ธงทอง จันทรางศุ | “ลุง” แห่งชาติ กับ “หลาน” จากมิลาน

ธงทอง จันทรางศุ

ในตำแหน่งหน้าที่ลุงแห่งชาติ

ผมมีหลานชายหนึ่งคนผู้เป็นลูกของน้องชายคนเดียวของผม เรียนหนังสืออยู่ที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี

บ้านของเราจึงต้องติดตามข่าวเรื่องโรคระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วทั้งโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อิตาลีเป็นพิเศษ

เมื่อประมาณหนึ่งเดือนเศษมาแล้ว เวลานั้นสถานการณ์ที่เมืองมิลานเริ่มไม่เข้าที ด้วยการตัดสินใจที่เด็ดขาดฉับไวของหลานชาย ทันทีที่เขาสอบปลายภาคเสร็จ เขาก็ได้อพยพตัวเองไปอาศัยเพื่อนคนไทยอยู่ที่ชานกรุงปารีส เพื่อจะสดับตรับฟังข่าวจากทางโรงเรียนและทางการอิตาลีจะว่าอย่างไรต่อไป

หลานของผมอยู่ที่ปารีสสองสัปดาห์ โดยระมัดระวังไม่ไปเดินเพ่นพ่านที่ไหนโดยไม่จำเป็น

ระหว่างนั้นก็มีการโทรศัพท์ติดต่อกับพ่อ-แม่ของเขาและผมที่อยู่ทางเมืองไทยสม่ำเสมอ เพื่อร่วมกันประเมินสถานการณ์ว่าจะทำอย่างไรต่อไปดี

ระหว่างนั้นเองสถานการณ์ในประเทศอิตาลีน่าเป็นห่วงเพิ่มขึ้น

ในที่สุดที่ประชุมสุดยอดของครอบครัวด้วยระบบทางไกลข้ามประเทศก็ได้ร่วมกันตัดสินใจให้หลานชายเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในโอกาสแรกที่ทำได้

ยามที่โลกปรวนแปรเช่นนี้มาอยู่ด้วยกันที่บ้านเราดีกว่าครับ

เราตกลงร่วมกันว่า หลานของผมจะไม่ย้อนกลับไปที่เมืองมิลานเพื่อไปเก็บข้าวเก็บของ ทุกอย่างปล่อยทิ้งไว้ที่นั่นในห้องซึ่งปิดประตูล็อกไว้มั่นคงแล้ว

การเดินทางใช้วิธีซื้อตั๋วเครื่องบินใบใหม่จากการบินไทยบินตรงจากปารีสมาสุวรรณภูมิเลยทีเดียว ไม่ต้องแวะเวียนไปเปลี่ยนเครื่องที่ไหนเพื่อลดความเสี่ยงจากการไปพบกับปัญหาที่อาจเกิดมีขึ้นได้ในที่ต่างๆ ระหว่างเส้นทาง

ก่อนหลานเดินทางกลับมาถึงเมืองไทย ผมได้โทรศัพท์คุยกับเพื่อนรุ่นน้องที่เป็นหมอและทำงานอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอรับข้อมูลคำแนะนำว่า การกักตัวอยู่ในบ้านจะต้องทำอย่างไร

และเราก็เตรียมความพร้อมสำหรับเดินทางกลับบ้านของหลานชายคราวนี้เป็นพิเศษ

ตัวอย่างเช่น บ้านของน้องชายน้องสะใภ้และหลานที่ว่านี้อยู่ในซอยเดียวกันแต่ตรงกันข้ามบ้านของผมชั่วเวลาเดินเพียงแค่ 2 นาที

ห้องนอนของหลานเป็นห้องนอนที่เป็นสัดส่วนต่างหาก อยู่บนชั้นสี่ของบ้านที่เป็นทาวน์เฮาส์

เราได้จัดการให้มีการทำความสะอาดห้องนอนและห้องน้ำส่วนนั้นอย่างพิถีพิถัน

เพื่อนบ้านที่คุ้นเคยกันให้ยืมตู้เย็นขนาดเล็กหนึ่งตู้มาจัดวางไว้ในห้องนอนของหลานชาย เพื่อใช้ใส่เสบียงอาหารที่จำเป็นต้องเก็บรักษาในตู้เย็น

