รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ/Work From Home 5 G – เน็ตบ้าน เทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัยโควิด-19

รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ

https://www.facebook.com/ChokCyberAIEntertainment/

Work From Home 5 G – เน็ตบ้าน

เทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัยโควิด-19

 

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบันส่งผลกระทบปัญหาหลายด้านในสังคม ทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจ รวมถึงคุณภาพชีวิตที่ดี และความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน

รวมถึงการวางแนวทางการปฏิบัติงานนอกสถานที่ที่ต้องให้สามารถทำงานได้ทุกที่ ทุกเวลา

ถือเป็นการสร้างโมเดลการทำงานในอนาคต

หากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาดมากขึ้น การทำให้คนอยู่กับที่ อยู่กับบ้าน ไม่เคลื่อนที่ หรือเดินทางสัญจร มาตรการทำงานจากที่บ้าน หรือเวิร์กฟรอมโฮม เป็นสิ่งที่จำเป็น

ซึ่งปัจจุบันมีหลากหลายโซลูชั่น โดยผสมผสานศักยภาพของเครือข่ายทั้งมือถือ 5 G และ 4 G รวมถึงเน็ตบ้าน จึงทำให้ผู้บริการแอพพลิเคชั่นจะสนับสนุนการทำงานติดต่อสื่อสารรวมทั้งระบบการประชุมออนไลน์เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานนอกสถานที่ผ่านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ

ทั้งระบบปฏิบัติการไอโอเอสและแอนดรอยด์

 

ทั้งนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้มีคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยโดยรวมในช่วง 3-4 เดือนนี้จะทรุดต่อเนื่อง แต่ขณะที่รายงานของแอพพลิเคชั่นต่อพฤติกรรมผู้ใช้งานระหว่างเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2563 ประชาชนมีการเข้าใช้งาน 4 แอพพลิเคชั่น ได้แก่ เฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์, ไลน์ และยูทูบ เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะทวิตเตอร์ที่มีการใช้งานเพิ่มขึ้น 266.43% ถัดมาคือไลน์ เพิ่มขึ้น 154.26%

ขณะที่การสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ผ่าน 3 แอพพลิเคชั่น ได้แก่ ลาซาด้า ช้อปปี้ และแกร็บเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยช้อปปี้มีการใช้งานเพิ่มขึ้น 478.59% รองลงมาคือลาซาด้า ซึ่งเพิ่มขึ้น 121.52%

เมื่อเทียบข้อมูลระหว่างสัปดาห์แรกและสัปดาห์ที่สองของเดือนมีนาคม 2563 พบว่าประชาชนมีการใช้งานแอพพลิเคชั่น “ไลน์” เพิ่มขึ้น 24.67% จาก 24.60% เป็น 30.67% ถัดมาคือยูทูบ ที่มีการใช้งานเพิ่มขึ้น 4.09% จาก 374.28% เป็น 389.58%

ขณะที่ทวิตเตอร์มีการใช้งานลดลง 18.83% จาก 10.86% เป็น 8.82% และเฟซบุ๊กมีการใช้งานลดลงเช่นกัน อยู่ที่ 9.12% จาก 377.46% เป็น 343.02%

ส่วนการสั่งซื้อสินค้าผ่านแอพพลิเคชั่นช้อปปี้เพิ่มขึ้น 14.13% จาก 5.82% เป็น 6.65% ถัดมาคือลาซาด้า เพิ่มขึ้น 1.40% จาก 2.28% เป็น 2.32% ขณะที่แกร็บลดลง 15.68% จาก 1.30% เป็น 1.09%

 

หลังจากการประมูลคลื่นความถี่เพื่อรองรับ “5 G” ของไทยที่ผ่านพ้นไปหนึ่งเดือนเต็ม คลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ถือเป็นหัวใจสำคัญ เนื่องจากคลื่นความถี่ที่ทั่วโลกนิยมใช้เพื่อรองรับ 5 G ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ และคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิร์ตซ์

โดยคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ ปัจจุบัน “ไชน่าโมบายล์” ของจีนซึ่งมีฐานลูกค้ามากที่สุดในโลกราว 925 ล้านราย เปิดให้บริการ 5 G บนคลื่นความถี่ดังกล่าว และมีการผลิตอุปกรณ์ขึ้นมารองรับ

