วิกฤติศตวรรษที่ 21 : นโยบายออกไปทั้งโลกของจีนกับสงครามการค้า

สงครามการค้าสหรัฐ-จีน : สู่ขั้นใช้ยาแรง (42)

นโยบายออกไปทั้งโลกของจีนกับสงครามการค้า

การที่บริษัทของจีนที่นำโดยรัฐวิสาหกิจออกไปลงทุนทั่วโลก (เด่นชัดตั้งแต่ปี 2005) ได้เปลี่ยนฐานะของจีนจากการเป็นผู้ผลิตและโรงงานของโลก สู่การเป็นนักลงทุนของโลก

เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กระทบต่อระเบียบโลกที่สหรัฐและยุโรปครองความเป็นใหญ่

การจัดดุลกำลังโลกใหม่ และภูมิรัฐศาสตร์โลกจะเปลี่ยนไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ

ตอนที่จีนเป็นผู้ผลิตและโรงงานของโลกนั้น จีนและแรงงานจีนแสดงบทบาทเป็นเพียงผู้รับจ้างทำของราคาถูก เพื่อส่งไปขายโดยเฉพาะในสหรัฐและยุโรป

เมื่อจีนขยับฐานะเป็นนักลงทุนของโลก เป็นการยกฐานะของประเทศสู่ระดับเดียวหรือใกล้เคียงกับตะวันตก ทั้งในด้านตลาดเงินทุน เทคโนโลยี และการทหารที่ตะวันตกเป็นผู้ควบคุมผูกขาดมานานหลายร้อยปี

หมายถึงว่า ตะวันตกจำต้องยอมรับคุณค่า มาตรฐานและผลประโยชน์ใจกลางของจีน

และหมายถึงว่า สัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบตะวันตกเป็นแกนนำเดียว จำต้องยุติลง

เกิดความสัมพันธ์ทางการค้าแบบพหุภาคีขึ้น เป็นยาขมที่ยากจะกลืนกินสำหรับตะวันตก

ดังนั้น การที่จีนขยับฐานะขึ้นเป็นนักลงทุนโลก โดยธรรมชาติเป็นการเบียดขับรุนแรงต่อสหรัฐบนเวทีโลก ไม่ว่าจีนจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม และสหรัฐก็จะกระทำการต่างๆ เพื่อหยุดยั้งความรุ่งเรืองและการเติบโตของจีนให้จงได้

สงครามการค้าสหรัฐ-จีน จึงไม่ใช่บังเอิญเกิดหรือเกิดจากความบุ่มบ่ามของประธานาธิบดีทรัมป์

หากเกิดจากความขัดแย้งที่ไม่อาจแก้ไขได้ที่ “บ่ม” มายาวนานระหว่างสหรัฐกับจีน

ในสหรัฐมีสำนักคิดฝ่ายขวาได้แก่ สถาบันอเมริกันเอ็นเตอร์ไพรส์ (AEI) และมูลนิธิเฮอริเทจ ได้ร่วมมือกันสร้างสำนักติดตามการลงทุนทั่วโลกของจีน (CGTI) ตั้งแต่ปี 2005 ถือกันว่ารวบรวมสถิติข้อมูลการลงทุนต่างประเทศของจีนเชิงสาธารณะอย่างละเอียดมากที่สุดของจีนในสหรัฐ

นอกจากนี้ ยังมีสถาบันการเงินการลงทุนจำนวนหนึ่ง ศึกษาการลงทุนของจีนลงรายละเอียดมากเป็นรายประเทศ เพื่อขายข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจจะลงทุนในจีน เป็นต้น

การลงทุนทั่วโลกของจีนในท่ามกลางความเสี่ยง

การออกไปลงทุนทั่วโลกของจีน ด้านหนึ่งเป็นการฉวยโอกาสทองที่สหรัฐมัวยุ่งกับการจัดระเบียบมหาตะวันออกกลาง เพื่อแทรกตัวขึ้นสู่เวทีโลก

