เกษียร เตชะพีระ | THE CONSTITUTIONAL REFERENDUM DID NOT TAKE PLACE! (2)

เกษียร เตชะพีระ

THE CONSTITUTIONAL REFERENDUM DID NOT TAKE PLACE! (2)

(เรียบเรียงขยายความจากคำอภิปรายของผมในการเสวนาวิทยานิพนธ์เรื่อง “การเมืองวัฒนธรรมของการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559” ของคุณหทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์, 14 กุมภาพันธ์ ศกนี้)

แบบอย่างการศึกษาวิจัยทางการเมืองวัฒนธรรม:

ในฐานะที่ผมเผอิญเป็นผู้บุกเบิกงานศึกษาวิจัยทางการเมืองวัฒนธรรมและบัญญัติศัพท์คำว่า “การเมืองวัฒนธรรม” (cultural politics), “ปัญญาชนสาธารณะ” (public intellectuals), “อำนาจนำ” (hegemony) ในภาษาวิชาการไทยมาตั้งแต่ราวพุทธทศวรรษที่ 2530

ผมเห็นว่าวิทยานิพนธ์ของคุณหทัยกาญจน์เป็นแบบอย่างของการศึกษาวิจัยทางการเมืองวัฒนธรรมเกี่ยวกับปรากฏการณ์การเมืองที่ใหญ่ระดับชาติ (การลงประชามติรัฐธรรมนูญทั่วประเทศ), ที่เพิ่งจบสิ้นไปสดๆ ร้อนๆ เพียงปีเดียว (พ.ศ.2559 เขียนเสร็จส่งปีการศึกษา พ.ศ.2560), ว่าจะทำได้อย่างไรและต้องทำอะไรบ้าง?

อนึ่ง เมื่อเทียบวิทยานิพนธ์ของคุณหทัยกาญจน์กับงานศึกษาวิจัยเชิงการเมืองวัฒนธรรมก่อนหน้านี้ เช่น ดุษฎีนิพนธ์ของผม (“Commodifying Marxism : The Formation of Modern Thai Radical Culture, 1927-1958,” ค.ศ.1992) วิทยานิพนธ์ปริญญาโทของอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ (“ก่อนจะถึง 14 ตุลาฯ : ความเคลื่อนไหวทางการเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร”, พ.ศ.2545), หรือดุษฎีนิพนธ์ของอาจารย์กนกรัตน์ เลิศชูสกุล (The Rise of the Octobrists : Power and Conflict among Former Left Wing Student Activists in Contemporary Thai Politics, ค.ศ.2012) เป็นต้น ก็จะเห็นได้ว่างานเหล่านี้ศึกษาเหตุการณ์ที่จบไปเป็นเวลานานพอควรแล้ว ข้อมูลค่อนข้างนิ่งและแน่นอนแล้ว และจับกลุ่ม/ขบวนการเฉพาะเจาะจง มากกว่าจะค้นคว้าวิจัยปรากฏการณ์การเมืองใหญ่ๆ ระดับทั่วสังคมโดยตัวมันเองและในระยะเวลากระชั้นชิดร่วมสมัยอย่างเช่นที่คุณหทัยกาญจน์ทำ

คุณหทัยกาญจน์ศึกษาวิจัยเช่นนั้นได้ก่อนอื่นเพราะมีกรอบแนวคิดทฤษฎี (ซึ่งประยุกต์จาก Antonio Gramsci มาใช้) กว้างขวางครอบคลุม พลิกแพลงยืดหยุ่นพอรองรับปรากฏการณ์ที่ศึกษาได้

นอกจากนี้ ผู้วิจัยมีความเข้าใจพอควรเกี่ยวกับพื้นฐานมรดกวาทกรรมการเมืองไทยในแง่ไวยากรณ์ (grammar) และสนามพลัง (หรือ invisible barrier หมายถึงเขตไม่ไทยหรือเขตห้ามเข้าทางความคิด) เช่น ราชาชาตินิยม, ประชาธิปไตยแบบไทย, อุดมการณ์ชาติพันธุ์ไทย, ความเป็นไทย ฯลฯ

