เกษียร เตชะพีระ : รู้จักประชานิยมผ่านหนังสือดีที่สุด 5 เล่มกับ คาส มูด์เด (จบ)

เกษียร เตชะพีระ

ตอน 1 2 3 4

Credit: Rick O’Quinn, University of Georgia (https://www.uga.edu/faculty/profile/mudde-cas/)

ถาม : เรามาเดินหน้าต่อไปยังหนังสือเล่มสุดท้ายในบัญชีรายชื่อหนังสือดีที่สุดเกี่ยวกับประชานิยมของคุณนะคะ ได้แก่เรื่อง What Is Populism? (ค.ศ.2016) โดย แยน-แวร์เนอร์ มูลเลอร์ เขาเชื่อว่าโดยมูลฐานแล้วประชานิยมมีลักษณะต่อต้านประชาธิปไตย ใช่ไหมคะ?

คาส มูด์เด : หนังสือเล่มนี้เหมือนผสมผสานเล่ม The Populist Explosion ของ จอห์น จูดิส กับ The People ของ มาร์กาเร็ต คาโนแวน เข้าด้วยกันในความหมายที่ว่ามันเป็นงานปรัชญาการเมืองแต่อ่านเข้าใจง่ายกว่าเล่มของคาโนแวนมากครับ

มันอภิปรายความตึงเครียดระหว่างประชานิยมกับประชาธิปไตยได้อย่างดีเยี่ยมและเน้นบทบาทของประชานิยมที่หยิบยกบรรดาปัญหาซึ่งดำรงอยู่ภายในระบอบประชาธิปไตยมาย้ำให้เห็นเด่นชัด

มูลเลอร์มีท่าทีเชิงลบต่อประชานิยมเป็นอย่างยิ่งซึ่งเขามองว่าแทบจะมีแต่ฝ่ายขวาล้วนๆ เขาไม่คิดว่าพรรคโพเดโมสในสเปนหรือพรรคซีริซ่าในกรีซหรือขบวนการยึดครองวอลล์สตรีตเป็นพวกประชานิยม

เขายังเห็นต่างจากคนอื่นแทบทุกคนก็ว่าได้ตรงที่เขาไม่คิดว่าพรรคของประชาชนในสหรัฐสมัยปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นพื้นฐานของงานศึกษาเรื่อง The Populist Persuasion ของ ไมเคิล เคซิน นั้นเป็นประชานิยม

 

ถาม : ทำไมเขาถึงคิดว่าประชานิยมมีลักษณะต่อต้านประชาธิปไตยล่ะคะ?

คาส มูด์เด : สำหรับ แยน-แวร์เนอร์ ระบอบประชาธิปไตยย่อมต้องเป็นเสรีประชาธิปไตยโดยนิยาม เขาถกเถียงว่าการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม สื่อเสรี และฝ่ายตุลาการอิสระเป็นลักษณะมูลฐานด้านต่างๆ ของระบอบประชาธิปไตยไม่ว่าที่ไหนก็ตาม เขาเถียงว่าประชานิยมต่อต้านพื้นที่อิสระดังกล่าวเหล่านั้นภายในระบบการเมือง

ส่วนตัวแล้ว ผมเห็นด้วยกับคำอภิปรายของเขาเรื่องความตึงเครียดระหว่างประชานิยมกับประชาธิปไตย ถึงแม้ว่าผมจะตีความทั้งประชานิยมและประชาธิปไตยแตกต่างจากเขาไปบ้างเล็กน้อยก็ตาม ผมคิดว่าความตึง เครียดที่เขาหยิบยกขึ้นมาย้ำให้เห็นเด่นชัดนั้นอยู่ตรงใจกลางการท้าทายที่ประชานิยมกระทำต่อสิ่งที่ผมเรียกว่าระบอบเสรีประชาธิปไตย ส่วนเขาเรียกว่าประชาธิปไตยโดยทั่วไปเอามากๆ ทีเดียว

 

ถาม : ถ้างั้นสิ่งที่ตกอยู่ใต้ภัยคุกคามเมื่อเผชิญกับขบวนการประชานิยมเหล่านี้บางขบวนก็ได้แก่พหุภาพ (plurality ความหลายหลากมากมาย) ซีคะ?

