มุกดา สุวรรณชาติ : สภาวะ Pandemic ของ Covid-19…หนัก สู้ไม่ได้แบบจีน จะจบแบบอิตาลี

มุกดา สุวรรณชาติ

ติดเชื้อเป็นล้านราย
จะตายอีกหลายหมื่น

โรคระบาดไวรัสโคโรนาที่ปัจจุบันเรียกชื่อว่า Covid-19 ตามปีที่เกิดโรคระบาดขึ้นในประเทศจีนครั้งแรก นับถึงเวลานี้ก็เป็นระยะเวลาประมาณ 3 เดือน ทีมวิเคราะห์เราเขียนถึงไวรัสตัวนี้มา 2 ครั้ง พร้อมได้คาดคะเนว่า ไวรัสโคโรนาจะส่งผลกระทบทั้งประเทศ และได้คาดคะเนว่าจะมีผู้เสียชีวิตรวมเป็นหลักพัน มีคนติดโรคนี้เป็นแสน

ในครั้งนั้นยังมีคนทักท้วงว่าเราคาดคะเน Over เกินไป เพราะในประวัติของโรคระบาดระยะสั้นในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา เช่น โรค Sars มีคนติดเชื้อ 8,098 คน และมีคนตายแค่ 774 คน เนื่องจากมนุษย์สามารถพัฒนาวิธีการป้องกันและรักษาได้

เราคาดผิดจริง เมื่อเจอ Covid-19 แต่ไม่ใช่ over เกินไป เป็นประเมินต่ำไปมาก ถ้าให้ประเมินใหม่ตอนนี้ต้องบอกว่า คนติดเชื้อเป็นล้าน คนเสียชีวิตหลายหมื่น

แม้เปอร์เซ็นต์คนตายไม่สูง (4%) แต่ความหวาดกลัวจะทำลายพื้นฐานการดำรงชีวิตในสังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการทักทายแบบสัมผัสก็ไม่กล้าทำ การขึ้นรถสาธารณะก็ไม่กล้า วัฒนธรรมการกินก็จะต้องเปลี่ยนไป การสันทนาการก็ต้องหยุด การดูกีฬาที่มีคนจำนวนมากก็ต้องเลิก ทุกคนต้องดูแค่ผ่านจอทีวีที่บ้าน

เศรษฐกิจจะตกทั่วทั้งโลก

 

สภาวะระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic)
ของ Covid-19

องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศวันที่ 12 มีนาคม ว่า การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่ทำให้เกิดโรค Covid-19 เป็นโรคระบาดที่แพร่กระจายไปทั่วโลกแล้ว (Pandemic)

จะเห็นว่าตอนที่เกิด Covid-19 ที่เมืองอู่ฮั่น ระยะหนึ่งก็ถูกประกาศให้เป็นระดับ Epidemic เมื่อขยายวงกว้างออกไปยังเมืองต่างๆ และออกไปต่างประเทศในบางเมือง เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับโรคระบาดอย่างอีโบลา ซาร์ส หรือไข้หวัดนก

หลังจากลังเลอยู่ช่วงหนึ่ง ต่อมา WHO จึงได้ประกาศให้ Covid-19 ยกระดับสู่การเป็น Pandemic ด้วยความรุนแรงของการระบาดที่กระจายไปสู่หลายประเทศทั่วโลก (ขณะนี้น่าจะประมาณ 190 ประเทศ)

ซึ่งมักเกิดจากการเดินทางของคนจากประเทศที่มีการแพร่ระบาด และนำเชื้อไปติดกับคนที่สัมพันธ์ด้วย และคนที่ไม่ได้ติดต่อสัมพันธ์ แต่บังเอิญต้องมาอยู่ร่วมกันในห้องหรือในยานพาหนะร่วมกัน ทำให้เกิดการระบาดไปยังประเทศใหม่ เมืองใหม่ๆ จนไม่สามารถควบคุมได้

พวกเราดีใจได้ 2 วันเมื่อเห็นการระบาดจากประเทศจีนลดลง แต่มันไม่เหมือนโรคระบาดตัวอื่นในระยะ 20 ปีหลังนี้ที่เกิดขึ้นในวงจำกัดแล้วก็หายไป

ครั้งนี้ไวรัสตัวนี้กลับไปโผล่ขึ้นอีกในหลายทวีป หลายประเทศ ที่หนักสุดเป็นอิตาลี

นอกนั้นก็ลามไปทั่วทั้งสเปน ฝรั่งเศสและยุโรปทั้งหมด ข้ามทวีปไปอเมริกา ออสเตรเลียก็เกิดขึ้นแล้ว อเมริกาใต้ก็เกิดขึ้นแล้ว ส่วนในเอเชียก็ระบาดไปทั่ว

