แมลงวันในไร่ส้ม/บิ๊กตู่ใช้ กม.ฉุกเฉิน ติดดาบสู้ไวรัสโควิด ลุ้นระทึก ‘รุ่ง’ หรือ ‘ร่วง’

แมลงวันในไร่ส้ม

บิ๊กตู่ใช้ กม.ฉุกเฉิน

ติดดาบสู้ไวรัสโควิด

ลุ้นระทึก ‘รุ่ง’ หรือ ‘ร่วง’

แล้วการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็มาถึงจุดที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แถลงว่า จะประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม

พ.ร.ก.ที่ว่านี้กำหนดรูปแบบการบริหารแบบพิเศษไว้ ดังที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยนำมาใช้ปราบเสื้อแดงเมื่อเดือนเมษายน 2553 ในชื่อ “ศอฉ.” หรือศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน

กฎหมายฉบับนี้มีทั้งหมด 19 มาตรา กำหนดในมาตรา 4 ถึงความหมายของ “สถานการณ์ฉุกเฉิน”

ส่วนมาตรา 5 วรรคสอง การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินกระทำได้ไม่เกินสามเดือนนับแต่วันประกาศ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลา ให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศขยายระยะเวลาการใช้บังคับออกไปอีกเป็นคราวๆ คราวละไม่เกินสามเดือน

เมื่อสถานการณ์ฉุกเฉินสิ้นสุดลงแล้ว หรือเมื่อคณะรัฐมนตรีไม่ให้ความเห็นชอบ หรือสิ้นสุดกำหนดเวลาตามวรรคสอง ให้นายกรัฐมนตรีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น

มาตรา 6 ให้มีคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินคณะหนึ่ง ประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ

และให้อำนาจนายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดต่างๆ ตามมาตรา 9 อาทิ ห้ามออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับการยกเว้น ห้ามชุมนุมหรือมั่วสุม หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน

ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ

ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ใดๆ

ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชนดังกล่าว หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนด

ส่วนข้อกำหนดต่างๆ จะออกมาหลังจากมีการตั้งองค์กรมาบริหารงานตามพระราชกำหนด

 

ก่อนหน้าที่ พล.อ.ประยุทธ์แจ้งว่าจะใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สถานการณ์ของโควิด-19 เลวร้ายขึ้นตามลำดับ

นับจาก 13 มกราคม ที่มีผู้ติดเชื้อรายแรก ถึงวันที่ 24 มีนาคม มีผู้เสียชีวิตรวม 4 ราย โดยเสียชีวิตเพิ่มเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 3 ราย เฉพาะวันที่ 23 มีผู้ป่วยเพิ่ม 106 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 827 ราย

น่าสังเกตว่า ถึงวันที่ 23 มีนาคม ผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มในลักษณะที่ลดลงจากก่อนหน้านั้น ที่มีตัวเลข 188 ราย และ 122 ราย

และเมื่อวันที่ 23 มีนาคม ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ออกมาเตือนว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มเพิ่มจำนวนสูงขึ้นจาก 2 กลุ่มใหญ่ คือ กรณีผับ และสนามมวย

สำหรับโรคโควิด-19 นั้น สถานการณ์ของโลกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

  1. กลุ่มที่คุมอยู่ เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง กลุ่มนี้อัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยจาก 100 ราย เป็น 200 ราย อยู่ที่ประมาณ 5 วัน
  2. กลุ่มที่คุมไม่อยู่ คือแถบยุโรป โดยจำนวนผู้ป่วยจาก 100 คน มาเป็น 200 คนอยู่ที่ประมาณ 3 วัน โดยประเทศไทยตอนผู้ป่วยถึง 100 คนและเพิ่มมาเป็น 200 คนอยู่ที่ประมณ 3.5 วัน ถ้าไม่ทำอะไรเลย จะวิ่งไปในแนวทางกลุ่มประเทศที่คุมไม่อยู่ ซึ่งเฉลี่ยแต่ละวันจะมีรายใหม่เพิ่มประมาณ 33%

ดูอัตราการเพิ่มของผู้ป่วยรายใหม่ในไทยของแต่ละวัน จะพบว่าเพิ่มวันละ 30 คน เป็น 50 คน 89 คน 188 คน ตอนนี้ตัวเลขวิ่งไปเร็ว และอัตราการเพิ่มอยู่ในตัวเลข 30 กว่าเปอร์เซ็นต์จริง

