สถานีคิดเลขที่12 โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร / ล็อกดาวน์”นักการเมือง”

สถานีคิดเลขที่12 / สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

—————————-

ล็อกดาวน์”นักการเมือง”

—————————-

ตามโครงสร้าง ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด -19 (ศบค.) นั้น

ที่มีการมองว่า มีการ “ล็อกดาวน์” ไม่ให้ฝ่ายการเมือง เข้ามายุ่งเกี่ยวนั้น

อาจจะไม่ตรงเป๊ะนัก

ด้วยหากไปดู คณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ที่มี นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ แล้วนั้น

ในส่วนกรรมการอีก 23 คน

ยังมีฝ่าย “การเมือง” แจม อยู่บ้าง

ไม่ว่า รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

ไม่ถึงกับ ปิดตายเลยทีเดียว

แต่ถามว่า ในฐานะ ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยเสียงสนับสนุน ของ พรรคร่วมสิบเอ็ดพรรค

พล.อ.ประยุทธ์ ได้ใช้ช่องทางการเมืองดังกล่าว เพื่อขับเคลื่อนสู้วิกฤตไวรัส โควิด-19 หรือไม่

ก็คงต้องบอกว่า น้อยมาก

มิใช่น้อยธรรมดา ยังปรากฏภาพด้วยว่า “ฝ่ายการเมือง” ได้กลายเป็น “ปัญหา” หรือ “ตัวถ่วง” เสียเองด้วย

จึงแทบจะไม่มีเสียงคัดค้าน

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เลือกจะแก้วิกฤตครั้งนี้ โดย ปราศจากนักการเมือง

หันกลับไปใช้ โครงสร้างเดิม คือพึ่งพา “พรรคข้าราชการประจำ”

โดยมีหมอ ทหาร ตำรวจ กอ.รมน.เป็นแกนหลัก

จนรู้สึกว่า นี่คือการฟื้นคืนกลับมาของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อีกครั้ง

เพียงแต่ปรับให้นุ่มนวลขึ้น

คือ ให้ บทบาท พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ( ผบ.ทสส.) เป็นฝ่ายนำในฐานะตัวแทน กองทัพไทย

ส่วน ผู้นำทหาร ที่เป็น “ตัวนำ”ตลอด อย่างพล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เปลี่ยนไปเป็นกองหนุน

ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ทราบดีถึงการเป็น “สายล่อฟ้า” ที่อาจไม่เหมาะจะทำหน้าที่ สื่อสารในยามวิกฤตนี้

ภาระกิจนี้จึงมอบให้ พล.อ.พรพิพัฒน์ ซึ่งแข็งกร้าวน้อยกว่า

ประกอบกับ กองทัพบกเอง ก็เผชิญกับปัญหาเรื่องสนามมวยลุมพินี ที่เป็นจำเลยสังคมว่าเป็นแหล่งใหญ่แพร่เชื้อโควิด-19

ถูกกดดันจากสังคมจนต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน

ทำให้ บทบาทของพล.อ.อภิรัชต์ ไปอยู่ในแถวสองฐานะผู้สนับสนุน มากกว่าผู้นำ

แต่กระนั้น เชื่อว่า หากสถานการณ์รุนแรงขึ้น ถึง ขนาดจะต้อง ล็อกดาวน์พื้นที่ จริงๆ

กองทัพบก ก็คงต้องเป็นหลักอยู่ดี

เพียงแต่อาจจะมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ระดับความสัมพันธ์ ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับพล.อ.อภิรัชต์ ยังแนบแน่นเหมือนเดิมหรือไม่

ซึ่งหากเป็นอย่างที่ตั้งข้อสังเกตุจริง พล.อ.ประยุทธ์ ก็คงแสดงบทบาทผู้นำทหาร ในฐานะ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม”มากยิ่งขึ้น

ส่วนพล.อ.อภิรัชต์ก็กลับไปยืนในแถวสองในฐานะผู้สนับสนุน

แต่ก็นั่นแหละ แม้จะปรากฏร่องรอย ความไม่แนบแน่น อย่างที่ซุบซิบกัน แต่ถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะเลือกใช้หรือพึ่งพาใครมากกว่ากัน

ระหว่างฝ่ายการเมือง กับฝ่ายทหาร (และข้าราชการประจำ)

แน่นอน ย่อมเป็นฝ่ายทหารและข้าราชการประจำอย่างแน่นอน

ส่วนนักการเมือง

ถูก”ล็อกดาวน์”ไว้เรียบร้อย

————