ฟ้า พูลวรลักษณ์ : หนังสือเรียนสำหรับเด็ก (161) : สู้กันในความเชื่อ ในวัฒนธรรม

ฟ้า พูลวรลักษณ์

สิ่งพื้นฐาน คือทิศทั้งสี่

ประวัติศาสตร์โลก หากมองแบบเรียบง่าย คือการต่อสู้ของทิศ ระหว่างทิศตะวันออกกับทิศตะวันตก ระหว่างทิศเหนือกับทิศใต้

อารยธรรมตะวันออกกับอารยธรรมตะวันตกสู้กันมานาน เช่น สองพันกว่าปีก่อน วันที่อาณาจักรเปอร์เซียยกทัพไปบุกกรีก และไปแพ้ที่นั่น มันมีผลกว้างใหญ่

เพราะหากวันนั้นอาณาจักรเปอร์เซียชนะ อารยธรรมของโลกวันนี้จะเปลี่ยนรูป เนื่องจากอารยธรรมตะวันออกจะมีอิทธิพลหยั่งลึกลงไปในตะวันตก

เมื่อกรีกชนะ พวกเขาจึงสามารถพัฒนาตัวเอง จนกลายเป็นบิดาของอารยธรรมตะวันตก

ในทางกลับกัน ในสมัยโรมัน หากโรมันสามารถแผ่อาณาเขตเข้ามาในอินเดียหรือจีนได้ อารยธรรมตะวันตกจะหยั่งรากลึกในตะวันออก โลกวันนี้จะไม่เหมือนวันนี้ หากแต่พวกเขาข้ามด่านของชาวพาร์เธียไม่ได้ หรืออเล็กซานเดอร์มหาราช ก็ยกทัพมาได้ไม่พ้นตอนเหนือของอาณาจักรอินเดีย ต้องถอยร่นกลับออกไป

ในทางกลับกัน หากสมัยก่อน จีนสามารถแผ่ขยายอาณาเขตเข้าไปในยุโรป หรืออเมริกา โลกวันนี้ก็ไม่เหมือนวันนี้

นี่คือการต่อสู้อันยาวนานของตะวันออกกับตะวันตก แม้วันนี้ก็ยังรบกันอยู่ สู้กันในจิตใจ สู้กันในความเชื่อ ในวัฒนธรรม ในทางเศรษฐกิจ ในโครงสร้างของครอบครัว ในความรู้ ในศิลปะ มันแตกต่างกัน น่าประหลาด เพียงเพราะทิศต่าง ต้นกำเนิดมันนิดเดียว แค่ดวงอาทิตย์ขึ้น

การต่อสู้ของเหนือกับใต้ ไม่รุนแรงล้ำลึกเท่าตะวันออกกับตะวันตก แต่กระนั้นก็มีอยู่จริง เห็นได้ชัดในเมืองจีน ประวัติศาสตร์ยาวนานหลายพันปี คือการต่อสู้ของเหนือกับใต้ เหนือเป็นที่ราบ เป็นที่อยู่คนเลี้ยงสัตว์ อากาศหนาวเย็น ใต้เป็นดินแดนกสิกรรม อากาศอบอุ่น มีแม่น้ำลำคลองมาก การต่อสู้ ส่วนใหญ่เหนือจะชนะ เพราะเข้มแข็งกว่า แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะมาถูกย่อยสลายในภาคใต้ เพราะทางใต้อบอุ่นกว่า ชาวมงโกลหรือชาวแมนจู มาจากทางเหนือ เอาชนะทางใต้ได้ แต่ก็ค่อยๆ กลายเป็นคนใต้ในกาลต่อมา

สงครามกลางเมืองในอเมริกา ก็รบกันระหว่างเหนือกับใต้ เหนือชนะ ไม่ใช่เพราะรบเก่งกว่า แต่เพราะประชากรมากกว่า ทหารมากกว่า มีความเจริญทางอุตสาหกรรมมากกว่า ทางใต้เป็นดินแดนกสิกรรม เป็นไร่นา สงครามตัดสินกันที่ใครมีความพร้อมมากกว่า

ทุกวันนี้ยุโรปเหนือกับยุโรปใต้ก็ไม่เหมือนกัน พวกเขาไม่ได้รบกัน แต่ก็แข่งขันกัน ขัดแย้งกัน มันคือการต่อสู้ในจิตวิญญาณ

