ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 27 มี.ค.- 2 เม.ย. 2563

ขอแสดงความนับถือ

 

ตอนแรกจะเชิญชวนใช้ชีวิตปลอดจากไวรัสโควิด-19 ง่ายๆ งามๆ

ตามรายงานพิเศษของภีมรพี ธุรารัตน์ แห่งสำนักพิมพ์มติชน

ที่ชวนคนไทย

‘อยู่บ้านอ่านหนังสือ’

ด้วยแคมเปญ Book Wonder ช้อปหนังสือออนไลน์ที่ลดสูงถึง 25%

ให้นักอ่านได้เลือกสรรอย่างสบายๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัส ปลอดภัยจากโควิด-19

และเย็นสบายด้วยแอร์ฉ่ำๆ ที่บ้าน (คุณ)

พร้อมเสิร์ฟถึงที่แบบ Easy

เพียง Click & Pay ตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่ 25 มีนาคม – 5 เมษายน 2563

ที่ www.matichonbook.com

และส่งฟรีเมื่อสั่งซื้อครบ 1,000 บาท

ยิ่งกว่านั้น

สำนักพิมพ์มติชนยังเชิญเพื่อนสำนักพิมพ์ชั้นนำอีกมากมาย ร่วมโครงการนี้

ได้แก่ เม่นวรรณกรรม, Library House, Salmon Book, Move Publishing, เป็ดเต่าควาย, บทจร, River Books, Arty House, แสงดาว, ยิปซี, iTuibook, Light House, Salt, มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

ดูตัวอย่างหนังสือได้ที่หน้า 88-89

 

แต่กระนั้น ต้องยอมรับว่า วิกฤตไวรัสโควิด-19

มีโรคที่ละไมมาด คำฉวี เขียนไว้ใน “รูปที่ไร้ใจครอง” (หน้า 68) โผล่ระบาดซ้ำอยู่ในหมู่คนไทยอีกด้วย

และไม่น้อย นั่นคือ

“โรคไม่มีกิน”

…ใครไม่เคยคิดถึงอาหารมหาศาล

ที่เหลือทิ้งเป็นขยะ

ใครไม่เคยคิดถึงชีวิตมหาศาล

ที่ถูกทิ้งราวขยะ

ใครไม่เคยคิดถึงทุกข์ที่ไม่มีงานเพื่อมีกิน

ทุกข์ที่ไม่มีวันทำให้โลกเป็นหนึ่งเดียว

วิกฤตไวรัสโควิด-19 ได้ทำให้โรคไม่มีกิน แพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง

แล้วคนเหล่านั้นจะมีความสุขกับการกักตัวเอง

หรือไหลไปกับกระแส Work from home

อย่างไม่ทุกข์ร้อนได้อย่างไรเล่า

 

เพราะ home หรือ “บ้าน” มิใช่วิมานของเราทุกคน

ดังที่วิรัตน์ แสงทองคำ เขียนในบทความเรื่อง Work @home ไว้ที่หน้า 28-29 นั้น

ได้ตั้งข้อสังเกตว่า

ความหมายคำว่า “ทำงานที่บ้าน” และ “กักตัวกับบ้าน” ใช้ได้เพียงกับคนบางกลุ่มในกรุงเทพฯ เท่านั้น

ด้วยเพราะมีผู้คนอีกจำนวนไม่น้อย มิใช่คนกรุงเทพฯ

เป็นผู้คนซึ่งไม่มี “บ้าน” ที่กรุงเทพฯ

เป็นผู้คนซึ่งมาทำงานชั่วครั้งคราวจากต่างจังหวัด จากประเทศเพื่อนบ้าน

เวลาส่วนน้อยของผู้คนเหล่านั้น อาศัยอยู่ในที่พักอันคับแคบ แออัด

ไม่พอ ไม่สามารถจะอ้างอิงหรือสัมพันธ์กับสิ่งที่เรียกว่า

“ทำงานที่บ้าน” และ “กักตัวกับบ้าน” ได้เลย

ชีวิตผู้คนเหล่านั้นใช้เวลาส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ คือ “ที่ทำงานหาเงินเลี้ยงชีพ”

เป็นพื้นที่ในภาคบริการ ในเครือข่ายธุรกิจใหญ่ อย่างในห้างสรรพสินค้า และมีรายย่อยเป็นจำนวนมากอีกไม่น้อยอยู่ภาคบริการ นั่นคือร้านอาหาร

ที่กำลังปิดตายอย่างน้อยชั่วเวลาหนึ่งในเวลานี้

เท่ากับปิดโอกาส และทำให้เวลาของผู้คนเหล่านั้นในกรุงเทพฯ หมดลง

แล้วผลักดันให้ผู้คนเหล่านั้นออกนอกกรุงเทพฯ อย่างไม่เป็นขบวนอย่างที่เห็น

แม้จะมีแผนการ “เคลื่อนย้ายถ่ายเทผู้คน” ตามแบบแผนธุรกิจในยามจำเป็น คงช่วยอะไรไม่ได้มากนัก

 

เป็นชะตากรรมอีกด้าน ที่ไม่อาจมองข้าม

ด้วยเพราะทำให้วิกฤตขยายตัวออกไปอย่างที่ผู้ตัดสินใจมิได้คาดหมาย

และที่น่าสนใจ หลังผู้นำใช้ยาแรง

ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

มาดูสิว่า จะได้ผลขนาดไหน