Phantoms and Aliens The Invisible Other การสำรวจประสบการณ์พลัดถิ่นฐานผ่านศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปชมนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจ เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่ให้อ่านกันตามเคย นิทรรศการนั้นมีชื่อว่า Phantoms and Aliens The Invisible Other (Chapter 1) : Lost Motherland (Without Lightness)

โดยอำพรรณี สะเตาะ ศิลปินหญิงชาวปัตตานี ผู้โยกย้ายมาอาศัยและทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ เธอใช้ผลงานศิลปะสำรวจประเด็นเกี่ยวกับความแตกต่างทางชาติพันธุ์และความเชื่อของมนุษย์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ผ่านสื่อแตกต่างหลากหลาย ทั้งภาพถ่าย, วิดีโอ, ศิลปะจัดวาง และศิลปะแสดงสด

เธอมักจะนำเสนอภาพของตัวเองในชุดบุรกา (เครื่องแต่งกายของผู้หญิงชาวมุสลิมที่เป็นชุดคลุมปิดศีรษะอย่างมิดชิด เปิดไว้แต่ดวงตา) ทั้งในงานภาพถ่ายและศิลปะแสดงสด เพื่อตั้งคำถามต่อความเป็นผู้หญิง ขนบธรรมเนียมและองค์ประกอบทางวัฒนธรรมและความเชื่อ

ที่บางครั้งถูกมองว่าเป็นสิ่งที่สร้างความสับสนและความวิตกกังวลในสังคม

ผลงานชุดนี้เธอขยับขยายขอบเขตของประเด็นในการทำงานให้กว้างไกลขึ้นไปอีก ด้วยการนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับผู้อพยพลี้ภัยที่ต้องพลัดพรากจากถิ่นฐานบ้านเกิดของตัวเอง

“Lost Motherland” เป็นชุดผลงานของอำพรรณีที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับบ้านเกิดเมืองนอน การพลัดถิ่น และการอพยพลี้ภัย ที่ศิลปินสร้างขึ้นจากความตระหนักรู้และประสบการณ์ในการดำรงอยู่ของตัวเธอเอง

ผลงานชุดนี้ประกอบด้วยงานสามชิ้นอย่าง ภาพถ่ายเหล่าผู้หญิงสวมชุดบุรกาสีขาว ที่ยืนสวดภาวนาบนผืนทรายบนเกาะซึ่งเป็นตัวแทนของการอพยพพลัดถิ่น

ภาพถ่ายและวิดีโอจัดวางที่นำเสนอภาพ “นาวา” หรือเรือ อันเป็นสัญลักษณ์ของการเดินทางไปสู่สถานที่ที่ไม่รู้จัก เปิดเผยให้เห็นถึงบาดแผลและความทุกข์ทรมานของผู้คนที่ต้องหลบลี้หนีออกจากบ้านเกิดเมืองนอน

และชิ้นท้ายสุด ซึ่งเป็นผลงานในนิทรรศการนี้ที่มีชื่อว่า “Without Lightness” วิดีโอจัดวางนำเสนอภาพของเรือประมงกำลังล่องออกไปสู่ท้องทะเลอันมืดมิดของชายฝั่งปัตตานี หนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย

อำพรรณีถ่ายทำผลงานวิดีโอชุดนี้บนเรือประมงที่ออกหาปลาเป็นประจำยามค่ำคืนในพื้นที่ชายฝั่งทะเลปัตตานี

เรือแบบเดียวกับที่ผู้อพยพชาวโรฮิงญาใช้เป็นพาหนะในการลี้ภัยสงครามจากประเทศพม่า

ภาพการล่องเรือเข้า-ออกชายฝั่งปัตตานีในผลงานของเธอสะท้อนให้เห็นถึงสภาวะที่ผู้ลี้ภัยถูกผลักไสให้เดินทางออกจากประเทศของตนเพื่อแสวงหาสถานที่พักพิงที่ปลอดภัยกว่า

ผลงานของเธอเป็นเหมือนสารแสดงการต่อต้านสงครามที่มนุษย์กระทำต่อกัน และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของศักดิ์ศรี ความเป็นตัวตน และคุณค่าที่แท้จริงของชีวิตมนุษย์

อําพรรณีกล่าวถึงที่มาที่ไปของผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ของเธอว่า

“ผลงานนี้เป็นงานต่อเนื่องจากงานที่ทำเกี่ยวกับประเด็นผู้อพยพโรฮิงญาและซีเรีย โดยครั้งนี้เรานำเสนอผ่านตัวเอง ที่อาจจะเรียกว่าเป็นผู้อพยพไม่ต่างกัน

เพราะว่าตัวเรามาจากปัตตานี ที่ซึ่งรัฐเองก็ไม่ได้มองว่าเราเป็นคนไทยเหมือนๆ กัน และพยายามผลักไสพวกเราออกไป

งานชิ้นนี้ก็เลยถ่ายทำในพื้นที่บ้านเกิดของเราที่ปัตตานี

ด้วยความที่เราอยากจะรับรู้และลองเอาตัวเองไปอยู่ในสภาวะหรือสถานการณ์ที่ผู้อพยพล่องเรือลี้ภัยออกจากประเทศบ้านเกิดของเขา

เราก็เลยลองเอาตัวเองเข้าไปนั่งอยู่ในเรือที่ล่องออกทะเล แล้วเอากล้องผูกติดกับด้านหน้าและด้านหลังของเรือหาปลาในขนาดที่ใกล้เคียงกับเรือของผู้อพยพชาวโรฮิงญา เราอยากเห็นมุมมองของการล่องเรือลี้ภัยเพื่อไปตายเอาดาบหน้า

