เศรษฐกิจ / วิกฤตเศรษฐกิจยุคโควิด-19 ‘จน-รวย’ หวาดกลัว-ทุกข์เข็ญ มาตรการรัฐเยียวยาแค่ไหน?

เศรษฐกิจ

 

วิกฤตเศรษฐกิจยุคโควิด-19

‘จน-รวย’ หวาดกลัว-ทุกข์เข็ญ

มาตรการรัฐเยียวยาแค่ไหน?

 

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ในไทยและประเทศต่างๆ ทั่วโลก สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมหาศาล

ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกปรับลดลงมาทำสถิติต่ำสุดในรอบหลายๆ ปี ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หั่นดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 0% ส่วนภาคธุรกิจหยุดกิจการชั่วคราว ทั้งสายการบิน โรงแรม ร้านอาหาร ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยและต่างชาติหยุดชะงักลง

คริสตาลินา จอร์จีวา กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) มองว่า โควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย กลายเป็นวิกฤตโลกรอบใหม่ เลวร้ายยิ่งกว่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2552 (แฮมเบอร์เกอร์) ซึ่งไอเอ็มเอฟเตรียมกองทุนสนับสนุนด้านการเงิน ช่วยประเทศตลาดเกิดใหม่ไม่ต่ำกว่า 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 81 ล้านล้านบาท) ล่าสุดกว่า 80 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีรายได้ต่ำ ร้องขอความช่วยเหลือมายังไอเอ็มเอฟแล้ว

สถานการณ์ในขณะนี้ไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร ดังนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงไทยยังประเมินยาก

 

ในฝั่งของไทย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ยอมรับว่าสถานการณ์ในไทยขณะนี้หนักกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งจีดีพีไทยติดลบกว่า 10%

สมคิดยังฉายภาพให้เห็นชัดๆ ว่า ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง คนที่มีสตางค์เจ็บมาก แต่เกษตรกรดี ท้องถิ่นยังไปได้ สวนทางกับวิฤกตครั้งนี้ทั้งคนจนและคนรวยได้รับผลกระทบ

ทำให้ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) หั่นลดคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยติดลบ 5.3% มองว่าโควิด-19 กระทบประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมถึงไทย ทั้งด้านตลาด การเงิน เศรษฐกิจ และสังคม คาดว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวเป็นบวก 3% ในปี 2564

กนง.มองไปในทิศทางเดียวกับเอกชน ล่าสุด สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ปรับมุมมองทางเศรษฐกิจไทยจากเดิมขยายตัว 1.7% เป็นหดตัว 6.4% เป็นการลดลงตามภาวะการถดถอยของเศรษฐกิจโลก

ซีไอเอ็มบีไทยมองว่า ภาวะการถดถอยทำให้เศรษฐกิจไทยถึงจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาสที่ 2 และน่าจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

 

มุมมองผลกระทบวิกฤตโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทย จากการประเมินของธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า โควิด-19 สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยไม่ต่ำกว่าเดือนละ 3.5-4 แสนล้านบาท หรือหากการแพร่เชื้อยาวนาน 3-4 เดือน ผลกระทบต่อเศรษกิจไทยสูงถึง 1 ล้านล้านบาท

ตัวเลขดังกล่าวมาจากผลกระทบจากการค้าชายแดน หลังจากรัฐประกาศปิดด่านชายแดนทั่วประเทศ ส่งผลให้การค้าชายแดนหายไปวันละ 8 พันล้านบาท หรือเดือนละ 2.4 แสนล้านบาท

การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องปิดสถานที่คนพลุกพล่าน เช่น ห้าง ผับ บาร์ โรงหนัง ร้านอาหาร ร้านนวด ส่งผลให้การบริโภคที่เคยมีมูลค่าวันละ 2 หมื่นล้านบาท หายไปประมาณ 5 พันล้านบาท ตัวเลขลดลงไม่มาก เพราะยังสามารถซื้ออาหารแบบเดลิเวอรี่ และสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ได้

