คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : หนึ่งวันเรียนรู้กับ “นักบวชหญิง” หนึ่งวันบ่มเพาะ “โพธิจิต”

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมเคยคุยกับภิกษุณีแค่ครั้งเดียว คือคุยกับหลวงแม่ธัมมนันทาในตอนที่ไปสัมมนาที่พะเยา กระนั้นก็ติดตามข่าวคราวของภิกษุณีมาโดยตลอด พอจะทราบความเคลื่อนไหวต่างๆ ทางเฟซบุ๊ก

ไม่นานมานี้สังฆวัชรปัญญานำโดยมิตรสหายวิจักขณ์ พานิช เชิญภิกษุณีเจ็งเคอร์ ฉี จากสำนักภิกษุณี Luminary Buddhist Institute ประเทศไต้หวันมาให้ความรู้แลกเปลี่ยนที่กรุงเทพฯ โดยมีหัวข้อสำคัญคือเรื่อง “โพธิจิต” ผมจึงไม่พลาดที่จะไปรับคำสอน

ท่านเจ็งเคอร์ เป็นเพื่อนของวิจักขณ์ เพราะท่านไปเรียนต่อปริญญาโททางภาษาสันสกฤต ที่มหาวิทยาลัยนาโรปะ ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่วิจักขณ์กำลังเรียนอยู่จึงได้สนิทสนมกัน

ต่อมาท่านเดินทางไปศึกษาต่อเกี่ยวกับพุทธศาสนาวัชรยานจากซิการ์ คองทรุล ริมโปเช ลามะรูปสำคัญที่ประเทศอินเดียอีกหลายปี และกลับไปดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการของ Luminary Buddhist Institute

ที่ไต้หวันภิกษุณีมีจำนวนมากกว่าภิกษุนะครับ และภิกษุณีไต้หวันนั้น ล้วนเป็นกำลังสำคัญของศาสนา ทั้งยังทำงานด้านสังคมสงเคราะห์และกิจการเพื่อมนุษยธรรมอื่นๆ ได้อย่างดีมาก มีวัดที่เข้มแข็งที่มีชื่อเสียงอย่างฉือจี้ ฝอกวงซัน และอื่นๆ

พระอาจารย์ของท่านเจ็งเคอร์คือพระธรรมาจารย์อู่อิน เป็นภิกษุณีที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ตั้งใจจะสร้าง “สังฆะ” ที่มีความเข้มแข็ง ท่านจึงฝึกฝนภิกษุณีอย่างเข้มงวด ให้สามารถพึ่งตนเองได้ในระยะแรก เมื่อพึ่งตนเองได้จึงสามารถออกไปช่วยเหลือผู้คนได้อย่างไม่เป็นภาระให้เขา อีกทั้งยังให้ภิกษุณีมีความเข้มแข็งในเรื่องปริยัติ ต้องศึกษาพระธรรมจากฝ่ายนิกายอื่นๆ ด้วย

ท่านเจ็งเคอร์เล่าว่า อาจารย์ของท่านสนใจคำสอนของท่านพุทธทาสมาก และสนใจพระฝ่ายวิปัสสนาของเรา เช่น พระอาจารย์ชา สุภัทโท ท่านเองเคยแปลหนังสือของท่านพุทธทาสไว้หลายเล่มจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาจีน เพื่อให้เหล่าภิกษุณีได้ศึกษาคำสอนอันแผกออกไป

นี่คือความเปิดกว้างที่น่าสนใจอย่างยิ่งของฝ่ายมหายาน

เช้าวันที่พบกันนั้น ท่านเริ่มต้นคำสอนเรื่องโพธิจิตอย่างเรียบง่าย มีผู้ฟังราวยี่สิบกว่าคนจากภูมิหลังที่ต่างกัน ท่านเริ่มต้นจากคำสอนในฝ่ายมหายาน และวัชรยานที่สวดท่องกันทุกวันว่า “เราจักยึดพระรัตนตรัยเป็นสรณะจนกว่าจะบรรลุธรรม และจะบำเพ็ญบารมีทั้งหกเพื่อตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ เพื่อประโยชน์แห่งสรรพสัตว์ทั้งหลาย”

ท่านกล่าวว่า พระรัตนตรัยนั้นมิใช่สิ่งภายนอก ทว่า คือคุณสมบัติภายในของเราเอง เรามี “ความดีพื้นฐาน” ภายในซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะต้องค้นหาให้พบให้ฉายฉานออกมาเองโดยธรรมชาติ ท่านเล่าเรื่องที่ท่านประสบแล้วผมถึงกับน้ำตาตก