การเกิดโรคระบาดระดับ Pandemic เป็นการยืนยันว่า ระบบสังคมของมนุษย์พัฒนาจนเป็นเครือข่ายสายสัมพันธ์กันไปทั่วโลก ถ้าเป็นในยุคโบราณ การระบาดแบบนี้อาจจะช้า แต่ขณะนี้มีเครื่องบิน จึงระบาดไปเร็วมาก เพราะโรคไปกับมนุษย์ที่เดินทางในแต่ละวันจำนวนมาก ผู้อำนวยการใหญ่ WHO กล่าวว่า

“สถานการณ์ปัจจุบันไม่ได้เป็นวิกฤตทางสาธารณสุขเท่านั้น แต่เป็นวิกฤตที่มีผลกระทบต่อทุกคนและทุกที่…ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการสู้นี้”

เพื่อเอาชนะ เพราะถ้าแพ้มันจะทำลายทุกอย่าง

 

บทเรียนจากจีน แลกด้วยชีวิต
ต้องศึกษาให้ดี

ประเทศจีนเขาไล่ตามไวรัสตัวนี้จนกระทั่งแก้ได้เกือบถึงขั้นยุติแล้ว แต่ที่อิตาลีจนบัดนี้ก็ยังไม่มีใครตอบได้ว่ามันหลุดเข้าไปได้ยังไง แต่มันลามจนเป็นวงกว้างทำให้จำนวนคนตายก็มากกว่าจีนแล้ว

ข้อสรุปของจีนที่เอาชีวิตแลกมา โดยผู้สรุปเป็นคนขององค์กร WHO 25 คนที่เข้าไปทำงานในจีน ได้ให้ข้อสรุปที่ดีมากเพื่อให้ประเทศที่กำลังมีปัญหาหรือจะมีปัญหาได้เตรียมการล่วงหน้า

สิ่งที่ประเทศไทยกำลังจะเผชิญในระยะ 1 เดือนข้างหน้าคือการกระจายตัวของเชื้อโรค

ซึ่งขณะนี้เรามานั่งถกเถียงกันอยู่ว่าอยู่ระยะไหน และจะทำอย่างไร

1.บทเรียนของประชาชน…ต้องรู้ เตรียมใจ ไม่ตระหนก

เรา…ป่วยเป็น Covid-19 ใช่หรือไม่? เป็นแล้วจะตายหรือไม่?

ทีมงานเราเรียก Covid-19 ว่าเป็นไวรัสนินจา เพราะมันแฝงตัว ไม่แสดงอาการเมื่อติดไปกับคนได้นานมาก เราจึงต้องกักตัว 14 วัน และไวรัสสายพันธุ์นี้สามารถมีชีวิตอยู่ในอากาศได้นานหลายชั่วโมง และอยู่บนพื้นผิวต่างๆ ได้นานถึง 3 วัน ซึ่งเป็นการเตือนว่า การระบาดผ่านทางอากาศและจากการสัมผัสก็ติดเชื้อได้

การสังเกตอาการที่พบบ่อยที่สุดคือ มีไข้ (88%) ไอแห้งๆ (68%) ไม่มีเรี่ยวแรง (38%) ไอแบบมีเสมหะ (33%) หายใจลำบาก (18%) เจ็บคอ (14%) ปวดหัว (14%) ปวดกล้ามเนื้อ (14%) หนาวสั่น (11%) อาการที่พบน้อยลงมาหน่อยคือ คลื่นไส้และอาเจียน (5%) คัดจมูก (5%) และท้องเสีย (4%) อาการที่ไม่ใช่สัญญาณโรคของโควิด-19 คือ น้ำมูกไหล

ส่วนใหญ่ที่ได้รับเชื้อ มักจะมีอาการในที่สุด แม้ว่าจะช้าเร็วต่างกัน ในกรณีที่ตรวจพบไวรัสแต่ยังไม่มีอาการนั้น หายาก และส่วนใหญ่จะป่วยในอีกสองสามวันต่อมา

สถิติผู้เสียชีวิตจากการตรวจสอบคนจีนที่ติดเชื้อรวม 44,672 คน มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 4% สถิติทั้งโลกล่าสุดที่มีการระบาดในอิตาลีและทั่วยุโรป รวมทั้งอเมริกา ช่วงนี้จะมีผู้ติดเชื้อประมาณ 400,000 คน เสียชีวิต 17,000 คน คิดเป็น 4.25% มีคนรักษาหายประมาณ 110,000 คน

