ชายแดนภาคใต้ ทั้ง Covid-19 และสถานการณ์

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

19 มีนาคม 2563 ที่ศูนย์การเรียนรู้บ้านควนดิน อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ผู้เขียนได้ประชุมร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งรัฐ และประชาสังคมชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าผู้นำศาสนา การศึกษา เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สื่อมวลชนและอื่นๆ รวม 8 กลุ่มงานประชาสังคม

มีความเห็นร่วมกันว่า ชายแดนภาคใต้กำลังเจอวิกฤตที่หนักกว่าที่อื่นของประเทศไทย

เพราะทั้ง Covid-19 และความรุนแรงชายแดนภาคใต้ ซึ่งล่าสุดคือการระเบิดที่หน้าศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และการปิดล้อมขบวนการเห็นต่างจากรัฐที่บ้านตาเซะ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา

ผู้เขียนในฐานะกรรมการสภาประชาสังคมชายแดนภาคใต้ ได้ทำข้อเสนอร่วมสององค์กรเบื้องต้นระหว่างสภาประชาสังคมชายแดนใต้ และสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) ขอรัฐไทย และ BRN หยุดการใช้อาวุธ ในช่วงสภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ด้วยเหตุผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19 โดยเฉพาะสถิติจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ก้าวกระโดดและทำท่าว่าจะไม่หยุดด้วยปัจจัยการกลับบ้านของไทยในมาเลเซียกว่า 5 หมื่นคน และจากกรุงเทพมหานครเกือบ 1 หมื่นคน

นายรักชาติ สุวรรณ์ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ กล่าวว่า “ช่วงเวลาแบบนี้เป็นช่วงเวลาที่ประชาชนมีความเดือดร้อน มีความทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเกิดเหตุร้ายรายวัน ระเบิด หรือยิง แล้วยังต้องคอยระวังในเรื่องของการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส Covid-19 ทำให้ประชาชนในพื้นที่ยิ่งมีความทุกข์ ความเดือดร้อนเพิ่มทวีขึ้น

สภาประชาสังคมชายแดนใต้จึงอยากให้ทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายของรัฐบาลไทย หรือหน่วยงานความมั่นคง และกลุ่มติดอาวุธ BRN หยุดปฏิบัติการทางทหาร จนกว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 และกลับคืนสู่ภาวะปกติ”

ถ้าดูเหตุผลแถลงการณ์ สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) ให้เหตุผลว่า

จากสถิติจำนวนผู้ติดเชื้อ จำนวนผู้เสียชีวิตและจำนวนผู้ที่อยู่ในการควบคุมอาการของแพทย์ ประกอบกับภาวการณ์ที่หน้ากากอนามัยขาดตลาดและรัฐไม่สามารถจัดหามาให้ประชาชนได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งที่มีขายตามร้านค้าทั่วไปรัฐก็ไม่สามารถควบคุมราคาให้อยู่ในระดับที่ประชาชนไม่รู้สึกว่าเป็นการกดขี่ขูดรีดประชาชนในสถานการณ์ที่ประชาชนกำลังตกทุกข์ได้ยาก ตลอดจนหากนับรวมระดับอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในสังคม ณ เวลานี้ เชื่อว่าคงไม่มีพื้นที่ไหนที่ผู้คนทุกเพศทุกวัย ทุกกลุ่มอาชีพ หรือทุกระดับชนชั้นในสังคมที่ไม่ได้ถูกรบกวนสุขภาพจิตจนกลายเป็นคนที่ต้องวิตกกังวลอยู่ตลอดเวลา

โดยสรุปคือ สังคมโลกและสังคมไทยโดยเฉพาะสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งประชาชนต้องเสี่ยงกับความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินอันเป็นผลจากการต่อสู้กันด้วยอาวุธจากขบวนการ BRN กับกองทัพไทยมาตลอดระยะเวลา 16 ปี ล้วนแล้วกำลังเผชิญวิกฤตของโรคระบาดไวรัสโควิด-19 ที่หนักหนาสาหัสมาก เพื่อการปกปักรักษาชีวิตตนเองของผู้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จากโรคระบาดไวรัสโควิด-19 เป็นไปอย่างแข็งขันและรวมพลังสานสามัคคีจากทุกภาคส่วนในสังคมอย่างมีสติและมีสมาธิ ข้ามมิติความต่างในทุกๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ความคิดทางการเมือง และอื่นๆ เหลือเพียงแต่ความรักในความเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่สุด ที่จะต้องไม่มีปัญหาอื่นมาทับซ้อนในภาวการณ์ที่ต้องเผชิญหน้ากับการเอาชีวิตรอดด้วยตัวเองของประชาชน และรัฐเองก็มีข้อจำกัดในการให้ความช่วยเหลือประชาชนในมาตรฐานที่ประชาชนอุ่นใจและไว้วางใจได้

ในขณะเดียวกันเหตุระเบิดบริเวณหน้าศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้

