มุกดา สุวรรณชาติ : เกือบแพ้…แต่ยังเป็นพระ เปลี่ยนเกมให้ชนะ…เพราะไม่อยากเป็นมาร

มุกดา สุวรรณชาติ
Buddhist monks from the Wat Phra Dhammakaya temple welcome the Department of Special Investigation (DSI) members before the inspection of the temple, in Pathum Thani province, Thailand March 10, 2017. REUTERS/Jorge Silva

คราวก่อนที่บอกว่าแนวรบคลองหลวงจะถึงจุดตัดสินในไม่กี่วันนี้ เพราะคิดว่ารัฐจำเป็นต้องหยุดขั้นตอนเผชิญหน้า

ทีมวิเคราะห์เคยคาดว่า การจบของเกมแบบที่เข้าไปค้นแล้วไม่พบจึงถอนกำลังกลับ จะเกิดขึ้นภายในประมาณ 10 วันแรก แต่ก็ลากยาวมาได้อีกเกือบครึ่งเดือน

ทีมงานพยายามหาเหตุผลต่างๆ และประเมินผลกระทบที่มีต่อฝ่ายวัดพระธรรมกายโดยตรง ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

รัฐ…หยุดรุก เปลี่ยนเกม ก่อนถูกด่า ว่าเป็นมาร

การเคลื่อนไหวกรณีปิดล้อมวัดที่ผ่านมาฝ่ายวัดทำถูก ที่ใช้เกมอ่อนตลอด ฝ่ายรัฐไม่สามารถใช้กำลังและอาวุธ แม้แต่ไม้กระบอง ซึ่งก็ถือว่าเดินเกมเป็นทั้งคู่

การให้ข่าวกลายเป็นเวทีต่อสู้รูปแบบหลัก

การใช้กำลังปฏิบัติการ ใหญ่โตเกินไป ภายใต้ ม.44 แม้มิได้ใช้อาวุธในการปฏิบัติต่อพระหรือผู้ศรัทธา แต่รูปแบบ ปรากฏภาพที่ออกมาเป็นด้านลบแม้มีผู้เสียชีวิตโดยอ้อมเพียง 2 รายก็ถือว่ากระทบต่อชื่อเสียงถ้าหากมีการจับพระหรือลูกศิษย์ไปเป็นจำนวนมาก เรื่องนี้จะไม่จบง่ายๆ และจะกระทบต่อความน่าเชื่อถือทางด้านสิทธิมนุษยชนจะมีภาพติดลบไปลึกมากเพราะที่ผ่านมาประเทศไทยถูกจับตาเรื่องนี้อยู่อย่างใกล้ชิด

ในทางยุทธวิธี คล้ายกับการกระชับพื้นที่ราชประสงค์ แต่ผลทางจิตวิทยา และการปิดล้อมจริง ทำไม่ได้ การตัดเสบียงอาหาร พระ คนแก่ ไม่มีใครสนับสนุน ยิ่งนานยิ่งถูกมองว่าไปรังแกพระ

การใช้ปฏิบัติการ ทำให้มีผลกระทบต่อผู้คนทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาในการทำธุรกิจการติดต่อสื่อสาร

สุดท้ายเมื่อผลลงเอยแบบนี้คนทั่วไปก็ยังคิดว่างานนี้เหมือนขี่ช้างจับตั๊กแตน ถ้าทำแบบปกติเข้าไปค้นให้หมดทุกจุดรวดเดียวเมื่อไม่พบก็กลับมา และดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ก็จะจบแบบไม่ต้องเป็นข่าวใหญ่โต กระทบถึงคนที่อยู่บริเวณนั้นทั้งยังไม่สร้างลักษณะความเป็นศัตรูให้หนักมากขึ้น

แต่เมื่อปฏิบัติการออกมาเป็นแนวใช้อำนาจภาพและผลที่ออกมาก็จะดำรงอยู่ตามที่ปรากฏขึ้นจริง ยังฝังใจกันไปอีกนาน