อีกด้านหนึ่งเกิดขึ้นในท่ามกลางความเสี่ยงใหญ่ ซึ่งมีอยู่ 3 ประการด้วยกัน ได้แก่

1) ความเสี่ยงทั่วไปจากวิกฤติระบบทุน จีนได้เผชิญวิกฤติระบบทุนหลายครั้งตั้งแต่ปี 1997 ที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจจีนอย่างรุนแรง ต้องใช้มาตรการด้านการเงินการคลัง และการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ-การเมืองและการกำหนดแนวทางนโยบายที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอยู่เสมอ

ในท่ามกลางความเสี่ยงนี้จีนดูมีความมุ่งมั่น ที่จะเดินหน้าการปฏิรูปและเปิดกว้างต่อไป

ไม่เคยคิดวอกแวกว่าจะปิดหรือแช่แข็งประเทศโดยที่เห็นว่าเมื่อจีนมีบทบาทในการค้าโลกมากขึ้นแล้ว ก็จะสามารถลดความรุนแรงและผลกระทบจากวิกฤติลงได้บ้าง

แต่วิกฤติระบบทุนก็ไม่ได้ลดความรุนแรง ทั้งนี้เพราะว่าวิกฤติครั้งนี้เป็นวิกฤติทั่วด้าน เป็นทั้งด้านเศรษฐกิจ การเงิน การค้าการลงทุน ด้านความเหลื่อมล้ำในสังคม ด้านประชากรและสิ่งแวดล้อม เกิดโรคระบาดใหญ่หลายครั้ง ตั้งแต่ไข้หวัดซาร์ส ไข้หวัดนก ไข้หวัดหมู และไข้โควิด-19 ในขณะนี้เป็นต้น

มีการเผชิญหน้าทางทหารอย่างน่าหวาดเสียวระหว่างประเทศมหาอำนาจ เมื่อถึงปัจจุบันที่โลกคุกรุ่นด้วยสงครามต่างๆ การต่อสู้ระหว่างสหรัฐ-จีน จึงเป็นในทำนองว่า ใครที่คงทนต่อวิกฤติและความเสียหายได้ดีกว่าจะเป็นผู้ชนะ

2) ความเสี่ยงจากการต่อต้านจากสหรัฐและยุโรป สหรัฐและยุโรปเป็นเจ้าโลกมานาน มีความไวสูงต่อการท้าทายจากประเทศที่เคยเป็นเบี้ยล่างหรือพัฒนาน้อยกว่า

ดังนั้น จึงจับตาและพร้อมที่จะขัดขวางการรุ่งเรืองเติบโตของจีนอย่างทันที ไม่ว่าจะติดหล่มในพันธกิจใดก็ตาม ดังนั้น ความสำเร็จในการออกไปทั่วโลกของจีนยิ่งมีมากเพียงใด ก็ยิ่งเผชิญความเสี่ยงจากการต่อต้านของตะวันตกมากขึ้นเท่านั้น จนกระทั่งปะทุขึ้นเป็นสงครามการค้าที่ยังไม่รู้ว่าจะลงเอยอย่างไร

3) ความเสี่ยงจากความมั่นคงและการเมืองในประเทศตลาดเกิดใหม่ ประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาที่จีนเข้าไปลงทุนจำนวนมากไม่ค่อยมีเสถียรภาพทางการเมือง เนื่องจากถูกแทรกแซงจากภายนอกง่าย และภายในสถาบันการเมืองและสังคมยังไม่ตั้งมั่นในการเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและการกดดัน ขาดความเป็นเอกภาพในรัฐบาลและระหว่างรัฐบาลกับประชาชน

นอกจากนี้ยังมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา ชนเผ่า และกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ

