“บรรหารเล่าเรื่องอะไรเป็นครั้งสุดท้าย?”

คลิกอ่านตอนที่ 1

รายงานพิเศษ อ่าน “หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ อดีตนายกฯ บรรหาร” (จบ) : “บรรหารเล่าเรื่องอะไรเป็นครั้งสุดท้าย?”

“บรรหาร ศิลปอาชา” เป็นหนึ่งในการนักการเมืองที่เคยถูกโจมตีในหลายเรื่อง

แต่ใน “บรรหาร ศิลปอาชา เล่าเรื่องครั้งสุดท้าย” ซึ่งเป็นหนึ่งในหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ อดีตนายกฯ บรรหาร ดูเหมือนการตีตราด้วยข้อหาและอคติต่างๆ จะถูกแทนที่ด้วยเรื่องเล่าใหม่ๆ ในหลายเรื่อง

สามการรื้อสร้างบรรหาร

สองมรดกทางการเมือง

สามบาดแผลทางการเมือง

การศึกษาน้อย

เมื่อเข้าสู่แวดวงการเมือง จุดอ่อนของบรรหารที่ฝ่ายตรงข้ามหยิบขึ้นมาโจมตีคือเขามีการศึกษาน้อย จบแค่ ม.6

กรณีวุฒิการศึกษานั่นเองที่ทำให้เขาเคยเกือบไม่ได้เป็นรัฐมนตรี ในยุครัฐบาลเปรมมาแล้ว

“มีคนคัดค้านว่าผมเป็นไม่ได้ ตอนนั้นท่านมีชัยอยู่ที่บ้านป๋าเปรมด้วย ท่านเป็นคนช่วยผมบอกผมว่าท่านบรรหารเป็นได้ เพราะท่านบรรหารสำเร็จ ม.6 นี่น่ะเมื่อปี 2488 ตอนนั้นคำว่ามัธยมปลายก็คือ ม.6 พอมาปี 2490 ถึงได้เป็น ม.8 เขียนชัดเลย ม.8 แต่ตอนนั้นมีพวกทหารกลุ่มหนึ่งเล่นงานผม และมาแก้กฎหมายว่า สำเร็จมัธยมปลายคือ ม.8 ไม่ใช่ ม.6 ตอนนั้น ม.6 คือเรียกมัธยมปลาย แต่ป๋าไม่ได้รังเกียจ ไม่มีเลย”

ในปี 2523 บรรหารก้าวขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นกระทรวงที่คนจบ ดร. สาขาต่างๆ รวมแล้วมากกว่ากระทรวงอื่น ในหนังสือเล่าว่า รัฐมนตรีที่จบ ม.6 สามารถเอาตัวรอดมาได้ด้วย

“การให้เกียรติข้าราชการ การตระหนักว่าข้าราชการนั้นอยู่มานาน ย่อมมีความรู้ในกิจการที่ทำอยู่มากกว่าเรา ไม่รู้ก็ต้องถาม ถามแล้วก็ได้รู้ คนเราโง่เพียงครั้งเดียว และต้องหาคนช่วยให้ถูก”

มีชัย ฤชุพันธุ์ แก้ต่างเรื่องการศึกษาน้อยของบรรหารได้แหลมคม ชนิดยกระดับบรรหารเหนือนักการเมืองรายอื่นหรือผู้มีอำนาจคนอื่นๆ

“บรรดารัฐมนตรีร่วมคณะในขณะนั้น ดูเหมือนว่าท่านบรรหารเป็นผู้มีวุฒิในการศึกษาน้อยที่สุด แต่ท่านไม่เคยเกิดปมด้อยเรื่องนี้…เมื่อท่านบรรหารพอมีเวลา ท่านก็สามารถใฝ่หาปริญญาบัตรได้สูงทัดเทียมกับผู้มีวุฒิทั้งหลาย ในขณะที่ผู้มีวุฒิทั้งหลายเหล่านั้น ยังไม่สามารถใฝ่หาความรู้จริงได้เท่ากับท่าน เพราะคนที่มีวุฒิการศึกษาสูงๆ มักจะมัวหลงอยู่กับวุฒิที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับมา จนลืมใฝ่หาความรู้ที่แท้จริง”

พัฒนาแต่สุพรรณ

สุพรรณบุรี ถูกขนานนามว่าเป็น “บรรหารบุรี” ไปพร้อมๆ กับทำให้บรรหารถูกโจมตี ว่าเอาแต่ดึงงบประมาณเข้าแต่สุพรรณบุรีเป็นหลัก

