คำ ผกา : ขัดขืนเพื่อความเป็นคน

คำ ผกา

ผลประชามติการรับร่างรัฐธรรมนุญเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา พิสูจน์ความสำเร็จของการปลูกฝังอุดมการณ์รัฐของรัฐไทยที่ก่อกำเนิดขึ้นมาหลังปี 2500 หลังจากที่ฝ่ายคณะราษฎรปีกประชาธิปไตยถูกกำจัดลงอยางราบคาบ

ถือเป็นชัยชนะของฝ่ายต่อต้านการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 หลังจากที่พวกเขาเพลี่ยงพล้ำพ่ายแพ้ต่อเนื่องมานับตั้งแต่วันเปลี่ยนแปลงการปกครองมาจนถึงกบฏบวรเดช

สนามการต่อสู้ของการเมืองไทยจึงเป็นสนามของฝ่ายอนุรักษนิยม (ในความหมายแบบไทย) และฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้เป็นสังคมสมัยใหม่ภายใต้หลักการประชาธิปไตยโดยเริ่มต้นที่หลักคิดว่า มนุษย์นั้นเกิดมาเท่าเทียมกัน

กระบวนการสร้างอุดมการณ์การครอบงำหรืออุดมการณ์อำนาจนำ อีกทั้งการผลิต “วาทกรรม” ครอบงำขึ้นมาในสังคมนั้น ไม่ได้ทำได้โดยง่าย แต่ฝ่ายอนุรักษนิยมไทยสามารถทำได้อย่างหมดจด

เรียกได้ว่าไร้ที่ติในช่วงเวลากว่าห้าทศวรรษหลังขึ้นครองอำนาจ

 

วาทกรรมที่ว่า คือ

– ประเทศไทยไม่พร้อมและไม่เหมาะสำหรับการปกครองระบอบประชิปไตย

– คนไทยขี้เกียจ ไม่มีวินัย โง่ ชักจูงง่าย จึงไม่เหมาะ ไม่พร้อมที่จะปกครองตนเอง

– นักการเมืองคือคนโลภ คนเลวที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์บนความเขลาของประชาชน

– การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คือการชิงสุกก่อนห่าม

– ประชาธิปไตยทำให้บ้านเมืองวุ่นวายเพราะคนโง่ๆ ได้รับเสรีภาพมากเกินไปและใช้เสรีภาพนั้นไปในทางที่ผิด

– ประชาธิปไตยคือการปกครองที่ให้อำนาจกับโจรห้าร้อยเหนือพระหนึ่งรูป (เสียงข้างมาก)

วาทกรรมคู่ขนานที่ถูกปลูกฝังมาคือ

– เมืองไทยเราเต็มไปด้วยสิ่งดีๆ ที่คนไทยมองข้าม เรามีความอุดมสมบูรณ์ เราไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใคร เราไม่มีภัยธรรมชาติ คนไทยเอื้อเฟื้อ แบ่งปัน ใจดี ไม่โลภ ไม่วัตถุนิยม มีปรัชญาพุทธศาสนาที่นำประเทศให้สง่างามจนฝรั่งยังซูฮก

– เมืองไทยมีปรัชญาการเมืองการปกครองที่เป็นของเราเอง เช่น เรามีความเกรงใจ มีความเคารพผู้อาวุโส เราคัดเลือกผู้นำด้วย “ศีลธรรม” ซึ่งสูงส่งกว่าการเลือกจากเสียงข้างมาก (กลับไปอ่านเรื่องโจรห้าร้อยคนกับพระหนึ่งรูป)

– เรามีวัฒนธรรมไทยที่แข็งแกร่ง แต่คนไทยมักไม่เห็นค่า ไปเห่อฝรั่ง อยากจะเลียนแบบฝรั่ง สุดท้ายก็ต้องมาสำนึกว่า การเอาอย่างฝรั่งนั้นไม่ดีกับเราสักนิดเดียว

– เราไม่จำเป็นต้องร่ำรวย หรือมีความเจริญแบบประเทศอื่นๆ เพราะมันเป็นเพียงความเจริญฉาบฉวย ไม่ลึกซึ้งเหมือนสังคมไทยเราที่แม้จะดูยากจน แต่ร่ำรวยทางจิตใจ ดูสิ ญี่ปุ่นมีแต่คนฆ่าตัวตาย ฝรั่งก็กราดยิงกันทุกวัน ดูสังคมไทยสิ สงบ รักกัน เป็นสยามเมืองยิ้ม

– ธรรมาธิปไตยสำคัญกว่าประชาธิปไตย

– เผด็จการโดยธรรมดีกว่าเผด็จการรัฐสภา

– คนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งดีกว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะคนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนั้น ย่อมตั้งใจทำงานเพื่อผลงาน ไม่ได้ทำงานเพื่อหวังคะแนนเสียง