ในการเข้าไปลงทุนจีนต้องเผชิญการต่อรองที่ยาวนานกับผู้มีส่วนได้เสียจำนวนมาก เพื่อประกันให้โครงการต่างๆ ดำเนินไปด้วยดี หรือเมื่อตกลงได้แล้ว เมื่อเวลาผ่านไปก็อาจมีกลุ่มอำนาจใหม่ล้มเลิกหรือมีกลุ่มอื่นขึ้นมาประท้วง จนต้องชะลอโครงการไป ซึ่งเกิดขึ้นในหลายประเทศ

เช่น โครงการเขื่อนในพม่า และรถไฟความเร็วสูงที่อินโดนีเซีย เป็นต้น

โครงการยักษ์ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน ต้องหยุดชะงักเป็นช่วงๆ จากปัญหาความมั่นคง จีนต้องส่งกองกำลังถึง 100,000 คนเพื่อรักษาการลงทุนที่นั่น

(ดูบทความของ Hangying Wang ชื่อ A Deeper Look at China”s “Going Out” Policy ใน cigionline.org 08/03/2016)

Chinese cash and passport

ภาพใหญ่การลงทุนทั่วโลกของจีน

มีการศึกษาความเป็นไปของการลงทุนทั่วโลกของจีนอยู่จำนวนมากและหลายสำนัก ในที่นี้จะกล่าวถึง 2 สำนัก ได้แก่

สำนักติดตามการลงทุนทั่วโลกของจีนที่กล่าวถึงแล้ว ให้ภาพใหญ่เกี่ยวกับปริมาณการลงทุนทั้งหมด พื้นที่สำคัญที่ไปลงทุน และอัตราการลงทุนของจีนว่าเป็นไปอย่างไร

โดยติดตามเฉพาะโครงการที่มีขนาด 100 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป พบว่า ระหว่างปี 2005-2019 จีนลงทุนและก่อสร้างนอกประเทศกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์

ภาคเศรษฐกิจที่ลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ พลังงาน การขนส่ง อสังหาริมทรัพย์ โลหะ และการเกษตร

ประเทศที่ไปลงทุนสูงสุด 10 อันดับแรกได้แก่สหรัฐแบบทิ้งขาดชาติอื่นที่ตามมา

ที่สองได้แก่ ออสเตรเลีย ตามด้วยอังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ บราซิล แคนาดา เยอรมนี สิงคโปร์ รัสเซีย และเปรู คิดเป็นร้อยละ 57 ของเงินลงทุนในต่างประเทศของจีนทั้งหมด นั่นคือจีนลงทุนส่วนใหญ่ในประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศที่จีนลงทุนมากในเอเชียได้แก่ ปากีสถาน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ที่แอฟริกาได้แก่ เอธิโอเปีย แอลจีเรียและไนจีเรีย ที่ตะวันออกกลางได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย ยูเออีและอิหร่าน

(ดูรายงานของ Derek Scissors ชื่อ China”s Global Investment in 2019: Going Out Goes Small ใน aei,org มกราคม 2020)

การลงทุนของจีนทั่วโลกถึงจุดสูงสุดในครึ่งแรกของปี 2016 การพุ่งสูงส่วนใหญ่เกิดจากการเข้าไปลงทุนซื้อกิจการของบริษัทจีนในสหรัฐ การลงทุนของจีนมีลักษณะหลากหลายขึ้น ที่สำคัญยังเป็นการก่อสร้างในด้านพลังงาน

แต่ในปี 2016 การลงทุนในด้านเทคโนโลยีและการบันเทิงขึ้นมาเหนือกว่า

การลงทุนในสหรัฐของจีนลดลงตั้งแต่ปี 2017 เมื่อถึงปี 2019 ได้ลดลงอย่างเห็นชัด สืบเนื่องจากการกีดกันของสหรัฐ เช่น กีดกันการลงทุนในบริษัทแอปเปิลและวอลต์ดิสนีย์

