่าจะยาวนานกว่าปกติ

กลายเป็นมรสุมใหญ่อีกครั้งหนึ่งซึ่งต้องจับตากันต่อไปว่า จะส่งผลกระทบต่อทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ในวงกว้าง และยังต้องเผชิญความท้าทายอย่างหนักอีกแน่นอนในปี 2563 นี้