เปิดวิธีการทำงานสื่อทำเนียบ ห้ามวิ่งเดินรุม “บรรดาลุง-รัฐมนตรี” ก่อนมาที่รวมศูนย์แถลงข่าวใต้เงา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

เมื่อไวรัสโควิด-19 ไม่เลือกคนและเข้าไปได้ทุกที่

ไม่เว้นแม้แต่รั้วทำเนียบรัฐบาล จึงต้องมีมาตรการต่างๆ ออกมารองรับเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด หลัง 3 รัฐมนตรีต้องกักตัว 14 วัน นำร่องเวิร์กฟรอมโฮมก่อนใครๆ แม้ว่าผลตรวจจะไม่พบเชื้อก็ตาม

เริ่มจาก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ที่เดินทางไปสักการะพระธาตุพนม จ.นครพนม เมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา หลังวันผู้ที่เกี่ยวข้องกับสนามมวยที่ระบุว่าติดเชื้อโควิด-19 ไปสักการะมา 1 วัน (11 มีนาคม)

ตามมาด้วย “ถาวร เสนเนียม” รมช.คมนาคม ที่ไปร่วมงานที่สนามมวยลุมพินีเมื่อ 6 มีนาคม และ “อุตตม สาวนายน” รมว.คลัง หลังตำรวจติดตามติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งตำรวจคนดังกล่าวมาทำงานเมื่อวันที่ 11 มีนาคม เพียงวันเดียว แล้วก็หยุดไป เพิ่งทราบตอนหลังว่าได้รับเชื้อ จึงได้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ เมื่อเป็นข่าวขึ้นมา “อุตตม” จึงได้ไปตรวจหาเชื้อเมื่อ 18 มีนาคมที่ผ่านมา ทว่าวันที่ 17 มีนาคม ได้ร่วมประชุม ครม. และยืนแถลงข่าวใกล้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหมด้วย

จึงทำให้การประชุม ครม.เมื่อ 24 มีนาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ได้จัดประชุมแบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ขึ้นมา โดยมีเพียงรองนายกฯ และบุคคลที่เกี่ยวข้องวงเล็กเข้าร่วมประชุมที่ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาลเท่านั้น

ส่วนรัฐมนตรีแต่ละคนให้ประจำอยู่ที่แต่ละกระทรวง รวมถึง “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกฯ ในฐานะ รมว.พาณิชย์ และ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ ในฐานะ รมว.สาธารณสุข ให้ประจำที่กระทรวงแทน

อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล ได้เริ่มคิดมาตรการป้องกันตัวเองตามแนวทาง “Social Distancing” หรือการเพิ่มระยะห่างในการเข้าสังคมตั้งแต่ 2 สัปดาห์ก่อนแล้ว

โดยการประชุม ครม.เมื่อ 17 มีนาคม ได้ตั้งไมโครโฟนเดียวและลำโพงหน้าตึกบัญชาการ 1 เพื่อนำร่องไม่รุมล้อมสัมภาษณ์รัฐมนตรี ซึ่งพร้อมกับสื่อมวลชนสายรัฐสภา หลังรัฐสภาขอความร่วมมือให้สัมภาษณ์บริเวณโพเดียมแถลงข่าวเท่านั้น ให้งดการรุมล้อมสัมภาษณ์

ต่อมาเมื่อ 23 มีนาคมที่ผ่านมา หลังโควิด-19 แพร่ระบาดในวงกว้างและมีมาตรการยกระดับทั่วประเทศ สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้เผยแพร่ประกาศมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 โดยขอความร่วมมือสื่อมวลชนที่เข้ามาปฏิบัติงานในทำเนียบรัฐบาล 6 ข้อ

1. กำหนด 3 จุดสัมภาษณ์นายกฯ คณะรัฐมนตรี และผู้บริหาร คือ หน้าตึกบัญชาการ ตึกนารีสโมสร และตึกสันติไมตรี

2. ห้ามสื่อมวลชน เดินตาม วิ่งตาม หรือรุมล้อมนายกฯ และ ครม.เพื่อขอสัมภาษณ์

3. ห้ามสื่อมวลชนเข้าตึกบัญชาการ ตึกสันติไมตรี ยกเว้นกรณีมีการเชิญเข้าไปทำข่าวเป็นครั้งคราวไป

4. ขอความร่วมมือสื่อมวลชนให้ประจำอยู่ในสถานที่ทำงานของสื่อมวลชนที่จัดไว้ให้ทั้ง 3 แห่งเป็นหลัก

