วงค์ ตาวัน : รับๆ ไปเถอะจะได้เลือกตั้ง

วงค์ ตาวัน
AFP PHOTO / Nicolas ASFOURI

ผลการผ่านอย่างฉลุยของร่างรัฐธรรมนูญมีชัย ย่อมทำให้แน่ชัดแล้วว่า การเมืองการปกครองของประเทศไทย กำลังจะเข้าสู่ยุคของการถอยหลังกลับไปสู่อดีตเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว สมัยที่พรรคการเมืองลงแข่งขันเลือกตั้ง ด้วยการหาเสียงกันแบบพื้นๆ ไม่สามารถชูนโยบายใหญ่ๆ ระดับพลิกโฉมสังคมได้อีก พอเลือกตั้งเสร็จก็ต้องคอยฟังสัญญาณจากกลุ่มที่กุมอำนาจอยู่เบื้องหลัง ว่าจะเอาใครมาเป็นนายกรัฐมนตรี

หรือบางครั้งเกมการเมืองในสภาดำเนินไปอย่างเข้มข้น แล้วเริ่มกระทบกับนายกรัฐมนตรีคนนอกที่ขุนนางขุนศึกผลักดันเข้ามา ก็จะโดนแรงบีบจากผู้กุมขุมกำลังมายังหัวหน้าพรรคการเมืองต่างๆ

ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจไปเรียบร้อยแล้ว จะเปิดอภิปรายกันในวันรุ่งขึ้นอยู่แล้ว แต่ค่ำคืนก่อนนั้น ผู้กุมขุมกำลังเชิญหัวหน้าพรรคการเมืองไปรับประทานอาหารค่ำ ผลก็คือ ส.ส. แห่กันไปถอนชื่อ ทำให้ญัตติล่มไปดื้อๆ

“นี่คือข้อเท็จจริงที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับการเมืองไทยในอดีต”

จนหลังจากการลุกฮือของประชาชนในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 นำมาสู่การกำหนดในรัฐธรรมนูญว่า นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส. ที่ผ่านการเลือกตั้งเท่านั้น ประกอบเข้ากับความก้าวหน้าของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ทำให้ระบบพรรคการเมืองเติบใหญ่ขึ้น พร้อมๆ กับการตื่นตัวทางการเมืองของชาวบ้านในชนบทครั้งใหญ่ เพราะเป็นยุคที่นโยบายของพรรคการเมืองตอบสนองผลประโยชน์ของชาวบ้านได้อย่างเป็นจริงมากที่สุด

บรรยากาศเหล่านี้ดำเนินไปท่ามกลางความไม่สบายใจของกลุ่มอำนาจตามโครงสร้างเก่า เหล่าขุนนางและขุนศึก เริ่มหมดบทบาทไปเรื่อยๆ

“จนประมาณปี 2548-2549 จึงถึงจุดที่กลุ่มอำนาจเก่า เริ่มจะทวงบทบาทในด้านการเมืองการปกครองกลับคืนมา!”

เกิดตัวแทนมวลชนที่รับใช้อำนาจเก่า สร้างกระแสนักการเมืองโกงกิน เหิมเกริม ใช้งบประมาณแผ่นดินไปรับใช้นโยบายประชานิยมมอมเมาประชาชนให้เป็นทาสการเมือง

นำไปสู่การรัฐประหาร 2549 และรัฐธรรมนูญ 2550 แต่ก็ยังไม่อาจหยุดกระแสของพรรคการเมืองได้

“จึงต้องมีผู้นำมวลชนคนใหม่มาทำหน้าที่แทน เพื่อกรุยทางในการหยุดประชาธิปไตย ก่อนจะนำมาสู่การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และเกิดเป็นร่างรัฐธรรมนูญใหม่ซึ่งผ่านประชามติอย่างท่วมท้นแล้ว”

เป้าหมายคือนำการเมืองไทยกลับไปสู่ยุคที่เป็นประชาธิปไตยแบบไม่เต็มใบ

ลดบทบาทพรรคการเมืองลงไป ถอยกลับไปเหมือนช่วงปี 2520 ยุคของขุนนางขุนศึกจะเริ่มกลับมาอีกครั้ง แต่จะแสดงผ่านวุฒิสภาโดยตรง และแน่นอนว่าจะกลับไปมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากคนนอก เป็นตัวแทนของฝ่ายอนุรักษนิยม

“เลือกตั้งเสร็จ พรรคการเมืองอาจไม่ได้เลือกนายกรัฐมนตรีเองเหมือนดังที่เคยเป็นในอดีต!”

