21 ล้าน เราไม่ทิ้งกัน / ฉบับประจำวันที่ 3-9 เมษายน 2563

ยอดประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต “โควิด-19” ลงทะเบียนตามมาตรการเยียวยา 5,000 บาท (3 เดือน) ที่เว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม 2563 ที่ทะลุ 21 ล้านคนไปแล้วนั้น
สะท้อนถึงผลกระทบอย่างกว้างขวางของวิกฤตไวรัสโควิด-19
และความคาดหวังของคนเดือดร้อนเหล่านี้ ว่าจะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล
แม้ว่า ในจำนวนที่ลงทะเบียนดังกล่าว
คงมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้มีคุณสมบัติตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 กำหนด
แต่ ยอดก็คงสูงกว่าที่รัฐบาลวางเป้าหมายไว้ ที่ 3 ล้านคนแน่นอน
ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีการออกมาแตะเบรกเพื่อหยุดกระแสร้อนแรงลง
โดยบอกว่า ได้แจ้งให้กระทรวงการคลังไปชี้แจงแล้วว่าส่วนใดที่จะได้รับเงินในส่วนนี้บ้างเพื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายและเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจริงๆ แม้จะมียอดผู้ลงทะเบียนจำนวนกว่า 20 ล้านคน อีกทั้งผู้ที่ลงทะเบียนก็หวังว่าจะได้รับเงินโดยทันที
ขณะที่มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 31 มีนาคม
พล.อ.ประยุทธ์ได้ตำหนิกระทรวงการคลังว่าดำเนินการประชาสัมพันธ์ ให้ข้อมูลแก่ประชาชนถึงมาตรการเยียวยาดังกล่าวแบบขยักขย่อน
ไม่มีชุดข้อมูลชี้แจงที่มีความชัดเจนในครั้งเดียว
ส่งผลให้ประชาชนกังวลและมีข้อสงสัยจำนวนมาก
นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล รวมถึงเกิดกระแสข่าวลือที่ทำให้ประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือความวุ่นวายอย่างที่ปรากฏเป็นข่าว

การที่ พล.อ.ประยุทธ์ออกมาแตะเบรกและติติง
ส่วนหนึ่งก็คงมีความกังวล ด้วยจะต้องใช้เงินมหาศาล
เพราะหากในจำนวน 20 ล้านคน กลั่นกรองแล้วเข้าข่ายได้รับการช่วยเหลือสักครึ่งเดียว คือ 10 ล้านคน
รัฐบาลก็ต้องมีภาระหาเงินมาจ่ายเฉพาะส่วนนี้ถึงเดือนละ 5 หมื่นล้านบาท ถ้าต้องจ่าย 3 เดือน ก็พุ่งขึ้นเป็นถึง 1.5 แสนล้านบาท
นี่ยังไม่รวมถึงจะต้องใช้เงินช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบในส่วนอื่น
ถือเป็นภาระอันหนักอึ้ง
แถมจะต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง
โดยเฉพาะเกณฑ์ใครได้หรือไม่ได้ จะต้องชัดเจน หากมีความคลุมเครือ จะนำไปสู่คำถาม และที่สุดอาจจะก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่ผู้ที่มาลงทะเบียนได้
เพราะกว่า 20 ล้านคน ย่อมมีความคาดหวังที่จะได้รับการช่วยเหลือ
หากไม่ได้ หลักเกณฑ์ต้องชัด ไม่มีการเปรียบเทียบว่า ทำไมคนนั้นได้ คนนี้ไม่ได้
ซึ่งยากอย่างยิ่ง
เพราะรัฐบาลเองก็มีเวลาจำกัดในการพิจารณา คือจะต้องเร่งจ่ายภายใน 1 สัปดาห์ หรือหลังจากนั้นไม่มาก

นี่จึงเป็นงานหนักและเหนื่อยของรัฐบาล
ซึ่งหากรัฐบาลทำได้ดี เชื่อว่า จะได้รับความนิยมอย่างสูง
ตรงกันข้าม หากไร้มาตรฐาน ย่อมจะนำมาสู่กระแสต่อต้านรัฐบาลอย่างหนักเช่นกัน
ถือเป็นความละเอียดอ่อนทางการเมืองอย่างยิ่ง
ล่าสุดคณะรัฐมนตรีก็ได้ปรับเป้าการช่วยเหลือจาก 3 ล้านคนเป็น 9 ล้านคน โดยต้องใช้เงินในเดือนเมษายนนี้ 4.5 หมื่นล้านบาท
ซึ่งไม่ถึงครึ่งของผู้มาลงทะเบียน 21 ล้านคน
ส่วนที่เหลือจะทำอย่างไร
เพราะพวกเขาก็ยังเชื่อมั่น ตามชื่อเว็บ เราไม่ทิ้งกัน
โดยมีวงเล็บ “จริง-จริงนะ” ต่อท้ายไว้เพื่อความมั่นใจอีกที
—————-