คนของโลก : อเลกซ์ ซัลมอนด์ ความหวังปลดแอกสกอตแลนด์ สู่จำเลยคดีข่มขืน

อเลกซ์ ซัลมอนด์ อดีตมุขมนตรีแห่งสกอตแลนด์ ผู้เคยเป็นนักการเมืองแกนนำรณรงค์ให้สกอตแลนด์เกือบได้อิสรภาพจากอังกฤษ ในการลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์เมื่อปี 2014

6 ปีต่อมา ซัลมอนด์ต้องดิ้นรนแก้ต่างปกป้องชื่อเสียงของตนเพื่อให้รอดพ้นจากคดีคุกคามทางเพศ 14 กระทงความผิด

หนึ่งในนั้นคือข้อหาพยายามข่มขืน คดีซึ่งทำให้ซัลมอนด์ต้องลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคชาตินิยมสก๊อต (เอสเอ็นพี) เมื่อปี 2018

ไม่กี่วันที่ผ่านมา ศาลยกฟ้องคดีทั้งหมดของซัลมอนด์ลงแล้วหลังการไต่สวนยาวนาน 11 วัน ในคดีซึ่งซัลมอนด์ระบุว่าเป็นคดีแห่ง “ฝันร้าย” ที่มีแรงจูงใจทางการเมือง

ซัลมอนด์ นักการเมืองวัย 65 ปี ผู้คร่ำหวอดในวงการ ด้วยบุคลิกขี้เล่น คล่องเแคล่ว เป็นหน้าเป็นตาของสายชาตินิยมมานานกว่า 20 ปี เกิดในเมืองบลินลิธโกว์ ใกล้กับกรุงเอดินเบอระ เมืองหลวงของสกอตแลนด์ จบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ยุคกลางจากมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูว์ มหาวิทยาลัยชั้นนำและเก่าแก่ของสกอตแลนด์

ซัลมอนด์ทำงานเป็นนักเศรษฐศาสตร์ให้กับธนาคารกลางสกอตแลนด์ ก่อนจะเข้าสู่เส้นทางการเมืองด้วยการได้รับเลือกเป็น ส.ส.เข้าสู่สภา ก่อนที่จะได้รับเลือกให้นั่งเป็นหัวหน้าพรรคเอสเอ็นพี ในปี 1990

ซัลมอนด์ก้าวเป็นหัวหน้าพรรคเอสเอ็นพี และสร้างภาพลักษณ์พรรคเอสเอ็นพีขึ้นใหม่ แบบเดียวกับที่ “โทนี่ แบลร์” อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ สร้าง “พรรคแรงงานใหม่” ขึ้นมาในอีก 4 ปีต่อมา

ซัลมอนด์นำเอสเอ็นพีก้าวมาสู่เวทีการเมืองแถวหน้าของอังกฤษและพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อชาวสกอตแลนด์ได้อย่างภาคภูมิ

 

การปฏิรูปกฎหมายของนายกรัฐมนตรีแบลร์ ส่งผลให้ชาวสกอตแลนด์สามารถเลือกผู้แทนฯ เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรกรุงเอดินเบอระได้เป็นครั้งแรกในปี 1999 อย่างไรก็ตาม พรรคเอสเอ็นพีพ่ายแพ้ให้กับพรรคแรงงาน และซัลมอนด์ลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคในทันที

แม้ซัลมอนด์จะบอกว่า การตัดสินใจของเขาจะมีผลไป “ตลอดกาล” ทว่าเขาก็ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้งในปี 2004 พร้อมกับให้เหตุผลว่า “ผมเปลี่ยนใจแล้ว”

หลังจากนั้น ซัลมอนด์ได้รับเลือกให้เป็นมุขมนตรีแห่งสกอตแลนด์ ในฐานะผู้นำรัฐบาลเสียงข้างน้อยสกอตแลนด์ เมื่อปี 2007 ก่อนที่ในปี 2011 เอสเอ็นพีจะได้ครองเสียงข้างมากในสภาและประกาศที่จะจัดให้มีการลงประชามติเรื่องการแยกตัวออกจากอังกฤษในปี 2014 แนวคิดซึ่งเป็นธงในใจของซัลมอนด์มาโดยตลอด

เสน่ห์ของซัลมอนด์มีผลอย่างยิ่งกับการรณรงค์หาเสียงในฝั่งที่ต้องการแยกตัวจากอังกฤษ ผู้สนับสนุนต่างชื่นชมความมุ่งมั่น และแน่วแน่ในอุดมการณ์ที่มีมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม หลังจากผลการลงประชามติ “ฝ่ายแยกตัว” แพ้ไปด้วยสัดส่วนคะแนน 45 ต่อ 55 เปอร์เซ็นต์ ซัลมอนด์ก็ประกาศลาออกจากตำแหน่งมุขมนตรีและหัวหน้าพรรคเอสเอ็นพีในทันที

“สำหรับผมในฐานะผู้นำ เวลากำลังจะหมดลง แต่สำหรับสกอตแลนด์การรณรงค์ยังดำเนินต่อไป และความฝันจะไม่มีวันตาย” ซัลมอนด์ระบุ

 

คู่แข่งทางการเมืองมักโจมตีซัลมอนด์ว่าเป็นคนมีบุคลิกเย่อหยิ่ง รังเกียจผู้หญิง ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เป็นที่นิยมในสายการเมืองแบบประชานิยม

แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ว่าจะฝ่ายสนับสนุนหรือคู่แข่งทางการเมืองเห็นตรงกันก็คือ ซัลมอนด์เป็นนักการเมืองที่มีพรสวรรค์ที่สุดคนหนึ่งของสกอตแลนด์ในยุคนี้

เดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษในเวลานั้นกล่าวถึงซัลมอนด์ว่าเป็นนักการเมืองที่มีพรสวรรค์และแรงผลักดันที่มากมายมหาศาล เป็นมุขมนตรีที่มีประสิทธิภาพและต่อสู้เพื่อจุดยืนของตนเองเสมอ

แม้คดีล่าสุดจะส่งผลให้พันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดถอยตัวออกห่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นิโคลา สเตอร์เจียน มุขมนตรีหญิง ผู้เป็นทายาททางการเมืองของซัลมอนด์โดยตรง

อย่างไรก็ตาม ความฝันของซัลมอนด์ รวมถึงวาระทางการเมืองหลักของสเตอร์เจียน ในการนำสกอตแลนด์แยกตัวออกจากอังกฤษยังคงมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ในช่วงเวลาที่อังกฤษได้ตัดสินใจแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป หรือเบร็กซิท เป็นที่เรียบร้อยแล้วในเวลานี้

และอาจทำให้คำมั่นที่ซัลมอนด์เคยให้เอาไว้ว่า ตนจะ “ปลดโซ่ตรวน” ของการรวมตัวที่มี “ประวัติศาสตร์ยาวนาน 313 ปี” ลง อาจเป็นจริงขึ้นมาได้ในอีกไม่นานนี้