ที่สำคัญ อัตราการเสียชีวิตยังขึ้นเป็นอย่างมากกับอายุ, สภาพร่างกายก่อนติดเชื้อ, เพศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบสุขภาพที่รับมือโรค สภาพร่างกายก่อนการติดเชื้อ : อัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อที่มีโรคระบบหลอดเลือดหัวใจในจีนคือ 2% ขณะที่สำหรับคนที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง (เบาหวานที่ไม่ควบคุม) อยู่ที่ 9.2% และ 8.4% สำหรับโรคความดันสูง, 8% สำหรับโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง และ 7.6% สำหรับโรคมะเร็ง

คนที่ไม่มีอาการป่วยใดๆ ก่อนติดเชื้อมีอัตราการเสียชีวิตที่ 1.4% เท่านั้น ยิ่งเป็นคนหนุ่ม-สาวแค่ 0.2%

อายุ : ยิ่งอายุน้อย ก็ยิ่งติดเชื้อยาก และแม้จะติดเชื้อ ก็จะป่วยไม่หนักเท่ากับผู้ที่อายุมากกว่า

ช่วงที่มีประกันการติดโรค Covid-19 จึงมีคนหนุ่ม-สาวจำนวนมากไปซื้อประกัน แบบติดเชื้อ Covid-19 แล้วได้รับเงินทันที ตอนนี้บริษัทประกันคงเลิกแล้ว เพราะลูกค้าประกันคิดว่าโอกาสตายแค่ 0.2% ได้ใช้เงินแน่

 

2.การป้องกันและการสกัดการกระจายของโรค ต้องมีนโยบายและทำได้จริง

ต้องเริ่มร่วมมือกันป้องกัน การป้องกันไม่ให้เชื้อโรคระบาดมาติดเรา หรือครอบครัวเราคือการช่วยสังคม เพราะลดการแพร่เชื้อไปส่วนหนึ่ง ถ้าป้องกันโรคไม่ให้แพร่เข้ามาในหมู่บ้านเรา ในเมืองเรายิ่งดีใหญ่ ไม่เพียงสกัดโรคร้าย ยังลดภาระการที่ต้องรักษาเยียวยา

สำหรับประเทศไทยควรจะใช้หลักการนี้…แต่ช้าไปแล้ว 2 เดือน

คือต้องสกัดก่อนอย่าให้หลุดเข้ามา ถ้าเข้ามาได้แล้วก็ต้องค้นหาว่ามันซ่อนอยู่ที่ไหน กำจัดทิ้งหรือปิดล้อมไม่ให้มันกระจายออกไป ต้องหาให้เร็วตอนที่มันกระจายยังไม่กว้างแค่หลักสิบหลักร้อยยังพอทำได้ แต่ถ้าเราปล่อยไปมันกระจายกว้างออกจะกลายเป็นหลักหมื่น เมื่อถึงตอนนั้นก็จะยากขึ้น และถ้าทำไม่สำเร็จจะกลายเป็นหลักล้านทันที นั่นหมายถึงเราจะต้องพ่ายแพ้ คงต้องใช้ธรรมชาติเป็นตัวช่วย จำนวนคนตายคนป่วยอาจจะเยอะหน่อย ตัวแบบนี้น่าจะเป็นอิตาลี

จีนพลาดในช่วงเดือนแรก บทเรียนของจีนที่อู่ฮั่นคือเขาปิดเมืองช้าไปทำให้คนที่ติดเชื้อโรคนี้กระจายออกไปในช่วงตรุษจีนเป็นจำนวนมาก

นี่เป็นบทเรียนบทแรก ที่ผู้บริหารประเทศและผู้บริหารเมืองก็รู้แต่บางครั้งก็ไม่กล้าตัดสินใจทำเพราะยังไม่เห็นปัญหาชัดเจน แต่ถ้าตัดสินใจช้าไป 3 วัน เหตุการณ์ก็อาจจะเปลี่ยนไปเยอะแล้วเพราะ 3 วันคนสามารถเดินทางไปได้หลายจังหวัด หลายประเทศหรือข้ามทวีปไปแล้ว

