ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ศาสนาผีของพระเทพกรรม ที่ระเบียงคด วัดพระแก้วฯ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ที่ระเบียงคดวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่มักจะเรียกกันอย่างคุ้นเคยมากกว่าว่า วัดพระแก้วมรกตนั้น นอกจากจะมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่อง “รามเกียรติ์” แล้ว ก็ยังมีภาพเล่าเรื่องเทพปกรณ์แบบไทยๆ ตอนอื่นๆ แฝงอยู่ในนั้นด้วย

และภาพที่น่าสนใจที่สุดภาพหนึ่งในบรรดาภาพวาดเหล่านี้ก็คือภาพเล่าเรื่องตอน “พระนารายณ์ปราบช้างเอกทันต์”

โดยทั่วไปแล้ว ในเทพปกรณ์ของพวกพราหมณ์จากชมพูทวีปนั้น “เอกทันต์” นั้นคือพระนามหนึ่งของพระพิฆเนศวร ซึ่งก็แน่นอนว่า พระองค์ไม่เคยถูกพระนารายณ์มาปราบหรอกนะครับ ภาพเขียนพระนารายณ์ปราบช้างเอกทันต์จึงเป็นปกรณัมพราหมณ์พื้นเมืองของกรุงเทพฯ ซึ่งอาจจะมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาก็ได้

แต่ไม่น่าจะมีในอินเดีย

สิ่งที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ภาพจิตรกรรมตอนดังกล่าว ที่ระเบียงคด วัดพระแก้วฯ นี้ มีจารึกกำกับอยู่ด้วยว่า มีชาวนา 4 คนเป็นผู้บอกทางให้พระนารายณ์ไปปราบช้างเอกทันต์ แถมยังมีรูปเขียนของชาวนาทั้ง 4 คนนั้นปรากฏอยู่อีกด้วย

 

เรื่องตอนนี้เทียบได้กับในหนังสือนารายณ์สิบปาง ฉบับโรงพิมพ์หลวง ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2417 ตรงกับช่วงต้นของสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ได้กล่าวถึงเรื่องพระนารายณ์เสด็จลงมาปราบช้างเอกทันต์ในช่วงไตรดายุค

โดยเมื่อพระองค์เสด็จลงมายังมนุษย์โลกแล้วก็ได้เที่ยวท่องหาปีศาจช้างร้ายตนนั้น จนกระทั่งมาถึงทุ่งนาแห่งหนึ่งจึงได้พบพี่น้องชาวนาสี่คน พี่ใหญ่ชื่อโภควันดี พี่รองซึ่งเป็นหญิงสาวเพียงคนเดียวในหมู่พี่น้องชื่อนางสิระวัง น้องสามชื่อคชสาตร คนสุดท้องชื่อสาตรกรรม

คนทั้งสี่ได้กลายเป็นผู้นำทางให้กับพระนารายณ์ในการไปปราบปีศาจช้างตนนั้น เมื่อพบช้างเอกทันต์ พระนารายณ์จึงตั้งมณฑลพิธี พร้อมมีเทวโองการอัญเชิญพระคเณศมาประทับข้างขวา พระเทวกรรมมาประทับข้างซ้าย พร้อมให้เทพยดาชื่อพระมหาเมศว (เข้าใจว่าคือองค์เดียวกับพระมหาเมศอ ในตำราภาพพระเทวรูป ที่เขียนขึ้นในยุครัชกาลที่ 4 ซึ่งก็ยังไม่ทราบชัดว่าหมายถึงใครแน่?) เป็นผู้มาต้อนไล่โขลงช้างเถื่อนทั้งหลายที่เป็นบริวารของอสูรช้างเอกทันต์

ส่วนพระนารายณ์ได้บันดาลให้ช้างเอกทันต์ปวดศีรษะดังจะแตกออกมาเจ็ดภาค จากนั้นจึงใช้บาศก์อุรเคนทร์ซัดถูกเท้าขวาของอสูรรูปช้าง แล้วเอาตรีปักลง ณ พื้นธรณี กลายเป็นต้นมะตูม เอาหางบาศก์อุรเคนทร์กระหวัดไว้กับต้นมะตูม จากนั้นเอาพระหัตถ์ขวาทิ้งเอามะลิวัลย์มาอธิษฐานให้เป็นทาม เป็นพับเฌอคล้องคอคชเอกทันต์ไว้กับไม้คูน

จากนั้นพระเป็นเจ้าจึงเสด็จมาหยุดลงใต้ร่มไม้ยอ แล้วตรัสเรียกพี่น้องผู้นำทางทั้งสี่คนมาประสิทธิ์ตำราพฤฒิบาศให้คนทั้งสี่เป็น “ประกรรม” สำหรับปราบหมู่ช้างทั้งหลาย

จากนั้นพระนารายณ์จึงนำช้างเอกทันต์ไปถวายเป็นพาหนะแด่พระอินทร์

ฝ่ายประกรรมทั้งสี่ได้กลับไปสอนสั่งการคชกรรมแก่กุลบุตรทั้งหลาย

จึงปรากฏชื่อเป็นพระโภควันดี ประสิทธิ์ศิษย์ด้วยเหล็กซองเป็นหนึ่ง นางสิระวัง ประสิทธิ์ศิษย์ด้วยบ่วงบาศเป็นสอง พระคชสาตร ประสิทธิ์ศิษย์ด้วยขอเป็นสาม และพระสาตรกรรม ประสิทธิ์ศิษย์ด้วย (เสา) ตะลุง ฉะนัก และปลอกเป็นสี่ หมอเถ้า (คือหมอช้างชั้นผู้ใหญ่, บางแห่งใช้หมอเฒ่า)

