รายงานพิเศษ / Social Distancing ห่างกันสักพัก ยังรักกันเหมือนเดิม ‘บิ๊กตู่-บิ๊กแดง’ กลางสมรภูมิโควิด กลางมรสุมข่าวลือ จับตาบทบาท ‘บิ๊กเล็ก’ เคียงคู่ ‘บิ๊กกบ’

รายงานพิเศษ

 

Social Distancing ห่างกันสักพัก

ยังรักกันเหมือนเดิม

‘บิ๊กตู่-บิ๊กแดง’ กลางสมรภูมิโควิด

กลางมรสุมข่าวลือ

จับตาบทบาท ‘บิ๊กเล็ก’ เคียงคู่ ‘บิ๊กกบ’

หลังประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อ 26 มีนาคม 2563

บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ปรับเปลี่ยนบุคลิกให้ดูเข้ม นิ่ง ขึงขัง ให้สมกับการเป็นผู้นำประเทศในสถานการณ์ฉุกเฉิน

ให้สมกับที่เป็น ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โควิด แต่ตั้งชื่อให้นุ่มนวลลงว่า ศบค. : ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

พล.อ.ประยุทธ์ปรับตัวเอง ตั้งแต่การออกแถลงการณ์ด้วยท่าทีขึงขัง เข้ม สุขุม รวมทั้งเนื้อหาถ้อยคำที่ใช้ เหมาะสมกับสถานการณ์

โดยมีรายงานว่า ทีมงานตึกไทยคู่ฟ้าติดต่อให้อาจารย์ด้านบุคลิกภาพมาช่วยดูแลนายกรัฐมนตรี

ที่ดูแลไปจนถึงการสวมหน้ากากของ พล.อ.ประยุทธ์

ตั้งแต่การที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่สวมหน้ากากในการออกแถลงการณ์

รวมทั้งการที่ พล.อ.ประยุทธ์เปลี่ยนหน้ากาก หลังการใช้หน้ากากผ้าลายไทย ที่แม้จะเข้ากับเสื้อราชปะแตนผ้าไหมก็ตาม แต่ไม่เข้ากับรูปหน้า จึงทำให้หน้ากากห้อยและหลุดบ่อยๆ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องขยับหน้ากากบ่อยๆ

จนได้รับคำเตือนเรื่องการจับขยับหน้ากากจากทีมงาน จนมีการเปลี่ยนมาใช้หน้ากากผ้า และหน้ากากอนามัยหลายแบบ

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังไม่ถนัด ต้องขยับหน้ากากตลอด

“ผมต้องขอโทษที่ผมขยับหน้ากากอีกแล้ว สงสัยจมูกผมไม่เข้ากับหน้ากาก และอาจเพราะพูดเสียงดังไปหน่อย ขอโทษด้วย ผมจะระมัดระวังตัวเองให้มากที่สุด” พล.อ.ประยุทธ์ออกตัว

พล.อ.ประยุทธ์เริ่มออกสื่อเท่าที่จำเป็น ไม่พูดเยอะ พร่ำเพรื่อ จะแถลงข่าวผ่านไลฟ์สด เฟซบุ๊กไทยคู่ฟ้าเฉพาะวันประชุมคณะรัฐมนตรี แม้จะไม่มีนักข่าวมานั่งฟัง เพราะเป็นมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด

และการออกแถลงการณ์ในเรื่องสำคัญๆ เท่านั้น

ประกอบกับเป็นจังหวะที่ใช้มาตรการทิ้งระยะห่าง Social Dostancing ในทำเนียบรัฐบาลด้วย สื่อจึงไม่ได้มารุมสัมภาษณ์หรือยืนดักสัมภาษณ์ได้เช่นแต่ก่อน

ที่เป็นข้อตกลงร่วมระหว่างนักข่าวสายทำเนียบกับสำนักโฆษก ที่งดนักข่าวทำข่าวทุกจุดในทำเนียบ ให้ฟังจากไลฟ์สด และส่งข้อมูลทางไลน์และเพจเท่านั้น

จึงทำให้ พล.อ.ประยุทธ์พบสื่อน้อยลง และพูดน้อยลงไป

เมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังไม่ได้ใช้ยาแรงในทันที ยังไม่เคอร์ฟิวปิดเมืองปิดประเทศ

