หลังเลนส์ในดงลึก : “ถอยห่าง”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

ฤดูกาลที่ทำให้การบันทึกภาพสัตว์ป่า ง่ายขึ้น คือช่วงท้ายๆ ของฤดูแล้ง

ตอนที่ไฟป่าผ่านพ้นไปแล้วสักหนึ่งสัปดาห์ เพราะนั่นเป็นเวลาของ “ระบัด”

ระบัด คือหญ้าอ่อนสีเขียวเข้มขึ้นจากพื้นดินหลังไฟผ่านพ้น นี่คืออาหารชั้นดีของสัตว์กินพืช

ทุ่งหญ้ากว้างใหญ่หลายแห่งในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันออก ในเวลานี้ โอกาสการพบเห็นกระทิงและช้างฝูงใหญ่มีมาก ในป่าห้วยขาแข้ง พื้นดินซึ่งกลายเป็นสีดำเพราะเถ้าจากการที่หญ้าและต้นไม้เล็กๆ ถูกไฟไหม้ ก็มีสัตว์อย่างฝูงวัวแดงเลาะเล็มฝุ่นเถ้า

บางตัวล้มนอนกลิ้งเกลือกเล่นสนุก ด้วยท่าทางร่าเริง

พวกมันใจจดจ่อกับการรอความสมบูรณ์ที่กำลังจะมาถึง

เมื่อพูดถึงไฟ หลายคนกังวลว่าไฟจะเผาผลาญทุกสิ่งหมดสิ้น

มีบางสิ่งต้องสูญเสีย แต่ก็มีหลายสิ่งได้มา

 

ในยุคเริ่มของการทำงาน ระบัดทำให้ผมได้งานดีๆ

“เมื่อวานผมลองเข้าไปนั่งในซุ้มบังไพรที่พี่ตั้งไว้ริมทุ่งที่ไฟไหม้แล้ว ระบัดกำลังขึ้น เห็นเสือโคร่งพาลูกสามตัวมานอนเล่นใกล้ๆ เลยครับ” ประสาน คนงานหน่วยพิทักษ์ป่าทางตอนใต้ลำน้ำขาแข้ง บอกทันทีที่พบกัน

ไม่ใช่เรื่องแปลก พวกเขามักพบกับสัตว์ป่ามากมาย ตอนที่ผมไม่อยู่เสมอ

ได้บอกข่าวเช่นนี้กับผม คือความรื่นรมย์ของพวกเขาประการหนึ่ง

“พี่ออกไปวันเดียว วัวแดงเกือบ 20 ตัวออกมาเล่นขี้เถ้า” เขาย้ำ

ผมใช้เวลาในป่าทางตอนใต้ลำน้ำขาแข้งกว่า 4 ปี ในการทำหนังสือภาพสัตว์ป่าเริ่มแรก ที่ผมใช้ชื่อว่า “ชีพจรไพร” ประธาน และสาน พี่ชายเขา สมัครเข้าทำงานในช่วงเวลานั้น และได้ร่วมเดินป่ากันตลอด

คืนวันลอยกระทงปีหนึ่ง ผม ประธาน สาน และแมวตัวผู้ล่ำสัน ชื่อวาว

เราทำกระทงจากใบตองกล้วยป่า ลอยกระทงใต้แสงดวงจันทร์กลมโต ขณะมีเสียงคำรามของเสือโคร่งอยู่ไม่ไกล

หลายปีผ่านไป ประธานสอบได้เป็นพิทักษ์ป่า และกลับมาเป็นหัวหน้าหน่วย ส่วนสานย้ายไปอยู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทางภาคตะวันออก

เจ้าวาว แมวซึ่งต้องอยู่ใกล้ๆ คนเพราะกลัวกลิ่นเสือ ประธานเอาออกไปอยู่ที่บ้านในหมู่บ้าน

 

เป็นเรื่องปกติ ที่สัตว์ผู้ล่าจะมาวนเวียนแถวๆ ที่สัตว์กินพืชมาชุมนุม

ป่าเต็งรัง อันเป็นป่าที่มักโดนไฟไหม้ ต้นไม้ส่วนใหญ่มีเปลือกหนาพอรับมือกับเปลวไฟซึ่งผ่านไปอย่างรวดเร็วได้

เกิดไฟไหม้ในป่าเต็งรัง เป็นการรักษาสภาพป่าชนิดนี้ไว้ไม่ให้เปลี่ยนสภาพ

ไฟลามเข้าไปถึงป่าดิบแล้งซึ่งอยู่ใกล้ๆ ทำให้ป่าเต็งรังที่ทนทานไฟได้ดีกว่าเข้าทดแทนป่าดิบแล้ง

ป่าเต็งรังเพิ่มขึ้น ป่าดิบแล้งลดลง ใช่ว่าจะเป็นผลดีนัก เพราะในป่าดิบแล้งมีแหล่งน้ำและความอุดมสมบูรณ์มาก เป็นที่พักพิงของสัตว์ป่าได้ดี

แต่ระบัด คือแหล่งอาหารที่สัตว์ป่ารอคอย

ได้อย่างหนึ่ง เสียไปอย่างหนึ่ง

ความจริงนี้เกิดขึ้นเสมอ

 

ใบไม้แห้ง เหลืองกรอบ และน้ำตาลเข้มกองทับถมบนพื้นคือเชื้อเพลิงชั้นดี

ต้นไม้ปรับตัวลดการใช้น้ำทิ้งใบร่วงหล่นปกคลุมพื้นเพื่อรักษาความชื้นไว้บ้าง

ป่าเต็งรังเปลี่ยนแปลงสภาพไปตามฤดูกาล

เดือนมกราคม ป่าที่เขียวชอุ่มเริ่มปรากฏสีเหลืองสีแดง กระจัดกระจาย

ที่ใดปรากฏสีแดงย่อมหมายถึงแถวๆ นั้นอุดมไปด้วยต้นรัง ขณะต้นเต็ง คือพวกปรากฏสีเหลือง