ถึงนาทีคนไทยจำนวนไม่น้อย เริ่มหันกลับไปดูข่าวเก่าๆ เมื่อ 30-40 ปีก่อน เพื่อปูทางเตรียมตัวเตรียมใจเอาไว้ล่วงหน้า

โดยเฉพาะการก้าวจากฐานะผู้นำกองทัพ แล้วเข้าสู่การเมืองโดยมาเป็นนายกรัฐมนตรีเลย ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แถมอยู่อย่างมั่นคงยาวนานถึง 8 ปีเต็ม

“หลังการเลือกตั้งครั้งต่อไปที่น่าจะมีขึ้นในปลายปี 2560 เชื่อเหลือเกินว่า เราก็คงจะได้นายกรัฐมนตรีจากคนนอกอีกแน่นอน โดยการกำหนดจาก “พรรคสมาชิกวุฒิสภา” ที่เสียงดังเสียงแข็งเป็นปึกแผ่นที่สุด”

ฝ่ายอนุรักษนิยมทางการเมือง กำลังมีความสุขกับบรรยากาศการเมืองไทยในวันนี้เป็นอย่างมาก สามารถถอยหลังทุกสิ่งทุกอย่างกลับไปสู่อดีตได้ดังเดิมแล้ว

นี่ไม่ใช่เวลาของนักการเมือง พรรคการเมือง และประชาธิปไตยเสรีอีกแล้ว

ฝ่ายขวาในสังคมไทยกำลังเชิดชูคำว่า ประชาธิปไตยแบบไทยๆ โดยในสายตาของฝ่ายประชาธิปไตย เรียกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบหรือแค่เสี้ยวใบเท่านั้น!

ไม่เพียงผลประชามติที่รองรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ให้เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศไทยต่อจากนี้ไปเท่านั้น แต่ประชามติยังเห็นชอบกับคำถามพ่วง อันหมายถึงให้วุฒิสภามีอำนาจมหาศาล สามารถร่วมโหวตผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อีก 5 ปี หรือพูดง่ายๆ คือโหวตนายกฯ ได้ถึง 2 สมัยเป็นอย่างน้อย โดยที่มาของสมาชิกวุฒิสภานั้น ยึดโยงกับ คสช. โดยตรง

นี่คืออำนาจของฝ่ายกุมขุมกำลัง ที่จะกำหนดการเมืองไทยได้อย่างเต็มที่ในช่วง 5 ปี เมื่อเริ่มใช้รัฐธรรมนูญใหม่

เห็นเช่นนี้แล้ว ก็พอจะเข้าใจได้อย่างกระจ่างแจ้งว่า สำหรับคำกล่าวของแกนนำ คสช. ที่มักพูดอยู่เสมอๆ ว่า

“อยากให้การปฏิวัติครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย!!”

เจตนารมณ์ที่ไม่ต้องการให้ทหารต้องนำรถถังออกมาควบคุมการเมืองอีก ย่อมบรรลุแล้วอย่างแท้จริง เมื่อคำถามพ่วงกำลังจะบรรจุเข้าอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างสมบูรณ์แบบ

เพราะสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 250 คน ภายใต้การคัดสรรจาก คสช. จะเป็นเสมือนพรรคการเมืองอีกพรรค ที่ร่วมกำหนดตัวนายกรัฐมนตรี

ร่วมกำหนดความเป็นไปทางการเมือง

“นี่จึงเป็นหลักประกันว่า หากเห็นว่ารัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ดำเนินนโยบายหรือเล่นการเมืองโดยเริ่มสร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายกุมกำลังเมื่อไร การกำหนดความเป็นไปทางการเมืองสามารถดำเนินการได้โดยไม่จำเป็นต้องขับรถถังออกมาให้เอิกเกริกอีกต่อไป”

ไม่ต้องโดนนานาชาติคอยทักท้วงโน่นนี่อีกต่อไป

ความฝันที่ว่า จะไม่ต้องมีการรัฐประหารอีก อย่างน้อยตลอดช่วงที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังใช้อยู่ ก็คงเป็นจริงได้