เพราะเกรงว่าถ้าไม่มีมาตรการรองรับที่ดีพอจะทำให้เกิดปัญหา โดยเฉพาะคนจนหาเช้ากินค่ำที่ไม่มีเงินมากักตุนอาหาร แล้วไทยเราจะกลายเป็นอินเดีย

 

ในการทำงานของ ศบค. พล.อ.ประยุทธ์จึงเน้นที่ข้าราชการประจำ ระดับปลัดกระทรวงเข้ามาคุมแต่ละศูนย์ปฏิบัติการ

โดยมีบิ๊กอั๋น พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นผู้ประสานงาน

ขาดแต่บิ๊กณัฐ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกลาโหม ที่ไม่ใช่เพราะเป็นน้องรักสายตรงบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ที่ต้องคอยช่วยงานพี่ใหญ่

แต่เพราะปลัดกลาโหมมีภารกิจมากอยู่แล้ว อีกทั้งตามโครงสร้างของกระทรวงกลาโหม ปลัดกลาโหมไม่ได้เป็นผู้บังคับบัญชาของ ผบ.เหล่าทัพ

พล.อ.ประยุทธ์จึงได้ตั้งบิ๊กกบ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.ทหารสูงสุด เป็นหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) เพราะเป็นผู้บังคับบัญชาของ ผบ.เหล่าทัพ

ที่ทำให้ พล.อ.พรพิพัฒน์ได้แสดงบทบาทอย่างเต็มที่ในฐานะ ผบ.ศปม. โดยเฉพาะการแถลงข่าวที่ ศบค.ครั้งแรก ด้วยท่าทางขึงขัง จริงจัง ในการเชิญชวนให้ประชาชนอยู่บ้าน ล็อกดาวน์ตัวเองก่อนที่จะถูกบังคับ

พล.อ.พรพิพัฒน์ก็พยายามช่วยหาทางแก้ปัญหา คิดมาตรการต่างๆ เสนอ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่เห็นด้วยนัก

ทั้งนี้ โดยส่วนตัวแล้ว พล.อ.ประยุทธ์จะไม่ได้สนิทสนมกับ พล.อ.พรพิพัฒน์ก็ตาม แต่ก็ต้องมอบหมายให้ตามสายการบังคับบัญชา

แม้ว่า พล.อ.พรพิพัฒน์โดยตำแหน่ง ผบ.ทหารสูงสุดแล้ว ไม่ได้มีกำลังในมือก็ตาม

จนทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และตั้งข้อสังเกตกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ควรจะตั้งบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. มากกว่า เพราะคุมกำลังมากที่สุด กำลังพล ยุทโธปกรณ์ รถลาม้าช้าง

แต่ก็เพราะจะให้ ผบ.ทบ.ไปสั่งการ ผบ.เหล่าทัพอื่นก็คงไม่เหมาะ แม้ ผบ.บางเหล่าทัพจะเป็นเพื่อนร่วมรุ่น ตท.20 แต่บางเหล่าทัพก็เป็นเตรียมทหารรุ่นพี่

กระนั้นก็ยังมีการตั้งข้อสังเกตกันในกองทัพว่า พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.อภิรัชต์ มีความห่างเหินกันกว่าแต่ก่อนหรือไม่

หลังจากที่เกิดเหตุกราดยิงที่โคราช จนมีข่าวลือสะพัดเรื่องการปลด ผบ.ทบ. แล้วจะให้ พล.อ.พรพิพัฒน์ ผบ.ทหารสูงสุด รักษาการแทน ผบ.ทบ.มาแล้ว

แล้วมากรณีโควิด ก็เกิดกรณีที่การจัดแข่งมวยครั้งใหญ่ 6 มีนาคม 2563 ของสนามมวยลุมพินี ของ ทบ. กลายเป็นต้นตอของการแพร่ระบาดไปทั่วประเทศ และทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งพรวด

แต่ก็เรียกได้ว่า ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ที่เกิด 21 มีนาคม และ พล.อ.อภิรัชต์ เกิด 23 มีนาคม แต่ห่างกัน 6 ปีนั้น ดวงผูกพันกัน เพราะเหมือนจะเป็นปีชงเหมือนกัน พล.อ.ประยุทธ์ก็เจอเรื่องหนัก

