ฉัตรสุมาลย์ : แหล่งโบราณสถานทางศาสนาในศีรปุร์

ไปชมโบราณสถานที่ศีรปุร์ (1)

พระภิกษุณีเถรวาทที่ไปในงานประชุมนานาชาติ เรื่องภิกษุณีที่จัดที่ศีรปุร์นั้น จะลุกออกมาฉันอาหารตอน 11.30 น. บรรดาแขกที่มาร่วมงานรับประทานอาหารกันตอนบ่าย กว่าจะกลับเข้ามาประชุมอีกที 16.00 น.

เราก็เลยถือโอกาสตอนบ่ายนี้ ออกไปชมโบราณสถานของศีรปุร์ ซึ่งเป็นความสนใจจริงๆ มากกว่างานประชุมด้วยซ้ำ

อย่างที่เกริ่นไปแล้วว่า ศีรปุร์เป็นโบราณสถานที่เพิ่งค้นพบและเพิ่งเปิดให้เข้าชมเมื่อ 2543 นี้เอง

ตอนที่เบรกอาหารกลางวันที่รีสอร์ตเราก็ตั้งข้อสังเกตกันว่า มาสร้างรีสอร์ตในกลางป่ากลางดงเช่นนี้ จะมีใครมาอยู่หนอ ห้องพักหลายสิบห้อง ภูเขาก็ไม่มี น้ำตกก็ไม่มี ชายหาดก็ไม่มี

ตอนบ่ายที่เราออกไปชมโบราณสถานจึงถึงบางอ้อ ว่า เขามาชมโบราณสถานกันไง ที่ศีรปุร์มีการขุดค้นพบวัดทั้งพุทธ ทั้งเชน และฮินดู ของฮินดูว่ามีถึง 40 แห่ง มักจะเป็นวิหารพระศิวะ

เราสนใจโบราณสถานของพุทธมีถึง 10 กว่าแห่งทั้งในศีรปุร์ และตำบลที่อยู่โดยรอบ ศีรปุร์เองก็เป็นโบราณสถาน ไม่ใช่เมืองดังที่ผู้เขียนเองเข้าใจผิดตอนที่มา

 

เราขับรถออกมาจากรีสอร์ตสักครึ่ง ก.ม. ถึงทางสามแยก ตรงนี้มีอนุสาวรีย์ของ ดร.อัมเบดการ์ เป็นหมายว่าน่าจะมีชาวพุทธใหม่อยู่แถวนี้ เราเลี้ยวขวาไปนิดเดียวก็ถึงที่หมาย ถ้าออกเดินมาเองก็ได้ มาถึงวิหารที่สวยที่สุด เรียกว่า ติวารเทพวิหาร วิหารนี้มีพื้นที่ 902 ตร.ม. พบเสาหินแกะสลักถึง 16 ต้น ดูความงดงามในรูปนะคะ

หลังคาด้านบนปรักหักพังไปหมดแล้ว มีโครงเหล็กใหม่ทำเป็นหลังคาคลุมวิหารอยู่ โครงสร้างแต่ละห้อง นับจากนอกสุด เข้าไปทีละห้อง ห้องในสุดเรียกว่า ครรภคฤห์ คือที่พบพระพุทธรูปที่สมบูรณ์ที่สุด ดังภาพค่ะ

ที่กรอบประตูด้านนอกสุด เป็นหินแกะสลักได้สัดส่วนงดงาม เป็นเรื่องราวของกามภพ ผู้หญิงผู้ชายยืนอิงแอบกัน เป็นลักษณะเฉพาะของวิหารนี้ ตามช่องที่ถูกบังคับโดยความกว้างของขอบประตู แม้แต่ขอบที่คั่นแต่ละกรอบรูปแกะสลักก็ให้รายละเอียด เช่น วัวชน ช้างคู่ แสดงถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น ภาพนายช่างปั้นหม้อ ฯลฯ

ภาพแกะสลักของแขกถ้าเป็นผู้หญิงก็จะเน้นสัดส่วนที่เป็นถัน เอวคอด สะโพกผาย เครื่องประดับทั้งคอ ผม ตุ้มหู กำไลแขน และต้นแขน กำไลเท้า เครื่องประดับที่เอว ฯลฯ

ที่วิหารนี้ เป็นจุดเด่นที่สุดในบรรดาวิหารที่ขุดพบในช่วงศตวรรษที่ 6-12 ซึ่งถือเป็นยุคที่พุทธศาสนารุ่งเรืองในดินแดนแถบนี้

ชื่อศีรปุร์ ที่เรียกในปัจจุบันนั้น เดิมชื่อเมื่องศรีปุระ เป็นดินแดนในแคว้นโกศลตอนล่างค่ะ ตอนนี้เราชักจะถึงบางอ้อ เพราะเวลาที่อ่านพระไตรปิฎก จะกล่าวถึงแคว้นโกศลของพระเจ้าปเสนทิอยู่บ่อยๆ

