ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 มีนาคม - 2 เมษายน 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
ในประเทศ
ศอฉ.มาแล้ว!
26 มี.ค.ประกาศภาวะฉุกเฉิน
เผด็จศึกไวรัสโควิด-19
สถานการณ์โรคโควิด-19 ในไทยทวีความรุนแรง
เร่งให้รัฐบาลนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เข้าควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาด
24 มีนาคม พล.อ.ประยุทธ์แถลงว่า ได้ขออำนาจคณะรัฐมนตรีประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พร้อมยกระดับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ “ศอฉ.โควิด”
ประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากวันนั้นก็คือ การที่นายกฯ ประกาศให้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีผลบังคับใช้อีก 2 วันข้างหน้าคือวันที่ 26 มีนาคม ทำให้หลายคนสงสัย ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือไม่ฉุกเฉินกันแน่
ทำไมถึงไม่ประกาศให้มีผลบังคับใช้ทันที เพราะเรื่องที่รัฐบาลเตรียมใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเข้าจัดการปัญหาโรคโควิดนั้น มีข่าวสะพัดมาระยะหนึ่งแล้ว ในขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าวันละ 100 ราย
ต่อเสียงวิจารณ์ดังกล่าว ต่อมาวันที่ 25 มีนาคม พล.อ.ประยุทธ์จึงได้ออกมาแถลงถึงการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินวันที่ 26 มีนาคมอีกครั้งผ่านสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจฯ สรุปใจความสำคัญดังนี้
วันนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อวิกฤตไวรัสโควิด-19 สถานการณ์อาจจะทวีความรุนแรง เลวร้ายยิ่งขึ้นกว่านี้หลายเท่า ส่งผลต่อสุขภาพ รายได้และการใช้ชีวิตของทุกคน ในฐานะนายกฯ จึงจำเป็นต้องดำเนินมาตรการต่างๆ ด้วยความเข้มข้นมากขึ้นเพื่อหยุดการแพร่ระบาด ลดผลกระทบทางเศรษฐกิจให้ได้
โดยจะเข้ามาบัญชาการจัดการกับไวรัสโควิด-19 ในทุกมิติอย่างเต็มตัว ทั้งด้านป้องกันการระบาด การรักษาพยาบาล การเยียวยาฟื้นฟูประเทศ เป็นผู้นำในภารกิจและรายงานตรงต่อประชาชน
“โดยจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป”
และจะยกระดับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ที่ตั้งไว้แล้ว เป็นหน่วยงานพิเศษตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานศูนย์
นอกจากนี้ เพื่อบูรณาการทุกส่วนราชการและสั่งการอย่างมีเอกภาพ
เนื่องจากในสถานการณ์วิกฤตจำเป็นต้องรวมศูนย์สั่งการไว้ที่เดียว เพื่อกำหนดแนวทางที่ชัดเจนและขจัดปัญหาการทำงานแบบ “ต่างคนต่างทำ” ของหน่วยงานต่างๆ
กำหนดให้ปลัดสาธารณสุข ปลัดมหาดไทย ปลัดพาณิชย์ ปลัดการต่างประเทศ และผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ครอบคลุมด้านต่างๆ มีทีมงานจากทุกภาคส่วนเป็นคณะที่ปรึกษา
จะประชุมร่วมกันทุกวันเพื่อให้ทุกฝ่ายรับทราบข้อมูลสถานการณ์เป็นภาพเดียวกัน เมื่อตนจ่ายงาน ทุกฝ่ายจะรับทราบแผนงานทั้งหมดไปพร้อมกัน สามารถทำงานสอดประสานไปในทิศทางเดียวกันได้
นายกฯ หรือผู้ที่นายกฯ มอบหมายจะทำหน้าที่รายงานต่อประชาชน
ส่วนข้อกำหนด เช่น การห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง การปิดสถานที่เสี่ยง การปิดช่องทางเข้าประเทศ ข้อพึงปฏิบัติสำหรับผู้สูงวัย คนป่วยและเด็ก การห้ามกักตุนสินค้า การขึ้นราคาสินค้า การห้ามเสนอข่าวบิดเบือน จะมีการออกประกาศตามมาหลังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
ข้อกำหนดอาจสร้างความไม่สะดวกกับประชาชน แต่ขอให้ร่วมมือ เสียสละเพื่อส่วนรวม
ยืนยันจะปรับปรุงการสื่อสารกับประชาชนให้มีความถูกต้อง ชัดเจน ครบถ้วน ให้มีการแถลงข่าวสถานการณ์และมาตรการต่างๆ รวมถึงคำแนะนำต่อประชาชนเพียงวันละ 1 ครั้ง เพื่อลดความซ้ำซ้อน การบิดเบือนข้อมูล การสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
ประชาชนจะได้รับข้อมูลเป็นทางการ ตรงไปตรงมา โปร่งใสและชัดเจนจากเพียงแหล่งเดียวประจำทุกวัน ให้ถือว่าข้อมูลที่ไม่ได้มาจากการแถลงประจำวันของคณะทำงานฉุกเฉิน อาจเป็นข้อมูลเชื่อถือไม่ได้