5. สำนักโฆษกจะกำหนดจุดสำหรับการบันทึกภาพ และให้สื่อมวลชนบันทึกภาพในจุดที่กำหนดเท่านั้น

6. ดำเนินการตรวจคัดกรองสื่อมวลชนที่เข้ามาปฏิบัติงานทำเนียบรัฐบาล โดยวัดอุณหภูมิและใช้แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือและพ่นฆ่าเชื้อสถานที่ทำงานสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ทุกเย็นวันพุธช่วงเย็นและวันอาทิตย์

ต่อมาวันที่ 24 มีนาคม ที่มีการประชุม ครม. วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ได้มีการตั้งไมโครโฟนเดียวและลำโพงจุดเดียว หน้าตึกบัญชาการ 1 และมีการตั้งแนวรั้วห้ามสื่อเลยแนวรั้วออกมา ซึ่งตามปกติแล้วทางขึ้นตึกบัญชาการ 1-2 จะมีประมาณ 5 ช่องทาง สื่อจะดักสัมภาษณ์ทุกประตู และเป็นลักษณะของการรุมล้อม

ส่วนการแถลงข่าวประจำวันของกระทรวงสาธารณสุข จากเดิมที่แถลงที่กระทรวง ก็ให้มาแถลงที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

โดยก่อนหน้านี้จุดแถลงข่าวศูนย์โควิดฯ จะอยู่ที่ตึกนารีสโมสร แต่ด้วยความคับแคบของอาคาร จึงย้ายมายังอาคารสันติไมตรีที่กว้างขวางมากกว่า

นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้กระทรวงต่างๆ มาแถลงข่าวที่ศูนย์แถลงข่าวโควิf-19 ทำเนียบแทน โดยจัดลำดับคิวในแต่ละวัน ซึ่งสื่อมวลชนได้ท้วงติงว่าจะยิ่งเป็นการนำคนมาร่วมกันที่ทำเนียบหรือไม่

พร้อมกันนี้มีรายงานว่า สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ประสานผ่านกรมประชาสัมพันธ์แจ้งว่า ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม เวลา 14.00 น.เป็นต้นไป ช่องเอ็นบีทีจะปรับเป็นสถานีแม่ข่าย “COVID Channel” ในการแถลงข่าวจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ทำเนียบ ซึ่งจะมีการแถลงข่าวเพียงแห่งเดียว และเพื่อลดการแออัดการรวมตัวของผู้สื่อข่าวและช่างภาพตามมาตรการรัฐบาล จึงไม่ต้องส่งผู้สื่อข่าว ช่างภาพ ไปทำข่าวเกี่ยวกับโควิด-19 ที่ทำเนียบ

แต่สามารถดึงภาพจากเอ็นบีทีไปใช้ได้เลย

ส่วนภาพนิ่ง ทางกรมประชาสัมพันธ์และสำนักโฆษกจะแชร์ภาพและอินโฟกราฟิกในการแถลงข่าวส่งให้สื่อมวลชนผ่านช่องทางต่างๆ

ทั้งนี้ มีสื่อหลายสำนักสอบถามกลับไปถึงมาตรการดังกล่าวว่า มีช่องทางให้สื่อได้สัมภาษณ์ในประเด็นที่สงสัยหรือไม่ หรือเป็นการแถลงข่าวทางเดียว ซึ่งผู้แทนจากกรมประชาสัมพันธ์ชี้แจงว่ามี 2 ช่องทาง ได้แก่

1. ผ่านทางกลุ่มไลน์ของสำนักโฆษกและทางสำนักโฆษกจะส่งประเด็นคำถามให้

2. สำนักโฆษกยังอนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้าฟังการแถลงและเป็นผู้ตั้งคำถามตามปกติ

ต่อมา ครม.ได้อนุมัติประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา ในเบื้องต้น 1 เดือน ซึ่งในแต่ละครั้งจะไม่เกิน 3 เดือน พร้อมยกระดับเป็น “ศูนย์บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19)” หรือ “ศอฉ.โควิด-19” โดยมีการตั้ง 6 ศูนย์ย่อยเป็นกรรมการขับเคลื่อน โดย 1 ใน 6 ศูนย์ที่เกี่ยวกับสื่อคือ ศูนย์ปฏิบัติการด้านสื่อสังคมออนไลน์ โดยมีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นผู้รับผิดชอบ

ทั้งนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนด้วย ในมาตรา 9(3) ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน

