ฉัตรสุมาลย์ : เยี่ยนเยือนอานันท์กุฏิวิหาร

ไปชมโบราณสถานที่ศีรปุร์ (2)

ออกจากตลาดโบราณของศีรปุร์มาอย่างงง นันเทศวรเจ้าของที่ดินที่พบโบราณสถาน ยังเป็นไกด์พาเราไปชมวิหารอีกที่หนึ่ง โดยขับมอเตอร์ไซค์ของเขาไปรอที่จุดนัดหมายเช่นเคย รถของเรามาจากเมืองรายปุร์ ก็ไม่รู้จักทางไป ต้องอาศัยไกด์ที่มาจากองค์การท่องเที่ยวท้องถิ่นขับนำไปอีกทีหนึ่ง

คราวนี้เราไปพบกันที่วิหารอีกแห่งหนึ่ง ไกด์ของเราเองยังต้องฟังคำบรรยายของนันเทศวรอีกทีหนึ่ง วิหารแห่งใหม่นี้ ห้องข้างในที่เป็นห้องบูชาขนาดเล็กมีสามห้องเรียงกัน มีรูปเคารพ ห้องกลางเป็นพระพุทธเจ้า ขนาบสองข้างด้วยพระโพธิสัตว์ ตรงกลางเป็นโถงใหญ่ น่าจะใช้เป็นพื้นที่สวดมนต์ร่วมกัน

ที่น่าสนใจคือลวดลายบนเสาหินที่แกะสลักเป็นกรอบประตู มีลวดลายนาคกัญญาที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

นาคกัญญา คือนาคผู้หญิง ส่วนที่เป็นตัวงูนั้นขดไปมาเป็นลวดลายเลื้อยลงมาตามความสูงของเสา

ส่วนท่อนบนเป็นมนุษย์ผู้หญิง แบบเดียวกับนางเงือกที่มีท่อนบนเป็นผู้หญิง

นันเทศวรชี้ให้ดูนาคกัญญาที่แกะสลักเป็นลวดลายประดับกรอบประตูหลายแห่ง ทำให้คิดว่าชาวบ้านแถบนี้เดิมน่าจะบูชางูด้วย

เมื่อหันมารับนับถือศาสนาพุทธ ก็ยังเอานาคกัญญามาดูแลพระวิหารด้วย

เออ แล้วทำไมต้องเป็นนาคผู้หญิง ก็ในชีวิตจริงนั้น แม่เป็นผู้ดูแลเลี้ยงดูให้อาหารแก่ลูกๆ การบูชานาคกัญญา ก็คือปรารถนาให้มีความอุดมสมบูรณ์ไม่อดไม่อยากนั่นเอง

 

เราขับรถต่อไปไม่ไกล คราวนี้มาจอดหน้าโรงเรียนของตำบลนี้ ลานกว้างหน้าโรงเรียนใช้เป็นที่ขึ้น-ลงของเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ด้วย แสดงว่าต้องเคยมีผู้นำระดับนายกรัฐมนตรีมาที่นี่ น่าจะเป็นตอนที่เปิดตัวศีรปุร์ เมื่อประมาณ 10 ปีก่อนโน้น เด็กนักเรียนผู้ชายรุ่นๆ มายืนออดูคณะของเราด้วยความสนใจ

จุดที่เราสนใจคือซากพระราชวัง ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับโรงเรียน มองไกลออกไป เห็นแม่น้ำมหานทีด้วยค่ะ พระราชวังนี้เรียกว่าราชมาหัล เพิ่งขุดพบใน ค.ศ.2000-2001 ผนังหนามากราวสองศอกกระมัง ไกด์อธิบายว่า ความร้อนจากภายนอกเข้ามาได้เพียงครึ่งของกำแพง ทำให้ภายในพระราชวังเย็นอยู่ตลอดเวลา

ที่นี่ก็เช่นเดียวกัน มีร่องรอยหลุมสี่เหลี่ยมในหินที่เป็นธรณีประตู แสดงว่ามีการใช้เสาไม้สำหรับค้ำยังเครื่องบนที่เป็นหลังคา ที่นี่ได้พบตราที่ทำด้วยดินเผา มีอักษรพราหมี ซึ่งเป็นอักษรโบราณระบุว่า “ศิวคุปต์ราชา” นักโบราณคดีระบุว่า เป็นสมัยศตวรรษที่ 7

