ศัลยา ประชาชาติ : เทหมดหน้าตักสกัดโควิด-19 ระดมเงินทุกบัญชีกู้ชีพจรเศรษฐกิจ พยุงตลาดทุน-ตลาดสด-คนตกงาน

ไวรัสตัวจิ๋ว “โควิด-19” แสดงอานุภาพทำลายล้างไปทั่วโลก สั่นคลอนโครงสร้างอำนาจ ท้าทายทุกอณูของผู้บริหารหลายๆ ประเทศในภาวะวิกฤต

พร้อมกันนั้น พิษโควิด-19 ก็แพร่เชื้อรวดเร็วลามสู่วิกฤตเศรษฐกิจ ตั้งแต่ตลาดทุน-ยันตลาดสด สร้างความเสียหายถึงเศรษฐกิจฐานราก

กูรูทางการแพทย์-เศรษฐกิจ ฟันธงตรงกัน สงครามโควิด-19 ยืดเยื้อ-ยาวนาน 1 ปีเป็นอย่างน้อย

แพ้สงครามโควิด-19 เท่ากับล้มละลายทางเศรษฐกิจ

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงต้องระดมมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจทั้งทางตรง-ทางอ้อม ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 เพื่อต่อลมหายใจพ่อค้าในตลาดหุ้น รายย่อย-รายใหญ่ แรงงานและชาวบ้านหาเช้ากินค่ำ

รวบรวมเงินจากทุกบัญชี พลิกทุกตัวบทกฎหมาย หาช่องกู้เงินมาเติม เพื่อให้เพียงพอต่อการเยียวยา ความล่มสลายของเศรษฐกิจและปัญหาสังคมที่ตามมาเป็นระลอก

 

โดยเฟสแรก ประกอบด้วย 6 มาตรการดูแลและเยียวยาประชาชน ได้แก่

1. ค่าเสี่ยงภัยให้บุคลากรทางการแพทย์-สัตวแพทย์ ผลัดละ 1,500 บาท/คน พยาบาลและอื่นๆ ผลัดละ 1,000 บาท/คน

2. ลดค่าน้ำ-ค่าไฟ 3% ระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน-มิถุนายน) คืนค่าประกันการใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัย-กิจการขนาดเล็ก 21.5 ล้านราย วงเงิน 30,000 ล้านบาท และตรึงอัตราค่าไฟ (FT) เดือนพฤษภาคม 2563 ในอัตรา 11.60 สตางค์/หน่วย วงเงิน 4,534 ล้านบาท

3. ลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้าง-ลูกจ้าง กรณีผู้ประกันตนมาตรา 33 จาก 5% เหลือ 1% และกรณีมาตรา 39 จาก 9% เหลือ 7% เวลา 3 เดือน และขยายเวลาส่งเงินสมทบของนายจ้าง-ผู้ประกันตน งวดค่าจ้างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563 ออกไป 3 เดือน

4. ยกเว้นค่าเช่าที่ราชพัสดุ 1 ปีให้กับผู้อาศัย-เกษตรกร

5. เพิ่มวงเงินกองทุน SSF จาก 2 แสนบาท เป็น 4 แสนบาท

และ 6. จ้างงานประชาชน 6 เดือน 9,000 บาท/เดือน งบประมาณ 2,700 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังเข็น 10 มาตรการสำหรับผู้ประกอบการ ได้แก่

1. สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำรายละไม่เกิน 20 ล้านบาท/ราย ดอกเบี้ย 2% 2 ปี วงเงิน 150,000 ล้านบาท

2. พักเงินต้น-ลดดอกเบี้ย และขยายการชำระหนี้ของลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

3. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนคลายหลักเกณฑ์การปรับโครงสร้างหนี้-ผ่อนปรนเกณฑ์จัดชั้นสินเชื่อให้เร็วขึ้น-ยืดหยุ่นการประเมินกระแสเงินสดเพื่อการกู้

4. สินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานของผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคม (ไม่ปลดลูกจ้าง) วงเงิน 30,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 3%/ปี เวลา 3 ปี

5. ลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย จาก 3% เหลือ 1.5% (เมษายน-กันยายน)

6. เร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

7. กรมบัญชีกลางผ่อนปรนหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้าง

8. หักภาษีดอกเบี้ยจ่าย จาก 1 เท่า เป็น 1.5 เท่า (Soft Loan 150,000 ล้านบาท)

9. ไม่ปลดแรงงานหักรายจ่ายจ่ายค่าจ้างงานได้ 3 เท่า

และ 10. เลื่อนการจ่ายค่าเช่าที่ราชพัสดุ

 

เฟสสอง แบ่งออกเป็น 8 มาตรการดูแลและเยียวยาแรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระ ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม จากคำสั่ง “ปิดสถานที่เสี่ยง”

1. ให้เงินรายละ 5,000 บาท/เดือน เวลา 3 เดือน 3 ล้านคนเป็นอย่างน้อย งบประมาณ 45,000 ล้านบาท

2. สินเชื่อฉุกเฉิน 10,000 บาท/ราย โดยไม่จำเป็นต้องมีหลักประกัน วงเงิน 40,000 ล้านบาท

3. สินเชื่อพิเศษเพิ่มเติม 50,000 บาท/ราย โดยมีหลักประกัน วงเงิน 20,000 ล้านบาท

4. สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับการรับจำนำของสำนักงานธนานุเคราะห์ วงเงิน 2,000 ล้านบาท รวมงบประมาณ 30,946 ล้านบาท