ขณะที่คลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิร์ตซ์ เป็นคลื่นความถี่หลักในการรองรับ 5 G ในภูมิภาคยุโรป ซึ่งปัจจุบันไทยใช้ในกิจการดาวเทียมโดยจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในเดือนกันยายน 2564

ทำให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) 2 รายที่ชนะการประมูล ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส จำนวน 10 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10 เมกะเฮิร์ตซ์ รวม 100 เมกะเฮิร์ตซ์ มูลค่า 20,930,270,000 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

ส่วนบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 9 ใบอนุญาต รวม 90 เมกะเฮิร์ตซ์ มูลค่า 19,123,991,110 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เข้าคิวเพื่อชำระค่าใบอนุญาตงวดแรกซึ่งคิดเป็น 10% ของราคาค่าใบอนุญาต

โดย “เอไอเอส” ถือฤกษ์งามยามดี วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 เข้าชำระค่าใบอนุญาตจำนวน 2,093,027,000 บาท และเข้ารับใบอนุญาตพร้อมกดปุ่มสวิตช์ออนคลื่นความถี่เพื่อเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในวันเดียวกัน

ขณะที่ “ทรู” เข้าชำระค่าใบอนุญาตจำนวน 1,912,399,111 บาท พร้อมเข้ารับใบอนุญาต เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 และเปิดให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ในวันถัดมา

 

ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ลุกลามไปใน 118 ประเทศทั่วโลกและคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 14,654 ราย จากจำนวนผู้ติดเชื้อรวม 337,556 ราย ขณะที่รักษาหายแล้วรวม 98,884 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 23 มีนาคม 2563)

กสทช.ได้มีการประชุมวาระพิเศษเมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือประชาชนและผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยการลดค่าใช้จ่ายด้านโทรคมนาคม และส่งเสริมการทำงานจากที่บ้าน หรือเวิร์กฟรอมโฮม รวมทั้งสนับสนุนการทำงานผ่านอินเตอร์เน็ตเพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วนต่อไป ดังนี้

  1. สนับสนุนให้ประชาชนสามารถใช้งานอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์เคลื่อนที่ (โมบาย บรอดแบนด์) เพิ่ม 10 กิกะไบต์ ต่อคน ต่อเดือน ให้แก่ผู้ใช้งานในปัจจุบัน โดยผู้ใช้บริการ 1 คนจะได้รับการสนับสนุน 1 เลขหมาย ต่อ 1 ผู้ให้บริการ โดยจะสนับสนุนเป็นระยะเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการดังกล่าวจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 โดยใช้ฐานลูกค้าที่มีผู้ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ณ วันที่ ครม.มีมติเท่านั้น

ทั้งนี้ ให้หักจากเงินที่ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องชำระค่าประมูลคลื่นความถี่ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขใบอนุญาตที่ กสทช.กำหนดจนกว่าจะครบจำนวน และให้ กสทช.นำเงินส่วนที่เหลือส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป โดยประชาชนจะสามารถรับสิทธิได้ด้วยการลงทะเบียนผ่านระบบ USSD ของผู้ให้บริการแต่ละค่ายที่ใช้งานอยู่

  1. สนับสนุนการจัดให้มีบริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ประจำที่ (ฟิกซ์ บรอดแบนด์) ให้แก่ผู้ใช้งานในปัจจุบัน โดยปรับเพิ่มขนาดความจุ (คาปาซิตี้) เท่าที่ผู้ให้บริการจะสามารถดำเนินการได้ กล่าวคือ กรณีบริการ ADSL/VDSL/Copper ให้ปรับเพิ่มความเร็วสูงสุดที่สามารถทำได้ และกรณีบริการรับ-ส่ง ข้อมูล ไฟเบอร์ทูดิเอ็ก ให้ได้ระดับความเร็ว (ดาวน์โหลด) 100 เมกะไบต์ โดยหักเป็นค่าใช้จ่ายจากเงินที่ต้องนำส่งกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)

ด้วยประสิทธิภาพของเทคโนโลยี โดยเฉพาะ “5 G” และความสามัคคีอยู่กับที่ อยู่กับบ้าน ไม่เคลื่อนที่ ร่วมไม้ร่วมมือของทุกภาคส่วน จะช่วยกันสกัดกั้น และหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ในเร็ววัน