คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : ความเข้าใจเรื่อง “รัตนสูตร” และการแก้ปัญหาโรคระบาดแบบไทยๆ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ในฉบับก่อนหน้านี้ ผมเขียนไปว่า ปกติจะต้องเห็นหน่วยงานศาสนาออกมาทำอะไรสักสิ่ง เพราะสถานการณ์ตอนนั้นยังไม่มีหน่วยงานไหนมาเสนอเรื่องพิธีกรรม

แต่หลังจากผมส่งบทความไปไม่นาน รัฐบาลนำโดย รมต.ประจำสำนักนายกฯ ก็ออกมาเปิดเผยว่าจะมีการขอให้พระภิกษุสวด “รัตนสูตร” โดยสำนักพุทธฯ ก็ขานรับในทันที

เรื่องนี้ดูเหมือนคนในโลกออนไลน์จะด่ามากกว่าชื่นชมนะครับ ด้วยเหตุใดเดี๋ยวผมจะมาว่ากันอีกที แล้วจะลองวิเคราะห์ mindset ของรัฐบาลด้วย

ทำไมต้องเป็นบทสวดรัตนสูตร ก็เพราะเหตุว่า รัตนสูตรนั้นเป็นพระสูตรขนาดสั้นปรากฏในพระพระไตรปิฎก พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 17 ขุททกนิกาย

เนื้อความรัตนสูตรมีสองส่วน

ส่วนแรกกล่าวกับภูตและภุมเทวดาต่างๆ ว่าควรมีเมตตารักษาปวงมนุษย์ซึ่งได้พลีกรรมต่อเทวดาเหล่านั้นทั้งกลางวันกลางคืน

เนื้อความส่วนที่สองกล่าวสรรเสริญคุณของพระรัตนตรัย แล้วตั้งสัจจาธิษฐานว่า หากคำกล่าวนั้นจริงก็ขอให้เกิดสวัสดิมงคล

เนื้อความในรัตนสูตรมีเท่านั้นครับ ไม่มีส่วนของการรักษายับยั้งโรคภัยหรือโรคระบาด

 

เมื่อพุทธศาสนารุ่งเรืองในลังกาแล้ว พระภิกษุลังกาได้ยกเอาพระสูตรต่างๆ หรือเก็บความมาประพันธ์เป็น “พระปริตร” (แปลว่าเครื่องป้องกัน) ใช้สวดในงานพิธีเพื่อความเป็นสิริมงคล

บางท่านว่าที่พระทำเช่นนี้ก็เอาอย่างธรรมเนียมพราหมณ์

คือเมื่อพราหมณ์ได้รับเชิญไปทานอาหารรับทักษิณาที่บ้านใครก็สวดเวทเพื่อสวัสดิมงคลแก่เจ้าภาพ ทางพุทธศาสนาจึงต้องผูกบทสวดมนต์ไว้ใช้บ้าง แต่เกิดในลังกาไม่ใช่อินเดีย และไม่เก่าไปถึงยุคพุทธกาล

บ้านเราก็รับเอาธรรมเนียมสวดพระปริตรมาใช้อย่างลังกา มีทั้งเจ็ดตำนานและสิบสองตำนาน ก็คือบทสวดที่พระท่านใช้สวดในพิธีมงคลนั่นแหละครับ

คราวนี้รัตนสูตรหรือรัตนปริตร (ซึ่งผมเข้าใจว่ามีเนื้อความสั้นกว่ารัตนสูตรในพระไตรปิฎก) จึงเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป ในลังกาและประเทศที่เถรวาทไปถึง

ทีนี้ในลังกา พระท่านก็แต่ง “อรรถกถา” คือคำอธิบายพระไตรปิฎกขึ้นมา เพื่ออธิบายขยายความพระไตรปิฎก แต่ก็ถือว่าอรรถกถานับเนื่องในพระไตรปิฎกด้วย เดิมแต่งเป็นสิงหลต่อมาพระพุทธโฆษาจารย์ก็แต่งเข้าบาลี

ที่เชื่อว่ารัตนสูตรสามารถขจัดโรคภัย โดยเฉพาะโรคระบาดได้นั้น ก็เพราะตำนานในอรรถกถารัตนสูตรนี่เอง

 

อรรถกถารัตนสูตร ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ กล่าวว่า ครั้งหนึ่งเมืองเวสาลีเกิดทุพภิกขภัย ประชาชนล้มตายโดยเฉพาะ “คนจน” ก่อน อมนุษย์จึงเข้ามาเพราะได้กลิ่นซากศพ จากนั้นก็เกิดโรคระบาดจากพวกอมนุษย์เหล่านี้ ประชาชนก็ไปฟ้องเจ้าลิจฉวี (มีหลายคน) ว่า สงสัยพระราชาไม่ทรงตั้งอยู่ในธรรม เลยเกิดเหตุร้ายซึ่งไม่เคยเกิดมาก่อน

