ต่างประเทศ : ยุทธศาสตร์สู้ไวรัสของจีน ในวิกฤต “โควิด-19”

หลังจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ต้นกำเนิดของโรค “โควิด-19” อุบัติให้ชาวโลกได้รู้จัก ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2562 เป็นต้นมา

จนถึงเวลานี้เป็นเวลาเกือบ 3 เดือน เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน ซึ่งเชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของ “โควิด-19” สถานการณ์เริ่มคลี่คลายมากขึ้น ทั้งยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่และยอดผู้เสียชีวิต ที่เริ่มนิ่งมากขึ้น ยอดตายอยู่ที่ 3 พันกว่าราย ยอดผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 8 หมื่นกว่าราย

สำนักข่าวเอเอฟพีได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์โควิด-19 ในจีน ที่เริ่มมีสถานการณ์ดีขึ้น จนหลายฝ่ายเริ่มหันมาวิเคราะห์ว่า จะสามารถนำไปเป็นแบบอย่างสำหรับแก้ไขปัญหาในประเทศอื่นได้หรือไม่

โดยยอดตายจากโควิด-19 ในจีนตอนนี้ยังน้อยกว่าประเทศอิตาลี ที่ยอดผู้เสียชีวิตพุ่งไปกว่า 6 พันรายแล้ว ทั้งที่เพิ่งจะพบผู้ติดเชื้อได้ไม่นาน ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อสะสมนั้นอยู่ที่กว่า 6 หมื่นรายแล้ว

แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่าตัวเลขยอดตายและผู้ติดเชื้อในจีนน่าจะสูงกว่าที่ทางการจีนแจ้งไว้ หากแต่สถานการณ์ภายในจีนที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และความสามารถในการควบคุมโรคของจีน ทำให้ได้รับคำชื่นชมจากหลายฝ่าย

รวมทั้งนายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก หรือฮู ที่ออกมาระบุว่าความสำเร็จของจีนเป็นการสร้างความหวังให้แก่โลก ในการพิชิตไวรัสร้ายนี้

 

เอเอฟพีระบุว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้จีนประสบความสำเร็จในการคุมโควิด-19 ได้ในเวลาอันรวดเร็ว อาจจะเป็นเพราะระบบการปกครอง ที่มีการรวมศูนย์การควบคุมอยู่ที่รัฐบาลกลางอย่างเดียว สั่งการโดยตรงจากเบื้องต้น และการที่มีพรรคคอมมิวนิสต์ปกครองประเทศเพียงพรรคเดียว ทำให้ไม่มีความขัดแย้ง และสามารถจัดการทุกอย่างได้อย่างรวดเร็ว

ในประเด็นเรื่องการปิดเมืองเพื่อคุมการระบาดนั้น ทางการจีนได้เริ่มการปิดเมือง “อู่ฮั่น” ต้นตอการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา และสั่งให้ประชาชน 11 ล้านคนกักตัวอยู่แต่ในที่พัก ก่อนที่จะมีการใช้มาตรการปิดเมืองครอบคลุมทุกเมืองทั่วมณฑลหูเป่ย

มีผลให้ประชากร 50 ล้านคนถูกกักตัวอยู่แต่ในที่อยู่อาศัย ลดการเคลื่อนย้ายผู้คน

ในขณะที่ส่วนอื่นๆ ของประเทศจีน ก็มีการสั่งให้ประชาชนพยายามหยุดการเดินทางใดๆ และขอให้ประชาชนทุกคน “อยู่บ้าน” ทำให้ชาวจีนหลายร้อยล้านคนในจีนต้องอยู่แต่ในที่พัก โดยมีการเฝ้าจับตาดูอย่างใกล้ชิดจากคณะกรรมการชุมชนที่จะคอยทำหน้าที่ตรวจตราดูว่าประชาชนทำตามคำสั่งหรือเปล่า

ศาสตราจารย์ชารอน เลวิน จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย บอกกับเอเอฟพีว่า ปฏิบัติการดังกล่าวของทางการจีนถือว่า “ได้ผล”

เพราะหลังจากนั้น 2 สัปดาห์ เมืองอู่ฮั่นเริ่มมีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

ทั้งนี้ การเว้นระยะห่างทางสังคมและการกักตัวอย่างเข้มข้น มีการใช้กันในหลายระดับในหลายประเทศของยุโรป และบางรัฐในสหรัฐอเมริกาตอนนี้ เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19

แต่ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน ออกมาเตือนว่า ยุทธศาสตร์ที่ดูเหมือนจะประสบความสำเร็จในประเทศจีนตอนนี้ นำมาซึ่งค่าตอบแทนทางสังคมและเศรษฐกิจที่สูงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และว่า ปัญหาหลักของการใช้มาตรการเหล่านี้คือ การเข้าไปกำหนดกฎเกณฑ์ความเป็นอยู่ของประชาชนเหล่านี้ อาจจะต้องยืดยาวไปจนกว่าจะมีวัคซีนสำหรับป้องกันโรค ซึ่งอาจจะใช้เวลายาวนานถึง 18 เดือนหรือมากกว่านั้น