น้องชายของผมไปเตรียมซื้อจานชามช้อนส้อมที่เป็นของใช้ครั้งเดียวแล้วไม่ต้องเก็บล้างมาให้พอกับจำนวนที่ต้องการ

แสวงหาหน้ากากอนามัยซึ่งเป็นของหายากเย็นในยุคสมัยนี้มาให้พอใช้

รวมทั้งจัดซื้อถุงดำขนาดต่างๆ มาให้เพียงพอกับการใช้งาน

ถึงแม้ว่าหลานของเราจะเดินทางออกจากมิลานมากกว่าสองสัปดาห์แล้ว โดยมาพำนักอยู่ที่ปารีส มีการระมัดระวังสุขภาพเป็นอย่างดี และไม่มีอาการอะไรที่เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าจะเกี่ยวข้องกับโรคภัยใครเจ็บคราวนี้ แต่นั่นแหละกันไว้ดีกว่าแก้ มิใช่หรือ

หลานของผมเดินทางออกจากกรุงปารีสเมื่อวันจันทร์ที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา เวลาบ่าย กำหนดเวลาบินมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิเวลา 6 โมงเช้าของวันอังคารที่ 10 มีนาคม ตั้งแต่ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น

พ่อกับแม่ของเขาขับรถคนละหนึ่งคันออกจากบ้านไปสุวรรณภูมิ ทั้งสองคนใส่หน้ากากเต็มยศรวมทั้งเตรียมหน้ากากไปให้หลานชายที่มาจากปารีสด้วย การพบหน้ากันที่สุวรรณภูมิใช้เวลาสั้นเพียงเพื่อส่งมอบหน้ากากให้หลานชายได้ใช้ แล้วเดินไปด้วยกันจนถึงที่จอดรถ ซึ่งรถทั้งสองคันจอดเคียงคู่กันอยู่

จากนั้นพ่อกับแม่ก็ขับรถหนึ่งคันกลับบ้าน ส่วนอีกหนึ่งคันหลานชายขับรถกลับบ้านเอง

รถนั้นมาถึงบ้านแล้วก็จอดทิ้งไว้กลางแดด เชื้อโรคที่ไหนก็ตามโดนแดดเมืองไทยเข้าสี่ซ้าห้าวันก็ไม่เหลือซากครับ

ก่อนหน้านั้นเพียงแค่วันเดียวผมเห็นคลิปใน Facebook เป็นเหตุการณ์ที่พ่อ-แม่ไปรับลูกกลับจากต่างประเทศ แต่เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงมากหน่อย รถของครอบครัวนั้นเป็นรถกระบะ ลูกที่กลับมาจากต่างประเทศนั่งอยู่ที่กระบะท้ายรถ ส่วนพ่อ-แม่นั่งอยู่ในเก๋งรถ ว่าแล้วก็พากันไปยังบ้านสวนซึ่งเตรียมไว้เป็นที่พักของผู้เป็นลูกปล่อยให้ลูกอยู่โดดเดี่ยวที่นั่นตามกำหนด 14 วัน ส่วนพ่อ-แม่ก็กลับมาอยู่บ้านของตัวเอง

ผมเข้าใจว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะบ้านของคุณพ่อคุณแม่และห้องพักของคุณลูกไม่อาจจัดทำเป็นสัดส่วนแยกจากกันได้ จึงต้องใช้วิธีแยกกันอยู่เลยทีเดียว

ส่วนบ้านของเรานั้นพอจัดการในเรื่องนี้ได้ ยังไม่ต้องเนรเทศหลานชายไปอยู่ต่างจังหวัด

เมื่อมาถึงบ้านแล้ว หลานชายก็ขึ้นไปอยู่บน “หอคอยงาช้าง” ที่เตรียมไว้ อาหารการกินแต่ละมื้อก็เป็นเรื่องที่น้องสะใภ้ของผมเป็นผู้อำนวยการ

บางมื้อผมก็ซื้อของแล้วส่งไปสมทบ เช่น วันก่อนผมไปกินอาหารนอกบ้าน ร้านนั้นมีเมนูโปรดของหลานชายหลายรายการ ผมก็โทรศัพท์ไปถามเสียหน่อยว่าอยากกินอะไรไหมจะได้ซื้อเข้าไปฝาก

