ต่างประเทศอินโดจีน : สาธารณสุขอินโดฯ กำลังล่ม

ในบรรดาชาติอาเซียนทั้ง 10 ชาติด้วยกัน ชาติที่ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาเป็นกังวลมากที่สุดว่าจะกลายเป็น “จุดศูนย์กลางการระบาด” สำคัญในระดับโลกก็คือ อินโดนีเซีย

เหตุเพราะอินโดนีเซียไม่เพียงเป็นชาติอาเซียนที่มีประชากรมากที่สุดเท่านั้น ยังขาดแคลนเตียงรองรับผู้ป่วย, บุคลากรทางการแพทย์ และห้องอภิบาลผู้ป่วยหนัก (ไอซียู) มากที่สุดในชาติอาเซียนด้วยกันอีกด้วย

ถึงวันที่ 24 มีนาคม อินโดนีเซียรายงานว่ามียอดติดเชื้อสะสม 686 คนเท่านั้น แต่ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตถึง 55 คนแล้ว

ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า เป็นเพราะมีการตรวจหาเชื้อกันน้อยมาก

ศูนย์เพื่อการใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ของโรคระบาดของอังกฤษ ประเมินจากผลการวิเคราะห์ว่า ยอดที่รายงานอย่างเป็นทางการนั้น น่าจะเป็นเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อทั้งหมดในอินโดนีเซียในเวลานี้

นั่นหมายความว่า ยอดติดเชื้อสะสมจริงควรอยู่ที่ 34,300 คนแล้ว ซึ่งสูงกว่าอิหร่านด้วยซ้ำไป

 

นักวิชาการด้านการสร้างแบบจำลองเดียวกันนี้อีกบางคนประเมินว่า ในกรณีเลวร้ายที่สุด ถึงสิ้นเมษายนนี้ อินโดนีเซียอาจมีผู้ติดเชื้อมากถึง 5 ล้านคน เฉพาะในจาการ์ตา เมืองหลวงแห่งเดียวเท่านั้น

อินโดนีเซียมีประชากรมากถึง 260 ล้านคน เป็นอันดับ 4 ของโลกรองจากจีน, อินเดีย และสหรัฐอเมริกา

แต่องค์การอนามัยโลกบอกว่า เตียงพยาบาลรวมทั้งประเทศมีเพียงแค่ 321,544 เตียงเท่านั้น

สัดส่วนตกอยู่ที่ประมาณ 12 เตียงต่อประชากร 100,000 คน

ข้อมูลของฮูในปี 2017 บอกว่า อินโดนีเซียมีแพทย์ 4 คนต่อประชากร 10,000 คน

อิตาลีที่มีมากกว่า 10 เท่าตัว ตกอยู่ในสภาพอเนจอนาถเพียงใดเมื่อเกิดการระบาดอย่างเต็มที่ เป็นที่รู้เห็นกันทั่วโลก

เกาหลีใต้ที่มีแพทย์ต่อจำนวนประชากรมากกว่าอินโดนีเซีย 6 เท่า ยังมือไม้ปั่นป่วนเป็นพัลวันเมื่อต้องรับมือกับโควิด-19

แม้แต่บูดี้ วาริยันโต นักระบาดวิทยาของอินโดนีเซียเองยังยอมรับว่าโรงพยาบาลของที่นี่ไม่พร้อมสำหรับรองรับผู้ป่วยที่เกิดขึ้น การรักษาพยาบาลจะมีจำกัดอย่างมาก

ขนาดมีผู้ป่วยเป็นหลักร้อยเช่นนี้ ระบบสาธารณสุขทั้งระบบของอินโดนีเซียก็กำลังสั่นคลอนอย่างหนัก

ทั้งหมอ ทั้งพยาบาล ไม่มีหน้ากากอนามัย ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันใดๆ หลายคนต้องทำใช้เอง นำจากบ้านมาเอง

คุณหมอคนหนึ่งบอกว่า ต้องใช้เสื้อกันฝนไปพลางๆ เพราะไม่มีอะไรดีกว่านี้อีกแล้ว!

 

คณะแพทย์-พยาบาลของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งชานกรุงจาการ์ตา ยื่นหนังสือประท้วงเมื่อ 24 มีนาคม ขู่นัดหยุดงานหากยังไม่มีอุปกรณ์ป้องกันมาให้

ซึ่งน่าเห็นใจ เพราะสมาคมแพทย์ในอินโดนีเซียระบุว่า มีแพทย์ 8 คนกับพยาบาลอีก 1 คน เสียชีวิตไปแล้วเพราะโควิด-19

ระบบสาธารณสุขของอินโดนีเซียยังเป็นระบบรวมศูนย์อยู่กับส่วนกลางเป็นหลัก ยิ่งทำให้การประสานการบริหารจัดการบริการและการสนองตอบต่อการระบาดในอีกไม่น้อยกว่า 19,000 เกาะที่มีคนอยู่อาศัย ห่างออกไปอีกหลายพันกิโลเมตร ทำได้ยากเย็นยิ่งขึ้น

แต่ปัญหาสำคัญที่สุดในเวลานี้ก็คือห้องไอซียู

วารสารวิชาการ คริติคัล แคร์ เมดิซีน เจอร์นัล เคยเข้าไปศึกษาข้อมูลเมื่อปี 2017 เพื่อเปรียบเทียบในหมู่ชาติอาเซียนด้วยกัน ระบุไว้ชัดเจนว่า อินโดนีเซียจัดอยู่ในอันดับท้ายสุดของทั้งอาเซียน

จำนวนเตียงในห้องไอซียูของอินโดนีเซียต่อประชากร 100,000 คน อยู่ที่ 2.7 เตียงเท่านั้นเอง

อาร์ชี คลีเมนต์ส แพทย์ชำนาญการด้านสาธารณสุขบอกว่า ถ้าผู้ป่วยอาการหนักแล้วไม่นำเข้าไอซียู ไม่มีเครื่องช่วยหายใจช่วยเหลือ ก็เท่ากับรอให้ความตายมาถึงเท่านั้น

เหล่านี้คือเหตุผลที่ว่า ทำไมผู้เชี่ยวชาญหลายคนถึงบอกว่า ในอีกไม่ช้าไม่นาน อินโดนีเซียคงเดินตามรอยอิตาลีหรือสเปนไปอีกประเทศอย่างแน่นอน