เมื่อรวมการค้าชายแดนและการบริโภค ผลจากโควิด-19 ทำให้มูลค่าเศรษฐกิจหายไปประมาณ 1-1.5 หมื่นล้านบาทต่อวัน หรือคิดเป็นมูลค่า 3-4.5 แสนล้านบาทต่อเดือน

หลังจากนี้คงต้องติดตามว่าโควิด-19 จะหยุดการแพร่เชื้อเมื่อไหร่ เพราะยิ่งนานวัน เศรษฐกิจไทยจะยิ่งแย่ เพราะขณะนี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดหมด

 

ทุกวันนี้มีข่าวโรงแรม สายการบิน โรงงานต่างๆ แม้กระทั่งโรงงานผลิตรถยนต์ ประกาศหยุดกิจการแทบทุกวัน ทำให้ลูกจ้างในกลุ่มธุรกิจดังกล่าวตกงานทันที

บริษัทใดสายป่านยาว ผู้บริหารยังมีเมตตา จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างปกติ หรือลดเงินเดือนบ้างแต่ยังจ่ายเงินเดือน เพื่อให้ลูกจ้างนำไปประทังชีวิต แต่ร้านเล็ก ร้านน้อย บริษัทเอสเอ็มอี เงินทุนไม่หนา สายป่านไม่มี ต้องหยุดการจ่ายเงินเดือน และไม่มีการชดเชยค่าแรงตามกฎหมาย

ส่วนเจ้าของกิจการ เจ้าของบริษัท ได้รับผลกระทบจนแทบเอาตัวไม่รอด เพราะขายสินค้าไม่ได้ ส่งออกไม่ได้ หนี้สินที่กู้มาก็ต้องจ่ายทุกเดือน

ภาครัฐพยายามออกมาตรการดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลระทบจากโควิด-19 มาหลายมาตรการ

ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ต่อเนื่องจนถึงเดือนมีนาคม กระทรวงการคลัง ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) ร่วมกันออกมาตรการดูแล เยียวยาประชาชน เอสเอ็มอี ผู้ประกอบการท่องเที่ยว รวมถึงมาตรการดูแลตลาดหุ้น ตราสารหนี้

กนง.ตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้ง รวม 0.50% ทำสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ 0.75% ต่อปี โดยการปรับลดล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มีนาคม ลดลง 0.25% อาจทำให้หลายคนผิดหวังเพราะต้องการให้ลดมากกว่านี้ แต่ทาง กนง.มองว่าเหมาะสมแล้ว ต้องการเก็บกระสุนไว้ดูแลหากเศรษฐกิจไทยแย่ไปกว่านี้

 

นอกจากนี้ ธปท.ขอความร่วมมือไปยังแบงก์พาณิชย์ช่วยเหลือลูกหนี้ ทั้งพักหนี้เงินต้น ลดดอกเบี้ย ลดเงินงวด เพื่อผ่อนภาระของประชาชนและผู้ประกอบการ

ส่วนมาตรการดูแลตลาดทุน ธปท.ร่วมมือกับเอกชนออกมาตรการดูแลตลาดตราสารหนี้ทั้งระบบ อัดฉีดสภาพคล่อง รวม 1.1 ล้านล้านบาท เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับตลาดเงิน ตลาดทุนไทย

หลังจากมี 4 กองทุน ปิดการซื้อ-ขาย เพราะประชาชนมาแห่ถอนหน่วยลงทุน เนื่องจากไม่มั่นใจผลตอบแทนที่จะได้รับ