ขอความร่วมมือสื่อมวลชนเพิ่มความรับผิดชอบการรายงานข่าว ให้ใช้ข้อมูลจากการแถลงประจำวันของทีมเฉพาะกิจและทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นหลัก แทนการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ต่างๆ
สำหรับผู้ใช้โซเชียลมีเดียสามารถร่วมแชร์ข้อมูลที่ถูกต้องจากการแถลงประจำวัน ต่อต้านการแชร์ข่าวปลอม ใช้ความคิดสร้างสรรค์ช่วยให้ประชาชนรับรู้ เข้าใจข้อมูลได้ง่ายและกว้างขวางยิ่งขึ้น
“ขอเตือนกลุ่มคนฉวยโอกาสหาผลประโยชน์บนความทุกข์ร้อน ความเป็นความตายของประชาชน อย่าคิดจะหลุดพ้นไปได้ ผมจะทำทุกทางที่จะใช้กฎหมายจัดการกับกลุ่มคนเหล่านี้อย่างรวดเร็ว เด็ดขาดและไม่ปรานี”
ทั้งการเอาผิดผู้ละเมิดกฎหมาย ข้าราชการ เจ้าพนักงานที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า ภาครัฐไม่สามารถฝ่าวิกฤตไปได้เพียงลำพัง ต้องจับมือและดึงภาคส่วนอื่นๆ เข้ามาเป็นทีมเดียวกับภาครัฐ ประเทศมีคนเก่งมากมายอยู่ในภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ตนจะดึงคนเก่งเหล่านี้มาร่วมกันทำงาน
จากนี้มาตรการต่างๆ ที่รัฐจะออกมาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคจะเข้มข้นขึ้น ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของทุกคน จึงขอความร่วมมือและขอให้มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม
ปฏิบัติตามนโยบายอย่างเคร่งครัด บางคนอาจรู้สึกเสียสิทธิเสรีภาพ แต่มันเป็นการทำเพื่อปกป้องชีวิตของท่าน ครอบครัวของท่านและของคนไทยทุกคน หากเข้าใจ เข้มงวดและจริงจัง ในเวลาไม่นาน มั่นใจว่าพวกเราจะก้าวพ้นสถานการณ์เลวร้ายนี้ไปได้
ช่วงเวลานี้อาจสร้างความเจ็บปวดและท้าทายความรักความสามัคคีของพวกเราทุกคน แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่จะดึงสิ่งที่ดีที่สุดในตัวของพวกเราคนไทยทุกคนออกมา
นั่นคือ ความกล้าหาญ ความรักที่มีต่อพี่น้องประชาชน ความเสียสละช่วยเหลือผู้อื่น ความเอื้ออาทรต่อกัน ซึ่งจะนำพาเราก้าวผ่านช่วงเวลาท้าทายนี้ไปได้ด้วยความสามัคคี ความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ความมีน้ำใจของคนไทยซึ่งหาไม่ได้จากชาติใดในโลก
ไวรัสโควิด-19 น่ากลัวและอันตราย สร้างความเสียหายไปทั่วโลกก็จริง แต่สิ่งหนึ่งที่ไวรัสโควิด-19 ไม่สามารถทำร้ายได้คือความดีงามในใจ ความสามัคคีของคนไทยจะกลับมาเป็นประกายไปทั่วผืนแผ่นดินไทยอีกครั้ง
“ในฐานะนายกรัฐมนตรี ขอให้คำมั่นสัญญากับทุกคนว่าจะเดินหน้าสุดความสามารถเพื่อนำประเทศไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้ ขอให้ทุกคนเชื่อมั่นและร่วมมือกันฝ่าฟันวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน ประเทศไทยที่รักของเราทุกคนจะต้องกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง”
“เราจะสู้ไปด้วยกัน และเราจะชนะไปด้วยกัน”
ภายหลังการแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ วันเดียวกันได้มีแถลงการณ์ ประกาศและคำสั่งตามมา 6 ฉบับ ได้แก่
ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร, แถลงการณ์สำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, ประกาศการกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี
คำสั่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน, คำสั่งนายกรัฐมนตรีเรื่องการจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
รวมถึงข้อกำหนด ออกตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 1 จำนวน 16 ข้อ อาทิ การห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดต่อโรค การปิดช่องทางเข้ามาในราชอาณาจักร การห้ามกักตุนสินค้า การห้ามชุมนุม การเสนอข่าว มาตรการดูแลความสงบเรียบร้อย มาตรการป้องกันโรค เป็นต้น
การตัดสินใจประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พร้อมตั้ง ศอฉ.โควิดขึ้นมาควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะ “เผด็จศึก” สถานการณ์ได้ขนาดไหน จะมีการขยายขอบเขตอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอย่างกว้างขวางเพื่อประโยชน์ในทางการเมือง
จนกระทบต่อเสรีภาพของสื่อมวลชน เสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ตามที่หลายคนตั้งข้อสังเกตด้วยความเป็นห่วงหรือไม่ สังคมต้องเฝ้าดูกันต่อไป
เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์