เวลาที่มาอินเดีย เราต้องไม่ลืมที่จะกล่าวถึงพระถังซำจั๋ง ชื่อเดิมท่านชื่อ ฉวนซัง หรือ เหี้ยนจัง ที่เดินทางอยู่ในอินเดียนานถึง 16 ปี เมื่อกลับไปประเทศจีนจึงได้รับพระราชทานฉายาจากฮ่องเต้ของจีนเป็นพระถังซำจั๋ง แปลได้ว่า พระไตรปิฏกาจารย์ ท่านเดินทางมาอินเดียในช่วงศตวรรษที่ 6

ท่านมาที่ศีรปุร์ และบันทึกว่า ได้เห็นสถูปของพระเจ้าอโศก เดี๋ยวพาไปดู

วันแรกได้ไปดูเฉพาะติวารเทพวิหาร

 

ต่อมาอีกวันหนึ่ง เราขอรถจากเจ้าภาพ แล้วย้อนกลับไปดูศีรปุร์อีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ขอไปดูสถูปที่เราเห็นในภาพที่เขาประชาสัมพันธ์

เราต้องย้อนกลับไปที่รีสอร์ตเพื่อรับไกด์ที่ทำงานให้กับการท่องเที่ยวของรัฐฉัตติสการ์ พอไปถึงรีสอร์ต หลังจากงานประชุมเสร็จเมื่อวันก่อน บรรยากาศเงียบสงัดมาก เดินไปตามหาผู้จัดการที่รับปากกับเราอย่างดีว่าจะจัดไกด์เตรียมไว้ให้ ปรากฏว่า เปล่าเลยค่ะ เพิ่งโทร.เรียกกันตอนที่เราไปถึงนั่นเอง

รออยู่สัก 20 นาที ไกด์ขับมอเตอร์ไซค์เข้ามา รถเราเองก็เต็ม ก็เลยให้ไกด์ขับรถมอเตอร์ไซค์นำไปก็แล้วกัน

จุดแรกที่ไปคือ สถูปพระเจ้าอโศก ที่พระถังซำจั๋งเห็น และบันทึกไว้เมื่อ ค.ศ.639 ว่า ตั้งอยู่ทางตะวันออกฉียงเหนือ ใกล้แอ่งน้ำไรเกร่า สถูปนี้เพิ่งค้นพบเมื่อ ค.ศ.2009

เราไปเองไม่ได้จริงๆ ค่ะ ถ้าไม่มีคนนำทาง อยู่ท่ามกลางทุ่งนา จอดรถไว้ข้างทาง แล้วออกเดิน ท่านธัมมนันทาใจเสีย ถามว่าต้องเดินไกลไหม

ไกด์บอกว่า แค่นี้เอง

อืมม เดินเข้าจริง กว่า 500 เมตร เดินมาตามทางเดินเล็กๆ ชมนกกระสา นกกระยางกับฝูงควายข้างทาง เป็นธรรมชาติมาก จนเมื่อเดินเข้าไปใกล้จึงเห็นพระสถูปอยู่ข้างหน้า

พระสถูป คงรูปทรงแบบสถูปที่สาญจี เหลือแต่เนื้ออิฐที่อยู่ข้างใน ดินที่ฉาบอยู่หายไปหมดแล้ว แต่ยังแข็งแรงมั่นคงอยู่มาก มีความสูง 4.30 เมตร ฐานกว้าง 13.20 เมตร และยาว 12.80 เมตร มีฉัตรอยู่บนยอดสถูป น่าจะ 3 ชั้น แต่เหลือเพียงชั้นเดียว มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 45 ซ.ม. พระสถูปนี้สำคัญมาก เพราะแสดงว่าพุทธศาสนามาถึงดินแดนนี้ตั้งแต่สมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช คือ 300 ปี ก.ค.ศ.

พระภิกษุณีที่ไป 4 รูปสำรวมใจร่วมกันสวดมนต์เป็นพุทธบูชา แล้วเดินประทักษิณาวรรต แล้วจึงกลับออกมาตามทางเดิม

 

คราวนี้ เราไปที่ติวารเทพวิหาร ที่เรามาแล้วเมื่อวันก่อน แต่วันนี้เรานัดพบกับนันเทศวร ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในปัจจุบันที่เป็นที่ตั้งของวิหารนั่น เขาพูดแต่ภาษาฮินดี แต่เป็นภาษาที่เข้าใจได้ง่าย เพราะจะมีศัพท์ภาษาแทรก เช่น เขาบอกว่าเขาเป็น “farmer” คือเป็นชาวนา เขาเสนอตัวว่าจะขอเป็นผู้นำชมโบราณสถานด้วยตัวเอง

เมื่อไปถึง ท่านธัมมนันทาก็บอกท่านว่า มาชมแล้วที่นี่ ท่านถามว่า มีคนอธิบายไหม ท่านเรียกอย่างคาดคั้นทีเดียวว่า ให้ลงไปใหม่ คราวนี้ท่านจะอธิบายเอง

นันเทศวรเป็นผู้ชายชาวอินเดีย อายุในวัย 60 รูปร่างสูง แต่ค่อนข้างอ้วน และมีปัญหาที่เข่า เวลาเดินจะต้องทิ้งน้ำหนักโยกไปซ้าย-ขวา แม้ว่าเราเห็นว่าท่านเดินไม่สะดวกนัก แต่ท่านคาดคั้นว่า จะนำชมเอง ก็รู้สึกเป็นเกียรติ