เนื่องจากเป็นพระราชวัง จะมีห้องตำรวจอารักขาด้วย ห้องโถงกลาง น่าจะใช้เป็นที่ออกว่าราชการ ใหญ่เป็นพิเศษ ลักษณะที่พบพระราชวังนี้ ในระหว่างขุดค้น พบไม้ที่ไหม้ไฟจำนวนหนึ่ง

จึงสันนิษฐานว่าพระราชวังน่าจะถูกไฟไหม้

 

แห่งหนึ่งที่เราไม่ได้ไปด้วยตนเอง แต่น่าสนใจในลักษณะสถาปัตยกรรมคือวัดลักษมัน มีความงดงามมาก รูปทรงทำให้นึกถึงพระมหาสถูปที่พุทธคยา แต่ที่นี่ทรงโค้ง มีงานแกะสลักที่ละเอียดและสวยมาก

ตามประวัติเล่าว่า สร้างโดยรานีวสตาเทวี พระมเหสีของพระเจ้าหรรษคุปต์แห่งสมวันสี พระเทวีเป็นพระมารดาของพระเจ้ามหาศิวคุปต์ พลาร์ชุน พระนางเองเป็นพระธิดาของพระเจ้าสุริยพารมันแห่งแคว้นมคธด้วย พระนางทรงสร้างวัดนี้ถวายพระสวามี

เป็นวัดที่สร้างด้วยอิฐที่ประณีตมาก องค์เจดีย์สูง 7 เมตร มีรูปแกะสลักของพระพุทธเจ้า ขณะเดียวกันก็มีทั้งพระศิวะ และพระนารายณ์ มีรายละเอียดของกฤษณะลีลาด้วย สถาปัตยกรรมชิ้นที่งดงามที่สุดนี้ แสดงถึงความเชื่อที่ผสมผสานกันทั้งพุทธและฮินดู ในฝ่ายของฮินดูเองก็มีทั้งพระศิวะและพระนารายณ์

นักโบราณคดีกำหนดช่วงเวลาว่า น่าจะเป็นงานประมาณ ค.ศ.950

 

จุดที่เราไปดูอีกจุดหนึ่งคือ อานันท์กุฏิวิหาร อานันท์นี้ไม่ใช่พระอานนท์ แต่เป็นชื่อของพระภิกษุที่น่าจะมีชื่อเสียงในสมัยนั้น ต่อมากุฏิของท่านเลยกลายมาเป็นพระวิหาร ยังใช้ชื่อของท่าน เพื่อเป็นที่ระลึกถึง

วิหารแห่งนี้อยู่ขึ้นมาทางเหนือของแม่น้ำมหานทีประมาณ 1 ก.ม. พบพระพุทธรูปเป็นหินแกะสลักสูง 7.5 ฟุต ดูเหมือนจะแกะสลักตรงจุดนั้นเลย ปางภูมิผัสสะ คือพระหัตถ์ขวาอยู่บนพระเพลา และพระหัตถ์สัมผัสกับพระธรณี ส่วนพระหัตถ์ซ้ายพักอยู่บนหน้าตัก เวลานี้ทางการทำประตูเหล็กดัดมาใส่ ประตูเปิดได้แต่คล้องกุญแจอันเบ้อเริ่ม เราเข้าไปห้องข้างในที่พระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ไม่ได้ อาศัยมือถือในสมัยปัจจุบันขนาดเล็ก ใช้สอดมือเข้าไปกดภาพ ก็ได้ภาพที่สมบูรณ์

ตรงทางเข้าพระวิหารมีท้าวกุเวรคุมอยู่ทางด้านขวามือ เวลาที่เราหันหน้าเข้าหาพระวิหารที่ฝาผนังที่เป็นอิฐนั้น สังเกตว่าบางแห่งน่าจะเคยมีพระพุทธรูปตั้งอยู่ และถูกสกัดออกไป ยังมีร่องรอยให้เห็น

การวางผังพระวิหารเหมือนกันหมดในแถบนี้ เมื่อผ่านประตูเข้ามาประมาณสามชั้น จะถึงห้องโถงกว้าง โดยมีพระพุทธรูปที่เป็นประธานอยู่ในห้องในสุดที่เรียกว่าครรภคฤห์ สองฝั่ง เป็นห้องที่แบ่งซอยเท่าๆ กัน ขนาด 2 คูณ 2 โดยประมาณ น่าจะเป็นห้องพักของพระภิกษุที่อยู่ประจำ พื้นที่ในห้องแคบ แต่กำแพงหนา เพื่อควบคุมอุณหภูมิที่ร้อนจัดในฤดูร้อน

