วงค์ ตาวัน : สถานการณ์หลัง 7 สิงหาฯ

มีเสียงเตือนจากรัฐบาลและสถานทูตของหลายๆ ประเทศในไทย ให้พลเมืองของตนเองระมัดระวังสถานการณ์ในช่วงการลงประชามติ 7 สิงหาคม เพราะเต็มไปด้วยความคิดเห็นที่แตกต่างกัน โดยให้หลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่ที่มีการรวมตัว ชุมนุม เกรงว่าอาจมีการยกระดับกลายเป็นความรุนแรงได้

เป็นคำเตือนในช่วงไม่กี่วันสุดท้ายก่อน 7 สิงหาคม เสียด้วย จึงน่าคิดวิเคราะห์อย่างมาก

โดยประเทศที่มีการออกคำแถลงมีหลายชาติด้วยกัน อาทิ สหรัฐ อังกฤษ ญี่ปุ่น รวมทั้งพม่า

คนไทยเราได้ยินได้ฟังแล้ว วิเคราะห์กันว่า ก็แค่การออกคำเตือนตามปกติ โดยเตือนให้คนของเขาระวังเอาไว้ก่อนจะปลอดภัยที่สุด

“แต่บ้างก็วิเคราะห์ว่า รัฐบาลหรือสถานทูตพวกนี้ การข่าวต้องไม่ธรรมดา หรือได้กลิ่นไม่ค่อยดีมาบ้างแล้ว เลยต้องออกคำเตือน โดยใช้คำว่าเกรงจะเกิดความรุนแรงได้!”

นักวิเคราะห์ในไทยบางรายถึงกับชี้ว่า คำเตือนของใครก็ไม่มีน้ำหนักเท่ากับรัฐบาลพม่า

เพราะเป็นประเทศที่ผ่านช่วงอำนาจทหารปกครองประเทศมายาวนาน และเคยมีการเลือกตั้งแล้วนำไปสู่ความรุนแรงจนไม่สามารถรองรับผลการเลือกตั้งดังกล่าวมาแล้ว

“พม่าจึงเป็นชาติที่ออกคำเตือน แล้วต้องสนใจอย่างยิ่ง เพราะเป็นชาติที่มีประสบการณ์ตรงมาแล้วนั่นเอง”

ทั้งหลายทั้งปวง สิ่งที่สอดรับกันว่า สถานการณ์ 7 สิงหาคม มีแนวโน้มบางประการที่อาจนำมาสู่เหตุการณ์ร้อนแรงได้

โดยมีข่าววงในระบุมาว่า กลุ่มกุมอำนาจการเมืองปัจจุบัน ได้รับรายงานที่คล้ายๆ โพลของหน่วยข่าวกรองทั้งทหารและสันติบาล ที่จะสรุปผลประเมินแนวโน้มการออกเสียงประชามติของประชาชนทั่วประเทศ อย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ

โดยในช่วงต้นๆ รายงานของหน่วยข่าวทั้งหลายชี้ตรงกันว่า แนวโน้มประชาชนจะลงประชามติเพื่อรับ มากกว่าไม่รับ ประมาณ 60 ต่อ 40

การสรุปประเมินครั้งต่อๆ มา เริ่มพบว่า แนวโน้มผลประชามติเริ่มมีช่องว่างใกล้กันมากขึ้นๆ เหลือ 51 ต่อ 49 บ้าง หรือ 50 ต่อ 50 บ้าง

“ลงเอยในช่วงสัปดาห์สุดท้าย ผลจะออกมาอย่างไร น่าคิด น่าระทึกจริงๆ”

หากดูแนวโน้มเช่นนี้ก็เป็นไปได้มาก ที่มีโอกาสจะเกิดอะไรขึ้นก็ได้ในวันท้ายๆ หรือในวันที่รู้ผลประชามติ

หากมีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะตีรวนไม่ยอมรับผล!