ที่บอกว่ามันเป็นไวรัสนินจา เพราะฉะนั้น มันยังแฝงตัวอยู่ในคนที่ดูแล้วปกติไม่มีอาการไข้ สามารถไปทำงาน ไปสัมผัสกับทุกคนได้เป็นร้อยๆ คนกว่าจะรู้ตัว ก็ไปเยอะแล้วเหมือนคุณป้าที่เกาหลีเมืองแดกู หรือของไทยกรณีสนามมวยลุมพินี

จีน แต่มาไล่ตามแก้ปัญหาสำเร็จ โดยมีมาตรการต่างๆ นำมาใช้อย่างเต็มที่ ทั้งในการตรวจหาผู้ติดเชื้อ, การแยกกักกันตัว, การติดตามการสัมผัสใกล้ชิดอย่างเข้มงวด รวมไปถึงการมีส่วนร่วมของชุมชน/ประชากรโดยตรง

บทเรียนของจีน เมื่อไวรัสกระจายตัวออกไปสู่คนจำนวนมาก ต้องทำอย่างไร

เขาใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการสืบค้นหาผู้ที่มีโอกาสติดเชื้อโรคจากไวรัสชนิดนี้ ไม่ว่าจะมีจำนวนมากเท่าใดก็ตาม และสกัดให้หยุดที่จุดนั้น หยุดที่คนกลุ่มนั้น ที่คนติดโรคคนนั้น

เช่น ในเซินเจิ้น ผู้ติดเชื้อระบุรายชื่อคนที่ติดต่อด้วยรวม 2,842 คน มีการค้นหาจนพบหมดทุกคน และมีการทดสอบไปแล้วถึง 2,240 ราย โดยมี 2.8% ในจำนวนนี้ที่ติดเชื้อ

ในจังหวัดเสฉวน มีคนที่ติดต่อด้วยที่ระบุชื่อไว้ 25,493 คน โดยพบตัวแล้ว 99% (25,347 คน) และตรวจสอบไปแล้ว 23,178 คน โดยพบว่ามีการติดเชื้อ 0.9%

ในจังหวัดกวางตุ้ง มีคนในรายชื่อที่ติดต่อกัน 9,939 คน พบตัวหมดแล้ว มีการตรวจสอบไปแล้ว 7,765 คน และพบติดเชื้อ 4.8% ซึ่งก็หมายความว่า หากบังเอิญคุณติดต่อโดยตรงกับคนที่ติดเชื้อ จะมีโอกาสติดเชื้ออยู่ระหว่าง 1-5%

มีการตามหาและทดสอบกลุ่มคนจำนวนมากไม่ใช่เรื่องง่าย ในอู่ฮั่นต้องใช้ 1,800 ทีมที่ทำเรื่องนี้

ย้อนกลับมาถามว่าประเทศไทยเราจะทำได้หรือไม่ เพราะตอนนี้เราพลาดแบบอู่ฮั่น เราปล่อยให้คนเข้า-ออกประเทศไทย และเมืองต่างๆ มา 2 เดือนแล้ว ตอนนี้อยู่ในขั้นการค้นหา และสกัดการกระจายตัวของผู้ที่ต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อ เราจะติดตามคนหลายพันคนหรือหมื่นคนได้ไหม

3.ความสามารถในการรักษา

คือมีโรงพยาบาล มีจำนวนเตียง (รวมทั้งวัสดุและบุคลากร) เพียงพอสำหรับผู้ป่วยหนัก

การรักษาโรคจากเชื้อไวรัสตัวนี้ถ้าจำนวนน้อยจะทำได้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ มีผู้เสียชีวิตน้อย สถานที่รักษา จำนวนแพทย์ พยาบาลและยาพอเพียง ผู้ป่วยมีจำนวนมากการรักษาไม่ทันก็จะกลายเป็นว่าใครแข็งแรงก็มีโอกาสรอดได้มาก ใครอ่อนแอก็ต้องตายไป หรือบางครั้งแพทย์อาจจะต้องเลือกว่าจะให้ใครรอด ปล่อยให้ใครตาย เนื่องจากความจำกัดของทรัพยากรในการรักษา

ระบบสุขภาพของจีนถือว่าเข้มแข็งยังลำบาก คนที่ติดเชื้อในจีนราว 20% ต้องการการรักษาที่โรงพยาบาลนานหลายสัปดาห์ จีนมีโรงพยาบาลเพียงพอจะใช้รักษาประชากรได้ 4% ของทั้งหมดในเวลาเดียวกัน ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ มีศักยภาพราว 0.1-1.3% และเตียงส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่มีผู้ป่วยโรคอื่นใช้อยู่แล้ว