แม้ไม่ทำให้ใครเสียชีวิต แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อมวลชนบางคนได้รับบาดเจ็บ ซึ่งวันนั้นทุกภาคส่วนรวมทั้งผู้นำศาสนากำลังประชุมการแก้ปัญหาประชาชนเรื่อง Covid-19

ปฏิบัติการครั้งนี้สื่อมวลชนหลายสำนักมีทัศนะว่าเป็นของขบวนการ BRN กลุ่มติดอาวุธในประเทศไทย

คำถามของผู้เขียน ซึ่งสอดคล้องกับคำถามจากกลุ่มสตรีและข้อสงสัยจากเวทีคณะประสานงานการพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้ (สล.3) (19/3/63) ว่า ระเบิด ศอ.บต. : แล้วมันเป็นผลงาน BRN จริงไหม? หรือ BRN ในพื้นที่กับโต๊ะเจรจาไม่ลงรอยกัน? หรือ BRN ที่มาเลเซียคุมกองกำลังไม่ได้? เพราะเมื่อก่อนหน้านี้กลุ่มบีอาร์เอ็น (ที่พูดคุยที่มาเลเซีย) ได้ไปลงนามกับกลุ่มสิทธิมนุษยชนของสวิตเซอร์แลนด์คือกลุ่ม Geneva Call เพื่อแสดงเจตจำนงปกป้องเด็กจากความขัดแย้งที่ถึงขั้นใช้อาวุธเมื่อ 15 มกราคม 2563 อันถือว่าเป็นการลงนามฝ่ายเดียว

สาระสำคัญคือจะไม่ใช้เด็กในการสู้รบและถ้ามีการกักขังเด็กก็จะไม่มีการลงโทษด้วยการประหารและจะปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยความเคารพในความเป็นมนุษย์

นักสังเกตการณ์มองว่าการลงนามของบีอาร์เอ็นดังกล่าวเป็นการปรับตัวเพื่อยกระดับกลุ่มในทางการเมือง ในขณะที่เข้าร่วมกับการพูดคุยสันติภาพกับรัฐบาลไทย มิใช่หรือ? (อ่านเพิ่มเติมใน https://www.isranews.org/…/south-n…/scoop/86534-harrass.html)

เมื่อเป็นเช่นนั้นทั้งสองฝ่าย รัฐไทยและ BRN สมควรอย่างยิ่งจะหยุดยิง หยุดปฏิบัติการทางทหาร ไปจนกว่าวิกฤติ Covid-19 จะสิ้น รวมทั้งเดือนรอมฎอนทั้งเดือน (อีก 30 วันจะถึง)

สําหรับการขับเคลื่อนการป้องกันโรคระบาด Covid-19 ที่ดีที่สุดจากคำแนะนำของแพทย์และประสบการณ์การแพร่ระบาดของโรคนี้คือ “ชวนคนไทยร่วมเข้าสู่ Social distance” การเพิ่มระยะห่างในการเข้าสังคม หลังการระบาดของไวรัสโคโรนา (Covid-19) ลดการเลี่ยงกิจกรรมทางสังคม ยกเลิกการประชุม ร่วมงานบุญ งานแต่ง ปฏิบัติศาสนกิจจำนวนคนหมู่มากโดยทำงานที่บ้าน ปฏิบัติศาสนกิจที่บ้าน

หมออารีฟีน ไทยประธาน แพทย์ที่ได้รับการยอมรับจากคนมุสลิมมากที่สุด (จากท่านผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน นักการเมือง และภาครัฐ) เปิดเผยซึ่งใจความพอสรุปได้ว่า

“ทฤษฎีพูดง่าย แต่ในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยากมากในวิถีชีวิตคนมุสลิมชายแดนใต้ที่เขาปฏิบัติมาจากรุ่นสู่รุ่น มีงานปฏิบัติศาสนกิจรวมวันละห้าเวลา มีงานบุญ งานแต่ง และงานอื่นๆ ที่ปฏิเสธมารยาททางสังคมยาก แม้สำนักจุฬาราชมนตรีจะออกมาตรการทางด้านศาสนามากมายจากเบาไปหาหนัก”

เพื่อนผู้เขียนเล่าให้ฟังว่า “พอนึกออกมั้ยครับ เมื่อ 2-3 วันก่อน มีข่าวคนติดเชื้อโควิดจากสนามมวยเดียวกัน จนถึงวันนี้ล่อไป 60 กว่าคน (ไม่นับรวมจากไปงานการชุมนุมนักเผยแผ่ศาสนาที่มาเลเซีย 132 ที่ติดไปแล้ว 10 กว่าคน) เป็นคนที่รู้จักกันบ้าง ไม่รู้จักกันบ้าง แทบไม่มีใครรู้ว่าติดจากใคร จากนี้ไปก็พร้อมจะแพร่เชื้อกันต่อไป จังหวัดโน้น จังหวัดนี้ เป็นลูกโซ่ต่อเนื่อง แต่เริ่มยากที่จะหาว่า ต้นและปลายเป็นที่ใด

