การศึกษา / เจาะ ‘ศูนย์นอกที่ตั้ง’ ผิด กม. โผล่ ‘อาชีวะเอกชน’ ครั้งแรก

การศึกษา

 

เจาะ ‘ศูนย์นอกที่ตั้ง’ ผิด กม.

โผล่ ‘อาชีวะเอกชน’ ครั้งแรก

 

เป็นปัญหายืดเยื้อมานานสำหรับการเปิด “ศูนย์นอกที่ตั้ง” ผิดกฎหมาย

ก่อนหน้านี้เกิดกับมหาวิทยาลัยจนมีการสั่งปิดมาแล้วเมื่อหลายปีก่อน

ล่าสุด ปัญหาดังกล่าวกลับมาเกิดกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชนครั้งแรก

เมื่อปลายปี 2562 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ตรวจเจอวิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชนแห่งหนึ่งใน จ.ชัยนาท เปิดสอนนอกสถานที่ตั้งไม่ถูกต้อง

โดยพบว่าเปิดสอนตามห้างสรรพสินค้าและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จึงสั่งงดให้เงินอุดหนุนรายหัวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562

นอกจากนี้ยังไม่รับรองการออกใบระเบียบผลการเรียน หรือใบ รบ. พร้อมทั้งสั่งปิดศูนย์นอกสถานที่ตั้งทั้งหมด

ส่งผลให้ต้องงดรับนักศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 เป็นต้นไป

และ สอศ.ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงวิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชนดังกล่าวด้วย

 

นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ระบุว่า สอศ.ทราบเรื่องเมื่อปลายปี 2562 จึงลงไปตรวจสอบที่วิทยาลัยต้นทาง พบว่ามีการขนเด็กนั่งรถกระบะเข้ามา จากการตรวจสอบพบว่าไปเปิดศูนย์การเรียนนอกสถานที่ตั้งอย่างไม่ถูกต้อง

ระหว่างสอบสวนทางวิทยาลัยรู้ตัว จึงสั่งปิดก่อน แต่การประกาศเลิกกิจการ เป็นการปิดศูนย์นอกที่ตั้ง แต่วิทยาลัยยังคงอยู่ ดังนั้น หากตรวจสอบว่า มีการเปิดสอนที่ไม่ถูกต้องจริง ก็ต้องสั่งให้ปิดกิจการถาวร

การปิดศูนย์นอกที่ตั้ง ส่งผลให้นักศึกษาเดือดร้อนรวมกว่า 200 คน

ซึ่ง สอศ.ไม่สามารถช่วยเหลือได้เพราะถือว่าเข้าเรียนอย่างไม่ถูกต้อง

นักศึกษาต้องไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากวิทยาลัยเอง

โดยล่าสุดนักศึกษาหลายคนได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายแล้ว

 

ล่าสุดตอนนี้วิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชนดังกล่าว ได้ประสาน สอศ. ขอปิดกิจการเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบเอกสารหลักฐานตามขั้นตอนทางกฎหมายก่อนสั่งปิดเป็นทางการ

ส่วนมาตรการเยียวยานักเรียน นักศึกษาที่เรียนในสถานที่ตั้งอย่างถูกต้องซึ่งมีอยู่หลายร้อยคนนั้น สอศ.จะถ่ายโอนหน่วยกิตไปเรียนในวิทยาลัยรัฐและวิทยาลัยเอกชนใน จ.ชัยนาทที่เด็กเลือก โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ตามกฎหมายของ สอศ. ห้ามวิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชนเปิดสอนนอกที่ตั้งโดยเด็ดขาด เพราะสามารถเก็บค่าเทอมได้ ขณะที่วิทยาลัยในสังกัดรัฐ ถึงอนุญาตให้เปิดสอนเป็นศูนย์การเรียนต่างๆ ได้ แต่ สอศ.ควบคุมดูแล

สอศ.จึงเชื่อว่าไม่มีใครกล้าทำผิด เพราะถึงทำก็ไม่ได้อะไรเนื่องจากการเรียนการสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ของรัฐให้เรียนฟรีอยู่แล้ว

สอศ.จึงฝากกำชับนักเรียน นักศึกษาที่กำลังจะสมัครเข้าเรียน ขอให้ตรวจสอบข้อมูลให้ละเอียดว่าเปิดสอนอย่างถูกกฎหมายหรือไม่

หากไม่แน่ใจ สอบถามมาได้ที่ สอศ.โดยตรง

 

สําหรับเคสของวิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชนดังกล่าวนั้น เปิดศูนย์การศึกษานอกสถานที่ตั้งหลายแห่ง เมื่อศูนย์ถูกปิดตัวลง ส่งผลให้นักศึกษาเดือดร้อนกว่า 200 คน เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์จึงร้องเรียนสื่อมวลชนทำนองว่าถูกลอยแพ ทางวิทยาลัยต้นสังกัดจึงชี้แจงเหตุผลการปิดกิจการว่าเกิดจากสภาวะขาดทุน จึงไม่สามารถเปิดต่อไปได้