พล.อ.อภิรัชต์ก็เจอเรื่องหนักๆ ด้วยเช่นกัน

จนมีการเรียกร้องความรับผิดชอบจาก พล.อ.อภิรัชต์ในฐานะประธานบอร์ดสนามมวยลุมพินี เพราะการกีฬาแห่งประเทศไทยส่งหนังสือขอให้งดการแข่งขันมวยก่อนแล้วไม่ปฏิบัติตาม

แต่ พล.อ.อภิรัชต์ก็สั่งย้าย พล.ต.ราชิต อรุณรังษี เจ้ากรมสวัสดิการ ทบ. เข้าประจำ ทบ.ทันที พร้อมตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ ร่วมด้วยนายทหารที่เป็นทีมสนามมวยอีกหลายคน

ในฐานะที่ พล.ต.ราชิตเป็นนายสนามมวยลุมพินีที่ต้องรับผิดชอบ ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งรัฐบาล ด้วยเพราะเรื่องการแข่งขันมวยไม่ต้องขออนุมัติถึง ผบ.ทบ.

“ใครทำก็ต้องรับผิดชอบ” พล.อ.อภิรัชต์ระบุในขณะที่เซ็นคำสั่งย้าย

พล.ต.ราชิต ที่แม้จะเป็นเพื่อน ตท.20 ก็ตาม

ที่ถือเป็นการดับอนาคต พล.ต.ราชิต เพื่อนในรุ่นที่อายุน้อย มีอายุราชการถึงกันยายน 2565 เพราะถือว่าโดน 2 เด้ง ทั้งติดเชื้อโควิด และโดนย้ายด้วย

 

มีข่าวสะพัดว่า จากกรณีสนามมวย ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่พอใจอย่างมาก

และกลายเป็นสาเหตุของความห่างเหินกับ พล.อ.อภิรัชต์

จนร่ำลือกันว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่มาประชุมสภากลาโหมเป็นเวลา 3 ครั้ง 3 เดือนต่อเนื่องกัน

แต่ทว่าก็ได้พบ ผบ.เหล่าทัพ รวมทั้ง พล.อ.อภิรัชต์ที่กลาโหมในวันประชุมวงเล็ก หารือโผโยกย้ายทหารเมื่อต้นมีนาคมเท่านั้น

ประกอบกับที่ พล.อ.ประยุทธ์แต่งตั้ง พล.อ.พรพิพัฒน์ให้คุมฝ่ายความมั่นคง ก็ยิ่งทำให้ข่าวลือสะพัด

แถมทั้งไม่ปรากฏภาพ พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.อภิรัชต์พบปะกันในระยะหลังๆ นี้ด้วย

ที่สำคัญคือ ไม่ปรากฏข่าว พล.อ.อภิรัชต์มาพบ พล.อ.ประยุทธ์ที่ทำเนียบเช่นแต่ก่อน คงมีแต่ พล.อ.พรพิพัฒน์

ไม่แค่นั้น ทันทีที่พ้นการกักตัวเองจากการสัมผัสประชุมร่วมกับเจ้ากรมสวัสดิการ ทบ. ที่ติดเชื้อโควิด

พล.อ.ประยุทธ์ก็เรียกบิ๊กเล็ก พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รอง ผบ.ทบ. มาช่วยงานที่ ศบค.ทำเนียบรัฐบาลทันที

จากเดิมที่มี พล.อ.พรพิพัฒน์ในฐานะหัวหน้า ศปม. ร่วมประชุมเป็นหลัก เพราะเป็นศูนย์ปฏิบัติการที่ 9 จากจำนวน 10 ศูนย์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะประธาน ศบค.ตั้งขึ้น

แต่เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้สนิทสนมกับ พล.อ.พรพิพัฒน์เท่าใดนัก จึงทำงานไม่เข้าขา ไม่รู้แนว ไม่รู้ใจเท่าใดนักนั่นเอง

แต่ด้วยความที่เป็นมือไม้ เป็นมันสมองให้มาตั้งแต่ตอนที่เป็น ผบ.ทบ. จนรัฐประหาร และเป็นนายกฯ ในยุค คสช.มา 5 ปี พล.อ.ประยุทธ์จึงวางใจเรียก พล.อ.ณัฐพลมาช่วยงาน ช่วยคิด