ฯลฯ

 

นี่เป็นเพียงวาทกรรมหลักๆ ยังไม่ได้พูดถึงวาทกรรมย่อย เช่น เรื่องความรัก ความหวงแหนชาติ หวงแหนมรดกของชาติ การทำให้เราเชื่อว่าเราเป็นหนี้บุญคุณแผ่นดิน แทนที่จะเชื่อว่าเราคือเจ้าของแผ่นดิน ไม่รับเทคโนโลยีการใช้ “ภาษา” ที่เข้ามาก่อรูปจิตสำนึกของเรา – พลเมือง – ผ่านคำขวัญ ผ่านวรรณกรรม ผ่านการกล่าวสุนทรพจน์การให้โอวาท บทสัมภาษณ์คนดัง คนดี และอีกสารพัด ที่ในที่สุดแล้วมันค่อยๆ ฝังตัวสถาปนาความจริงชุดหนึ่งฝังไว้ในชีวิตของเรา

วาทกรรมนี้ถูกท้าทายจากการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่องค์กรอิสระถูกออกแบบสกัดความเข้มแข็งของนักการเมืองก็สกัดพลังประชาธิปไตยกินได้เอาไว้ไม่อยู่

จนท้ายที่สุด ต้องเลือกใช้ยาแรงคือการรัฐประหารปี 2549

 

หลังจากนั้น วาทกรรมที่ออกแบบมาเพื่อการดิสเครดิตประชาธิปไตยก็ยิ่งถูกขุดมาใช้อย่างเข้มข้นมากขึ้น บวกกับเชื้อมูลเดิมที่แฝงฝังอยู่ในจิตสำนึกคนไทยส่วนใหญ่อยู่แล้ว อุดมการณ์นี้ก็ยิ่งทรงพลังแผ่ไพศาลทรงอานุภาพอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

แถมยังมีโซเชียลมีเดีย มีไลน์ คอยส่ง คอยตอกย้ำ ให้วาทกรรมนี้ทรงอานุภาพมากขึ้นไป

เสริมทัพด้วยการรับรองความถูกต้องชอบธรรมของวาทกรรมเหล่านี้จากบุคคลชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นปัญญาชนชั้นนำ ข้าราชการระดับสูง ดารานักร้องขวัญใจมหาชน พระขวัญใจคนรุ่นใหม่ ศิลปินหัวก้าวหน้า นักเขียน กวี ฯลฯ

เพลงก็ถูกแต่ง บทละครก็ถูกประพันธ์ ภาพของคนเรียกร้องประชาธิปไตย ถูกทำให้กลายเป็นควาย เป็นทาส เป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง ก่อความวุ่นวาย เป็นพวกก่อการร้าย

ทหารคือผู้คืนความสงบสุขให้กับบ้านเมือง คือผู้เสียสละอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยเพื่อดูแลบ้านเมืองยามวิกฤต อันเป็นงานยากที่ใครก็ไม่อยากทำ แต่ทหารเสียสละเข้ามาทำหน้าที่นี้อย่างน่าชื่นชม

ทุกวาทกรรมของฝ่ายอนุรักษนิยมทำงานสอดรับกันอย่างมีจังหวะและประสบความสำเร็จอย่างไม่น่าเชื่อ

ฉันเชื่อว่าคนที่ออกไปโหวตเยส เชื่อในสิ่งเขาโหวต

คนไทยไม่น้อยกว่าสิบล้านคนผลผลิตของวาทกรรมและเรื่องเล่ากระแสหลักในสังคมไทย และเราต้องยอมรับเสียทีว่า ประชาธิปไตยในฐานะอุดมการณ์นั้น มีอยู่ในหมู่ของเสียงข้างน้อยในสังคมไทย

เราคงต้องยอมรับความจริงกันว่า “คนที่โหยหายการปกครองด้วยเสียงข้างมากในสังคมไทยเป็นคนเสียข้างน้อย”

 

หลายคนอาจจะบอกว่า “อ้าวววว แล้วที่พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งถล่มทลายคืออะไร?” การที่คนเสื้อแดงออกมาชุมนุมทางการเมืองจำนวนมหาศาลคืออะไร?

คนเหล่านี้ไม่ใช่เสียงข้างมากหรอกหรือ?

