มาดามหลูหลี / Solitary Gourmet : อร่อยเดียวดาย

มาดามหลูหลี[email protected]

การกินอาหารทำให้อารมณ์ดี มีความสุข และโลกยุคนี้ โลกของคนรุ่นใหม่ที่การกินอาหารเป็นเสมือนพิธีกรรมที่ต้องถ่ายรูปเพื่อขึ้นภาพในโซเชียลส่วนตัว ซึ่งภาพอาหารมักให้ความเจริญใจแก่เพื่อนๆ ชาวโซเชียล

มหานครเกือบทุกแห่งในโลกเต็มไปด้วยร้านอาหารและการเชิญชวน โดยเฉพาะกรุงโตเกียว ญี่ปุ่น ตามถนนหนทางทุกซอกซอยเต็มไปด้วยร้านอาหาร เป็นสวรรค์ของนักกินที่ชื่นชอบอาหารญี่ปุ่น

Solitary Gourmet ซีรี่ส์เล่าเรื่องนักกินนักชิมอาหารของญี่ปุ่น ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2012 จนถึงปี 2019 นี้ เป็นชุดที่ 8 แล้ว

ละครสร้างจากการ์ตูนมังงะ “Kodoku Gourmet” พิมพ์ครั้งแรกปี 1994-1996 ในนิตยสาร “Monthly PANJA” โดยนักเขียนการ์ตูนมาซายูกิ คูซูมิ (Masayuki Qusumi) กับนักเขียนการ์ตูนอีกหลายท่าน และผู้กำกับฯ แต่ละชุดก็คนละคน

 

โกโระ อิโนกาชิระ (ยูกาตะ มัทซึชิเกะ) เจ้าของธุรกิจนำเข้าสินค้าหลากหลายแล้วแต่ลูกค้าสั่งซื้อ ตั้งแต่ถ้วย-จานสำหรับร้านอาหาร จนถึงสินค้าตกแต่งต่างๆ สำหรับร้านค้า แม้ว่าเขาจะขายสินค้าทางออนไลน์ แต่เขาก็ยังไปพบลูกค้าด้วยตัวเอง เพื่อนำตัวอย่างสินค้าให้ลูกค้าได้ดู

เมื่อพบลูกค้าเสร็จ โกโระจะมองหาร้านอาหารสำหรับแต่ละมื้อ เพราะหนุ่มโสดอย่างเขาไม่ต้องกลับไปกินข้าวที่บ้าน

ร้านอาหารที่โกโระเลือก เขาจะเลือกว่ามื้อนี้จะกินอาหารแบบไหน จากนั้นมักเป็นร้านอาหารที่เจ้าของร้านทำอาหารกันเองโดยคนในครอบครัว หรือมีการสืบทอดกันมาเป็นรุ่นๆ

เขาจะไม่เลือกไม่อุดหนุนร้านอาหารที่เป็นพวกแฟรนไชส์ (Franchise) แม้แต่ในซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่

อาหารชุดญี่ปุ่นดูน่ากิน มีทั้งข้าวสวย ปลา ซุปและผักดองเครื่องเคียง ในราคาย่อมเยาที่ชาวบ้านซื้อกินได้ อีกทั้งน่าจะอร่อยด้วย เพราะท่าทางการกินของโกโระที่หลับตาพริ้มกับอาหารทุกคำเมื่อเข้าปาก กับบอกว่า “โออิชิ” หรือ “อุไม่” ซึ่งแปลว่า “อร่อย”

แต่ละแห่ง แต่ละเขตในกรุงโตเกียว หรือนอกเมืองที่โกโระไปเยี่ยมเยียนพบปะลูกค้า มีร้านอาหารให้เลือกมากมายหลากหลาย ชอบเสียงพากย์บอกความคิดความรู้สึกเวลาที่เขากินอาหาร ฟังดูได้อารมณ์และตลกดี

บางร้านที่เขาเลือก มีเมนูที่ไม่อยู่ในเมนู อันไม่ใช่เป็นเมนูมาตรฐาน หรือบางร้านเจ้าของร้านยินดีทำอาหารนอกเหนือจากที่มีในเมนู ตามใจลูกค้า เพราะลูกค้าประจำกินจนรู้จักทุกเมนูแล้ว จึงทำเมนูใหม่บ้าง