เขาชี้แจงในเรื่องนี้ว่า

“ช่วงที่ผ่านมามีหลายคนบอกว่าผมดึงงบประมาณไปทุ่มเทที่สุพรรณบุรีมาก ที่จริงไม่ใช่ เป็นการกล่าวหาที่ไม่ยุติธรรม สุพรรณบุรีเป็นเมืองปิดมาตั้งหลายสิบปี ไม่มีทางเข้า ถึงจะมีถนนตัดใหม่ก็เข้าได้ทางเดียว ที่จังหวัดอื่นเขามีตั้ง 4-5 ช่องทาง”

“ผมก็ไปขอให้ทางเทศบาลตัดถนนอีกเส้น เพื่อให้เปิดเข้าได้หลายช่องทางหน่อย ไปทำเพียงแค่ไม่กี่เส้นทาง แต่ในเรื่องความสวยงามนี่ ผมใช้งบประมาณส่วนตัวของผม ไปสร้างหอนาฬิกา สร้างสวนสาธารณะ เกาะกลางถนนก็ปลูกหญ้าปลูกต้นไม้ มีพนักงานไปดูแลตกแต่งรดน้ำทุกวัน ใช้เงินส่วนตัวเป็นส่วนใหญ่ในนามมูลนิธิบรรหาร-แจ่มใส ศิลปอาชา…แต่สำหรับผมเองคนเดียวทำไม่ได้ ต้องอาศัยเพื่อน พวกข้าราชการทั้งหมดที่อยู่ในจังหวัด และผู้นำการเมืองท้องถิ่นช่วยกันคนละไม้ละมือ”

บรรหารหวังให้สุพรรณฯ กลายเป็นเมืองแห่งการศึกษา การกีฬา และการท่องเที่ยว บ้านเมืองสะอาดสวยงาม เพียบพร้อมด้วยสาธารณูปโภค เป็นจังหวัดที่เจริญก้าวหน้าและน่าอยู่ ไม่ใช่เมืองล้าหลัง และทางผ่านอีกต่อไป

เขาย้ำว่า

“สิ่งต่างๆ เหล่านี้อีก 10 ปี 20 ปี หรือ 100 ปีก็จะได้รับการบอกกล่าวเล่าขานกันไม่มีที่สิ้นสุด ผมไม่ต้องการให้ใครมาปรบมือสรรเสริญเยินยอ ต้องการเพียงพี่น้องชาวสุพรรณบุรีช่วยกันรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้อยู่คู่บ้านคู่เมือง”

ขณะที่ “กัญจนา ศิลปอาชา” ที่เขามารับบทบาทนำในครอบครัวก็ประกาศอย่างชัดเจนว่า

“จะสืบสานงานทุกอย่างของพ่อ สิ่งใดที่พ่อทำไว้แล้วจะทำนุบำรุงให้ดี ไม่ให้ใครพูดได้ว่าพอพ่อไม่อยู่ นั่นก็ทรุดโทรม นี่ก็ทรุดโทรม”


ล้วงลูก

2เนติบริกร ร่วมกันแก้ต่างในเรื่องนี้ ด้วยการย้ำว่า วิธีการบริหารงานแบบบรรหารไม่ใช่การล้วงลูกแบบที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นการแก้ปัญหาให้ตรงจุด

มีชัย ฤชุพันธุ์ เล่าว่า “แต่ไม่ว่าท่านบรรหารจะดำรงตำแหน่งเจ้ากระทรวงใด ท่านเอาใจใส่ดูแลราวกับว่ากิจการนั้นเป็นกิจการของตน ท่านกวดขัน ติดตามไล่จี้ และดูแลไปทุกกระเบียดนิ้ว ดูเหมือนท่านบรรหารจะเป็นรัฐมนตรีคนเดียวที่ดูแลตั้งแต่คิดโครงการ จัดหางบประมาณ ดูแลการดำเนินการ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จนกว่าโครงการนั้นจะแล้วเสร็จ ซึ่งบางครั้งบางคราวจึงถูกมองว่าเป็นการล้วงลูก”

วิษณุ เครืองาม ขยายความต่อไปว่า “ความขยัน ใจร้อน ติดตามงาน จี้งาน ตอนท่านทำ ท่านคงไม่ได้นึกอะไร แต่ว่าแน่นอนคนที่รับคำสั่งบางคนอาจจะไม่พอใจ เมื่อถูกจี้อย่างนี้ จึงเป็นที่มาของคำว่าล้วงลูก”

และ “ท่านเคยสอนผมว่า เรื่องบางเรื่องอยากจะถามความเห็น ต้องถามอธิบดี หรือปลัดกระทรวงที่เป็นตัวหัวหน้าเขา แต่บางเรื่องถ้าให้ได้ข้อเท็จจริงอาจจะต้องมีหนังสือไปสอบถามหัวหน้ากอง หรือใช้ความคุ้นเคยอะไรสักอย่างหนึ่ง…ท่านมีหลักของท่านว่า ปัญหาอยู่ตรงไหนก็เจาะลงไปตรงนั้น แล้วเราจะได้คำตอบที่ตรงจุดมากที่สุด”