จากวันที่ไทยพบผู้ป่วยเกิน 100 คนครั้งแรกคือวันที่ 15 มีนาคม หากไม่ทำอะไรใน 30 วัน คือวันที่ 15 เมษายน 2563 ประเทศไทยจะมีผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 351,984 ราย

จะมีผู้ป่วยต้องนอนโรงพยาบาล 52,792 ราย อยู่ไอซียู 17,597 ราย และเสียชีวิต 7,039 ราย

แต่หากเราเริ่มดำเนินการเพื่อดึงจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ลงมาที่ 20% คำนวณว่า วันที่ 15 เมษายน เราจะลดจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 มาอยู่ที่ 24,269 ราย นอนโรงพยาบาล 3,640 ราย อยู่ไอซียู 1,213 ราย เสียชีวิต 485 ราย

เรามีห้องแยกผู้ป่วยเดียวใน กทม. 237 ห้อง ต่างจังหวัด 2,444 ห้อง ห้องแยกผู้ป่วยรวมสำหรับอาการไม่มากหรือ cohort ward ใน กทม.มี 143 เตียง ต่างจังหวัด 3,061 เตียง ห้องความดันลบใน กทม. 136 เตียง ต่างจังหวัด 1,042 เตียง

ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ทั้งภาครัฐและเอกชนพบว่า มีแพทย์ 37,160 คน พยาบาล 151,571 คน หากจำนวนผู้ป่วยทะลัก ระบบสาธารณสุขจะรองรับไม่ได้ เกินศักยภาพประเทศไทยทั้งประเทศ แต่หากคุมอัตราเพิ่มผู้ป่วยรายใหม่ลงมาที่ 20% จะพอดีกับทรัพยากรที่มี

สิ่งที่จะต้องทำคือ ระงับการเดินทางของคนนอกเข้ามาในประเทศ ปิดสถานที่เสี่ยง ป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ขยายวง ให้ประชาชนอยู่กับบ้าน รักษาระยะห่างทางสังคม ไม่ใกล้ชิดกว่า 1-2 เมตร

หากทำเช่นนี้ได้นาน 3 สัปดาห์ เชื่อว่าช่วงสัปดาห์ที่ 4 เป็นต้นไป จะเห็นการเพิ่มของโรคค่อยๆ ลดลง ชะลอการระบาดของโรค

 

ยังมีการแถลงคาดการณ์ของแพทย์อีกหลายสำนัก ล้วนแต่เรียกร้องให้รัฐบาลใช้ “ยาแรง” เพื่อสกัดการระบาด

อีกเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความคับขันมากขึ้น ได้แก่ การประกาศปิดสถานที่เสี่ยง 26 จุด โดยผู้ว่าฯ กทม. และจังหวัดปริมณฑล โดยผู้ว่าฯ 5 จังหวัด

พร้อมๆ กันนั้นเองประชาชนจำนวนมากหลั่งไหลไปขึ้นรถกลับต่างจังหวัด สร้างความหวั่นวิตกว่าเชื้อจะเดินทางกระจายไปทั่วประเทศ

ทำให้ยิ่งมีเสียงเรียกร้องมาตรการเด็ดขาดจากรัฐบาล ขณะที่รัฐบาลเอง รอบนี้กล้าๆ กลัวๆ ไม่กล้าตัดสินใจ

การปิดสถานที่เสี่ยง กทม. ทำให้ลูกจ้างจำนวนมากเดือดร้อน เพราะขาดรายได้ ส่วนหนึ่งตัดสินใจเดินทางกลับภูมิลำเนา

กลายเป็น “โจทย์ใหม่” ให้รัฐบาลแก้ไข โดยออกมาตรการเยียวยาเมื่อวันที่ 24 มีนาคม

กระแสข่าวและเสียงวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลดังกระหึ่มตลอดเวลา ตั้งแต่เรื่องของหน้ากากที่กลายเป็นรายการเซ็งลี้ของนักการเมือง

น่าสนใจว่า หลังจากประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว รัฐบาลจะแก้ปัญหาได้ลุล่วงมากน้อยแค่ไหน

ดูเหมือนว่าชะตากรรมของรัฐบาลประยุทธ์แขวนไว้กับการกอบกู้ประเทศในวิกฤตโควิด-19

จะไปรอดหรือไม่ อย่างไร ต้องลุ้นกันอย่างระทึกต่อไป