เจ้าตัวแจ้งความจำนงว่าอยากกินตับห่านทอดกระเทียมพริกไทย

แบบนี้ก็จัดไปสิครับ

กิจวัตรแต่ละวันของหลานชาย ซึ่งผมได้รับทราบจากการโทรศัพท์พูดกับเจ้าตัวเองบ้าง หรือพูดกับแม่ของเขาบ้าง คือการดูโทรทัศน์และโทรศัพท์พูดคุยกับคนโน้นคนนี้

โทรทัศน์นั้นเวลานี้ก็ได้พึ่ง Netflix เป็นหลัก เพราะมีรายการให้ดูหลากหลายไม่ซ้ำซาก

ที่สำคัญคือ หลังจากมาอยู่ที่เมืองไทยได้สามสี่วัน โรงเรียนของเขาที่อิตาลีก็เปิดเรียน โดยใช้ระบบการเรียนการสอนทางไกล

เพราะฉะนั้น ทุกวันตอน 6 โมงเย็นถึงสามทุ่ม และเวลาอื่นเพิ่มเติมตามแต่จะนัดหมาย หลานของผมก็จะนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในห้องนอนเพื่อเรียนหนังสือ

และถ้ามีการบ้านที่ต้องทำ ก็ส่งกันทางอีเมลเป็นที่สะดวกและปลอดภัยด้วยกันของทั้งสองฝ่าย

ในภาวะวิกฤตอย่างนี้ ทุกคนต้องมีความรับผิดชอบต่อตัวเองและส่วนรวม

แต่ละวันมีข้อมูลใหม่ที่เราต้องเรียนรู้และปรับตัวอยู่เสมอ

อย่าว่าแต่หลานชายเลยครับ ในสถานการณ์พิเศษแบบนี้ ลุงแห่งชาติแบบผมก็ต้องปรับตัวเหมือนกัน ถึงแม้ว่าผมเกษียณอายุแล้วแต่ก็ยังสอนหนังสือเป็นอาจารย์พิเศษอยู่ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อาจารย์ผู้ประสานงานจากทางคณะแจ้งมาว่ามหาวิทยาลัยมีนโยบายให้จัดการเรียนการสอนทางไกลแทนที่จะมาพบหน้ากันตามปกติ

ดังนั้น ผมจึงวางกำหนดไว้ในใจว่า อีกสองวันผมต้องเข้าไปที่คณะเพื่อไปตกลงรายละเอียดทั้งหลาย สำหรับวิชาบรรยายที่ต้องใช้เวลา 2 ชั่วโมงยาวเหยียดเป็นปกติ แบบผมจะต้องทำอย่างไรบ้าง

ยังไม่ทันถึงวันที่ว่า ข่าวว่ามีอาจารย์ของคณะนิติศาสตร์ติดเชื้อโรคดังกล่าวก็ปรากฏขึ้น คณะต้องปิดที่ทำการมีกำหนด 14 วัน ระหว่างนี้ไม่มีการเรียนการสอนอะไรทั้งนั้น เดี๋ยวพ้นจากสิบสี่วันไปแล้วค่อยมาว่ากันใหม่

เรียกว่าปรับตัวรายวันรายชั่วโมงกันเลยทีเดียว

นึกดูในแง่ดี เหตุการณ์คราวนี้ก็ทำให้เราตั้งอยู่ในความไม่ประมาทมากขึ้น และได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติมขึ้นด้วย

อย่างน้อยสำหรับตัวผมเองก็คือเรื่องของการเรียนการสอนทางไกล และแม้ในวันข้างหน้าโรคระบาดพ้นไปจากความวิตกของเราแล้ว พัฒนาการเรื่องการเรียนการสอนทางไกลก็อาจจะได้ใช้เป็นประโยชน์ในระยะยาวต่อไปได้

โรคระบาดมารอบนี้ โลกทั้งใบและเมืองไทยของเราเปลี่ยนแปลงไปมากจริงๆ

คนที่คิดแบบเดิม ทำแบบเดิม เปลี่ยนแปลงช้าหรือไม่ยอมเปลี่ยนแปลง พอมาพบโจทย์ใหม่ที่ท้าทายแบบนี้ก็ไปไม่ถูกกันเลยทีเดียว

ผู้คนในประเทศอื่นเขาจะรู้สึกอย่างนี้ชัดเจนหรือไม่ผมไม่ทราบ

แต่ที่เมืองไทย ชัดแสนชัดครับ

จับมือกันให้มั่น แล้วก้าวเดินผ่านวันเวลาที่ยากลำบากนี้ไปด้วยกัน