พร้อมกันนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ ในมาตรา 11-12 เช่น การจับกุมและควบคุมตัวได้ไม่เกิน 7 วัน, ออกคำสั่งให้บุคคลมาให้ข้อมูล, ตรวจสอบจดหมาย โทรเลข โทรศัพท์ ยับยั้งการสื่อสารใดๆ, ห้ามผู้ใดเดินทางออกนอกราชอาณาจักร, ออกคำสั่งให้ใช้กำลังทหารเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ เป็นต้น

จากอำนาจนี้ทำให้พรรคก้าวไกลได้ออกแถลงการณ์ หนึ่งในนั้นคือ รัฐบาลต้องไม่ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อลิดรอนเสรีภาพของสื่อมวลชน เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน และละเมิดสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน เนื่องจากข้อมูลข่าวสารที่รอบด้านมีความสำคัญในช่วงเวลาวิกฤต เพื่อทำให้ประชาชนเท่าทันกับสถานการณ์ที่เป็นจริง

และสามารถที่จะตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังได้ออกแถลงการณ์นายกรัฐมนตรีในรายละเอียดก่อนออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 1 วันว่า โดยขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนคือ เพิ่มความรับผิดชอบในการรายงานข่าว ขอให้ใช้ข้อมูลจากการแถลงประจำวันของทีมสื่อสารเฉพาะกิจและทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นหลัก แทนการขอสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ต่างๆ เพื่อให้บุคลากรเหล่านั้นสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่

ซึ่งนายกฯ เชื่อว่าหากทำได้เช่นนี้ สื่อมวลชนจะเป็นกำลังสำคัญในการสู้กับภัยโควิด-19

ส่วนมาตรการ “สื่อดูแลกันเอง” ทางสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้รับการประสานจากคณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล ม.นวมินทราธิราช มอบหน้ากากพลาสติกสำหรับป้องกันสารคัดหลั่งกระเด็นใส่บริเวณใบหน้า” (Vajira Face Shield) ให้กับสื่อมวลชนที่มีความต้องการนำไปใช้ในการรายงานข่าว เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันตัวเอง

โดยสมาคมได้รับการยืนยันว่า Vajira Face Shield มีจำนวนมากเพียงพอในการใช้ของบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลวชิรพยาบาล เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่ผลิตขึ้นเองด้วยวัสดุที่หาซื้อได้ทั่วไป ไม่ใช่เป็นอุปกรณ์ที่มาจากการจัดซื้อจัดจ้างโดยงบประมาณของรัฐ และคณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล ต้องการแจกเพื่อให้บริการกับสังคมเป็นการทั่วไป

ทั้งหมดนี้เป็น “วิบากกรรมสื่อ” โดยเฉพาะสื่อสายทำเนียบ ที่ทั้งยากและเสี่ยง ต้องปรับตัวรายสัปดาห์และลุ้นรายวัน ซึ่งอีกมุมก็สะท้อนภาพการทำงานของรัฐบาล ในการสื่อสารกับประชาชน

ก่อนที่ล่าสุดจะพบว่ามีเจ้าหน้าที่ที่เข้าประชุมรายหนึ่งมีอาการ  โดยที่นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่ทำเนียบรัฐบาลติดเชื้อโควิด ว่า ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ทำเนียบ เป็นข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย แต่ทำหน้าที่เชื่อมประสานไปประชุมหลายที่ เป็นผู้ป่วยชาย อายุ 46 ปี เริ่มมีอาการตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. อาการที่มีคือ มีน้ำมูก ไอนานๆครั้ง อาการคล้ายๆ ภูมิแพ้ ไม่มีไข้ แต่เมื่อป่วย 3 วัน จึงไปตรวจเร็วขึ้น ผลออกมาพบเชื้อ ได้กักตนเองตั้งแต่แรกแล้ว และอยู่ สถาบันบำราศนราดูร และได้ควบคุมโรคแล้ว

ทั้งนี้ข้าราชการรายนี้ ได้ใกล้ชิดเจ้าหน้าที่ในกระทรวงสาธารณสุข ประมาณ 30 คน และได้ให้เจ้าหน้าที่กลุ่มนี้กักตัวแล้ว หากไม่มีอาการใด ถือว่าอยู่ในวงจำกัด และจะดูแลเข้มข้นที่สุด จึงบอกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามาก ทุกคนต้องระวังตนเอง ซึ่งผู้คอนแท็กใกล้ชิด คือ เจ้าหน้าที่ที่ทำงานประสานงาานจากกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า ไม่มีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงติดเชื้อแต่อย่างใด เรื่องการติดโรคเป็นเรื่องปกติ เราห้ามไม่ได้