“ปัจจุบันนักเรียน นักศึกษามีจำนวนลดลง ทำให้ทางวิทยาลัยประสบภาวะขาดทุน คณะกรรมการบริหารจึงได้ปรึกษาหารือ และมีความเห็นร่วมกัน ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ จึงมีมติเห็นพ้องต้องกันว่า ให้เลิกกิจการของวิทยาลัยในภาคเรียนที่ 1/2563 เป็นต้นไป และให้งานทะเบียนออกใบ รบ.ให้นักเรียน นักศึกษา ดังนี้

  1. นักเรียน นักศึกษาที่ศึกษาระดับชั้น ปวช.3 และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) 2 ที่ขึ้นทะเบียนในปีการศึกษา 2561 ทางวิทยาลัยจะออกใบ รบ.จบการศึกษาให้ตามปกติ
  2. สำหรับนักเรียนนักศึกษาในระดับ ปวช.1 ปวช.2 และ ปวส.1 ที่ขึ้นทะเบียนนักเรียน นักศึกษาในปีการศึกษา 2562 ทางวิทยาลัยจะออกใบ รบ.ให้ดังนี้ ระดับชั้น ปวช.1 มีผลการเรียน 2 ภาคเรียนต่อ 1 ปีการศึกษา, ระดับชั้น ปวช.2 มีผลการเรียน 4 ภาคเรียนต่อ 2 ปีการศึกษา, ระดับชั้น ปวส.1 มีผลการเรียน 2 ภาคเรียนต่อ 1 ปีการศึกษา

ทั้งนี้ ฝ่ายบริหารวิทยาลัยจะจ่ายเงินชดเชยให้กับนักเรียน นักศึกษาภาคบ่ายที่ยังไม่จบการศึกษา จำนวนเงิน 10,000 บาท จะคืนเงินให้ภายในเดือนพฤษภาคม 2563 และใบ รบ.ของนักเรียน นักศึกษาข้างต้น จะได้รับในวันที่ 30 เมษายน 2563″

 

ทั้งหมดนั่นคือประกาศชี้แจงของวิทยาลัยดังกล่าว พร้อมกันนั้นฝ่ายผู้บริหารวิทยาลัยก็ยืนยันว่าไม่ได้ลอยแพ เพราะได้ปิดประกาศให้นักเรียน นักศึกษาทราบตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563

รวมทั้งได้เชิญนักเรียน นักศึกษาและผู้ปกครองมาประชุมเพื่อชี้แจงรับทราบถึงเหตุผลในการเลิกกิจการ และมาตรการในการเยียวยานักเรียน นักศึกษา

รวมทั้งได้ประสานงานกับวิทยาลัยอื่นๆ ภายในจังหวัดหรือเขตใกล้เคียงเพื่อให้นักเรียน นักศึกษาที่ยังไม่จบสามารถเข้าไปเรียนได้

สำหรับการคืนเงิน 10,000 บาทให้กับนักเรียน นักศึกษาภาคบ่ายที่ยังไม่จบการศึกษาที่ชำระเงินครบนั้น เนื่องจากนักเรียน นักศึกษาได้ศึกษาไปแล้ว 1 ปีการศึกษา ทางวิทยาลัยจะออกใบผลการเรียนให้กับนักเรียน นักศึกษาเพื่อใช้ในการเทียบโอน หรือศึกษาในระดับ ปวส.2 ทางวิทยาลัยจึงได้จ่ายเงินส่วนนี้คืนให้กับนักศึกษา

ซึ่งนักศึกษาส่วนใหญ่ยอมรับ และได้ติดต่อเพื่อสมัครเรียนในวิทยาลัยอื่นๆ ตามที่แจ้ง รวมทั้งรอรับเงินชดเชยตามกำหนดที่ได้ประกาศไว้

ปัญหาการลอบเปิดศูนย์การเรียนนอกที่ตั้ง เป็นปัญหาเรื้อรัง ตราบใดที่หน่วยงานต้นสังกัดไม่สามารถแก้ปัญหาชนิดถอนรากถอนโคนได้ ผลกรรมย่อมตกกับนักเรียน นักศึกษา ฉะนั้น ก่อนสมัครเข้าเรียนสถานศึกษาใด ผู้เรียนควรตรวจสอบกับหน่วยงานต้นสังกัดให้ชัดเจน

        เพราะถ้าเกิดปัญหาขึ้น นอกจากจะต้องเสียเงิน ยุ่งยากกับการฟ้องร้องแล้ว ยังเสียเวลาในการเรียนไปอย่างเปล่าๆ ปลี้ๆ ด้วย