คำตอบคือ ใช่ เขาคือเสียงข้างมากในการออกเสียงเลือกตั้ง- ซึ่งหมายถึง นโยบายและผลประโยชน์ที่เขาจะได้รับ แต่ไม่ใช่เรื่องเดียวกันกับการโหวตเพื่อ “อุดมการณ์” อย่างในการลงประชามติครั้งนี้

เสียงส่วนใหญ่ที่พาพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ถูกบ่อนเซาะลงทั้งการใช้อำนาจรัฐคุกคามโดยตรง, ทั้งความอ่อนล้าหมดแรงจากการถูกปราบปรามอย่างหนักจนต้องติดคุกติดตะรางโดยไม่มีความมั่นคงทางการเงินในชีวิตเป็นหลังพิงคือชะตากรรมของนักสู้คนยาก

กว่าจะถึงวันที่พวกเขาต้องออกมาโหวตเพื่อุดมการณ์ พวกเขาก็อ่อนล้าเกินไป และมีปัญหาเฉพาะหน้า ปัญหาปากท้องที่ต้องฝ่าฟันเอาชนะก่อนจะก้าวไปสู้เพื่อชัยชนะทางอุดมการณ์

คนเหล่านี้อาจจะโหวตเยส หรืออาจจะไม่ออกไปโหวตเลย แต่ถ้ามีการเลือกตั้ง เขาก็จะไปเลือกพรรคที่ยืนอยู่ข้างผลประโยชน์ของประชาชนเช่นเดิม

สนามของการโหวตประชามติครั้งนี้จึงเป็นสนามของอุดมการณ์

และผลที่ออกมามันก็พิสูจน์ว่าในสนามนี้ ฝ่ายประชาธิปไตยแพ้ แม้จะแพ้อย่างสูสี แต่หากเรายังดูเบา พลังทางอุดมการณ์และพลังทางวาทกรรม

เราจะแพ้อีกและแพ้อีก

 

สนามของอุดมการณ์คือสนามทางวัฒนธรรม

ถ้าสถาปนาวัฒนธรรม บทสนทนา ภาษา พิธีกรรม ร่างกาย เสื้อผ้า แฟชั่น ศิลปะ อาหาร มารยาท วรรณกรรมที่เป็นประชาธิปไตยไม่ได้ ก็ยากจะรื้อถอนวาทกรรมที่ถูกออกแบบมาเพื่อบ่อนเซาะประชาธิปไตยได้

และบอกได้เลยว่ามันเป็นงานที่ทั้งยากและใหญ่ที่จะแงะวัฒนธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยนี้ออกจากสำนึกและวัตรปฏิบัติในชีวิตประจำวันของคนไทย

แค่คิดเรื่องการ “ยกเครื่อง” คำสรรพนามในภาษาไทย ทุกคนก็ถอยกรูดแล้ว (แต่หัวข้อสุดฮิตว่าด้วยภาษาไทยมักจะเป็นเรื่อง “ความถูกต้อง” เช่น เรื่องการเขียนคำว่า “คะ” และ “ค่ะ” เขียน “กะเพรา” หรือ “กระเพรา” นี่เป็นเรื่องใหญ่มาก สำคัญมาก คอขาดบาดตายมาก ทั้งหมดนี้อยู่บนวิธีคิดที่เป็น orthodox หรือ ความคลั่งไคล้ในความเคร่งครัดถูกต้อง แทนที่จะเริ่มตั้งคำถามว่า “เอ๊ะ คนไทยพูดภาษาไทยกันกี่สำเนียงนะ การที่เราผันวรรณยุกต์ของอักษรต่ำไม่ค่อยถูกอาจมาจากสำเนียงการพูดการออกเสียงที่ต่างก็ “เพี้ยน” จากมาตรฐานโดยทั่วหน้ากันหรือเพราอะไร?”)

ฉันไม่ได้บอกว่าเราหมดหวัง จำนวนคนที่โหวตโนก็ไม่ใช่จำนวนน้อยจนเราต้องใจเสีย มิหนำซ้ำยังเป็นจำนวนที่มากพอที่เราจะเคลมได้ว่า ท่ามกลางการ “กล่อมเกลา” ที่เข้มข้นขนาดนี้ ยังมีคนเล็ดลอดจากวาทกรรมครอบงำได้เยอะขนาดนี้เลย

ดังนั้น ภายใต้รัฐธรรมนูญและ body ใหม่ของการเมืองไทย สิ่งที่ฝ่ายประชาธิปไตยต้องทำให้หนักขึ้นคือการสร้างพลัง “ขัดขืน” ต่อการครอบงำให้เข้มแข็งมากขึ้นอีก เพราะใน body ใหม่นี้ ก็จะยิ่งอำพรางการครอบงำให้แนบเนียนกว่าเดิม

การรักษาพลังขัดขืนไว้กับจิตสำนึกและสมองของเราเป็นหนทางเดียวเท่านั้นที่จะพยุงสถานะความเป็นมนุษย์ของเราเอาไว้ได้