ท่านเล่าว่า สมัยที่ท่านอยู่ในอินเดีย มีป้าแก่ๆ ชาวบ้านทิเบตท่านหนึ่ง ทุกๆ วันแกจะเดินไปประทักษิณรอบๆ พระสถูปตอนเช้า ไม่ว่าหนทางจะขรุขระแค่ไหน บางวันที่ฝนตกก็จะกางร่มและเดินเหมือนวันอื่นๆ

คราวหนึ่งมีเพื่อนจากอเมริกามาเยี่ยมท่านเจ็งเคอร์ ท่านจึงขอให้คุณป้าท่านนี้ช่วยดูแลเรื่องที่พักอาศัยและอาหารการกิน คุณป้าก็ดูแลเพื่อนชาวต่างประเทศคนนี้อย่างดีแม้จะไม่สามารถสื่อสารกันได้ก็ตาม

เพื่อนชาวต่างประเทศชื่นชมกับการต้อนรับเอาใจใส่อย่างดีของคุณป้าท่านนั้นมาก

เมื่อท่านเจ็งเคอร์พบคุณป้าโดยบังเอิญในตลาด จึงกล่าวขอบคุณด้วยภาษาทิเบตกระท่อนกระแท่นว่า “คุณช่างมีความกรุณามากจริงๆ”

คุณป้าตอบกลับมาว่า นี่เป็นเพียงความกรุณาเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้นเอง ความกรุณาที่ยิ่งใหญ่คืออย่างความกรุณาของพระโพธิสัตว์

และป้ายังบอกว่าไม่ต้องขอบคุณท่านหรอก ท่านต่างหากที่ต้องขอบคุณ เพราะเจ็งเคอร์ได้เปิดโอกาสให้ท่านฝึกฝนที่จะขยายความกรุณาของตัวเองออกไปแม้จะเล็กน้อยก็ตาม

 

ฟังเรื่องนี้ด้วยความซึ้งใจ และท่านเจ็งเคอร์สรุปในตอนท้ายว่า คนที่จิตใจเรียบง่ายและมีที่พึ่ง คือพระรัตนตรัยภายในนั้นก็ไม่ยากที่จะมีความกรุณาเพิ่มพูน

เราสามารถที่จะฝึกฝนโพธิจิต เพื่อจะเกิดความกรุณาเช่นนั้นได้ อย่างแรกคือต้องพยายามที่จะเรียนรู้ “ร่องนิสัยเดิมๆ” ของตัวเอง ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจรูปแบบและการทำงานของจิต ที่สำคัญคือจะต้องไม่รีบ “ตัดสิน” ไม่ว่าจะเป็นตัวเองหรือคนอื่น สำคัญคือเราจะต้องศึกษาจิตใจอย่างเป็นกลาง เฝ้าดูและเรียนรู้มัน

การเฝ้าดูและเรียนรู้นี้คือการเปิด “พื้นที่” ของใจที่จะปล่อยให้ความเป็นไปได้ต่างๆ เกิดขึ้นอย่างมากมายหลายหลาก

โพธิจิตคือหัวใจที่ตื่นรู้

 

ท่านสรุปในตอนสุดท้ายว่า โพธิจิตมีสองขั้น ในขั้นความปรารถนาอันแรงกล้า โพธิจิตเป็นแรงบันดาลใจที่ประกอบกรณียกิจเพื่อสรรพสัตว์ ในขั้นลงมือกระทำคือขั้นต่อไป

การฝึกฝนโพธิจิตควรเริ่มจากขั้นแรก คือการมีแรงบันดาลใจและความหวัง ทว่ามิได้หมายความว่าเราต้องรีบร้อนทันทีทันใดที่จะปฏิบัติการ เป็นแต่เราต้องรักษา “ความอบอุ่น” ของหัวใจไว้ หล่อเลี้ยงจนสุกงอมแล้วขั้นที่สองจะตามมาเองอย่างธรรมชาติ สำคัญคือต้องไม่ลืมที่จะรอคอยและมีความหวัง เพราะหลายครั้งสิ่งต่างๆ ไม่อาจเป็นตามใจเรา และนั่นคือการ “ปล่อย” เพราะสิ่งต่างๆ “ย่อมเป็นเช่นนั้นของมัน”

ท่านสัพยอกว่าในหมู่ผู้ฟังล้วนแต่เป็นผู้มีการศึกษา บางครั้งการเรียนรู้เรื่องนี้อาจต้องใช้หัวใจมากกว่าสมองสักหน่อย