ความสำเร็จด้านการต่างประเทศ

สาธารณชนจดจำเรื่องบรรหารได้หลายเรื่อง แต่เรื่องที่คนไม่ค่อยทราบ คือ การทำงานของบรรหารในเรื่องการต่างประเทศ

เหมือนที่ “กอบศักดิ์ ชุติกุล” อดีตอธิบดีหลายกรมในกระทรวงการต่างประเทศ พูดถึงบรรหารไว้ และถูกคัดมาอยู่ในหนังสือว่า

“ภาพลักษณ์ของนายกรัฐมนตรีบรรหารคือภาพชนบทและการแก้ไขปัญหาในประเทศ แต่ความสำเร็จของบรรหารในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกลับเป็นเรื่องการต่างประเทศ”

“ใน 1 ปีเศษที่ท่านเป็นนายกฯ ถือว่าประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในแง่ต่างประเทศ นับว่าท่านได้ทำชื่อเสียง มีผลงาน สามารถยกระดับสถานภาพของประเทศได้มากเกินกว่าระยะเวลาที่ท่านมี ในปีเศษท่านทำเหมือนทำมา 5 ปี 10 ปี”

โดยเฉพาะการจัดประชุมร่วมระหว่างผู้นำยุโรปกับเอเชีย 25 ประเทศในเวทีอาเซม (A-SEM) ครั้งที่ 1 ในปี 2539 เพราะก่อนหน้านั้น มีแต่เพียงการจัดประชุมอาเซียน +3 (จีน เกาหลี ญี่ปุ่น)

และการจัดประชุมระหว่างเอเชียกับสหรัฐ (APEC) โดยภายหลังการจัดประชุมอาเซมก็ทำให้เกิดกิจกรรมต่อจากนั้นอีกมาก เช่น ประเทศสมาชิกจะจัดประชุมกันในลักษณะนี้ทุกๆ 2 ปี, การเชื่อมเส้นทางยุโรป-เอเชีย ด้วยระบบรถไฟ, การจัดตั้งสถาบันการศึกษาร่วมกัน

สำหรับปัญหาเรื่องการใช้ภาษาอังกฤษของบรรหาร กอบศักดิ์ย้ำว่าไม่ใช่ปัญหา

“ท่านไม่ใช่อินเตอร์ ภาษาไม่ได้ แต่สิ่งที่ผู้นำและสื่อมวลชนจากต่างประเทศพอใจคือความจริงใจที่เขาสัมผัสได้ …นายกฯ มหาธีร์ของมาเลเซีย เคยกล่าวกับเลขาฯ ของท่านซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกับผมว่าท่านบรรหารเป็นนายกรัฐมนตรีที่ท่านไว้วางใจ เชื่อมั่นในคำพูดมากที่สุด เพราะรับปากแล้วท่านทำจริง ไม่ใช่พูดพอเป็นพิธีการ หรือพูดเอาใจชั่วขณะ”


ปักธงปฏิรูปการเมือง

หนึ่งในมรดกทางการเมืองของบรรหารที่ครอบครัวศิลปอาชาพยายามชี้ให้เห็นก็คือ ความสำเร็จในการปฏิรูปการเมือง

“หัวหน้าพรรคการเมือง ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งมีพื้นฐานจากเด็กบ้านนอก ไม่อายในสิ่งที่ไม่รู้คนนี้นี่เอง ที่ทำให้การปฏิรูปการเมืองเกิดขึ้นได้โดยนักการเมืองร่วมมือกับประชาชนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ว่ากันว่า ประวัติศาสตร์มักจะซ้ำรอยเสมอ ตั้งแต่บัดนั้นจนถึงบัดนี้ ประวัติศาสตร์เช่นนี้ก็ยังไม่เกิดขึ้นในวงการเมืองไทยอีกเลย”

ในปี 2539 รัฐบาลของนายบรรหาร ได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 211 นำไปสู่การเลือก “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ซึ่งถือเป็นกุญแจนำไปสู่การปฏิรูปทางการเมือง

“ในที่สุดผลของความมุ่งมั่นที่จะทำตามสัญญาของนายกรัฐมนตรีบรรหาร และแรงสนับสนุนจากธงเขียวที่โบกสะบัดทั่วประเทศก็ทำให้เกิด…เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และประกาศใช้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540 ในสมัยรัฐบาล พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ”

วิษณุ เครืองาม เล่าถึงความมุ่งมั่นของบรรหารไว้ว่า ช่วงปลายรัฐบาลชวน 1 คนเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปการเมืองกันมาก พรรคชาติไทยจึงชูนโยบายนี้ตอนหาเสียงเลือกตั้ง เมื่อพรรคชาติไทยเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลแล้ว บรรหารได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว

“พลพรรคของคุณบรรหารเริ่มซาๆ ลง บางคนเริ่มพูดว่า สถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย ปฏิรูปการเมืองต้องทำทีหลังการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ…นายกฯ บรรหารอึดอัดเรื่องนี้มาก ท่านถามว่า จะให้ผมถูกหาว่าตระบัดสัตย์อีกหรือ”

ในกระบวนการผ่านร่างกฎหมายไปแต่ละรอบ บรรหารยังต้องต่อรองกับพรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายค้านและกรรมาธิการอยู่โดยตลอด

เมื่อถึงวันประชุมเพื่อจะลงคะแนนรับรองร่าง พ.ร.บ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้เกิดปัญหาและข้อขัดแย้งทางความคิดระหว่างคณะกรรมาธิการกับ สมาชิกรัฐสภาจนไม่สามารถดำเนินการประชุมรัฐสภาต่อไปได้ ประธานต้องสั่งพักการประชุม

“คุณบรรหารเชิญคณะกรรมาธิการ และ ส.ส. หลายคนทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล เข้าไปพบเพื่อพูดคุยกัน และขอร้องต่อคณะกรรมาธิการ ว่า แม้จะมีบางอย่างไม่เป็นไปตามคณะกรรมาธิการต้องการ 100% แต่หากแนวทางนี้เป็นทางเดียวที่จะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปฏิรูปการเมืองได้ ก็ไม่ควรทำให้ตกไป”

นิกร จำนง ขุนพลข้างกายบรรหาร เล่าถึงเหตุการณ์นั้นว่า “กว่า 10 ปีที่ทำงานร่วมกับคุณบรรหารมา ผมไม่เคยเห็นคุณบรรหารร้องขอต่อใครๆ มากมายเช่นนี้มาก่อน”


บาดแผลทางการเมือง

บาดแผลสำคัญในทางการเมืองของบรรหารมีอย่างน้อยสามแผลใหญ่ๆ

แผลแรก การที่พรรคประชาธิปัตย์หยิบยกประวัติของบิดานายบรรหารมาโจมตีในสภา ทั้งยังระบุว่า บรรหารไม่ได้เกิดในแผ่นดินไทย ไม่ใช่คนไทย เป็นแต่เพียงลูกของคนต่างด้าว

แผลที่สอง โดนหักหลัง บังคับให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นการหักหลังโดยพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงคนในพรรคด้วยกันเอง ไม่ว่าจะเป็น อำนวย วีรวรรณ, พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ, มนตรี พงษ์พาณิช, เฉลิม อยู่บำรุง ถึงที่สุดบรรหารแก้เกมด้วยการตัดสินใจยุบสภา ผลักปัญหาไปจบที่คูหาการเลือกตั้ง

แผลสุดท้าย ยุบพรรคชาติไทยที่ก่อตั้งมากว่า 34 ปี บรรหารเล่าถึงความบอบช้ำได้จับใจและสะท้อนให้เห็นสภาพของสังคมไทยในห้วงปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

“ผมบอกตรงๆ เราหวังความยุติธรรมจากศาลเป็นที่พึ่ง มันหมดแล้ว กระบวนการนิติบัญญัติก็ถูกทำลาย ฝ่ายบริหารก็ถูกทำลายไปแล้ว มาวันนี้ตุลาการที่หวังพึ่งเป็นที่สุดแล้วมาเป็นแบบนี้แล้วเราจะทำอย่างไร ผมเรียนตรงๆ ด้วยความเคารพ ความศรัทธาเรื่องความยุติธรรมในประเทศไทยนั้นมันจะหาได้หรือเปล่า ประเทศชาติตอนนี้สิ้นเนื้อประดาตัวเหมือนกับคนล้มละลายแล้ว”

แล้วบรรหารจัดการกับบาดแผลเหล่านั้นอย่างไร?

“คนที่ว่าผม ทำไม่ดีกับผม หลายคนล้มหายตายจากไปจากวงการการเมืองหมดแล้ว พวกเขาทำกับผมไว้มาก แต่ไม่มีอะไรติดค้างอยู่ในใจแล้ว ผมให้อภัยหมดแล้ว แต่ผมยังอยู่และจะนำพรรคลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งต่อไปด้วย”

บรรหารกล่าวประโยคข้างต้นเมื่อ 20 เมษายน 2559

เสาร์ที่ 23 เมษายน 2559 – มังกรการเมืองก็ได้กลับคืนสู่ฟ้า

ต้นปี 2560 – “วราวุธ” ลูกชายคนเดียวของบรรหาร ประกาศแล้วว่า พร้อมนำพรรคชาติไทยพัฒนาลงสู่สนามการเลือกตั้ง