ยิ่งเมื่อประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว ต้องวางแผนในการใช้มาตรการต่างๆ อย่างรอบคอบ รัดกุม และนุ่มนวลที่สุด

ยังไม่ผลีผลามที่จะประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกนอกเคหสถาน หรือปิดเมือง ปิดประเทศ

พล.อ.ประยุทธ์จึงไฟเขียวให้ พล.อ.ณัฐพลช่วยคิดแผนการแก้ปัญหา จนเป็นที่มาของ “แผนพิทักษ์มาตุภูมิ”

 

ในกรณีที่มีการปิดเมือง เคอร์ฟิว คนทั่วไปอาจมีเงินซื้ออาหารกักตุน แต่คนจนหาเช้ากินค่ำจะเดือดร้อนมาก

มีการหารือกันว่า อาจมีการยกเลิกการตั้งด่านจุดตรวจโควิด 409 จุดทั่วประเทศ เพราะไม่ได้ผลอะไรมากนัก และทำให้ตำรวจเสี่ยงติดเชื้อและทำให้รถติด เพราะในที่สุดทุกคนก็ต้องกลับไปอยู่บ้าน ในชุมชน

จึงต้องกลับไปแก้ปัญหาที่ท้องถิ่น ด้วยการให้ตำรวจในท้องที่กลับไปดูแลประชาชนที่ต้องกักตัวในหมู่บ้าน แต่ละตำบล ร่วมกับ จนท.สาธารณสุข โรงพยาบาลตำบล อสม. โดยให้แต่ละคนมีเบี้ยเลี้ยงเป็นรายวันในการดูแลคนในตำบลของตนเอง และเป็นการปลุกสำนึกรักบ้านเกิดของตนเองอีกด้วย

รวมทั้งการใช้กลไก กอ.รมน.ในการตรวจสอบเรื่องหน้ากาก

แต่อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้พูดคุยสั่งการ พล.อ.อภิรัชต์ในเรื่องบทบาทของกองทัพในการสนับสนุนงานของ ศบค.

โดยเฉพาะการตั้งจุดตรวจโควิด 409 จุดทั่วประเทศนั้น พล.อ.ประยุทธ์สั่งการไม่ให้นำทหารออกมา

แม้ว่าเดิม พล.อ.พรพิพัฒน์หัวหน้า ศปม.ต้องการให้มีทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ให้วางแผนการใช้กำลังไว้ 3 ขั้นตอนคือ ในขั้นนี้ใช้ตำรวจ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และฝ่ายปกครอง เป็นหลัก

เพียงแต่ให้ กอ.รมน.ประสานงานเท่านั้น ไม่ต้องนำกำลังออกมาประจำจุดตรวจ

แต่หากสถานการณ์เข้มข้นขึ้น ก็ให้ใช้แต่สารวัตรทหาร (สห.) เท่านั้น

กำลังทหารจะออกมาก็ต่อเมื่อปิดเมือง เคอร์ฟิว แต่จะใช้ทหารจากแต่ละมณฑลทหารบก (มทบ.) ก่อน จำนวน 2 กองร้อย

แต่หากเอาไม่อยู่ กำลังทหารหน่วยรบจึงจะออกมาทำหน้าที่ในนาม “กองร้อยช่วยเหลือประชาชน”

ทั้งนี้เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ต้องการให้มีภาพทหารออกมาเกลื่อนเมือง จะทำให้ภาพลักษณ์เป็นเรื่องร้ายแรง เพราะไม่ใช่สถานการณ์ทางการเมือง จึงไม่ได้ปฏิบัติเหมือนตอน “กองร้อยรักษาความสงบเรียบร้อยฯ” หรือ ร้อย รส.

แม้จะถูกมองว่าไม่วางใจทหาร จึงไม่กล้าให้ทหารออกมา หวั่นการรัฐประหารก็ตาม

 

ในขณะที่ พล.อ.อภิรัชต์ที่ลดบทบาทนอก ทบ. ก็เน้นการทำงานในการดูแล ทบ. มาตรการควบคุมโควิด ทั้งการปิดค่ายทหาร ห้ามออกหลัง 3 ทุ่ม ห้ามทหารออกต่างจังหวัด ให้ทหารหญิงตั้งครรภ์ทำงานที่บ้าน ทหารยืนแถวห่าง 1-2 เมตร ลดจำนวนทหาร หรืองดการตั้งแถวรับนาย และหลักการ Social Distancing ในค่ายทหาร