การลงทุนขนาดใหญ่ของจีนในที่อื่น เช่น ในโครงการแถบและทางก็ลดลง แสดงถึงความจำกัดของจีนในการลงทุนหรือมีบทบาททางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขจากทางการจีนระบุว่า การลงทุนในต่างแดนของจีนยังมีระดับคงตัว อาจมีการลงทุนขนาดเล็กต่ำกว่า 100 ล้านดอลลาร์ที่หลากหลายขึ้น

สำนักที่สองได้แก่ กลุ่มบริษัทบรุนสวิกที่ปรึกษาทางยุทธศาสตร์ธุรกิจของเยอรมนี ได้ออกรายงานเดือนมกราคม 2019 ที่ได้จากการสำรวจการลงทุนใน 18 ตลาดทั่วโลกในประเทศพัฒนาแล้ว ได้แก่ สหรัฐและยุโรป มีเยอรมนี อังกฤษ เป็นต้น และ 15 ประเทศในแผนแถบและทาง ได้แก่ อินเดีย ปากีสถานและแอฟริกาใต้ เป็นต้น และการประมวลทัศนะของผู้นำนักธุรกิจจีน 300 คนเกี่ยวกับความต้องการระดับโลกของจีน ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ-จีน และการออกจากอียูของอังกฤษ พบว่า

1) ผู้นำธุรกิจจีนเห็นว่าการออกไปลงทุนทั่วโลกเป็นเสาหลักในการรักษาการเติบโตระดับสูงของจีน

2) บริษัทธุรกิจจีนโดยทั่วไปยังมีภาพลักษณ์ด้านบวก แม้ว่าเกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน โดยร้อยละ 44 หรือเกือบครึ่งของโลกเห็นว่าบริษัทจีนเป็นผู้นำทางอุตสาหกรรมของโลก โดยสามบริษัทของจีนได้แก่ อาลีบาบา หัวเว่ย และเสี่ยวหมี่ เป็นที่กล่าวถึงมากที่สุดว่าเป็นผู้นำทางอุตสาหกรรม ประเทศตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นผู้ยอมรับว่าจีนเป็นผู้นำอุตสาหกรรมในโลกมากที่สุด อย่างไรก็ตาม โลกยังมีความกังวลเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของบริษัทจีนในด้านความโปร่งใส การปฏิบัติทางสิ่งแวดล้อม และการโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญา

3) สหรัฐค่อนข้างโดดเดี่ยวในปัญหาการค้ากับจีน ส่วนอังกฤษมีความหวังว่า การออกจากอียูจะเสริมความเข้มแข็งทางการค้ากับจีน และพบว่า ร้อยละ 71 ของตัวอย่าง กล่าวว่า ประเทศของตนมีความสัมพันธ์ทางการค้าที่เป็นธรรมกับจีน ขณะที่สหรัฐเห็นต่างมีแต่ความแตกแยก อย่างไรก็ตาม ผู้นำนักธุรกิจจีนมองในด้านดีว่าความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐจีนจะดีขึ้นใน 12 เดือนข้างหน้า

(ดูบทรายงานของ Yan Mei ชื่อ New Perceptions of China Going Global report ใน blunswickgroup.com 22/01/2019)

การมองด้านดีดังกล่าวอธิบายได้ว่าบรรดาผู้นำธุรกิจจีนเชื่อมั่นว่า

ก) สหรัฐไม่สามารถปลีกตัวไปอยู่โดดเดี่ยวจากตลาดโลกได้เนื่องจากธุรกิจของตนอันมีบรรษัทข้ามชาติเป็นแกนได้พัวพันกับเศรษฐกิจโลกอย่างแยกไม่ออก

ข) สหรัฐไม่สามารถหย่าทางเศรษฐกิจกับจีนได้ เนื่องจากไม่มีพื้นที่ใดในโลกรวมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถผลิตของดีราคาถูกได้หลากหลายในปริมาณมากและต่อเนื่องได้เหมือนกับจีน