ทั้งหลายจึงนับถือเป็นครูประกรรมทั้งสี่ และห้ามหมอช้างทั้งปวงหักกิ่ง ถากเปลือก เด็ดใบ ไม้มะตูม ไม้ยอ และไม้คูน เพราะเหตุที่พระนารายณ์เป็นเจ้าประสิทธิ์ครูประกรรมมาแต่ก่อนนั่นเอง

แต่ก็อย่างที่บอกนะครับว่า ปกรณัมเรื่องนี้ไม่ได้มีในอินเดีย แถมอินเดียเขาก็ไม่ได้นับถือว่า พระนารายณ์ท่านเก่งฉกาจในการคชกรรม หรือคล้องช้างเสียหน่อย

ดังนั้น นิทานเรื่องนี้จึงควรจะเป็นร่องรอยของการผนวกเอาศาสนาดั้งเดิมของสุวรรณภูมิ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของศาสาพราหมณ์จากชมพูทวีปในยุคหลังเสียมากกว่า ส่วนศาสนาผีพื้นเมืองสุวรรณภูมิที่ว่า ก็คือศาสนาที่นับถือ “พระเทพกรรม” เป็นใหญ่นั่นแหละ

 

จารึกฐานพระอิศวร จากจังหวัดกำแพงเพชร (แต่เป็นรูปพระอิศวรสำริด งานช่างสมัยอยุธยาตอนกลาง ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร) ระบุปีสร้างตรงกับ พ.ศ.2054 มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“และช่วยเลิกพระศาสนาพุทธศาสตร์และไสยศาสตร์และพระเทพกรรมมิให้หม่นให้หมอง ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน”

ความตอนนี้กล่าวถึงการ “เลิก” คือ “ทำนุบำรุง” พระศาสนาทั้งสาม คือ 1) พุทธศาสนา 2) พระไสยศาสตร์ คือศาสนาพราหมณ์ และสุดท้ายคือ 3) ศาสนาพระเทพกรรม ซึ่งแยกออกจากศาสนาพราหมณ์ต่างหาก เพราะเป็นความเชื่อพื้นเมืองดั้งเดิมของสุวรรณภูมิ

ในหนังสือโองการแช่งน้ำพระพัทธ์ ซึ่งแต่งขึ้นในสมัยก่อนอยุธยา มีข้อความว่า “พระกรรมบดี ปู่เจ้า” ปรากฏอยู่ในบทแช่งผี คืออัญเชิญผี (ซึ่งหมายถึงอำนาจศักดิ์สิทธิ์ เหนือธรรมชาติ หรือบรรพบุรุษ) โดยปรากฏเป็นชื่อแรกของส่วนนี้ พระกรรมบดี หรือพระเทพกรรม จึงน่าจะเป็นผีผู้ใหญ่พื้นเมืองแต่ดั้งเดิมของสุวรรณภูมิ เพราะถูกเชิญมาเป็นประธานแต่ต้น

คำว่า “กรรมบดี” แปลตรงตัวว่า “ผู้เป็นใหญ่แห่งการกรรม์” โดยคำว่า “การกรรม์” มีปรากฏอยู่ในสมุทโฆษคำฉันท์ ซึ่งเป็นงานวรรณกรรมสมัยอยุธยาตอนกลาง ดังความที่ว่า

“ดูเดิมขวักชอบโดยความ หมายต้นตูมงาม

และควรที่ทำการกรรม์”

ความตอนนี้พรรณนาอยู่ในส่วนของการทำพิธีคล้องช้าง ซึ่งในคำฉันท์เรื่องสมุทโฆษบรรยายความไว้อย่างละเอียด สอดคล้องกับในฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้างของเก่า ครั้งกรุงเก่า ที่เรียกการคล้องช้างว่า “การอุดมกรรม์”

ข้อความอีกตอนหนึ่งใน สมุทโฆษคำฉันท์ เล่มเดิมได้เรียกชื่อของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับการคล้องช้างว่า “พระกรรม์” ดังข้อความว่า

“ด้วยเดชสดุดีพระกรรม์ คชคงโจษจรร

และคับทั้งแคว้นคอกขัง”

“พระกรรม์” ในที่นี้หมายถึง “พระเทพกรรม์” อย่างไม่ต้องสงสัย และคงสรุปได้ว่า พระเทพกรรม์เป็นผีผู้ใหญ่พื้นเมืองสุวรรณภูมิมาก่อนจะรับศาสนาพุทธและพราหมณ์จากชมพูทวีป โดยมีบทบาทสำคัญเหลืออยู่ในพิธีคล้องช้าง

ทำให้ชวนคิดไปได้ว่า คำว่า “พระกรรม์” อาจเคลื่อนหรือเกี่ยวข้องกับคำว่า “ประกำ” หรือ “ปะกำ” ซึ่งเกี่ยวข้องกับพิธีคล้องช้างเช่นกัน เช่นคำว่า “เชือกปะกำ” ที่หมายถึงเชือกคล้องช้าง หรือ “หมอปะกำ” “ครูปะกำ” ที่หมายถึงครูช้าง เป็นต้น

อันที่จริงแล้ว ชาวนาทั้ง 4 คนในภาพจิตรกรรมเรื่อง พระนารายณ์ปราบช้างเอกทันต์ ที่ระเบียงคด วัดพระแก้วฯ นั้น ก็คงจะเป็น “ครู” หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาผีของพระเทพกรรม ที่ถูกพ่อพราหมณ์กลับหัวกลับหางเรื่องราวเอาเสียใหม่ว่า สืบทอดวิชาคชศาสตร์มาจากพระนารายณ์นั่นเอง