5. เพิ่มทักษะและเสริมความรู้ ฝึกอบรมมีเงินใช้วันละ 300 บาท งบประมาณ 4,380 ล้านบาท

6. เลื่อนชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นสิ้นสุด 31 สิงหาคม 2563

7. หักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพเพิ่มขึ้นจากเดิมไม่เกิน 15,000 บาท เป็นไม่เกิน 25,000 บาท

8. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าตอบแทนในการเสี่ยงภัยของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข

6 มาตรการสำหรับผู้ประกอบการ ได้แก่

1. สินเชื่อรายย่อย เช่น ธุรกิจทัวร์ ธุรกิจสปา รถทัวร์ รถบัส รถตู้ รถแท็กซี่ เรือนำเที่ยว รถเช่า บริษัทนำเที่ยว โรงแรม ห้องพัก และร้านอาหาร ไม่เกิน 3 ล้านบาท/ราย วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท

2. เลื่อนชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล ภ.ง.ด.50 ออกไปเป็นภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ภ.ง.ด.51 ออกไปเป็นภายในวันที่ 30 กันยายน 2563

3. เลื่อนยื่นภาษี VAT ภาษีธุรกิจเฉพาะออกไป ให้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องปิดสถานประกอบการตามคำสั่งของทางราชการ 1 เดือน

4. ขยายชำระภาษีสรรพสามิตให้กิจการสถานบริการ-น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน 3 เดือน

5. ยกเว้นอากรขาเข้าของที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 ออกไป 6 เดือน

และ 6. ยกเว้นภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล เช่าซื้อ ลีสซิ่ง

 

ยังมีมาตรการช่วยเหลือคนทำงานโดยจะมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานตั้งแต่ 1 มีนาคม กรณีนายจ้างหยุดกิจการ-นายจ้างปิดเอง ประกันสังคมจ่ายชดเชยร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ไม่เกิน 180 วัน กรณีรัฐสั่งให้หยุดกิจการชั่วคราว จ่ายชดเชยร้อยละ 50 ไม่เกิน 60 วัน (ไม่เกิน 7,500 บาท/เดือน)

จ่ายประโยชน์ทดแทนผู้ประกันตน กรณีลาออก ร้อยละ 30 ไม่เกิน 90 วัน (4,500 บาท/เดือน) และกรณีเลิกจ้าง ร้อยละ 50 ไม่เกิน 180 วัน (7,500 บาท/เดือน)

เพิ่มเติมประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจรับประโยชน์ทดแทนตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายวัน เพราะเหตุถูกเลิกจ้าง โดยให้ได้รับครั้งละไม่เกิน 200 วัน

เพิ่มอัตราเงินทดแทนกรณีว่างงานร้อยละ 45 ของค่าจ้างรายวัน เพราะเหตุลาออกจากงานหรือเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้าง โดยให้ได้รับครั้งละไม่เกิน 90 วัน

ประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยตามมาตรา 79/1 มีสิทธิได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราเต็มจำนวน 100% ของค่าจ้างรายวัน ไม่เกิน 180 วัน

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้ลดเงินหลักประกันสำหรับผู้ประกอบธุรกิจด้านการนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ประเภท

1. ธุรกิจนำเที่ยวประเภทเฉพาะพื้นที่ เดิม 1 หมื่นบาท เหลือ 3 พันบาท

2. ธุรกิจนำเที่ยวประเภทในประเทศ เดิม 5 หมื่นบาท เหลือ 1.5 หมื่นบาท

3. ธุรกิจนำเที่ยวประเภทนำเที่ยวจากต่างประเทศ เดิม 1 แสนบาท เหลือ 3 หมื่นบาท

4. ธุรกิจนำเที่ยวประเภททั่วไป เดิม 2 แสนบาท เหลือ 6 หมื่นบาท

มาตรการเพิ่มเติมให้ธนาคารออมสินเพื่อปล่อยกู้ให้แก่ผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวเป็นการเฉพาะ วงเงิน 10,000 ล้านบาท และมาตรการดูแลสายการบินเที่ยวบินภายในประเทศ โดยการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่น จาก 4.726 บาทต่อลิตร เป็น 0.20 บาทต่อลิตร จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563

 

อีกขาหนึ่งในด้านการประคับประคอง ตลาดเงิน-ตลาดทุนไทย กระทรวงการคลัง-ธปท.-สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็แท็กทีมตั้ง “กองทุนพยุงหุ้น” เสริมสภาพคล่อง จากการผลักดันของ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี

1. เสริมสภาพคล่องให้กองทุนตราสารหนี้ มูลค่ารวม 1 ล้านล้านบาท

2. กองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ วงเงินเริ่มต้น 70,000-100,000 ล้านบาท

และ 3. แทรกแซงตลาดตราสารหนี้ภาครัฐ

และล่าสุด นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ยังเตรียมแผนสำรอง-ฉุกเฉิน หากสงครามโควิด-19 วิกฤตเศรษฐกิจเรื้อรังข้ามปี เช่น การออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายกลางปี และพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินฉุกเฉินอีกหลายแสนล้าน

ทุกสรรพกำลัง-เงินทุกเก๊ะ ถูกกวาดมากองเดียว ทุ่มแก้วิกฤตที่คนไทยไม่เคยพานพบมานับร้อยปี