ในขณะเดียวกัน อีกด้านก็เป็นมุมมองของคนที่ถูกผลักไสออกจากฝั่ง ไกลจากบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง โดยทำออกมาเป็นวิดีโอจัดวางสองจอ ที่ฉายภาพของมุมมองจากสองทิศทาง

เพราะผู้อพยพส่วนใหญ่มักจะออกเดินทางในช่วงเวลากลางคืน เราคิดว่าเขาน่าจะได้เห็นแสงไฟจากฝั่งจากบ้านที่ห่างไกลออกไปเรื่อยๆ เราก็เลยเลือกถ่ายทำในเวลากลางคืน เพื่อจะลองรับรู้และสัมผัสกับความรู้สึกเหล่านี้”

“ที่เราใช้ตัวเองทดลองอยู่ในสภาวะแบบเดียวกับผู้อพยพ เพราะเรามองว่าผู้อพยพเหล่านี้เป็นมนุษย์เช่นเดียวกับเรา

และในความเป็นจริงสถานภาพของเราเองก็ไม่ต่างอะไรกับพวกเขา เพราะการที่เราเป็นคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส เราก็ถูกมองว่าเป็นอื่น ไม่ใช่คนไทย

อย่างเวลาเราขับรถที่มีทะเบียนปัตตานีมากรุงเทพฯ ในช่วงที่สังคมมีความหวาดกลัวอิสลามมากๆ เราก็จะรู้สึกถึงการถูกผลักไส ไม่เป็นที่ต้อนรับตลอดเวลา

ไม่ต่างอะไรกับที่หลายคนรู้สึกเกลียดชังและต่อต้านผู้อพยพชาวโรฮิงญา

สิ่งเหล่านี้ทำให้เรารู้สึกว่า ไม่ว่าคนอื่นจะมองเขาอย่างไรก็ตาม แต่เราก็ยังมองเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ของพวกเขาเหล่านั้น

เราไม่ได้คิดว่างานของเราจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เพราะมันคงเป็นเรื่องยาก แต่ในฐานะที่เราเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เราอยากแสดงให้เห็นว่าคนเหล่านั้นเป็นมนุษย์เหมือนกันกับเรา

มนุษย์ที่เผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากและต้องการความช่วยเหลือ เราเลยอยากทำงานที่แสดงถึงสภาวะที่ผู้อพยพเหล่านั้นกำลังประสบอยู่ ทั้งการถูกผลักไสไปสู่หนทางข้างหน้าที่ดูมืดมิด ไร้ซึ่งความหวัง”

อําพรรณียังถ่ายทำผลงานวิดีโอชุดนี้บนเรือประมงที่ออกทะเลในช่วงเวลาคลื่นลมแรง เพื่อให้ได้ภาพที่โยกเยกโคลงเคลง ทำให้เกิดความรู้สึกวิงเวียนเหมือนเมาเรือจริงๆ เวลาชมงาน เพื่อให้ผู้ชมอย่างเราได้สัมผัสกับประสบการณ์เดียวกันกับที่ผู้อพยพเหล่านั้นต้องเผชิญ แม้เพียงน้อยนิดก็ยังดี

ผลงาน Lost Motherland (Without Lightness) เป็นหนึ่งในโครงการศิลปะ Phantoms and Aliens The Invisible Other นิทรรศการต่อเนื่อง คัดสรรโดยภัณฑารักษ์ ลอรีดาน่า พาซซินี่-พาราคเซียนี่ (Loredana Pazzini-Paracciani) ที่มุ่งสำรวจมิติที่ถูกมองข้ามของสังคม ในการกีดกันผลักไสให้เป็นอื่นที่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์ด้วยกันเอง โดยภัณฑารักษ์กล่าวถึงโครงการครั้งนี้ว่า

“โครงการนี้เป็นนิทรรศการต่อเนื่องสามชุด เกี่ยวกับการอพยพลี้ภัย การโยกย้ายถิ่นฐาน และความเป็นคนชายขอบของสังคม เราต้องการสำรวจประเด็นเหล่านี้ในสถานที่ เมือง ประเทศ และสังคมที่แตกต่างกัน ผ่านศิลปินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนแปดคน ในแปดสถานที่แสดงงาน โดยนำเสนอผ่านผลงานภาพถ่ายสารคดี ประวัติศาสตร์บอกเล่าปากต่อปาก ภาพวาด ผลงานสื่อผสม และวิดีโอจัดวางของศิลปินหลากชาติ ทั้งไทย, ลาว, เวียดนาม, พม่า และกัมพูชา ที่นำเสนอเรื่องราวของผู้คนและสังคมที่ถูกผลักให้กลายเป็นคนชายขอบ จากเชื้อชาติ เพศสภาพ ศาสนา หรือความแตกต่างทางวัฒนธรรม ถึงแม้ผู้คนเหล่านี้จะถูกทำให้เป็นเหมือนภูตผี ถูกหมางเมินมองข้ามจากสังคม แต่พวกเขาก็ยังมีตัวตนอยู่”

นอกจากนิทรรศการนี้จะจัดในหอศิลป์ Richard Koh Projects กรุงเทพฯ แล้ว ยังมีการจัดแสดงในหอศิลป์ Richard Koh Fine Art ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และในประเทศสิงคโปร์อีกด้วย

นิทรรศการ Phantoms and Aliens The Invisible Other (Chapter 1) : Lost Motherland (Without Lightness) โดยอำพรรณี สะเตาะ จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 28 มีนาคม 2020 ที่หอศิลป์ Richard Koh Projects ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ซอย 22

สอบถามรายละเอียดได้ที่ [email protected]