สถานการณ์ในช่วงเดือนสุดท้ายก่อนถึงวันที่ 7 สิงหาคม มีสิ่งบอกเหตุบางอย่างที่ชัดเจน นั่นคือ บรรดาอดีต ส.ส. และแกนนำพรรคการเมืองต่างๆ เริ่มออกมาแสดงท่าทีชัดแจ้ง อย่างไม่เกรงใจกฎเหล็กใดๆ ทั้งสิ้น ด้วยการประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนี้อย่างเด็ดขาด

พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคที่มีมวลชนสนับสนุนมากที่สุด ประกาศอย่างไม่ลังเลมาตลอดแล้วว่า ต่อต้านรัฐธรรมนูญในยุค คสช.

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคที่มีฐานเสียงห่างจากเพื่อไทยไม่มากนัก แม้จะออกลีลาแทงกั๊ก ฟุตเวิร์กไปเรื่อย กว่าจะตัดสินใจประกาศจุดยืน โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค

แต่สุดท้ายก็ประกาศเสียงหนักแน่นว่าไม่รับ

“เป็นไปได้มากว่า นายอภิสิทธิ์คงตรวจสอบทุกทิศทุกทางแล้ว เห็นแนวโน้มบางอย่าง จึงตัดสินใจเดินไปตามกระแสที่ทำให้ประชาธิปัตย์ไม่ตกขบวนของคนส่วนใหญ่”

แน่นอนว่าประชาธิปัตย์อยู่ในสภาพแตกเป็น 2 ขั้วมาก่อนหน้านี้ นับตั้งแต่เด็กหัวหน้าพรรค เปิดศึกโค่นผู้ว่าฯ กทม. ที่รู้กันดีว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับหัวหน้านกหวีด

ท่าทีต่อร่างรัฐธรรมนูญ ก็แตกต่างกันระหว่าง 2 ขั้วอีกครั้ง

โดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ชักธงเชียร์รัฐธรรมนูญมีชัยอยู่เป็นรายวัน

ครั้นเมื่อนายอภิสิทธิ์ประกาศไม่รับ ก็มีท่าทีสวนกลับอย่างทันควันจากนายสุเทพ

“จนเมื่อ นายชวน หลีกภัย ผู้อาวุโสที่ยังมีบารมีมากสุด โดยเฉพาะต่อมวลชนทั้งภาคใต้ ออกมาสนับสนุนท่าทีของนายอภิสิทธิ์ นี่จึงเชื่อว่าเป็นสัญญาณที่น่าจะดึงให้สมาชิกส่วนใหญ่ขานรับนายอภิสิทธิ์”

กระนั้นก็ตาม เชื่อว่าเครือข่ายของนายสุเทพในพรรคนี้ ย่อมเดินตามแนวของหัวหน้านกหวีดต่อไปดังเดิม

จึงทำให้ท่าทีของประชาธิปัตย์ไม่ถึงกับเป็นเอกภาพมากนัก

แต่เมื่อมองภาพรวมของแนวโน้มการตัดสินใจของประชาชนทั่วทั้งหมด ก็น่าสนใจว่า พรรคการเมือง 2 พรรคใหญ่ แสดงท่าทีออกมาอย่างเปิดเผยแล้ว

มวลชนของทั้ง 2 พรรคจะตัดสินใจไปในทิศทางเดียวกันนี้หรือไม่

นี่กระมังที่ผลการประเมินของหน่วยข่าวจึงเริ่มมีตัวเลขชี้ว่า ฝ่ายรับที่เคยมีมากกว่า กลับลดลงเรื่อยๆ และเริ่มใกล้เคียงกันมากกับฝ่ายไม่รับ

อย่างไรก็ตาม ถึงที่สุดแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่คงต้องพินิจพิจารณาตัดสินใจกันด้วยตัวเอง ท่าทีของพรรคการเมืองไม่จำเป็นต้องมีผลต่อชาวบ้านเสมอไป!