การได้ประโยชน์ แต่เสียการเมือง และได้ศัตรูเพิ่ม นับว่าสมควรหยุดนานแล้ว ถ้าทำมากกว่านี้แม้มีผลชนะมากกว่านี้ ก็จะกลายเป็นมาร แต่ดูจากรูปแบบล่าสุด เป็นการหยุดรุกเชิงการทหาร มารุกทางการปกครอง ดังนั้น การยึดพื้นที่และตำแหน่ง จะกลายเป็นข้อขัดแย้งใหม่

วัด…ทำได้แค่ถอยและตั้งรับ
ฝ่ายวัดก็มีแนวคิด 2 ทาง…

1. หลวงพ่อไม่ยอมออกจากวัด มีคนสนับสนุนส่วนหนึ่ง

2. ให้หลวงพ่อหลบออกไปก่อนเพราะกลัวว่าถ้ามอบตัว หรือถูกจับ จะถูกจับสึก ตั้งแต่ยังไม่ขึ้นศาล

ทั้งสองแนวคิดนี้ไม่มีใครยืนยันว่าแปรเปลี่ยนไปมาอย่างไร

แต่ช่วงแรกยอมให้ค้นเพราะคิดว่าไม่เจอแล้วเจ้าหน้าที่จะกลับ

แต่เมื่อเกมยืดเยื้อ มีลักษณะการปิดล้อม ก็กลัวจะมีการยึดวัด เกมต้านจึงหนาแน่นขึ้น

ความเป็นไปได้ของช่วงสัปดาห์แรกหรือ 10 วันแรกจึงเป็นไปทั้ง 2 ทาง

ช่วงท้ายมีเรื่องเล่ากันว่า บุคคลในวัดพระธรรมกายได้แอบนำข้อมูลออกไปป้อนให้ฝ่ายรัฐจนกระทั่งเชื่อว่า หลวงพ่อยังคงอยู่ในวัด และมีฝ่ายที่แสดงท่าทีว่าถึงยังไงก็ไม่ยอมให้ค้น ทางการจึงปิดล้อมมากขึ้น

ถึงตรงนี้ข่าวลับข่าวลึกที่ปล่อยออกไปสู่ภายนอกคืออยู่แน่ รู้จุดว่าอยู่ตรงไหน แต่ลูกศิษย์จะสู้ตาย

เจอเรื่องแบบนี้ไม่มีใครรู้ข้อเท็จจริง ต่างก็เดากันไปต่างๆ นานา เกมปิดล้อมกับเกมต้าน ช่วงท้ายจึงดูแรงขึ้น ในขณะที่ฝ่ายรัฐ กางตาข่ายฟ้าไม่มีรูให้เล็ดลอด ฝ่ายวัดก็ตั้งกำแพงคน มนตรา ศรัทธาแกร่ง มาป้องกัน

ตอนที่เข้าค้นรอบสุดท้าย ผู้ปฏิบัติงานทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายวัดก็คาดได้แล้วว่าจะไม่พบอะไร

หลายฝ่ายจึงวิเคราะห์กันว่าหลวงพ่อน่าจะออกไปนานพอสมควรแล้วไม่ใช่วันสองวันก่อนค้น

วิชาแปลงกายย้ายร่าง ถอดวิญญาณ ถูกใช้เมื่อไร ไม่มีใครรู้

และช่วงที่ปิดล้อมวัดและจุดสนใจมาอยู่ที่วัด อาจจะเป็นช่วงที่ออกไปต่างประเทศเรียบร้อยแล้วก็ได้

ข้อมูลการอยู่หรือไม่อยู่ของหลวงพ่อในวัดแม้แต่คนวงในก็ยังรู้ไม่กี่คน ดังนั้น เกมค้นไม่พบก็จบเรื่อง จึงมาถึงจุดที่ทั้งสองฝ่ายต้องการตรงกัน

 

เกือบแพ้…เกือบชนะ แต่ต้องเปลี่ยนเกม

การหยุดเกมรุกทางกำลังในวันศุกร์ที่ 10 มีนาคม ถือว่าก็ยังเป็นการหยุดที่ทันท่วงทีไม่มีการเสียเลือดเสียเนื้อ มีการปะทะหรือเกิดความรุนแรงที่มากกว่านั้น เป็นการรักษาภาพของรัฐในทางสากล