ลมหนาวพัดโชย อุณหภูมิลดต่ำ ไอน้ำลดน้อยลง

น้ำในดินถูกดูดซับไปมากแล้ว วิธีหนึ่งอันช่วยทำให้อยู่รอด คือทิ้งใบลงปกคลุมโคนต้นเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำในดินระเหยไปมากนัก

การปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของต้นไม้

ทำให้ป่าในสายตาของคน สวยงามอย่างน่าอัศจรรย์

ใบเต็งสีเหลือง ใบรังสีแดง รวมกับใบตะคร้อสีส้ม ใบกระโดนสีเลือดหมู ใบมะกอกสีแดงสด ดูราวกับว่าต้นไม้ทุกต้นต่างอวดสีแข่งกัน

ก่อนทุกใบจะเหี่ยวเฉา ร่วงหล่นลงพื้น ต้นไม้เหลือแค่กิ่งโกร๋นๆ

เวลาสวยงาม มีเพียงระยะสั้นๆ

 

หลายคนอาจแปลกใจถ้าผมจะบอกว่า ฤดูแล้งนี่แหละ เดินป่ายาก

ใบไม้แห้งทับถมกระทั่งมองไม่เห็นด่านที่สัตว์ใช้เดินสู่แหล่งอาหาร ทำให้เดินหลงเส้นทางง่าย ใบไผ่บนพื้นทำให้ตอนเดินลงจากที่ชันๆ ลื่นไถล

ใต้ใบไม้แห้งคือที่อาศัยของเห็บจำนวนมากซึ่งพร้อมจะกระโดดเกาะผู้เดินผ่าน หยุดพักนั่งบนขอนไม้ล้ม หรือบนพื้นต้องหลีกเลี่ยง

แผลจากเห็บกัดนั้นคัน และอยู่ทนนาน

ความแห้งแล้งมีไปถึงเดือนเมษายน ปลายๆ เดือนมีนาคมเป็นเวลาที่ลมมรสุมจากมหาสมุทรจะพัดพาเอาไอน้ำเข้ามาในแผ่นดินแล้วความชื้นในบรรยากาศเพิ่มมากขึ้น อุณหภูมิร้อนจัดในรอบปี ความร้อนนี้พัดพาไอน้ำและอากาศขึ้นไปในบรรยากาศเบื้องสูง จนกระทั่งไอน้ำรวมตัวตกลงมาเป็นฝน

แค่เพียงฝนแรก ความแห้งแล้งในป่าก็เปลี่ยนแปลง ต้นไม้แตกตาจากกลุ่มเล็กๆ กิ่งก้านโกร๋นๆ ของต้นเต็ง ต้นรัง ปรากฏสีเหลือง สีแดงจากใบอ่อน กิ่งไผ่แห้งๆ เริ่มมีสีเขียว

ป่าอยู่ในห้วงเวลาแห่งความสวยงามอีกแล้ว แต่เดือนเมษายน ที่มีไฟไหม้ช่วงนี้ ป่าจะมีความวุ่นวาย เจ้าหน้าที่ไฟป่าในชุดกางเกงสีดำ เสื้อแขนยาวสีแดง มีงานเต็มมือ รถกระบะบรรทุกคนชุดนี้เข้า-ออก

บนท้องฟ้า เฮลิคอปเตอร์บินวันละหลายเที่ยว เพื่อรับ-ส่งคนและเสบียง

กลางวันท้องฟ้าขมุกขมัว กลางคืนเปลวไฟสีแดงเห็นเป็นหย่อม ดวงจันทร์ส่องแสงซีดๆ

ป่าเงียบสงบ ไร้เสียงสัตว์ป่า

สัตว์ต่างหาที่หลบภัย สัญชาตญาณพวกมันดีเลิศ ไม่ตกเป็นเหยื่อเพลิงง่ายๆ

หลังไฟผ่านพ้น สภาพที่เหลือคือเถ้าดำบนพื้น ต้นเต็ง ต้นรัง ลำต้นไหม้เกรียม

ควันไฟจากขอนไม้ล้ม ลอยเป็นสาย

หลายคนเห็นป่าในสภาพนี้ คิดว่านี่คือหายนะ
หนึ่งสัปดาห์ต่อมา

ปรง จะเป็นพืชที่โผล่พ้นดินมาก่อนใครอื่น จากนั้นเป็นพวกกระเจียว

และระบัด ก็ตามมา

ภายในหนึ่งเดือน สีเขียวของหญ้าโอนไหวไปตามแรงลม มองเห็นได้ทั่ว

ถึงช่วงเวลาที่เหล่าสัตว์ป่าชื่นชม

ป่ามีความเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล ช่วงเวลานี้มีสภาพอย่างหนึ่ง ขณะอีกเวลาก็เป็นอีกอย่าง

หลายครั้งเราเห็นป่าในสภาพสวยงาม

บางครั้งเห็นตรงกันข้าม

บางทีต้อง “ถอยห่าง” ออกมาสักนิด หาระยะอันพอเหมาะเพื่อจะได้ “เห็น” ภาพที่มองอย่างชัดเจน

 

ผมเชื่ออย่างเดียวกับที่หลายๆ คนเชื่อว่า

บางครั้ง เราไม่ได้มองสิ่งต่างๆ อย่างที่มันเป็น

เรา “เห็น” มันอย่างที่เราเป็น