ผู้วิจัยยังได้ปรับประยุกต์ใช้อย่างสร้างสรรค์เหมาะสมซึ่งทักษะนักข่าวมืออาชีพในการเกาะติดข่าวสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์, ลงภาคสนาม, มีตาคมหูไวในการจับนัยการเมืองของคำ ความหมาย ความคิดหรือวาทกรรมที่ตรงเป้าเข้าเรื่อง, เกาะติดกลุ่มปัญญาชนนักเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้อง, ประมวลสังเคราะห์สรุปสังเขปข้อมูลข้อค้นพบอย่างกระชับเป็นระบบระเบียบ นำเสนอได้อย่างชัดเจนมีพลัง ใช้กราฟฟิกช่วยให้เรื่อง/ข้อมูล/ข้อถกเถียงที่ยืดยาวเยิ่นเย้อซับซ้อน กลายเป็นกระชับชัดเจนเข้าใจง่าย

ประการสุดท้าย ผู้วิจัยนำเสนองานของตนด้วยสำนวนภาษาเรียบง่ายไหลลื่น และบรรจงตั้งใจให้มีศิลปะจังหวะขั้นตอน คิดถึงวิทยานิพนธ์ทั้งฉบับเป็นหนังสือเล่มอย่างมีปึกแผ่นเอกภาพ มีการเกริ่นนำ (เพียงเบาะๆ ขั้นต้น ทิ้งปมประเด็นให้คลุมเครือชวนสงสัยติดตาม), ประมวลระดมข้อมูลข้อเท็จจริงมาเรียบเรียงแสดงอย่างหนักแน่นชัดเจน ชักจูงผู้อ่านให้เดินตามไปได้อย่างไว้เนื้อเชื่อใจ, เก็บข้อสรุปไว้คลี่เปิดออกมาตอนท้ายเกือบจะที่สุดอย่างทรงพลัง

สรุปคือมีทั้งปริศนาน่าฉงน, ความระทึกใจชวนติดตาม และบทสรุปจบรวบยอดอันตื่นตาตื่นใจ (puzzle, suspense, striking climactic conclusion)

สรุปข้อค้นพบหลักของวิทยานิพนธ์ :

1)[Constitution -> text = context of fear]

อิทธิพลของ “บริบทที่ถูกสร้างขึ้น” โดยรัฐบาล คสช. มีน้ำหนักสำคัญและอิทธิพลเหนือกว่า “เนื้อหา/ตัวบทร่างรัฐธรรมนูญ” เอง ต่อผู้ไปลงคะแนนเสียงประชามติส่วนใหญ่ซึ่งเบื่อหน่ายล้าเปลี้ยกับความขัดแย้งวุ่นวายทางการเมืองต่อเนื่องนับทศวรรษ ไม่อยากกลับไปสู่วังวนเก่าๆ

ร่างรัฐธรรมนูญถูกคัดสรร, ตัดต่อ, ตัดตอน, ลดทอน (selected, edited, truncated, reduced) ผ่านการเลือกสื่อสารเป็นจุดๆ (selective communication) ไม่ใช่ทั้งหมด และเน้นเฉพาะจุดที่ต้องตรงกับฉันทาคติของกลุ่ม เป้าหมายผู้ไปลงคะแนนเสียงกลุ่มต่างๆ โดยละเว้น ไม่พูดถึงจุดอื่นๆ อีกมาก

บริบทที่รัฐบาล คสช. สร้างขึ้นคือบริบทแห่งความกลัว (context of fear) ที่สำคัญได้แก่กลัวอดีต+กลัวทักษิณ ประกอบกับวาทกรรมว่าด้วยรัฐธรรมนูญ 5 ชุด (รัฐธรรมนูญประชาชนเป็นใหญ่, ปราบโกง, ปฏิรูป, ดูแลตั้งแต่ท้องแม่ยันแก่เฒ่า, ขื่อแปของบ้านเมือง)