มีรายงานข่าววงในระบุด้วยว่า บรรดาหน่วยข่าวของทหารและตำรวจ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า มีกระแสประชาชนบางส่วนที่ยังประเมินได้ยากว่า จะตัดสินใจแบบไหน โดยเป็นกระแสที่ระบุว่า ต้องการรับร่างรัฐธรรมนูญนี้ ด้วยเหตุผลคือ เพื่อให้การเลือกตั้งมาถึงตามกำหนด ต้องการให้มีการเลือกตั้งเร็วที่สุด

ประชาชนส่วนนี้เบื่อหน่ายบรรยากาศที่ประเทศปกครองด้วยรัฐพิเศษ ส่งผลให้เศรษฐกิจการค้าซบเซา

“จึงอยากให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านไปด้วยดี การเมืองจะได้คลี่คลาย มีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลมาจากพรรคการเมือง จะช่วยให้ประชาธิปไตยกลับคืนมา”

แม้จะเป็นประชาธิปไตยที่มีกฎกติกาผูกมัดมากมาย ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่น่าจะดีกว่าไม่รับแล้วล้มคว่ำ-ไป ส่งผลให้สถานการณ์รัฐบาลพิเศษต้องอยู่ยาวอีก การเลือกตั้งก็อาจไม่ชัดเจนว่าต้องขยับไปอีกหรือไม่

กระแสประชาชนที่ไม่ชอบรัฐบาลทหาร และต้องการให้ถึงวันเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด เป็นแนวโน้มที่หน่วยข่าวยังมองว่า ยังอาจจะทำให้เสียงรับร่างรัฐธรรมนูญ ยังแข็งแกร่งอยู่

“นี่อาจจะถือได้ว่า เป็นกระแสฝ่ายที่ 3 ในหมู่ประชาชน นอกเหนือจากฝ่ายที่รับสุดๆ และไม่รับสุดๆ ก็ยังมีฝ่ายที่เห็นว่าควรจะรับเพื่อให้มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งมาแทนที่รัฐบาลทหารโดยเร็วที่สุด!”

แต่ไม่ว่าจะคิดอย่างไรก็ตาม เสียงเรียกร้องจากทุกฝ่ายก็คือ ให้ประชาชนไปร่วมกันลงคะแนนประชามติและคำถามพ่วง อย่างมากมายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

“และตัดสินใจอย่างเป็นอิสระด้วยตัวเอง อย่าให้ใครมาครอบงำชี้นำ”

ขณะเดียวกัน ในส่วนของรัฐบาลและ คสช. เอง ย่อมต้องประเมินสถานการณ์อย่างจริงจังแล้วเช่นกันว่า แนวโน้มวันประชามติจะออกมาทางไหน

ทางหนึ่ง อาจจะเตรียมแถลงอย่างดีอกดีใจ ที่ประชาชนเอาด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ของ คสช. ในการจัดระบบประเทศ

อีกทาง ก็อาจเตรียมคำพูดประเภทที่ปูทางให้ตัวเองอย่างสวยงาม ดังเช่น ประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะต้องการให้ คสช. อยู่ต่อไปอีกนานๆ

ไปจนถึงการเตรียมหยิบเอารัฐธรรมนูญในอดีตมาปัดฝุ่นใช้ เพื่อไม่ให้โรดแม็ปต้องยืดยาวเสี่ยงต่อแรงต้าน โดยอาจขอเพิ่มบทเฉพาะกาลเพื่อคุ้มครอง คสช. ให้มีทางลงอย่างปลอดภัย

“จะหยิบฉบับปี 2540 หรือปี 2550 ก็เริ่มคิดๆ กันแล้ว!!”

แต่ก็นั่นแหละ เอาเข้าจริงๆ ยังไม่มีใครตอบได้เต็มปากเต็มคำว่า 7 สิงหาคม จะออกมาทางไหน

เพราะต้องยอมรับว่าสูสีสุดขีดจริงๆ

แนวโน้มที่ใกล้เคียงกันมาก อันอาจมีโอกาสเกิดความขัดแย้งบานปลายขึ้นมาอีก ดังที่หลายๆ ชาติได้กลิ่นแล้วออกคำเตือนพลเมืองตนเอง

เป็นอีกปมประเด็นสำคญที่ซ่อนอยู่ในวันที่ 7 สิงหาคม!