การขุดค้นพระวิหารนี้ เจ้าพนักงานกองโบราณคดีเข้ามาทำงานสองช่วงระหว่าง ค.ศ.1953-1954 และอีกช่วงหนึ่ง 1955-1956 กำแพงพระวิหารสร้างด้วยอิฐหลากชนิด พบเครื่องมือช่างทอง ทั้งคีมและค้อนในการทำงานของช่างฝีมือด้วย

เข้าใจว่าช่างทองเข้ามาทำงานเครื่องทองที่ประดับองค์พระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ที่วิหารนี้

อยากมีเวลาที่เราจะได้นั่งทำสมาธิ หรือแม้เพียงนั่งสงบใจเพื่อสัมผัสกับพลังที่ยังเหลืออยู่ในโบราณสถานแห่งนี้

 

เราเตรียมการว่าจะกลับไปถวายเพลพระที่รีสอร์ต แต่ปรากฏว่า ผู้จัดการบอกว่า นันเทศวรและครอบครัวจะถวายมื้อเที่ยง

ผู้เขียนอยากไปบ้านของนันเทศวร จะได้เข้าใจวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนท้องถิ่น ปรากฏว่าเขาพาคณะของเรากลับมาที่สามแยกที่มีรูปอนุสาวรีย์ของท่าน ดร.อัมเบดการ์

นันเทศวรและครอบครัว ซึ่งมีภรรยา ลูกชาย และลูกสะใภ้ รออยู่ที่วิหารเล็กๆ ของหลวงปู่ซาไซ ที่อยู่ตรงข้ามกับอนุสาวรีย์ของท่านอัมเบดการ์ แต่เราไม่ได้สังเกตตั้งแต่แรก เขาเตรียมอาหารใส่ปิ่นโตมา พอพระ 4 รูปนั่งรอบโต๊ะเล็กๆ เขาก็เอาจานมาวางข้างหน้า แล้วถวายอาหารให้ในจานแต่ละรูป ตามแบบแขก เป็นอาหารมังสวิรัติที่เรียบง่าย มีจาาปาตี (แป้งปิ้ง) ดาล (แกงถั่ว) สัพจิ (ผัดผักตามฤดูกาล ใส่เครื่องเทศ)

คราวหน้าจะเขียนเล่าเรื่องอาหารแขกให้ฟังค่ะ น้ำลายไหล

 

ขณะที่พระฉัน นันเทศวรก็รับประทานพร้อมๆ กับคณะของเราไปด้วยกัน แขกเขาไม่กินร่วม กินแยกจาน แยกถาดอยู่แล้ว จัดการง่าย

ที่ขอให้เขากินพร้อมกับเรา เพราะเขาจะมีเรื่องเล่าต่อค่ะ

พระฉันเสร็จ จะให้พร เขาไม่รู้จักประเพณี เราสอนให้เขารู้จักกรวดน้ำด้วย เทพเทวดาที่นั่น ก็คงจะมาโมทนาบุญด้วยกัน

เนื่องจากนันเทศวรเล่าว่า จุดที่พบพระวิหารแห่งแรกที่เราไปดูนั้นเดิมเป็นที่ดินของเขา แต่ตอนนี้เป็นของหลวงไปแล้ว ทางการก็ได้ชดเชยค่าใช้จ่ายให้ตามราคาที่ดินจริง ซึ่งไม่น่าจะมากนัก เพราะเป็นทุ่งนาเสียส่วนใหญ่

นันเทศวรนำเอกสารที่พิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเกี่ยวกับการขุดค้นทางโบราณคดีที่เขาสะสมไว้ เป็นภาษาฮินดีทั้งหมด อธิบายเป็นภาษาฮินดีให้เราได้รับรู้ที่มาที่ไปของการขุดค้นที่ศีรปุร์ เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง อาศัยดูรูปประกอบ

ในตอนท้ายนันเทศวรยังได้มอบซีดีที่เกี่ยวกับศีรปุร์ให้ท่านธัมมนันทาด้วย ท่านว่า เป็นแผ่นสุดท้ายที่เหลืออยู่ น่าเสียดายเมื่อกลับมาเปิดซีดีดู เป็นภาษาฮินดีทั้งหมด แต่เราก็ยังได้ย้อนทวนดูภาพต่างๆ ที่เราเพิ่งไปเห็นมา

เรายังอยากติดตามว่า ของที่ขุดขึ้นมานั้นไปทางไหนกันบ้าง ขอเป็นคราวหน้า เราจะย้อนเข้าเมืองรายปุร์เพื่อไปพิพิธภัณฑ์นะคะ