มีการส่งคนไปช่วยรับมือที่หูเป่ยราว 40,000 คน ในอู่ฮั่นมีโรงพยาบาล 45 แห่งที่ใช้รองรับผู้ป่วย โดย 6 แห่งรองรับผู้ป่วยขั้นวิกฤต และอีก 39 แห่งรองรับผู้ป่วยหนัก โดยเฉพาะกลุ่มอายุมากกว่า 65 ปี

มีการสร้างโรงพยาบาลสนามขนาด 2,600 เตียงอย่างรวดเร็ว

ผู้ป่วยราว 80% มีอาการไม่หนัก มีโรงพยาบาลชั่วคราว 10 แห่งที่ปรับใช้จากการดัดแปลงยิมเนเซียมและห้องจัดแสดงนิทรรศการ

ขณะนี้จีนผลิตชุดตรวจโรคโคโรนาไวรัสใหม่นี้ ราว 6 ล้านชุด/สัปดาห์ โดยรู้ผลการตรวจได้ในวันเดียว ใครที่มีไข้และไปพบแพทย์ จะได้รับการตรวจเบื้องต้นด้วยชุดตรวจนี้ ในเมืองกวางตุ้งที่ห่างจากอู่ฮั่น ได้ทดสอบกับคนไปแล้วรวม 320,000 คน และมี 0.14% ที่ตรวจแล้วพบไวรัส

คำถามคือ ถ้าเรามีผู้ติดเชื้อ 10% ของจีน เราทำได้หรือไม่?

 

คนไม่ตาย แต่ทำลายทุกสังคม สาหัส

แต่ไม่ใช่ว่าไม่ถึงตายแล้วไม่กลัว เพราะโรคนี้ไม่ทำลายเฉพาะชีวิตคน ไม่เพียงชีวิตเรา ชีวิตญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง คนที่เรารัก คนที่เราชัง แต่จะทำลายเศรษฐกิจ ทำลายวัฒนธรรมและวิถีชีวิต

มาตรการที่อดีตรองนายกฯ จาตุรนต์เสนอ ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็น

ปิด (ประเทศ, เมือง) สกัด (การเดินทาง)… คัด…กัก…ค้นหา…(ผู้ติดเชื้อ)…รักษาเพิ่ม (หมอ เตียง เครื่องมือ ยา หน้ากาก) และช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ แก่ผู้ได้รับผลกระทบ

…แต่…เจ้าหน้าที่ WHO สรุปว่า

“ชุมชนส่วนใหญ่ในโลกนี้ยังไม่พร้อมรับมือเรื่องนี้, ทั้งในแง่ของวิธีคิดและทางเครื่องใช้ไม้สอย, ไม่พร้อมที่จะใช้มาตรการแบบที่ใช้ควบคุม Covid-19 ในจีน

แต่ว่า…ต้องทำแบบจีนเท่านั้น จึงจะสามารถหยุดยั้งหรือทำให้เกิดการแพร่เชื้อเป็นลูกโซ่ต่อถึงกันในมนุษย์ได้ คือมาตรการการเฝ้าระวังอย่างเข้มแข็งสูงสุดในการตรวจหาผู้ติดเชื้อให้ได้ไวที่สุด, ให้มีการวินิจฉัยโรคที่รวดเร็วมากๆ และการแยกผู้ป่วยอย่างทันที, การติดตามผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด และการกักกันตัวผู้ที่ติดต่อใกล้ชิด, รวมไปถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจ และการยอมรับในมาตรการเหล่านี้ในระดับสูงในหมู่ประชากร”

แปลง่ายๆ คือ ถ้าเจอการระบาดแบบจีนจะไม่มีประเทศไหนจะรับมือได้แบบที่จีนทำ

แต่ขณะนี้การระบาดแบบ Pandemic ทำให้หลายประเทศคล้ายจีนตอนอาการหนัก เช่นในยุโรป แล้วถ้าทำแบบจีนไม่ได้ สภาวะ Pandemic ของ Covid-19 จะจบอย่างไร

ประเทศไทยถ้าทำไม่ได้แบบจีน จะเป็นอย่างไร?

เราหวังว่าคงไม่เหมือนประเทศหนาวในยุโรปอย่างอิตาลีหรือสเปน ที่จะคล้ายกันคือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ชิลี บราซิล ที่จะเป็นตัวอย่างให้เหลียวดู

มีคนบอกว่าให้พึ่งตนเอง และสวดคาถาบูชาพระอาทิตย์เข้าไว้ นี่จะเป็นฤดูร้อนครั้งแรกที่รู้สึกอบอุ่น (ใจ)