ทำให้เนื้อหาตัวบทหรือ text ของร่างรัฐธรรมนูญถูกกลบกลืนหายไปในช่วงรณรงค์ประชามติ

2)[Referendum -> turned into its others = not a referendum]

การลงประชามติกลายเป็นอื่นไป หาใช่การลงประชามติปกติธรรมดาตามมาตรฐานสากลอย่างที่ควรจะเป็นไม่

ก่อนอื่นมันเป็นการลงประชามติที่ถูกควบคุม และจัดขึ้นในทิศทางที่เกื้อกูลสนับสนุนให้รัฐบาล คสช. ได้อำนาจนำ (controlled & pro-hegemonic referendum)

การลงประชามติจึงกลายเป็นอื่น แทนที่จะเป็นพื้นที่ประชาธิปไตยทางตรง (direct democracy) ให้ประชาชนมีส่วนร่วมพิจารณาตัดสินใจว่าจะรับ/ไม่รับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ แต่ดันกลับกลายเป็น :

– สนามวัดกระแสนิยมนายกฯ ประยุทธ์

– เวทีสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลทหาร

– กระบวนการสร้างความสงบมั่นคงให้ชาติ

สรุปคือ ประชามติไม่ใช่ประชามติ, การลงประชามติกลับกลายเป็น “มติลงประชา” คือนำเอามติที่กำหนดจากอำนาจเบื้องบนสำเร็จรูปเรียบร้อยแล้วมาครอบลงสู่ประชาชนเบื้องล่างอีกที

ดังที่คุณสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้งผู้ร่วมจัดการลงประชามติเอง สรุปไว้ในคำให้สัมภาษณ์แก่ผู้วิจัยว่า :

“มันไม่ใช่ประชามติ แต่มันคือการสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐธรรมนูญทั้งหมด ถามวันนี้หลายคนก็ยังงงๆ กับรัฐธรรมนูญ แม้กระทั่งผมเองอยู่ในแวดวงก็ยังรู้สึกว่า… มีประโยคนี้ด้วยหรือ มีข้อความนี้ด้วยหรือ มีวรรคนี้ด้วยหรือ มันมีสิ่งใหม่ๆ ซ่อนอยู่ในรัฐธรรมนูญปรากฏออกมาได้ตลอดเวลา” (อ้างจาก น.272 ในวิทยานิพนธ์)

ประเมินค่าวิทยานิพนธ์ทางการเมืองและวิชาการ :

จากการวิเคราะห์สรุปแบบอย่างแนวทางการศึกษาวิจัยและเนื้อหาข้อค้นพบโดยสังเขปของวิทยานิพนธ์เล่มนี้ ผมประเมินว่ามันควรจัดเป็นเอกสารต้องอ่าน (required reading) สำหรับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรจัดตั้งขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ทุกคน (ดูภาพด้านบน)

เพราะมีแต่ทบทวนประสบการณ์และเก็บรับบทเรียนของกระบวนการลงประชามติอันเป็นที่มาแห่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างละเอียด รอบคอบ รัดกุม เจาะลึก และเป็นระบบ โดยมองทะลุถึงที่สุดเท่านั้น จึงจะเข้าใจเหตุผลว่าทำไมถึงอาจกล่าวได้ว่า The constitutional referendum did not take place!, สามารถประเมินค่าการลงประชามติรัฐธรรมนูญ (ที่เอาเข้าจริงไม่ได้เกิดขึ้นนั้น) อย่างถูกต้อง แม่นยำ และสมจริง

เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุปัจจัยที่ขัดขวางบั่นทอนบ่อนเบียนมัน

และหาทางจัดการให้มีการลงประชามติรัฐธรรมนูญที่แท้จริงได้ในอนาคต

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)