เจ้าลิจฉวีก็เถียงว่าตัวเองก็ไม่ได้ทำอะไรผิด จากนั้นก็คิดไม่ออกว่าจะทำไงต่อ พวกเจ้าลิจฉวีเลยคิดว่า ควรเอาบุคคลศักดิ์สิทธิ์หรือศาสดาต่างๆ มาช่วย แต่พวกหนึ่งก็ว่าเชิญพระพุทธะมาดีกว่า

พระพุทธะรับนิมนต์ แล้วให้พระอานนท์เรียนรัตนสูตรจากพระองค์เอง จากนั้นให้พระอานนท์เอาบาตรของพระองค์ใส่น้ำ ไป “ประพรม” ทั่วเมืองเวสาลีพร้อมท่องรัตนสูตรไปด้วย (คือรดน้ำมนต์นั่นเอง) พวกอมนุษย์ก็หนีกันกระเจิง ฝนก็ตกชะสิ่งสกปรกออกไป โรคร้ายก็สงบลง

ด้วยเหตุนี้ จึงเชื่อว่าการสวดรัตนสูตรช่วยปัดเป่าโรคระบาด ซึ่งโบราณเชื่อว่ามีสมุฏฐานจากการกระทำของอมนุษย์ทั้งหลายได้

 

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ทรงมีพระวินิจฉัยในหนังสือ “เจ็ดตำนานพุทธมนต์และสิบสองตำนานพุทธมนต์” เกี่ยวกับรัตนสูตรที่น่าสนใจอยู่หลายประการ

อย่างแรก เนื้อความในรัตนสูตร ที่เป็นส่วนของพุทธพจน์คงมีแค่ส่วนต้นเพียงห้าคาถา และส่วนหลังที่สรรเสริญคุณพระรัตนตรัยนั้นคงเป็นส่วนที่พระอานนท์ได้กล่าวขึ้นเอง

ประการที่สอง ทรงวินิจฉัยการพิธีการ “รดน้ำมนต์” ของพระอานนท์ ว่าธรรมเนียมการรดน้ำมนต์นั้นคงมีมาอย่างน้อยๆ ก็ในสมัยที่แต่งอรรถกถาในลังกา แต่จะเก่าไปถึงพุทธกาลหรือไม่ก็ยากจะวินิจฉัย

“ก็ต้องยืนยันว่าได้มีมาในลังกาตั้งแต่ครั้งนั้น และหนังสือที่แต่งในลังกาที่ได้อ้างถึงว่าได้มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล…จะเป็นจริงหรือไม่ หรือว่าจะเป็นความเชื่อถือ และก็แต่งตามที่เชื่อถือและบอกเล่ากันมาก็เป็นของยากที่จะวินิจฉัย…”

ที่ต้องกล่าวถึงเรื่องนี้เพราะมีผู้เถียงว่า ในพระสูตรอื่นห้ามพระใช้เดรัจฉานวิชาเลี้ยงชีพ ซึ่งรวมการทำน้ำมนต์ไว้ด้วย แต่ทำไมกรณีนี้พระอานนท์ถึงทำน้ำมนต์ได้ มีผู้ตอบว่าก็ทำเพื่อสงเคราะห์โยมไม่ใช่เลี้ยงชีพสักหน่อย แต่ผมคิดว่า อาจเพราะเป็นการแต่งเรื่องนี้ใหม่ในลังกา ซึ่งมีพิธีรดน้ำมนต์นี้แพร่หลายเป็นปกติแล้วมากกว่า (เข้าใจว่าแปลงของพราหมณ์มาเช่นกัน)

เคยมีการสวดรัตนสูตรในการขจัดโรคระบาดในบ้านเรามาก่อนหรือไม่ผมไม่แน่ใจ

เพราะแม้จะมีการอ้างถึงการทำพิธีทางศาสนาไล่โรคระบาดในสมัยรัตนโกสินทร์คือ “พระราชพิธีอาพาธพินาศ” ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่หนึ่งและรัชกาลที่สอง แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกล่าวในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือนว่า ใช้บทสวด “อาฏานาฏิยสูตร” ไม่ใช่รัตนสูตร

เนื้อความของอาฏานาฯ แรงกว่ามาก คือกล่าวถึงอมนุษย์ชนิดต่างๆ มากมายที่เป็นบริวารของพวกยักษ์ และอาศัยพระพุทธคุณ รวมทั้งอำนาจเทวดาและยักษ์หัวหน้า ไล่อมนุษย์พวกนั้นไม่ให้ทำร้ายมนุษย์ได้

อาฏานาฏิยปริตรได้รับความนิยมกว่า เพราะใช้ในพิธีต่างๆ อีก เช่น พระราชพิธีตรุษสงกรานต์ หรือที่เราคุ้นเคยคือการสวด “ภาณยักษ์” ทั้งนี้ก็เพราะเข้ากับบริบท “ผี พราหมณ์ พุทธ” แบบไทยๆ คือเน้นเอาอำนาจเหนือกว่าไป “ไล่” แถมยังกล่าวถึงเทวดาที่มีอำนาจอะไรอีกมากนอกจากพระรัตนตรัยมาช่วยอีก