ช่วงเวลานี้มีการเตรียมความพร้อมให้กับคณะผู้แทนไทย ซึ่งมีกำหนดในการนำเสนอรายงานต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ประจำกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) 2 วัน คือ 13-14 มีนาคม 2560 ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ประเทศไทยจะถูกพิจารณาในเวทีอย่างไรเป็นเรื่องที่ต้องคอยติดตามดูกันเพราะในขณะที่เขียนต้นฉบับ การเปิดประชุมเรื่องนี้ยังไม่เกิดขึ้น จึงไม่รู้ว่าจะโดนวิจารณ์ ตำหนิหรือชมเชยอย่างไร

การเตรียมทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจ คนที่เป็นเสนาธิการจะต้องเข้มงวดสักหน่อย เรื่องใดที่ไม่ได้เป็นประโยชน์มากมายหรือไม่ได้เป็นอันตรายมากมาย ควรจะประนีประนอม เช่น

กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ไกล่เกลี่ยให้ยกฟ้องและยุติการดำเนินคดีกับ 3 เอ็นจีโอ นักสิทธิมนุษยชนฐานหมิ่นประมาท ที่ สภ.เมืองปัตตานี โดยมี ดร.โคทม อารียา ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี และผู้แทนจากองค์การสหประชาชาติ ร่วมด้วย

เรื่องวัดพระธรรมกาย…จึงต้องถอนการปิดล้อม เรื่องนี้ถ้าค้นเป้าหมายไม่พบและถอยออก ตั้งแต่สัปดาห์แรกก็จะไม่มีปัญหา ที่ต้องใช้งบประมาณมากมายกับทหารตำรวจไม่ต้องมีคนเดือดร้อน จากการตัดสัญญาณโทรศัพท์ จากรถติด การทำมาค้าขายต้องหยุดชะงัก ทำให้คนบางคนต้องเสียชีวิตและมีการทำให้เกิดความเข้าใจว่าจะมีการยึดวัดยึดทรัพย์สินต่างๆ ทำให้เกิดลักษณะเป็นศัตรูกันเข้มข้นมากยิ่งขึ้น

จึงยังคงมีคำถามว่าจริงๆ แล้วปฏิบัติการตั้งแต่ต้นจนจบครั้งนี้เป้าหมายแท้จริงคืออย่างไรกันแน่ แค่ต้องการจับกุมคนคนหนึ่งหรือมีเป้าหมายมากกว่านั้น และเป้าหมายมากกว่านั้นอยู่ในระดับไหน แค่ไหน คำถามนี้เป็นที่สนใจของศิษย์ธรรมกายและคนทั่วไปที่สนใจการเมือง

ประเมินความสำเร็จของฝ่ายรัฐ
และจังหวะที่จะก้าวเดินต่อไปในกรณีนี้

พิจารณาสถานการณ์ที่จบลงแบบค้นหาเป้าหมายไม่พบ และหยุดการเผชิญหน้า ประเมินผลรวม ถือว่ารัฐเป็นฝ่ายรุก และได้เปรียบ

1. สามารถทำให้หัวหน้าของฝ่ายวัดต้องหลบออกไปจากที่มั่น

2. ใช้กฎหมายควบคุมและกดดันทำให้ไม่สามารถกลับมาได้อีก

3. ป้อนข้อมูลต่างๆ เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือและความศรัทธา

4. สามารถใช้กฎหมายกดดันและควบคุมผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานระดับรองลงมาถือเป็นการตัดกำลังขั้น 1

5. มีการกดดันเพื่อตัดกำลังทางเศรษฐกิจ

6. ใช้กฎหมายเข้าควบคุมสถานที่หลายแห่งที่อ้างว่าได้มา หรือก่อสร้างผิดกฎหมาย

ประเมินผลกระทบของฝ่ายวัด
ยังไม่แพ้แต่ถอยหลัง
ต้องตั้งรับเกมใหม่

งานนี้มีได้ มีเสีย ถ้ามองทั้ง 2 ด้านจะพบว่า

1. ฝ่ายวัดเสียผู้นำองค์กรออกไปจากโครงสร้างหัวขบวนตามโครงสร้างทางกฎหมาย แต่ไม่ได้ออกไปจากกระดานของการต่อสู้ หรือออกไปจาก ความนับถือของลูกศิษย์ ความเข้มแข็งในการนำทางจิตวิญญาณความเชื่อถือศรัทธาของหัวหน้าจะยังอยู่หรือไม่ มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับการกระทำในอนาคต

2. ถ้าฝ่ายวัดฉลาดและทันเกม ต้องถือโอกาสนี้จัดโครงสร้างให้มีลักษณะประชาธิปไตย มีการนำรวมหมู่ มีผู้นำที่เปลี่ยนแปลงได้ ความเชื่อและความศรัทธาให้อยู่ที่ความรู้ข้อมูลทางธรรม ข้อมูลทางวิชาการ ไม่ใช่ตัวบุคคล จะเป็นการสร้างศรัทธาไปอย่างถาวร ไม่ว่าตัวบุคคลใดจะมีปัญหาก็สามารถเปลี่ยนผู้บริหารได้ และการบริหารจัดองค์กรใหญ่จะต้องได้รับความร่วมมือจากมวลสมาชิกทั้งหมด

3. ถ้าหากองค์กรถูกบีบคั้น ว่ามีลักษณะผิดกฎหมายหรือผิดกฎทางศาสนา ผลกระทบข้อนี้ก็อาจแปรสภาพทำให้เกิดกลุ่มธรรมกายที่แยกออกไปในลักษณะเช่นเดียวกับสำนักสันติอโศก ซึ่งมีสิทธิเสรีภาพในการนับถือและเชื่อมั่นตามแนวทางสิทธิของตัวเอง

4. บทเรียนนี้จะทำให้ผู้ปฏิบัติงาน ผู้บริหาร ลูกศิษย์ ผู้ศรัทธาได้มองทุกอย่างเป็น 2 ด้าน มองทั้งด้านเป็นคุณทั้งด้านเป็นโทษ มองเห็นมิตรเห็นศัตรู มีความเข้าใจถึงกฎตามธรรมชาติ ความเป็นมิตร ความปรารถนาดีบางครั้งไม่สามารถสร้างสิ่งที่ต้องการได้ และมีความเข้าใจถึงแรงกดดันของอำนาจตามกฎหมายที่มีต่อประชาชนกลุ่มต่างๆ ว่ารุนแรงและมีอำนาจมากเพียงใด มีความเข้าใจว่าเมื่ออยู่ในโลกนี้ อยู่ในสังคมของความเป็นจริงที่อำนาจปกครอง เป็นไปตามผู้ปกครอง รั้ววัดก็ไม่สามารถแยกตัวออกไปจากโลกที่เป็นจริงได้

5. ถ้ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง คาดว่าวัดพระธรรมกายจะต้องพบกับปัญหาในเชิงกฎหมายอีกหลายแบบ หลายขั้นตอน การสูญเสียพื้นที่ครอบครอง หรือสูญเสียแนวร่วม สูญเสียที่มั่นในหลายพื้นที่หลายวัด จะติดตามมา และอาจมีการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลในหลายๆ จุด

6. ตัวหลวงพ่อ ถ้าไปอยู่ต่างประเทศก็สามารถเคลื่อนไหวได้ แม้จะเป็นทางธรรมะ แต่ก็สามารถสื่อสารถึงสานุศิษย์และผู้ศรัทธาทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ ซึ่งจะจำกัดขอบเขตอยู่แค่ไหนยังไม่มีใครรู้ แต่น่าจะมีผลสะเทือนพอสมควร

มีคนตั้งคำถามว่า ถ้าหลวงพ่อยอมให้จับ แล้วถูกนำไปสึก นำไปขัง เวลาไปขึ้นศาล ภาพที่ออกมาจะเป็นอย่างไร ผู้ศรัทธาเขาจะทำอย่างไร มีคนวิเคราะห์ว่า การบังคับให้หนีน่าจะดีกว่า

แต่ที่ผ่านมา ได้พิสูจน์แล้วว่า การ ถอด ปลด ลด ถอน ไม่สามารถเปลี่ยนความนับถือของคนได้…ประชาชนดูการกระทำ ดังนั้น ครั้งนี้จึงเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ที่ยังมองไม่เห็นจุดจบ เหมือนความขัดแย้งทางการเมือง…พระหรือมาร อยู่ที่ความคิดคน