ค) ทรัมป์ที่จะต้องเผชิญศึกเลือกตั้งในปี 2020 ไม่อาจดำเนินสงครามการค้าไปอย่างไม่รู้ว่าจะจบลงอย่างใดได้ จำต้องหาทางลงไว้ก่อนเฉพาะหน้า ซึ่งเป็นการคาดหมายที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริง เมื่อทรัมป์ทำข้อตกลงการค้าขั้นที่หนึ่งกับจีนในปลายปี 2019

รายงานของกลุ่มบริษัทนี้ในเดือนพฤษภาคม 2019 จากการสำรวจของประชากร 7,500 คนใน 18 ประเทศเห็นว่า แม้เกิดการพิพาททางการค้ากับสหรัฐ การเติบโตของจีนโดยทั่วไปจะดำเนินต่อไป และว่า ในอนาคตจีนจะก้าวสู่การเป็นผู้นำอุตสาหกรรมโลก ซึ่งไม่ใช่เป็นเพราะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อย่างเดียว แต่เป็นเพราะมีตัวแบบเชิงบวกและน่าเชื่อถือ ซึ่งหมายความว่าจีนจะต้องเอาชนะอุปสรรคจำนวนมาก

อนึ่ง กลุ่มบริษัทนี้มีความเห็นว่า มีแหล่งข่าวเกี่ยวกับธุรกิจของจีนหลายแหล่ง เช่น รายงานในสื่อ มีสื่อสังคม การพูดจากปากต่อปาก เป็นต้น แต่ข้อมูลตรงจากบริษัทจีนเป็นแหล่งข่าวสารที่เชื่อถือได้ที่สุด ในการสร้างการสนับสนุนและความไว้วางใจกัน

สรุปความบางประการ

การออกไปลงทุนทั่วโลกของจีน ด้านหลักเป็นไปเพื่อการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของจีน เพื่อรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนได้อย่างยั่งยืน ไม่ใช่การช่วยเหลือแบบสังคมสงเคราะห์

แต่การที่รัฐวิสาหกิจของจีนเป็นผู้นำในการออกไปข้างนอก จึงมีด้านการเมืองผสมเพื่อเปิดอิทธิพลของจีนในดินแดนต่างๆ ทำให้ลดประเด็นเรื่องกำไร-ขาดทุนลงไปได้บ้าง และสร้างภาพว่าเป็นเรื่องของเกม “ชนะ-ชนะ” และทำให้เห็นไปว่าการลงทุนของจีนเป็นความตกลงระหว่างรัฐต่อรัฐ ขณะที่มีบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางของจีนออกไปลงทุนในกิจการอย่างหลากหลาย ตั้งแต่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมไปจนถึงภัตตาคาร

เงินทุนจากจีนมีขนาดเล็กเกินไปที่จะช่วยแก้ไขปัญหาโลกได้ เช่น ทั่วโลกประมาณว่าต้องการเงินทุนเพื่อใช้จ่ายในโครงสร้างพื้นฐานราวปีละ 1 ล้านล้านดอลลาร์ เทียบกับที่จีนตั้งกองทุนเส้นทางสายไหมมูลค่า 40 พันล้านดอลลาร์ และการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชียมูลค่าเพียง 100 พันล้านดอลลาร์

ดังนั้น ประเทศตลาดเกิดใหม่ทั้งหลายในยามวิกฤติยากลำบาก ควรคิดพึ่งตนเองหรือกลุ่มของตน ไม่ควรคิดพึ่งจีนเป็นเบื้องแรก สถานการณ์ขณะนี้ชาติต่างๆ ล้วนดิ้นรนเอาตัวรอด

ตอนต่อไปจะกล่าวถึงบางกรณีที่น่าสนใจได้แก่ตุรกีกับการแย่งชิงน้ำมันในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เป็นต้น