ทั้งนี้ ยังทรงกล่าวถึงพระราชพิธีนั้นว่า

“แต่การพระราชพิธีนั้นเปนการคาดคเนทำขึ้น มิใช่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสั่งสอนไว้ให้ทำสำหรับแก้ไขโรคภัยเช่นนี้ จึ่งได้คิดขับไล่ผีเปนการผิดอิกขั้นหนึ่งด้วย เพราะโรคนี้ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยผี เกิดขึ้นด้วยดินฟ้าอากาศ แลความประพฤติที่อยู่กินของมนุษย์ ซึ่งเปนสิ่งที่ไม่มีวิญญาจะขับไล่ได้…” (สะกดแบบเก่า)

และ “เรื่องราวอันเปนที่พิฤกพึงกลัวเปนอันมาก เปนต้นว่าคนที่เข้ากระบวนแห่แลหามพระพุทธรูป และพระสงฆ์เดินไปกลางทางก็ล้มลงขาดใจตาย ที่กลับมาถึงบ้านแล้วจึ่งตายก็มีมาก แลตั้งแต่ตั้งพิธีแล้วโรคนั้นก็ยิ่งกำเริบร้ายแรงหนักขึ้น…คนทั้งปวงก็พากันลงว่าเพราะการพิธีนั้นสู้ผีไม่ได้ ผีมีกำลังกล้ากว่า ตั้งแต่ทำพิธีอาพาธพินาศในปีมะโรงโทศกนั้น ไม่ระงับโรคประจุบันได้ ก็เปนอันเลิกกันไม่ได้ทำอิกต่อไป”

พระราชพิธีอาพาธพินาศจึงไม่เคยจัดขึ้นอีก เพราะทำแล้ว “โรคนั้นก็ยิ่งกำเริบร้ายแรงหนักขึ้น”

 

มาครานี้รัฐบาลอยากจัดพิธีกรรมขึ้นอีก คนก็กังวลว่าจะยิ่งทำให้โรคแพร่กระจายกว่าเก่า ก็ด่าไปเสียครั้งหนึ่ง ครั้นบอกจะเป็นพิธีแบบเน้นออนไลน์ คนก็ยังด่าได้อีกเพราะมันไม่ใช่หน้าที่ ยิ่งหากมองว่า รัฐที่เป็นกลางทางศาสนาไม่ควรใช้พิธีกรรมศาสนาใดศาสนาหนึ่งมาใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินด้วยก็ควรด่า

ผมคิดว่า วิธีคิดของรัฐไทยประหลาดมาก เพราะเมื่อเกิดภัยร้ายแรง แทนที่รัฐจะทุ่มสรรพกำลังทั้งหมดไปในการแก้ไขทางด้านนโยบาย การปฏิบัติที่รัดกุม การแก้ไขที่เป็นรูปธรรม และดำเนินการอย่างทันท่วงที กลับวนไปหา “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ที่จะมาช่วยดลบันดาลให้ปัญหาสงบลง

ส่วนคนที่จะมาแก้ต่างว่าก็รัฐอยากช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้ประชาชนไง ผมคงต้องบอกว่า มีปัญหาที่สำคัญกว่าให้ทำอีกมาก รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเหล่านี้ก่อนเป็นอันดับแรกเพราะเป็นหน้าที่โดยตรง ถ้าแก้ได้ ขวัญกำลังใจของประชาชนก็มาเอง ส่วนพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อเป็นขวัญกำลังใจควรเป็นเรื่องที่เอกชน องค์กรทางศาสนาของเอกชนหรือประชาชนจะทำกันเอง

อย่างมากรัฐก็แค่แนะนำ แต่ไม่ใช่มาเป็นตัวตั้งตัวตีจัดเอง ทั้งๆ ที่ปัญหาอื่นยังไม่แก้อย่างจริงจังเลย

ขนาดรัฐมนตรีสาธารณสุขยังออกมาพูดเองว่า ก็แค่ไข้หวัดธรรมดา จนตอนนี้ต้องออกมาให้สัมภาษณ์ทั้งน้ำตาแล้ว

เผอิญความคุ้นชินกับวิธีที่มาจากอำนาจศักดิ์สิทธิ์หรือตัวช่วยที่ไม่อยู่ในระบบ คงกลายเป็นวิธีคิดแรกก่อนวิธีคิดอื่นของรัฐบาลนี้

และการให้ความสำคัญกับพิธีกรรมมาเป็นอันดับแรกๆ ของรัฐบาล คือ

ภาพสะท้อนความไม่เอาไหนในการแก้ปัญหานั่นเอง