จรัญ มะลูลีม : ยุทธศาสตร์สหรัฐฯในตะวันออกกลาง-นโยบายเผชิญหน้ากับอิหร่าน

จรัญ มะลูลีม
FILE PHOTO: An oil worker removes a thread cap from a piece of drill pipe on a drilling lease owned by Elevation Resources near Midland, Texas, U.S., February 12, 2019. REUTERS/Nick Oxford/File Photo

คัสเซม โซไลมานี (5)

แผนการถอนทหารจากอิรักจะทำลายแผนของทรัมป์ในความใฝ่ฝันที่จะรักษาน้ำมันของซีเรียเอาไว้

อิทธิพลทางทหารของสหรัฐในเอเชียตะวันตกหรือตะวันออกกลางในอนาคตอันใกล้นี้จะผูกพันอยู่กับรัฐกษัตริย์ในอ่าวเปอร์เซียเป็นด้านหลัก

ในเวลาเดียวกันกระทรวงกลาโหมของสหรัฐจะส่งทหารเข้ามาในพื้นที่เป็นพิเศษ เพื่อดึงเอาประเทศปากีสถานมาอยู่กับตนด้วย

หลังวันที่โซไลมานีถูกลอบสังหาร รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐ Mike Pompeo เร่งรีบที่จะต่อสายไปยังนายพลกอมัร บาเจวา (Qamar Bajewa) ของปากีสถาน

ฝ่ายบริหารของทรัมป์ยังได้ประกาศยุติการปิดกั้นการฝึกทางทหารและการให้การช่วยเหลือทางการศึกษาแก่กองทัพปากีสถานซึ่งนำมาใช้เมื่อปี 2018

อย่างไรก็ตาม โฆษกกองทัพปากีสถานกล่าวว่า จะไม่ยอมให้ทหารต่างชาติมาปฏิบัติการในแผ่นดินปากีสถาน

 

ในข้อความที่มีไปยังรัฐบาลอินเดีย ทรัมป์ไปไกลถึงกับอ้างว่าโซไลมานีเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการวางแผนก่อความรุนแรงในเมืองต่างๆ เช่น ในนิวเดลีและลอนดอน

ทรัมป์ยังได้บอกกับนเรนทรา โมดี (Narandra Modi) ผู้นำของอินเดียให้สนับสนุนสหรัฐและรัฐบาลโมดีได้ยอมให้กับข้อเรียกร้องของสหรัฐ ที่ไม่ให้อินเดียซื้อน้ำมันจากอิหร่านและปฏิเสธการแลกเปลี่ยนสินค้าที่ทำจากประเทศนี้

ในเวลาเดียวกันอินเดียได้รับการยกเว้นพิเศษจากรัฐบาลของทรัมป์ในการเดินไปข้างหน้าเพื่อพัฒนาท่าเรือชาบาฮัร (Chabahar port) ของอิหร่าน ส่วนอิหร่านนั้นหมดความอดทนกับอินเดียในโครงการดังกล่าวและโดยทั่วไปก็ไม่สบายใจที่รัฐบาลอินเดียยอมสยบให้กับสหรัฐ

อินเดียมิได้ประณามหรือแม้แต่วิพากษ์การลอบสังหารโซไลมานีแม้แต่น้อย แถลงการณ์ที่ออกมาจากกระทรวงต่างประเทศเพียงแต่ “กล่าวถึง” การจากไปของผู้นำทางทหารของอิหร่านเท่านั้น

หากมีสงครามใดๆ เกิดขึ้นในตะวันออกกลางก็ย่อมเป็นความยับเยินสำหรับเศรษฐกิจของอินเดีย ซึ่งตกอยู่ภายใต้การบีบคั้นของสหรัฐ

รัฐมนตรีต่างประเทศของอินเดีย ชัยชังกัร (S Jaishankar) อยู่ที่อิหร่านเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2019 เพื่อการพบปะกันว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการระหว่างประเทศของทั้งสองประเทศ

เมื่อรัฐบาลของทรัมป์แซงก์ชั่นอิหร่านและยกเลิกข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 โครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านก็จะไม่มีข้อจำกัดในการผลิต รวมทั้งการเพิ่มยูเรเนียม

ทั้งนี้ อิหร่านมิได้ห้ามการตรวจสอบโครงการนิวเคลียร์จากหน่วยงานพลังงานปรมาณูสากลที่จะเข้ามาอิหร่านแต่อย่างใด