ท่านพาชมวิหารซ้ำ แล้วคราวนี้ พาเดินไปทางขวามือของวิหารติวารเทพ ยังมีโบราณสถานด้านหลังที่เราไม่รู้ และไม่ได้เดินมาถึงเมื่อวันก่อน

เป็นวิหารลักษณะเดียวกัน มีพระพุทธรูปอยู่ห้องชั้นในที่เรียกว่าครรภคฤห์ พระพุทธรูปขนาดหน้าตักสองศอกครึ่ง อยู่ในปางภูมิผัสสะ ไม่สมบูรณ์ และไม่งามเท่าที่เราเห็นในพระวิหารแรกตั้งอยู่กลางแจ้ง

วิหารนี้มีขนาด 100 ตร.ม. ด้านหน้า ๕ เมตร ที่นี่ นันเทศวรและนักโบราณคดีว่าน่าจะเป็นอารามของภิกษุณี เพราะในห้องเล็กๆ ที่รายล้อมห้องส่วนกลางนั้น มีกำไล ตุ้มหู และเครื่องประดับของผู้หญิง เขาว่า พบทุกห้องเลย

นันเทศวรเล่าว่า ที่ดินของเขาเดิมก่อนการขุดค้นนั้นเป็นเนินดินใหญ่ พยายามนึกภาพว่า ดินแดนแถบนี้ เมื่อศาสนาพุทธค่อยๆ เสื่อมไปในศตวรรษที่ 12 กว่าจะถึงปัจจุบัน ใช้เวลาหลายร้อยปี ดินหินทับถมกัน ส่วนที่เป็นหลังคาก็หักทับถมกันลงมา เพราะเครื่องข้างบนที่รับน้ำหนักหลังคาเป็นไม้ เห็นได้จากร่องรอยการเจาะธรณีประตูที่เป็นหิน เป็นรอยสี่เหลี่ยมทั้งสองข้าง น่าจะเป็นที่ตั้งเสาไม้

ท่านธัมมนันทาท่านตั้งข้อสังเกตว่า แม้ที่วัตรทรงธรรมกัลยาณีเอง ในช่วงชีวิตของท่านที่เห็นนั้น ภายใน 60 ปี ระดับดินก็สูงกว่าเดิมอย่างน้อยที่สุดถึง 10 นิ้วฟุต จึงเป็นไปได้ว่า ดินทับถมวิหารที่ร้างลงข้ามยุคข้ามสมัยมาหลายร้อยปีจึงเป็นดังเช่นที่เราเห็น

 

เรายังไม่จบค่ะ โบราณสถานในพุทธศาสนายังมีอีกหลายแห่ง นันเทศวรนัดกับไกด์ให้พาคณะของเราไปดูตลาดของเดิมที่ขุดได้ด้วย โดยที่ตัวท่านเองขับมอเตอร์ไซค์ไปรอที่นั่น ไกด์ขับมอเตอร์ไซค์นำรถเราไปตามที่ตกลงนัดหมายกัน

ตลาดที่ว่านี้ เหลือแต่โครงสร้างที่เป็นฐานราก เหมือนกับโบราณสถานอื่นๆ แต่ใหญ่มาก มีร้านรวง มีที่เก็บพืชพันธุ์ธัญญาหาร มีธาราบำบัดโดยการใช้อายุรเวทเข้ามาช่วย เหลือเชื่อจริงๆ ตรงที่เป็นบ่อสี่เหลี่ยมที่อธิบายว่าใช้เพื่อธาราบำบัดนี้ มีรายละเอียดของการระบายน้ำ มีช่องที่สำหรับใส่ยาลงไปผสมกับน้ำด้วย

ที่บริเวณนี้มีการขุดพบรูปหล่อพระพุทธรูป และพระโพธิสัตว์มากถึง 79 ชิ้น แสดงถึงความรุ่งเรืองของเมืองศรีปุระ หรือที่เราเรียกว่า ศีรปุร์ในปัจจุบัน เดิมเป็นเมืองหลวงทางตอนใต้ของแคว้นโกศลค่ะ

รูปพระโพธิสัตว์นั้น แสดงถึงความเชื่อของชาวพุทธในสมัยที่ศีรปุร์รุ่งเรือง คือช่วงศตวรรษที่ 6-12 มีมหายานอยู่มาก เฉพาะที่พระถังซำจั๋งบันทึกว่าพระที่เป็นนักศึกษามาเล่าเรียนที่นี่มากถึง 10,000 รูป

ท่านธัมมนันทาสนใจของที่ขุดขึ้นมาได้จากที่ศีรปุร์ ตอนนี้ไปอยู่ที่ใดบ้าง แน่นอนที่สุด ต้องตามไปดูที่พิพิธภัณฑ์เมืองรายปุร์

เราตามไปดูกันนะคะ แต่ที่ศีรปุร์ยังไม่จบค่ะ ขออาทิตย์หน้าอีกตอนหนึ่ง