คาส มูด์เด : เขาเถียงว่าประชาธิปไตยนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานพหุนิยม หรือนัยหนึ่งความคิดที่ว่ามีกลุ่มแตกต่างหลากหลายกันอยู่ในสังคมซึ่งทั้งหมดล้วนแต่มีข้ออ้างอันชอบธรรมที่จะได้อำนาจ ผมและคนอื่นอีกบางคนคงจะเถียงว่าที่เขาว่านั้นเป็นลักษณะเฉพาะเจาะจงของระบอบเสรีประชาธิปไตยต่างหาก แต่ที่ แยน-แวร์เนอร์ กับผมเห็นตรงกันก็คือประชานิยมมีลักษณะเอกนิยม (monism) โดยมูลฐาน

ฉะนั้น โดยมูลฐานแล้ว ประชานิยมจึงต่อต้านพหุนิยม (pluralism) และถือว่าตัวกระทำการอื่นๆ เป็นกลุ่มผลประโยชน์พิเศษเฉพาะที่ไม่ชอบธรรม พวกนั้นล้วนแต่เป็นผู้ทรยศ ล้วนแต่ทุจริตฉ้อฉล

 

ถาม : ดังนั้น เวลานักประชานิยมคนหนึ่งลงสมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งอะไรสักอย่าง เขาก็จะบอกว่าพวกนักการเมืองที่ลงแข่งกับเขาต่างหากที่เป็นชนชั้นนำชั่วร้ายทุจริตฉ้อฉล และแล้วเมื่อนักประชานิยมขึ้นครองอำนาจ เขาหรือเธอก็จะปฏิเสธไม่ยอมรับรองว่าฝ่ายค้านใดๆ ชอบธรรมอีกเหมือนกัน

คาส มูด์เด : ตรงเผงเลยครับ อีกเรื่องที่ แยน-แวร์เนอร์ ทำได้ดีเยี่ยมคือแสดงให้เห็นว่ามันไม่จริงในเชิงประจักษ์หรอกไอ้ความคิดที่หลายต่อหลายคนมีซึ่งช่วยปลอบประโลมให้สบายใจยิ่งที่ว่าพวกประชานิยมนั้นปกครองไม่เป็น ความคิดดังกล่าวนี้ถือว่าโดยแก่นแท้แล้วประชานิยมเป็นจุดยืนต่อต้านระเบียบสถาบัน ฉะนั้น ทันทีที่นักประชานิยมกลายเป็นระเบียบสถาบันเสียเอง พวกเขาย่อมพังทลายแน่นอน

แต่เอาเข้าจริงเราเองก็รู้ว่ามีหลายกรณีที่พวกประชานิยมครองอำนาจแล้วประสบความสำเร็จ พวกเขาสร้างชนชั้นนำใหม่ขึ้นมา คุณเห็นกรณีแบบนั้นกับ วิกตอร์ ออร์บาน นายกรัฐมนตรีฮังการี เขากล่าวว่า “ผมเป็นปากเสียงที่ชอบธรรมของประชาชน” และบอกต่อไปว่าแต่ที่ฮังการีนี่ยังมีชนชั้นนำในเงามืดอยู่บางกลุ่ม ตัวอย่างเช่นอดีตสมาชิกพรรคสังคมประชาธิปไตยผู้กำลังแอบสมรู้ร่วมคิดกับสหภาพยุโรปมาบ่อนทำลายประชาชน (หมายถึงตัวนายกฯ ออร์บานเอง)

 

ถาม : ทำไม แยน-แวร์เนอร์ มูลเลอร์ ถึงมีท่าทีเชิงลบกับประชานิยมขนาดนั้นล่ะคะ? เป็นเพราะประวัติศาสตร์เยอรมันในคริสต์ศตวรรษที่ 20 และสิ่งที่ประชานิยมอาจนำไปถึงได้ใช่ไหมคะ?

คาส มูด์เด : ผมคิดว่ามันเกี่ยวกับความเข้าใจประชาธิปไตยของเขามากกว่าครับ เนื่องจากสำหรับเขาแล้วประชาธิปไตยเป็นสิ่งเดียวกับเสรีประชาธิปไตย ประชานิยมจึงเจาะเข้าไปถึงแกนกลางของมันเลยทีเดียว อีกอย่างก็คือกลุ่มบางกลุ่มซึ่งพวกเสรีนิยมและหัวก้าวหน้าหลายคนมองว่าอย่างน้อยก็มีเจตนาดีแม้ว่าการกระทำอาจไม่จำเป็นต้องดีไปด้วยอาทิเช่นโพเดโมสและซีริซ่านั้น แยน-แวร์เนอร์ กลับไม่เห็นว่าพวกนี้เป็นประชานิยม

ดังนั้น เอาเข้าจริงแขาแทบไม่มีกลุ่มใดที่ได้ทำสิ่งที่ค่อนไปทางบวกซึ่งเป็นพวกประชานิยมเลย

 

ถาม : คุณเอ่ยถึง ฌอง-ฌากส์ รูสโซ ไว้ในหนังสือ Populism : A Very Short Introduction ของคุณ เราจำต้องเข้าใจแนวคิดของเขาเรื่องเจตจำนงทั่วไป (the general will) เพื่อที่จะเข้าใจประชานิยมได้ถูกต้องไหมคะ?