เพราะมีเครื่องมือที่เหนือกว่าวิธีการยึดอำนาจแล้ว

ประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมานั้น มีผู้มาใช้สิทธิ 59 เปอร์เซ็นต์ จะเรียกว่ามาใช้สิทธิกันอย่างท่วมท้นก็คงไม่เต็มปากเต็มคำ ในจำนวนนี้มีผู้ให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ 61 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ไม่เห็นชอบ 38 เปอร์เซ็นต์ ส่วนคำถามพ่วง มีผู้เห็นชอบ 58 เปอร์เซ็นต์ และไม่เห็นชอบ 41 เปอร์เซ็นต์

แม้ว่าบรรยากาศในช่วงโค้งสุดท้ายก่อน 7 สิงหาคม กระแสไม่รับร่างรัฐธรรมนูญดูจะมาแรงอย่างมาก

จนทำให้มีผู้คนมึนงง และแทบไม่เชื่อ เมื่อผลออกมา โดยฝ่ายเห็นชอบทิ้งห่างฝ่ายไม่เห็นชอบอยู่มากมายทีเดียว

“จึงนำมาสู่การขบคิดวิเคราะห์กันอย่างหนัก ว่าเกิดอะไรขึ้น!?”

แน่นอนว่า เสียงที่รับรัฐธรรมนูญส่วนหนึ่ง ย่อมมาจากฝ่ายที่ยึดมั่นในแนวทางอนุรักษนิยมทางการเมือง แนวขวาจัดถอยหลัง

อีกส่วนหนึ่งรับเพราะชอบใจในยุค คสช. ปกครองบ้านเมืองสงบราบคาบ

แต่ที่สำคัญที่สุด และน่าจะเป็นจำนวนข้างมากของคนที่เห็นชอบกับรัฐธรรมนูญ คือ คนกลางๆ ทั่วไป ที่ไม่อยากให้ขั้นตอนต่างๆ ต้องล่าช้าออกไปอีก ถ้ารัฐธรรมนูญผ่านไปได้ ก็จะมีการเลือกตั้งรวดเร็ว แล้วจะได้รัฐบาลเลือกตั้งเข้ามาแทนที่รัฐบาลทหาร อันจะมีผลต่อเศรษฐกิจการทำมาค้าขายอย่างมาก โลกจะได้เลิกปิดล้อมบ้านเรา

“พูดง่ายๆ ว่ารับเพราะต้องการรัฐบาลเลือกตั้ง ส่วนจะเป็นรัฐบาลที่ไม่สามารถทำอะไรได้มากนักเพราะกรอบรัฐธรรมนูญปิดกั้นไปทุกด้าน นั่นค่อยไปว่ากันทีหลัง!”

ขณะเดียวกัน จากการสำรวจข้อเท็จจริงพบว่า คนในชนบทส่วนใหญ่ ลงมติเห็นชอบ

“เพราะได้รับการบอกเล่าจากเครือข่ายกลไกท้องถิ่นว่า รับๆ ไปเถอะ บ้านเมืองจะได้ไม่วุ่นวายอีก แล้วจะได้เลือกตั้งกันเร็วๆ”

แถมคนชนบทที่เข้าไปทำงานใน กทม. ซึ่งรับรู้ข้อมูลชัดเจน ก็ไม่มีการเคลื่อนไหวเดินทางกลับบ้านเพื่อไปลงประชามติกันเลย นี่ยิ่งทำให้เสียงเห็นชอบยิ่งไร้อุปสรรค

อีกนั่นแหละ เสียงของฝ่ายไม่เห็นชอบ ก็ได้รับชัยชนะในพื้นที่ภาคอีสาน และใน 3 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งน่าคิดวิเคราะห์ว่า พื้นฐานของอีสานและ 3 จังหวัดใต้ คือ ไม่ยอมรับอำนาจรัฐยุคนี้ชัดเจน ส่วนภาคเหนือที่มีแนวโน้มเหมือนอีสาน แม้เสียงเห็นชอบมากกว่า แต่ก็ทิ้งกันไม่ห่างมากนัก

แต่ผลโดยรวมของทั้งประเทศ เสียงเห็นชอบเหนือกว่าไม่เห็นชอบอยู่มาก ทั้ง 2 ประเด็น

โดยเปลี่ยนจากยุคประชามติรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ว่า “รับๆ ไปก่อนแล้วไปแก้ทีหลัง”

มาเป็น “รับๆ ไปเถอะ จะได้มีเลือกตั้งเร็วๆ”