ฝั่งกระทรวงการคลัง ออกมาตรการบรรเทาและเยียวยา 2 ชุด รวมกันกว่า 30 มาตรการ

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม ครม.เห็นชอบชุดมาตรการบรรเทาและเยียวยาชุดแรก 14-15 มาตรการ ซึ่งความช่วยเหลือเด่นๆ เช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) 1.5 แสนล้านบาท พักชำระเงินต้น ผ่อนภาระดอกเบี้ย ขยายเวลาชำระหนี้ของแบงก์รัฐ สินเชื่อจากกองทุนประกันสังคมวงเงิน 3 หมื่นล้านบาท ลดภาษีหัก ณ ที่จ่ายลงเหลือ 1.5% จากเดิม 3%, ให้มนุษย์เงินเดือนซื้อกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF) เพิ่มอีก 2 แสนบาท, ตั้งกองทุน 2 หมื่นล้านบาท ช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ, ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบผลิตหน้ากากอนามัย 6 เดือน

ต่อมาวันที่ 24 มีนาคม ออกมาตรการระยะที่ 2 รวม 15 มาตรการ มีมาตรการเด่นๆ เช่น ปล่อยกู้ให้คนตกงาน ดอกเบี้ยพิเศษผ่านจากธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. วงเงินรวม 6 หมื่นล้านบาท, เลื่อนชำระภาษีบุคคลธรรมดาถึง 31 สิงหาคม จากเดิมมีนาคม, เลื่อนชำระภาษีนิติบุคคลถึงเดือนกันยายน, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ปล่อยเอสเอ็มอีดอกเบี้ยพิเศษ วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท

ที่สำคัญมีการแจกเงินเยียวยาให้คนตกงานเดือนละ 5 พันบาท เป็นเวลา 3 เดือน รวม 1.5 หมื่นบาท โดยให้มาลงทะเบียนผ่าน www.เราไม่ทิ้งกัน.com การลงทะเบียนแค่ 2 วันมีผู้มาลงทะเบียนมากกว่า 22 ล้านคน เกินกว่าเป้าหมายที่ของบประมาณจาก ครม.ไว้ 3 ล้านคน วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท

อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันแล้วว่าพร้อมจ่ายให้ทุกคนหากผ่านเกณฑ์ ขอเวลาตรวจสอบ 7 วัน หากงบประมาณไม่พอ จะขอเพิ่มไปยัง ครม.

 

แม้ออกมา 2 มาตรการ แต่ผลกระทบจากโควิด-19 ไม่อาจวางใจได้ “สมคิด” สั่งให้กระทรวงการคลังออกมาตรการชุดที่ 3 ภายในเดือนเมษายน เพื่อมารับมือโควิด-19 และภัยแล้ง คาดว่าปีนี้ภัยแล้งจะรุนแรงไม่แพ้โควิด-19

มาตรการชุดที่ 3 จะเน้นการดูแลเศรษฐกิจระดับฐานราก ดูแลประชาชนในต่างจังหวัดให้มีงานทำ หลังจากโควิด-19 มีการปิดสถานที่ทั้งห้าง ร้านอาหาร ผับ บาร์ ส่งผลให้ประชาชนเดินทางกลับต่างจังหวัดจำนวนมาก

เริ่มมีการพูดถึง พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อนำมาช่วยดูแลเศรษฐกิจ เพราะงบประมาณจะใช้ได้ คือจาก งบกลางของงบประมาณปี 2563 มองว่าถูกใช้ไปเกือบหมดแล้ว ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่าจะกู้อยู่ในระดับ 2-5 แสนล้านบาท กระทรวงการคลังให้ความมั่นใจเรื่องเงินไม่ใช่ปัญหา เพราะถ้าดูตามกรอบวินัยการเงินการคลัง สามารถกู้ได้ถึง 3 ล้านล้านบาท

ดังนั้น เมื่อไม่ห่วงเรื่องเงิน มาตรการนับจากนี้ไปควรต้องเป็นมาตรการดูแลเศรษฐกิจให้สามารถยืนอยู่ได้ สิ่งสำคัญต้องเป็นมาตรการช่วยดูแลลูกจ้างและเอสเอ็มอีให้สามารถประคองตัวไม่ให้ตกเหว

            เมื่อโควิด-19 หยุดแพร่เชื้อ ธุรกิจไทยต้องพร้อมก้าวเดิน