คาส มูด์เด : กล่าวในแง่ทรรศนะมูลฐานต่อสังคมแล้ว พวกประชานิยมมองเห็นชนชั้นนำผู้ทุจริตฉ้อฉลประจัoหน้ากับประชาชนผู้บริสุทธิ์ ทว่า การเมืองแบบที่พวกเขาต้องการนั้นตั้งอยู่บนเจตจำนงทั่วไปของประชาชน เหตุที่นี่เป็นเรื่องสำคัญก็เพราะพวกประชานิยมเชื่อว่าโดยมูลฐานแล้ว “ประชาชน” มีค่านิยมและผลประโยชน์ร่วมกัน ฉะนั้น คุณจึงสามารถมีการเมืองที่ดีสำหรับทุกคนได้ นั่นคือจุดขายของพวกเขา แน่ล่ะว่าการเสนอเช่นนั้นมันมีเสน่ห์ดึงดูดใจกว่าพวกนักการเมืองที่พูดจาประสาซื่อว่า “มาตรการเฉพาะอันนี้อำนวยประโยชน์ให้แก่กลุ่มนี้หรืออย่างน้อยก็อำนวยประโยชน์ให้กลุ่มนี้มากกว่ากลุ่มอื่น”

ลองคิดถึงนโยบายสิ่งแวดล้อมดูซีครับ สมมุติว่าเราทั้งหมดเชื่อเรื่องภาวะโลกร้อน ฉะนั้น เราทั้งหมดจึงได้ประโยชน์จากการเมืองที่ทวนกระแสภาวะโลกร้อนเพราะมิฉะนั้นเราก็คงตายกันเรียบ แต่ทว่า ผลลัพธ์ของนโยบายสิ่งแวดล้อมเหล่านั้นจะยังความเดือดร้อนให้บางคนมากกว่าคนอื่น อย่างเช่นว่าทำให้พลังงานแพงขึ้น กล่าวในเชิงสัมพัทธ์แล้ว คนจนจะได้รับผลกระทบหนักกว่าพวกเศรษฐีพันล้านทั้งหลาย เพราะโลกเรามันก็เป็นไปของมันแบบนั้นแหละ มันเป็นเรื่องซับซ้อนและไม่มีนโยบายใดจะส่งผลดีแก่ทุกคนเท่ากันได้ จะมีคนบางคนที่ไม่ได้ประโยชน์เลยหรือได้น้อยกว่าคนอื่นอักโขเสมอ ถึงแม้พวกเขาจะเป็นเพียงคนกลุ่มเล็กๆ ก็ตาม

 

ถาม : นั่นคือข้อถกเถียงเรื่องเจตจำนงทั่วไปของรูสโซใช่ไหมคะ?

คาส มูด์เด : ใช่ครับ ถึงแม้ว่าเอาเข้าจริงมันจะสลับซับซ้อนกว่าแง่มุมที่ผมหยิบยกขึ้นมาเน้นให้เห็นเด่นชัดในที่นี้มาก รูสโซเถียงว่าประชาชนหาใช่เป็นเพียงปัจเจกบุคคลมากหลายที่มารวมๆ กันเท่านั้นไม่ อันที่จริงพวกเขายังเป็นผู้กระทำการที่เป็นเอกภาพชนิดหนึ่งด้วย และดังนั้น พวกเขาจึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

 

ถาม : แล้วใครเป็นพเวกนักปรัชญาการเมืองหลักที่เห็นต่างจากอันนั้นล่ะคะ?

คาส มูด์เด : มีหลายคนครับ แม้แต่ตัวรูสโซเองก็คงไม่เห็นด้วยกับข้อความข้างต้นบางส่วน ทว่า นักคิดเสรีนิยมและอนุรักษนิยมส่วนใหญ่รวมทั้ง จอห์น รอลส์ และ เอ็ดมันด์ เบิร์ก คงเถียงว่าประชาชนนั้นไม่เป็นเนื้อเดียวกันและมีผลประโยชน์แตกต่างกันรวมทั้งค่านิยมแตกต่างกันด้วย