โกโระเคยไปพบลูกค้าแถวบ้านเดิม ใกล้มหาวิทยาลัยที่เขาเคยเรียน ได้เห็นนักศึกษาทำกิจกรรมแล้วคิดถึงความหลัง เมื่อเลือกร้านอาหารใกล้มหาวิทยาลัย นอกจากจะอร่อยแล้ว ราคาถูกจนดีใจ

บางมื้อในร้านอาหาร ทุกคนสั่งเมนูเดียวกันจนเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน และบางเมนูกินแล้วนึกถึงอาหารรสมือแม่หรือที่ย่าเคยทำ บางร้านนอกจากอาหารอร่อย บรรยากาศในร้านยังเป็นกันเอง ดูอบอุ่นเหมือนนั่งกินที่บ้าน

 

ในตอนท้ายของแต่ละตอน คูซูมินักเขียนการ์ตูนจะไปตามรอยร้านที่โกโระไปกิน ซึ่งที่จริงก็คือร้านที่เขาเขียนแนะนำ เพียงแค่เขาได้เข้ามาในช่วงท้ายของซีรี่ส์ด้วย ซึ่งดูน่ารักดี ด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม ดูอารมณ์ดี เขาจะสั่งเบียร์หรือสาเกมากินกับอาหารด้วย ซึ่งโกโระจะสั่งแค่ชาเขียว เพราะเขาไม่ดื่ม แม้ว่าจะไปร้านที่เป็นบาร์หรืออาหารที่เหมาะกับเหล้า-เบียร์ หรือมีคนคะยั้นคะยอก็ตาม

และมีบางตอน โกโระเจอนักเขียนคูซูมินั่งดื่มอยู่ในร้านอาหาร แถมยังทำท่าเชิญชวนโกโระอีกด้วย

นักแสดงที่แสดงเป็นเจ้าของร้านแต่ละร้าน เขาเลือกนักแสดงที่ดูคล้ายตัวจริงมาก และเพลงประกอบจังหวะไพเราะน่ารัก

 

Solitary Gourmet ดูแล้วชวนหิว ได้เห็นอาหารหลากหลายของญี่ปุ่น ในเขตเมืองต่างๆ ที่โกโระเดินทางไปพบลูกค้า ทั้งอาหารคาวและขนมหวาน กับกาแฟรสขมที่คนญี่ปุ่นทำให้มีเอกลักษณ์เฉพาะได้อย่างน่าอัศจรรย์

อาหารร้อนๆ สำหรับฤดูหนาวเพื่อให้ร่างกายอบอุ่น และอาหารเย็นๆ ให้ความสดชื่นใจในวันที่อากาศร้อนอบอ้าว

มีร้านอาหารมากมายในย่านการค้าใกล้สถานีรถไฟเหมือนสตรีตฟู้ด (Street Food) สำหรับซื้อกลับเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้คน หรืออาหารราคาประหยัดสำหรับคนที่ต้องการประหยัดและคนที่มีรายได้น้อย

โกโระเป็นเจ้าของธุรกิจที่ทำทุกอย่างด้วยตัวเองคนเดียว ไม่มีลูกน้อง ไปไหนคนเดียว เวลากินจึงนั่งกินเพียงคนเดียว กินอร่อยอย่างเดียวดาย

มีตอนหนึ่งในซีรี่ส์ที่โกโระไปกินอาหารไทย ร้านตกแต่งแบบไทย พนักงานใส่ชุดไทย ผ้าถุงมีจีบหน้านางด้วย ดูน่าดีใจที่พูดถึงอาหารไทย ซึ่งในเมนูมีข้าวกะเพรา แต่คนญี่ปุ่นไม่คุ้นชื่อ จึงบอกเมนูเป็นหมายเลข พนักงานน่ารัก สามารถให้คำตอบถึงความแตกต่างของ “ไส้กรอกอีสาน” กับ “ไส้อั่ว” ได้

เมื่อได้กินอาหารอร่อย จึงเป็นเสมือนกับอัศวินผู้พิชิต เพราะการได้กินอาหารอร่อยให้ความสุขกับชีวิต ขอเชิญกินให้อร่อย

“อิรัชชัยมาเสะ”