รัฐมนตรีต่างประเทศของอินเดียกล่าวว่า อิหร่านให้ความร่วมมือกับผู้เข้ามาตรวจโครงการนิวเคลียร์จากหน่วยงานพลังงานปรมณูสากล (IAEA) เสมอ

สำหรับผู้ลงนามในข้อตกลงนิวเคลียร์อย่างรัสเซีย จีน เยอรมนีและฝรั่งเศส ต่างก็ประณามการกระทำแต่ฝ่ายเดียวของฝ่ายบริหารของทรัมป์

ข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านที่สหรัฐถอนตัวออกไปเป็นการกระทำของทรัมป์โดยที่ทรัมป์มิได้หารือแต่อย่างใดกับกลุ่มประเทศ Nato

 

การตอบโต้ของอิหร่าน

อย่างที่ผู้นำอิหร่านได้สัญญาเอาไว้ว่าฐานทัพสองแห่งของสหรัฐในอิรักจะถูกโจมตีหลังจากครบสามวันของการไว้อาลัยการจากไปของโซไลมานีอย่างเป็นทางการ

กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติจึงส่งขีปนาวุธนำวิถีที่ยิงจากพื้นสู่พื้นไปยังฐานทัพอัยน์ อัล-อะสัด (Ein al Asad) และฐานทัพที่เออร์บิล (Erbil) รัฐมนตรีกลาโหมของอิหร่าน อมีร หะตานี (Amir Hatani) ได้บันทึกไว้ว่านี้เป็นครั้งแรกนับจากสงครามโลกครั้งที่ II ที่ฐานทัพของสหรัฐตกเป็นเป้าการโจมตี

อะยาตุลลอฮ์ อะลี คอเมเนอี “สัญญาว่าการท้าทายโดยตรงต่อสหรัฐจะเกิดขึ้น” นายกรัฐมนตรีอิรักกล่าวว่าเขาได้รับการเตือนเกี่ยวกับการโจมตีที่จะเกิดขึ้นจากอิหร่านเพื่อให้ทหารของอิรักออกห่างจากการสูญเสีย

มีรายงานว่าประเทศฟินแลนด์ก็ได้รับรายงานถึงการจะมีการโจมตีจากอิหร่านเพื่อมิให้ทหารของตนเป็นเป้า ดังนั้น จึงไม่เป็นสิ่งที่แปลกใจว่าไม่มีความสูญเสียในส่วนของทหารอิรักและทหารต่างชาติอื่นๆ

ผู้นำทางทหารของอิหร่านกล่าวว่า การโจมตีเป็นเพียงแค่การเริ่มต้นเท่านั้นเพื่อตอบสนองการสังหารโซไลมานีและพวกเขาจะใช้ “ปฏิบัติการเบื้องต้นเพื่อแก้แค้นให้กับผู้พลีชีพอย่างมุฮันดิส” ด้วยเช่นกัน

 

สหรัฐ-อิหร่าน ความสงบที่ไม่ยั่งยืนในตะวันออกกลาง

หลังจากการโต้กลับของอิหร่านไปยังฐานทัพของสหรัฐแบบจำกัดขอบเขตผ่านไปก็เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าทั้งสองประเทศหลีกเลี่ยงปฏิบัติการที่จะมีการใช้ความรุนแรง แม้ว่าจะมีการปลุกเร้าโวหารว่าด้วยการเผชิญหน้ากันมากขึ้นก็ตาม

อันเนื่องมาจากการสังหารโซไลมานี และการตอบโต้ทางทหารโดยอิหร่านในเวลาสามวันต่อมาจะเกิดขึ้น แต่ก็ดูเหมือนว่าสิ่งต่างๆ ดูเงียบงันไป เชื่อกันโดยทั่วไปว่าเป็นการเงียบลงก่อนจะเกิดพายุใหญ่ขึ้นตามมาในพื้นที่แถบตะวันออกกลาง

หลังจากขีปนาวุธจำนวนหนึ่งพุ่งตรงเข้าถล่มฐานทัพสองแห่งในอิรักแล้ว ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ตอบโต้ทันทีด้วยการทวีตว่าอิหร่านได้ “ตัดสินใจที่จะผ่อนคลาย” และไม่มีทหารของสหรัฐได้รับบาดเจ็บแต่ประการใด

แต่ในเวลาต่อมาไม่นานนักฝ่ายกลาโหมของสหรัฐยอมรับว่าทหารของสหรัฐ 11 คน กำลังตกอยู่ภายใต้ภาวะสมองอักเสบ และต้องนำส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลในคูเวตและเยอรมนี

การบาดเจ็บดังกล่าวเกิดขึ้นทั้งๆ ที่ได้มีการเตือนว่าอิหร่านจะใช้ขีปนาวุธโจมตีอย่างแน่นอน เป็นความจริงที่ว่าอิหร่านต้องการให้ทหารสหรัฐบาดเจ็บน้อยที่สุด ในขณะที่ได้ส่งสารไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องว่าอิหร่านประสบความสำเร็จในการถล่มค่ายทหารของสหรัฐในภูมิภาคตะวันออกกลาง

ภาพจากดาวเทียมแสดงให้เห็นว่าขีปนาวุธของอิหร่านมีความแม่นยำในการเข้าถล่มฐานทัพอัยน์ อัล อสัด (Ain al Asad) การถล่มดังกล่าวทำให้ตึก 7 หลังในบริเวณดังกล่าวพังทลายลง โดยสามตึกเป็นที่เก็บรักษาเครื่องบินที่ใช้ในการรบ

ทั้งนี้ ขีปนาวุธของอิหร่านได้เข้าโจมตีเฉพาะในส่วนที่มีทหารสหรัฐอยู่อาศัยเท่านั้น แต่ไม่ได้แตะต้องส่วนที่ทหารอิรักอาศัยอยู่แต่อย่างใด

ทหารสหรัฐซึ่งอยู่ที่ฐานทัพแห่งนี้ 1,500 คน ได้เข้าไปหลบในที่ที่พวกเขาคิดว่าปลอดภัยหลังจากพวกเขาได้รับรู้สองชั่วโมงก่อนที่จะมีการโจมตี

นี่เป็นสารที่มีไปยังทรัมป์ว่าสงครามกับอิหร่านมิได้เป็นเรื่องที่จะทำได้ตามที่สหรัฐต้องการแต่อย่างใด

ในเวลาเดียวกัน ทรัมป์ก็ยังอยู่กับความพยายามที่จะหาข้ออ้างที่ว่าโซไลมานีมีความตั้งใจที่จะโจมตีต่อเป้าหมายในพื้นที่ “อย่างแน่นอน”

ข้ออ้างหลังสุดของเขาที่เขาเห็นว่าการสังหารโซไลมานีเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วก็คือโซไลมานีมี “อดีตที่น่าหวาดหวั่น” โดยเขาได้กล่าวเพิ่มเติมว่าโซไลมานีได้กล่าวหลายสิ่งหลายอย่างที่ดูหมิ่นตัวเขาและฝ่ายบริหารของเขา

แต่เวลานี้ทรัมป์กลับกล่าวว่า “มันไม่ใช่สิ่งสำคัญอะไรที่โซไลมานีจะมาข่มขู่ว่าจะก่อความรุนแรง หรือไม่ก่อความรุนแรงอย่างแน่นอน แต่อย่างใด”

รัฐมนตรีกลาโหม Mark Esper กล่าวว่า เขาไม่เคยเห็นหลักฐานใดๆ ที่ว่า “จะมีการโจมตีที่ต้องเกิดขึ้น” เพื่อจะเล็งไปที่เป้าหมายของสหรัฐในภูมิภาค

“ทรัมป์สังหารโซไลมานีก็เพราะว่าเขาสามารถทำได้” เพราะเขาต้องการจะยืนยันว่าทหารสหรัฐมีอำนาจเหนือกว่า และเพราะเขาคิดว่าถ้ามันจะช่วยเขาให้ได้รับเลือกตั้งอีกครั้ง Sonali Kolhatkar นักต่อต้านสงครามของสหรัฐกล่าว

รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐ Mike Pompeo ก้าวไปสู่ก้าวที่มีอันตรายอีกหนึ่งก้าว โดยกล่าวว่า การสังหารโซไลมานีเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่กว้างไกลเพื่อหยุดยั้งศัตรูของสหรัฐอย่างเช่นจีนและรัสเซีย

ในการเป็นศัตรูของท่านนั้น ท่านจะต้องเข้าใจด้วยว่าไม่ใช่ท่านเท่านั้นที่จะก่อให้เกิดความเสียหายได้ Pompeo คุยโวในคำปราศรัยของเขาที่ Hoover Institute ที่มหาวิทยาลัย Stanford

Pompeo นั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้วางแผนอยู่เบื้องหลังนโยบายการทำลายล้างศัตรูของทรัมป์