ที่จริงโลกเรานี้ หากมองในระยะยาว มันสรุปได้ง่ายๆ เพียงว่า

๑ รวมแล้วแยก

๒ แยกแล้วรวม

ซึ่งเป็นธรรม มันจึงเป็นอย่างนี้ชั่วนิรันดร์

สหรัฐอเมริกา เพิ่งก่อกำเนิดมาได้สองร้อยกว่าปี เกิดจากหลายรัฐมารวมกันเป็นชาติเดียว ด้วยระยะเวลาน้อย จึงเห็นแต่การรวมตัว ยังไม่เห็นคำว่า รวมแล้วแยก แต่เพราะมันเป็นธรรม วันหนึ่งมันก็แยกได้ คนที่ไม่เข้าใจธรรมอาจแปลกใจ เพราะตั้งแต่เกิดเห็นชาตินี้เป็นชาติเดียว แต่ที่จริงมันก็พร้อมจะกลายเป็นหลายชาติ

แต่แยกแล้วก็รวม ยุโรปมีหลายชาติมาช้านาน แต่วันหนึ่งพวกเขาก็รวมกันเป็นชาติเดียวได้ อาจนานสักหน่อย เพราะมีกำแพงทางวัฒนธรรม ความแตกต่างทางภาษา อาจนานหลายพันปี แต่วันหนึ่งพวกเขาก็รวมกันได้

ตัวอย่างที่เห็นชัดของธรรม ข้อนี้คือประเทศจีน หากมองประวัติศาสตร์ห้าพันปีของจีน จะพบว่า พวกเขาบางครั้งก็รวมกันเป็นชาติเดียว บางครั้งก็แยกออกเป็นหลายก๊ก ระยะเวลาแห่งการรวมและแยก ช่างยาวนานยิ่งนัก รวมกันเป็นร้อยๆ ปี แล้วก็แยกกันเป็นร้อยๆ ปี เช่น แยกกันเป็นก๊กๆ ในสมัยชุนชิวเลียดก๊ก ยาวนานห้าร้อยกว่าปี แต่รวมกันเป็นชาติเดียวในราชวงศ์ฮั่น นานสี่ร้อยกว่าปี แล้วมาแยกกันใหม่ในสมัยสามก๊กหกสิบปี แล้วรวมกันใหม่ในสมัยราชวงศ์จิ้นร้อยกว่าปี แล้วแยกกันใหม่อีกเป็นราชวงศ์เหนือใต้ร้อยกว่าปี เป็นต้น

มองแบบคร่าวๆ การรวมและแยก แบ่งออกเป็น

๑ อย่างสั้น คือไม่ถึงร้อยปี

๒ อย่างปานกลาง คือร้อยกว่าปี

๓ อย่างยาวนาน คือห้าร้อยปีขึ้นไป

แต่เพราะชีวิตคนเรานั้นสั้น คนเราอยู่ได้ไม่เกินร้อยปี เราจึงมองไม่เห็น มีกี่คนที่เกิดมาในวันที่เยอรมันเป็นชาติเดียว จนถึงวันที่เกิดแยกเป็นสองประเทศ แล้วยังอยู่ต่อ จนได้เห็นวันที่รวมกันใหม่ เป็นประเทศเดียว อยู่นานจนวันที่เกิดกำแพงเบอร์ลิน และวันที่กำแพงนั้นพังทลายลง คงไม่มีมากนัก และนี่ถือเป็นการรวมและแยกแบบสั้น แต่หากเป็นแบบยาว คงไม่มีใครมองเห็น ในหนึ่งชีวิตของเขา

มันเกิดขึ้นแบบนี้ เป็นธรรม

วันนี้บางคนอาจเพลิน หลงคิดว่าสหรัฐกับจีนแผ่นดินใหญ่ต่างเป็นชาติเดียว มั่นคงดั่งภูผา แต่กาลเวลาผ่านไป หนึ่งชาติเดียวนี้ ก็แตกออกเป็นหลายชาติ เพราะธรรมนั้นยิ่งใหญ่เกินกว่าใครจะห้ามได้

วันหนึ่งโลกนี้อาจรวมเป็นหนึ่งรัฐบาล เรียกรัฐบาลโลก แต่คำถามคือนานเท่าไร ต่อให้นานหลายร้อยปี วันหนึ่งก็แยกกันอยู่ดี น่าเศร้า น่าพิศวง น่าเบื่อ ช่างไม่รู้จบสิ้น แต่นี่คือกติกาใหญ่ของโลก มันคือธรรมของโลกนี้