และหากผ่อนคลายกฎเกณฑ์เหล่านี้ อัตราการแพร่เชื้อจะกลับมาอย่างรวดเร็วอย่างแน่นอน

 

อีกประเด็นที่สำคัญคือเรื่องของการส่งกำลังช่วยเหลือจำนวนมาก

ทั้งนี้ มีแพทย์และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์อย่างน้อย 42,000 คน ที่ถูกส่งไปปฏิบัติหน้าที่ที่มณฑลหูเป่ย เพื่อช่วยรักษาผู้ป่วยในมณฑลหูเป่ย ที่ระบบสาธารณสุขในขณะนั้นเรียกได้ว่า “ล่มสลาย” ภายใต้การแพร่ระบาดของโรคอย่างรวดเร็วและทำให้มีผู้ป่วยและเสียชีวิตจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม จากตัวเลขของกระทรวงสาธารณสุขจีน เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ระบุว่ามีเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์กว่า 3,300 คนทั่วประเทศจีน ที่ป่วยโควิด-19 ในจำนวนนี้เสียชีวิต 13 ราย

นอกเหนือจากการเสริมกำลังด้านเจ้าหน้าที่การแพทย์แล้ว รัฐบาลจีนยังคอยทำหน้าที่ในการสื่อสารกับประชาชนถึงวิธีการที่จะรอดจากเชื้อไวรัส โดยมีการใช้สื่อตามสาธารณะต่างๆ สื่อถึงประชาชน เรียกร้องให้รักษาความสะอาด และอยู่แต่ในบ้าน

และที่เป็นข่าวฮือฮา คือการประกาศสร้างโรงพยาบาลขึ้นใหม่ 2 แห่งในเมืองอู่ฮั่น เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล โดยทั้งสองโรงพยาบาลรวมกันจะสามารถรองรับผู้ป่วยได้ถึง 2,300 เตียง และใช้เวลาในการสร้างเสร็จในเวลาเพียง 10 วันเท่านั้น

ตอนนี้จีนเองได้ส่งผู้เชี่ยวชาญไปช่วยอิตาลีที่กำลังย่ำแย่หนักจากการระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้ และกลายเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มากที่สุดในโลกไปแล้ว

 

สําหรับเรื่องของหน้ากากอนามัยนั้น ในหลายเมืองตอนนี้ หน้ากากอนามัยกำลังกลายเป็นสิ่งของที่ทุกคนต้องการ เพื่อควบคุมหรือชะลอการแพร่ระบาดของไวรัส

จากรายงานของสำนักข่าวซินหัวระบุไว้ว่า ในช่วงวิกฤตนั้น จีนได้ผลิตหน้ากากอนามัย เอ็น 95 วันละ 1.6 ล้านชิ้น ซึ่งหน้ากากเอ็น 95 นั้น ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือป้องกันที่ได้ผลมากที่สุด

นอกเหนือจากการผลิตหน้ากากอนามัยให้เพียงพอสำหรับความต้องการของประชาชนแล้ว จีนยังมีมาตรการในการตรวจสอบที่เข้มข้น มีการยกระดับการตรวจตามจุดต่างๆ โดยมีการติดตั้งอุปกรณ์วัดอุณหภูมิตามอาคารและห้างสรรพสินค้าต่างๆ รวมไปถึงสถานที่สาธารณะ

“หากตรวจพบว่ามีอุณหภูมิสูงกว่า 37.3 องศาเซลเซียส จะต้องถูกจับแยกตัวไปในทันที” เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของสวนสาธารณะแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่งเปิดเผยกับเอเอฟพี

 

และในฐานะที่จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความไฮเทค แต่ไม่ค่อยมีความเป็นส่วนตัว ทางการท้องถิ่นหลายแห่งจึงกำหนดให้พลเมืองของตนต้องโชว์ “คิวอาร์โค้ด” บนมือถือ เพื่อแสดงสถานะการติดเชื้อของตัวเองว่า อยู่ในกลุ่มสี “แดง” “เหลือง” หรือ “เขียว”

โดยสถานะดังกล่าวมาจากการประเมินที่ได้จากข้อมูลว่า คนคนนั้นได้เดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงสูงมาหรือเปล่า ซึ่งตอนนี้ก็มีการนำมาใช้สำหรับการตรวจก่อนการเข้าสำนักงานหลายแห่งแล้ว

และรัฐบาลจีนเองก็ประกาศแน่ชัดแล้วว่า ระบบคิวอาร์โค้ดดังกล่าวจะยังคงใช้ต่อไปในบางวาระ หลังจากการระบาดบรรเทาลงแล้ว

เหล่านี้คือยุทธศาสตร์ในการต่อสู้กับ “โควิด-19” ของประเทศจีน ที่ใช้ได้สำหรับระบอบการปกครองในแบบจีน สำหรับคนจีน และสำหรับช่วงระยะเวลาที่เกิดขึ้น หากแต่จะใช้ได้ผลมากน้อยแค่ไหนกับประเทศอื่น ก็คงต้องลองปรับไปใช้กันดู