ลองคิดดู หากในพื้นที่ที่ประกาศไปแล้วว่ามีผู้ป่วยโควิด-19 มัสยิดไหนก็ตามที่ยังมีการละหมาดรวมอยู่ ต่อให้มีมาตรการดีแค่ไหน ก็อย่ามั่นใจว่าจะหลีกเลี่ยงได้ เพราะกว่าที่เราจะสร้างนิสัยเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ ไม่ใช่สิ่งง่ายๆ เลย (พูดง่ายทำอยาก) เช่น

– สลามไม่จับมือ อันนี้ผมก็ลองทำดูแล้ว พบว่าล้มเหลวอยู่หลายที บางทีผู้ใหญ่ยื่นมือมา ไม่ไปจับมือรับสลาม ก็จะหาว่าไม่ให้เกียรติ จะอธิบายก็เดี๋ยวยาว บางทีผมก็เผลอไปยื่นมือให้ก่อนอีก มาตอนหลังเริ่มมีคนทำมากขึ้น ก็เผลอน้อยลง แต่ก็ยังหลุดอยู่บ้าง ต้องไปล้างมือในที่ลับตาด้วย ขืนรีบไปล้างมือให้เขาเห็น ก็เข้าใจผิดอีก หาว่าเรารังเกียจ ว่าไปโน่น ดังนั้น อันนี้ไม่ง่าย

– ยืนห่างกัน 1-2 เมตร อันนี้พอได้ เห็นมัสยิดต่างประเทศเริ่มใช้มาตรการนี้กัน แต่ตอนก่อนละหมาด หรือหลังละหมาด เจอคนคุ้นเคย เดี๋ยวเพื่อน เดี๋ยวพี่ อ้าว ยืนห่างตรูไป 2 เมตร จะให้คุยยังไงดีครับ ก็ต้องเข้าไปคุยใกล้ๆ และถึงแม้ว่าจะพยายามห่างกันแค่ไหน ตอนเข้าออกมัสยิด ถอดรองเท้า วางรองเท้า ใส่รองเท้า ยังไงก็มีโอกาสมาใกล้กันจนได้อยู่ดี

– แกะเอาพรมออก เอาผ้าปูละหมาดมาเอง ทำความสะอาดพื้นทุกเวลาละหมาด อันนี้ก็พอได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเอาพรมมาเอง การแพร่เชื้อก็จะ random ไปสู่คนอื่นที่ไม่ได้ป้องกัน หรือป้องกันน้อยที่สุด

– เราไม่รู้ว่าใครเป็นใครที่ติดเชื้อ อย่างในสนามมวย คนที่ป่วยมีไข้ มีน้ำมูก คงไม่มีใครไปสนามมวย ประเภทดูไป ไอไป เชียร์ไป สั่งน้ำมูกไปนั้นไม่น่ามี แต่ผู้ที่ไปสนามมวยอาจจะมีอาการน้อยๆ ที่คิดว่าตัวเองไม่น่าเป็นอะไรมาก ก็เลยไปสนามมวย ผลคือแพร่เชื้อไปหลายสิบ ลองคิดดูครับ ว่าสถานการณ์อย่างนี้จะมีโอกาสเกิดขึ้นในมัสยิดได้มั้ย ถ้าใจไม่อคติเกินไป ทุกคนคงไม่ปฏิเสธ

ที่ชายแดนภาคใต้ไม่นับรวมงานแต่งงาน งานศพ งานบุญ 7 วัน ผู้เขียนโดนด้วยตนเองเมื่อต้องปฏิเสธ (โกหกว่ามีธุระ) ไปละหมาดศพมัสยิดหน้าบ้านของแม่โต๊ะครูที่มีคนร่วมกว่า 500 คน

ดังนั้น เพื่อความปลอดโรค ช่วงนี้ก็ขอให้ช่วยกันใช้มาตรการความปลอดภัยขั้นสูงสุด พร้อมทั้งขอพรต่อพระเจ้าเพื่อสังคมโดยส่วนรวม มาละหมาดที่บ้านกันเถิดครับ จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น และเชื่อเลยว่า การไปละหมาดที่มัสยิดจะเกิดขึ้นอีกในเวลาไม่นาน การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเสมอ เดี๋ยวมันก็ผ่านไป ซึ่งการปฏิบัติศาสนกิจในยามวิกฤตนั้นศาสนาอนุมัติ

สิ่งสำคัญ “ความท้าทายใหญ่” คือเราจะสื่อให้สังคมมุสลิมเราอย่างไร เมื่อต้องปฏิวัติวิถีชีวิตปัจจุบันประจำวัน งานบุญ งานแต่ง งานตาย ละหมาดที่มัสยิดและอื่นๆ ร่วมรณรงค์ทำเท่าที่ท่านแต่ละคนมีความสามารถ ขอพรและตะวักกัล (มอบต่อพระองค์)