ที่สำคัญแม้ท่านจะเป็นภิกษุณีฝ่ายมหายาน ท่านก็ย้ำว่า คำสอนเหล่านี้เป็นมรดกธรรมของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ของนิกายใด ความปรารถนาของท่านคือหลอมรวมคำสอนของทุก “ยาน”เข้าด้วยกันเป็น “ตรียาน” หรือพุทธยาน โดยไม่แบ่งแยก

 

ผมได้มีโอกาสทานข้าวเที่ยงกับท่าน เพราะท่านเห็นว่าอาหารที่ผมเตรียมไปให้มีมากเกินไป เป็นครั้งแรกที่นั่งกินข้าวร่วมกับ “พระ” อย่างเท่าเทียมกัน

ซึ่งท่านเจ็งเคอร์ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าเราต่างกัน หรือท่านสูงส่งกว่าอะไรอย่างงั้นเลย

ครั้นถึงตอนเย็น ผม วิจักขณ์และภรรยาของผมก็พาท่านไปทานอาหารเย็น (พระวินัยฝ่ายเหนืออนุญาตให้ฉันเย็นได้ ในฐานะเภสัชชะ) เราจึงมีเวลาคุยกันอีกพอสมควร

วิจักขณ์เล่าให้ท่านฟังว่า ในเมืองไทยตอนนี้กำลังมีปัญหากัน บางฝ่ายกำลังโจมตีว่าพุทธของอีกฝ่ายไม่แท้ ทำกันอย่างนี้หลายต่อหลายครั้ง แล้วก็แย่งชิงว่าใครจะ “แท้กว่ากัน”

ท่านเจ็งเคอร์ฟังแล้วก็ทำหน้างง พร้อมกับถามว่า “ทำไมต้องทำแบบนั้นด้วย”

ท่านว่า ใครจะสอนอย่างไรก็เป็นสิทธิของคนนั้น ในไต้หวันไม่มีเรื่องอย่างนี้ แม้บางสำนักจะมีความเห็นบางอย่างที่ไม่ตรงกัน ก็จัดสัมมนาคุยกันอย่างสบายๆ สุดท้ายต่างคนต่างทำงานของตัวไป

ผมเคยคุยกับวิจักขณ์ว่า เรายากจะหาพระที่เราจะกราบไหว้ได้จริงๆ ในสมัยนี้ คือเป็นพระที่ไม่ใช่เพียงนักปฏิบัติที่เคร่งครัด หรือเก่งในทางวิปัสสนา ทว่า มีหัวใจที่เปิดกว้างและพร้อมจะเข้าไปร่วมทุกข์กับผู้คนโดยไม่หลีกลี้จากสังคม ไม่แสวงหาโภชผลอำนาจ หรือสูงส่งเสียจนกระทั่งสัมผัสไม่ถึง แต่มีความกรุณา

ซึ่งเป็นไปตามปณิธานของพระพุทธะ “จงจาริกไปเพื่อประโยชน์สุข (หิตายะ สุขายะ) ของผู้คนทั้งหลาย”

การได้พบท่านเจ็งเคอร์เพียงเวลาสั้นๆ ทำให้ผมมีความสุขมาก เพราะรู้สึกว่าตัวได้พบ “พระ” จริงๆ เสียที พระที่เปิดกว้าง เป็นกันเอง โอบอุ้มผู้คนไว้ รักที่จะเรียนรู้และปราศจากความทะยานอยากทางวัตถุ ไม่ได้เคร่งครัดวินัยตามตัวอักษร ทว่า เข้าใจเจตนารมณ์ที่แท้จริงของพระวินัย จึงทำให้ท่านมีความยืดหยุ่นต่อผู้คนและสถานการณ์

คือมีจิตวิญญาณสมกับที่เป็นพระ

ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือท่านเป็น “พระผู้หญิง” หรือภิกษุณีอีกด้วย ยิ่งทำให้ผมตระหนักว่า เมื่อความเป็น “หญิง” มารวมกับความเป็น “พระ” นั้น ช่างสูงส่งและนุ่มนวลเพียงใด

จึงเข้าใจว่าเหตุใดพุทธะจึงฝากธรรมไว้กับพุทธบริษัทสี่ และเราผู้ชายควรอย่างยิ่งที่จะต้องก้มประนมไหว้นักบวชหญิงด้วยความเคารพ

วันหนึ่งของผมกับภิกษุณีจึงไม่ได้รับเพียงคำสอนที่ยิ่งใหญ่ซึ่งทำให้ผมสั่นไหวตลอดเวลา แต่ได้รับมิตรภาพอันเป็นสิ่งที่งดงามยิ่งด้วย

ขอขอบคุณจากใจ