รวมถึงการที่ พล.อ.อภิรัชต์ออกไปให้กำลังใจทหาร ด้วยการออกไปพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อตามพื้นที่ต่างๆ ใน กทม.ด้วยตนเองในคืนวันเกิด 23 มีนาคมที่ผ่านมา

พร้อมมอบหมายให้บิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผช.ผบ.ทบ. ที่ดูแลสายงานส่งกำลังบำรุง รับผิดชอบในการเตรียมความพร้อม ทั้ง โรงพยาบาลทหาร โรงพยาบาลสนาม อุปกรณ์ทางการแพทย์ของแพทย์ ทบ. และอุปกรณ์สำหรับทหารที่ออกปฏิบัติการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่ต่างๆ ใน กทม. รวมทั้งหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้าให้กำลังพล

โดยมีบิ๊กโต้ง พล.อ.อภินันท์ คำเพราะ หัวหน้าสำนักงาน ผช.ผบ.ทบ. เพื่อนรัก ตท.22 ช่วยงาน พล.อ.ณรงค์พันธ์อย่างเต็มที่ ก่อนที่การโยกย้ายใหญ่ตุลาคมนี้จะได้ขึ้นเป็นเสนาธิการทหารบก เป็นเสธ.คู่ใจบิ๊กบี้ ที่คาดว่าจะได้เป็น ผบ.ทบ.คนต่อไป แทน พล.อ.อภิรัชต์ที่จะเกษียณราชการ 30 กันยายน 2563 นี้แล้ว

ภายใต้การสนับสนุนของ พล.อ.อภิรัชต์ที่กรุยทางไว้ให้ พล.อ.ณรงค์พันธ์มาตั้งแต่ต้น ในฐานะที่เป็นระดับหัวแถวของ “ทหารคอแดง” ฉก.ทม.รอ.904

อีกทั้ง พล.อ.ณรงค์พันธ์เป็นนายทหารพิเศษประจำกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ทม.รอ.) เป็นคนที่ 2 ของ ทบ. ต่อจาก พล.อ.อภิรัชต์ เพราะเมื่อขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ. พล.อ.ณรงค์พันธ์ก็จะต้องทำหน้าที่ ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 แทนด้วย

แต่ก็ทำให้ พล.อ.ณัฐพล น้องรักของ พล.อ.ประยุทธ์ ยิ่งถูกจับตามองว่าจะขยับลงตำแหน่งใด

 

หลังจากที่เป็นรอง ผบ.ทบ.มา 2 ปี ในยุค พล.อ.อภิรัชต์เป็น ผบ.ทบ. ช่วยงานทุกเรื่อง และเป็นเพื่อน ตท.20 ด้วยกัน

แต่ พล.อ.ณัฐพลยังไม่เกษียณ จึงทำให้รอวัดใจ พล.อ.ประยุทธ์ว่าจะให้ พล.อ.ณัฐพลนั่งตำแหน่งใด เพราะถ้าให้เป็นรอง ผบ.ทบ.ต่อเป็นปีที่ 3 ก็คงไม่เหมาะ เพราะ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ว่าที่ ผบ.ทบ.ใหม่ เป็นรุ่นน้อง ตท.22

ท่ามกลางการจับตามอง พล.อ.ประยุทธ์จะดันให้ พล.อ.ณัฐพลข้ามไปเป็น ผบ.ทหารสูงสุด แทน พล.อ.พรพิพัฒน์ที่จะเกษียณกันยายนนี้หรือไม่

แม้ว่า พล.อ.อภิรัชต์จะวางตัวบิ๊กแก้ว พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ เสนาธิการทหาร ตท.21 ไว้แล้วก็ตาม

เพราะอย่าลืมว่าสถานการณ์โควิดจะยาวนานไปตลอดทั้งปี เมื่อ พล.อ.พรพิพัฒน์เกษียณราชการกันยายนนี้ คนที่จะมาเป็น ผบ.ทหารสูงสุดคนใหม่ก็จะต้องมาดูแล ศปม.แทน หากต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปจนถึงปลายปี

    บทบาทและอนาคตของ พล.อ.ณัฐพล สายตรงนายกฯ ในสถานการณ์โควิดนี้ จึงน่าจับตามองยิ่ง