มองบ้านมองเมือง /ปริญญา ตรีน้อยใส / จากสาย สู่ไร้สาย และอื่นๆ อีกมากมาย

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส

จากสาย สู่ไร้สาย

และอื่นๆ อีกมากมาย

 

มองบ้านมองเมืองครั้งนี้ ไม่ได้พาไปมองอาคารสิ่งก่อสร้างหรือบ้านเมืองเหมือนทุกครั้ง หากพาไปมองสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนและบ้านเมือง ในช่วงเวลาที่ผ่านมา

ย้อนเวลากลับไปราวต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วันหนึ่งในปี พ.ศ.2419 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา นายอเล็กซานเดอร์ แกรแฮม เบลล์ ได้ส่งเสียงไปตามสาย เรียกให้ผู้ช่วยซึ่งอยู่อีกห้องหนึ่ง ให้มาหาได้

นั่นคือปฐมบทของระบบโทรศัพท์สาย ที่เรารู้จักกันดี

หลังจากเหตุการณ์ในวันนั้น เวลาผ่านไปนานถึงสิบสี่ปี ก่อนที่จะมีการพัฒนาโทรศัพท์สาย ให้บริการสาธารณะได้ มีผู้คนอีกมากมายร่วมกันพัฒนา จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารที่นิยมใช้กันทั่วโลก

ดังจะเห็นจากสายโทรศัพท์ที่พาดผ่านถนนและทางหลวงมากมาย ที่ช่วยให้ผู้คนในแต่ละพื้นที่สื่อสารถึงกันได้

อย่างไรก็ตาม ระบบโทรศัพท์สายนั้น จะเหมาะกับพื้นที่ที่มีประชากรอยู่หนาแน่น และขนาดพื้นที่ไม่ใหญ่

แต่สำหรับประเทศที่มีพื้นที่กว้างขวาง ประชากรนอกจากจำนวนไม่มากแล้ว ยังตั้งบ้านเรือนกระจายทั่วไป อย่างเช่น ฟินแลนด์ หรือลาว และบางพื้นที่ในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

ทำให้การลงทุนวางสายโทรศัพท์เป็นเรื่องไม่คุ้มกับการลงทุน

 

ช่วงเวลาใกล้จะครบรอบร้อยปีของโทรศัพท์สาย ในปี พ.ศ.2516 นายจอห์น เอฟ มิตเชล และนายมาริตัน คูปเปอร์ ในสหรัฐอเมริกา ได้คิดโทรศัพท์ไร้สายขึ้นมา บริษัท โมโตโรล่า ก็ใช้เวลากว่าสิบปี ต่อมาผลิตและจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นแรก ที่หนักถึงสองกิโลกรัม

ต่อมาบริษัท โนเกีย จำกัด ที่อยู่ในประเทศฟินแลนด์ ที่ก่อตั้งมานาน ก่อนที่จะมีระบบโทรศัพท์สายในโลกนี้ เริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เมื่อผลิตและจำหน่ายสมาร์ตโฟน หรือโทรศัพท์ที่มีขนาดเล็ก สามารถพกพาไปไหนได้สะดวก ได้ในปี พ.ศ.2539 จนกลายเป็นผู้ครองตลาดโทรศัพท์ไร้สายหรือโทรศัพท์มือถือในเวลาต่อมา

หนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ยอดเยี่ยมประจำปีของนิตยสารไทม์เมื่อสิบปีที่แล้ว (2550) คือ ไอโฟน ของนายสตีฟ จอบส์ ที่รวมโทรศัพท์ไร้สาย อินเตอร์เน็ต และมัลติมีเดียเข้าด้วยกัน กลายเป็นโทรศัพท์มือถือที่สามารถฟังเพลง ชมภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ ถ่ายรูป ดูแผนที่ เล่นเกม บันทึกเสียง ถ่ายภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว คำนวณ วาดภาพ เขียนหนังสือ ฯลฯ

ด้วยประสิทธิภาพอันเหลือเชื่อของไอโฟน ทำให้ระบบโทรศัพท์สายและไร้สาย กลายเป็นสิ่งพ้นสมัยไปเช่นในปัจจุบัน

 

นอกจากอำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์แล้ว ไอโฟนยังปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต พฤติกรรมและความคิดของมนุษย์

เช่น เกิดมีพิธีกรรมใหม่ในการถ่ายรูปอาหารก่อนรับประทาน แทนการขอบคุณพระผู้เป็นเจ้า

ความนิยมในการเล่าเรื่องส่วนตัวให้ผู้คนอื่นได้ยินได้ฟังในรถไฟฟ้า

การพักผ่อนด้วยเสียง ด้วยภาพ เฉพาะตน ท่ามกลางผู้คนมากมาย

การชมภาพยนตร์ การฟังข่าว และการฟังเพลง ณ ที่ไหนๆ ก็ได้ เป็นต้น

ไอโฟน นอกจากทำลายธุรกิจโทรศัพท์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ และโทรศัพท์มือถือแบบเก่าแล้ว ยังเปลี่ยนรูปแบบรายการวิทยุโทรทัศน์ ที่ส่งผลถึงผู้ที่อยู่วงการสื่อทุกแขนง

ทำให้สิ่งพิมพ์ที่เคยมีบทบาทสำคัญในสังคม ลดบทบาทลงไป

เช่นเดียวกับบริษัทกล้องถ่ายรูป ฟิล์มถ่ายรูป และเครื่องคิดเลขที่ต้องเลิกกิจการ

แม้แต่การเขียน แก้ ส่งต้นฉบับ มองบ้านมองเมืองฉบับนี้ ไม่น่าเชื่อว่า ผู้เขียนดำเนินการทั้งหมดบนเครื่องด้วยไอแพด ที่สนามบินดอนเมือง